วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

"พงศ์เทพ" หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แนะประชาชนร่วมแสดงความเห็น ให้ประเทศเดินหน้า



(28 มีนาคม 2555, กรุงเทพฯ - InsideThaiGOV) - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า "เรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกส่วนใหญ่จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา เพราะฉะนั้น ถ้าคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างในวาระที่ 2 เสร็จ ก็จะกลับเข้าไปที่รัฐสภาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป ถ้ากระบวนการนี้เสร็จสิ้นนั้น รูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปอย่างที่ร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอเข้าไป แน่นอนว่า เราจะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทำนองเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หรือ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วหลังจากนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ กระบวนการนี้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า 180 วัน เท่าที่ตามร่างที่เสนอกันขณะนี้"

สำหรับขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า "ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น เสนอความต้องการของท่าน ว่าท่านต้องการจะเห็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกัน มีสาระสำคัญอย่างไร ที่จะทำให้ประเทศไทยของเราอยู่กันอย่างยุติธรรม เสมอภาค และประเทศไทยของเราเดินหน้าไปได้ ลดความขัดแย้งต่างๆ และก็มีความปรองดองเกิดขึ้น กระบวนการตรงนั้นเป็นส่วนที่สำคัญมาก"

"หลังจากนั้นแล้ว เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จทั้งฉบับ ก็จะต้องไปสู่ขั้นตอนของการลงประชามติโดยพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ การลงประชามติครั้งนี้ จะไม่เหมือนกับการลงประชามติสมัยปี พ.ศ.2550 เพราะในสมัยนั้น เขาบอกท่านว่า ถ้าท่านไม่รับเขาอาจจะเอารัฐธรรมนูญหน้าตาแบบไหนก็ได้ อาจจะแย่กว่าร่างที่ท่านเห็นมาใช้ก็ได้ พี่น้องประชาชนในขณะนั้นก็อยู่ในสภาพที่ถูกขู่บังคับอยู่กลายๆ ว่า ถ้าไม่เห็นชอบจะไปเจอที่แย่กว่าก็ได้"

"สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคตนั้น ท่านจะมีทางเลือกที่ชัดเจนครับ ว่า ถ้าท่านเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศไทย ก็จะได้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้บังคับ แต่ถ้าท่านไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รับธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ก็จะยังใช้บังคับต่อไป เพราะฉะนั้น ทางเลือกชัดเจนครับ"

นายพงศ์เทพ กล่าวในตอนท้ายว่า "สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ล่าสุด เป็นกลไกสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ความหวังของประเทศจริงๆ อยู่กับพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ในการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ การเสนอตัวเข้าสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการเสนอความคิดเห็นต่างๆให้แก่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้แทนของพวกท่านครับ"

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

“ชูศักดิ์” เผย “รัฐประหารยิ่งลักษณ์” ไม่มีมูล วอนเลิกแนวคิด “ถอยหลังเข้าคลอง”



(26 มีนาคม 2555 กรุงเทพฯ) - รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐประหารรัฐบาลนายกฯรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ไม่มีมูลความจริง และเป็นแผนของผู้ปล่อยข่าวเท่านั้น โดยระบุว่าแนวคิดดังกล่าวจะทำให้ประเทศถอยหลัง 10 ปี 
รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ กล่าวว่า “ได้รับทราบข่าวที่อดีตนายทหารคนหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์กรณีมีบุคคลกลุ่มหนึ่งการจะทำรัฐประหารรัฐบาลนายกรัฐสนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาบ้าง ซึ่งความจริงนั้นข่าวลือทำนองนี้เกิดขึ้นมานานแล้วโดยข่าวลือประเภทนี้ มักจะเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศเรามีความเห็นไม่ลงลอยกัน เช่น เรื่องการจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่? จะปรองดองหรือไม่? โดยข่าวลือพวกนี้จะถูกสร้างมาเพื่อลดความเห็นที่หลากหลายของประชาน เพื่อตรึงความเห็นของประชาชนไม่ให้เคลื่อนไหว หรือ ทำอะไรไปในทิศทางที่ควรจะทำ ซึ่งก็ไม่มีมูลอะไรเลย ผู้นำกองทัพและนายทหารระดับสูงก็ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ประเทศถอยหลัง”

“จากบทเรียนในอดีตก็เห็นแล้วว่าเหตุการณ์ที่อ้างก่อนการทำรัฐประหาร เช่น ทุจริต ฯลฯ ก็จะมีการสร้างม็อบขึ้นมา และ ม็อบก็จะพยายามสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศ ที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่าบทเรียนเป็นอย่างไร? ทั้งจากอดีตไล่มาจนถึงในสมัยของนายกฯทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประชาชนเห็นแล้วว่า ไม่ได้เป็นจริงตามข้อกล่าวหาอย่างที่กล่าวอ้างในการทำรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารแล้ว คำถามคือ แล้วมันดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่? พอรัฐประหารเสร็จก็เลือกรัฐบาล และตั้งรัฐสภาที่มีสภาเดียว รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญในขั้นตอนต่อมาโดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่สนใจประชาชน กล่าวคือ พี่น้องประชาชนทุกข์ยาก เดือดร้อน และยากจนเหล่านี้ จะให้ได้รับความใส่ใจเหมือนอย่างที่สมัยเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนนั้นไม่มี”

“เมื่อเป็นสภาเดียว ทำให้จะผ่านกฎหมายอะไรก็ได้ ไม่ต้องไปผ่านวุฒิสภา มาถึงก็ยกมือออกกฎหมายมากมายโดยที่ไม่มีคนคัดค้าน สุดท้ายกฎหมายนี้ก็กลายเป็นปัญหา เพราะมีคนมาประชุมแค่ 20 คนก็เป็นกฎหมายได้ รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญก็ผิดหลักนิติธรรม-นิติรัฐมากมาย มีระบบตุลาการภิวัฒน์ที่มีพวกเดียวกันนำผู้ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามา แม้กระทั่งไม่ไปเลือกตั้งแต่ก็ยังได้เป็น สว.สรรหา เป็นต้น”

“สรุปว่า ปฏิวัติ-รัฐประหาร ไม่มีผลดีต่อประเทศชาติเลย มีแต่ถอยหลังเข้าคลอง และเป็นการสร้างนักการเมืองใหม่มาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สนใจประชาชน โกงกินยิ่งกว่า ที่สำคัญคือ ใครก็ตรวจสอบไม่ได้ เพราะ องค์กรตรวจสอบไม่มี”

“การรัฐประหารเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ ใครทำรัฐประหารไม่สำเร็จ สมัยโบราณมีโทษถึงประหารชีวิตกลายเป็นผู้นำกบฏ เพราะการฉีกรัฐธรรมนูญมีความผิดร้ายแรง”

“ผมขอสรุปว่าข่าวการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีมูล และไม่เป็นความจริง ข่าวลือดังกล่าวไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย และทำให้ประเทศไทยถอยหลงลงคลอง ย้อนหลังไปนับ 10 ปี” 

"ยิ่งลักษณ์" เยือนมหาวิทยาลัยสตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โชว์วิสัยทัศน์ "บทบาทผู้นำสตรี"

(26 มีนาคม 2555 กรุงโซล) - นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ehwa Woman’s University) เพื่อกล่าวสุนทรพจน์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา มหาวิทยาลัยหญิงล้วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก 
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวบรรยายพิเศษเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย ในหัวข้อ Women in Leadership: Vision of the Prime Minister of Thailand แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ดังนี้
นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
"ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยือนมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยผู้หญิงล้วนที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่าสถาบันแห่งนี้ได้ผลิตสตรีชั้นแนวหน้าของเกาหลีใต้ในหลายวงการ มีรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีของเกาหลีใต้เกินกว่าครึ่งที่จบการศึกษา ณ ที่นี้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยในการช่วยยกระดับสถานะของสตรีในสังคม การมาเยือนเกาหลีใต้ของข้าพเจ้าครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงตั้งใจที่จะมาที่นี่ มาเพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาบทบาทของสตรี  และเพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในการพัฒนาการศึกษาของสตรีไทยด้วย"
"ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชมการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรีในเกาหลีใต้ที่ทำให้สถานภาพของสตรีมีความก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย จากดรรชนีชี้วัดความเท่าเทียมทางเพศของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 2011ได้จัดอันดับให้เกาหลีใต้อยู่ในลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งตัวเลขนี้ มีความสัมพันธ์กับระดับของการพัฒนาประเทศด้วย  โดยปรากฏว่ายิ่งสถานภาพของผู้หญิงอยู่ในอันดับที่สูงมากเท่าไร ระดับของการพัฒนาประเทศก็ยิ่งสูงตามเท่านั้น อันเป็นบทพิสูจน์สำคัญของพลังของสตรีในการช่วยพัฒนาประเทศที่ไม่สามารถมองข้ามได้ และทำให้เห็นชัดเจนว่าผู้หญิงนั้น มีศักดิ์ศรีและบทบาทไม่ด้อยไปกว่าผู้ชายในการทำงานและสร้างความเจริญแก่ประเทศแต่ประการใด"
"ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงยังมีความอ่อนโยน ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นพื้นฐานของทักษะในการผลิต การค้า และการบริการที่สำคัญ และความเป็นเพศแม่ช่วยทำให้สังคมมีความเมตตากรุณา ประนีประนอม เกื้อหนุนเพื่อความสงบสันติ นอกจากนี้ ดิฉันเชื่อว่าหากเราทั้งหญิงชายทำงานร่วมกัน เกื้อกูลกัน ทักษะความสามารถที่แตกต่างเมื่อรวมพลังกัน จะนำพามาซึ่งประโยชน์และความเจริญต่อมวลมนุษยชาติได้"

นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บรรยายพิเศษเกี่ยวกับ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย
แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ณ ห้องประชุม LG Convention Hall
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้กล่าวถึงสถานะภาพของสตรีของประเทศไทย ว่า "ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้หญิงไทยนั้นมีสถานะไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงเอเชียทั่วไปและผู้หญิงเกาหลีใต้เท่าใดนัก   กว่าที่ข้าพเจ้ามายืนตรงนี้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้การยอมรับ  และถึงแม้เมื่อดำรงตำแหน่งแล้วก็ยังต้องพิสูจน์ตนเองทุกวันไม่หยุดหย่อน  ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่าเส้นทางของผู้หญิงที่จะประสบความสำเร็จได้มีอุปสรรคขวากหนามมากมาย  ต้องอดทนหนักแน่น และที่สำคัญที่สุดคือการใช้ความสามารถไขว่คว้า “โอกาส” ที่เปิดขึ้นเพื่อจะได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ในการพัฒนาประเทศอันเป็นที่รัก"
"ดังนั้นเหตุผลหนึ่งที่สู่วงการเมือง คือต้องการผลักดันการ “สร้างโอกาส” ให้กับพี่น้องสตรีทุกวัยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวงการธุรกิจ การเมือง  หรืออื่นใดก็ตาม และในการที่จะใช้โอกาสนั้นสร้างสถานภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคงตลอดจนการดูแลครอบครัวและตนเองให้มีความสุขซึ่งวันนี้ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิของหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน  มีการจัดทำแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติมีการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อรองรับหลายฉบับ แต่โอกาสและบทบาทของสตรียังสามารถก้าวไกลไปกว่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร"
ดร. คิม ซอน อุ๊ก (Kim Sun Uk) อธิการบดีมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา
รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายสำคัญและเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมบทบาทสตรี  ด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุน พัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ และความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ผู้หญิงทุกคน ตลอดจนองค์กรและเครือข่ายสตรีสามารถใช้เงินกองทุนเพื่อนำไปเสริมสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการของสตรี รวมทั้งนำไปสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาของสตรี อาทิ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ และการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเพศ  ทั้งนี้กองทุนจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในทุกระดับไม่ว่ายากดีมีจน ในเมืองหรือในชนบทเข้ามามีส่วนร่วมข้าพเจ้าภูมิใจที่จะรายงานให้ทราบว่า หลังจากกองทุนตั้งมาได้เพียง 1 เดือน มีผู้หญิงไทยทั่วประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน โดยข้าพเจ้าตั้งเป้าว่าต้องการให้ผู้หญิงไทยเข้าเป็นสมาชิกให้ได้มากที่สุดเพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าโอกาสที่เปิดขึ้นจากการมีกองทุนจะทำให้ผู้หญิงไทยมีเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อประโยชน์ของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติต่อไป
พลังของผู้หญิงไม่จำกัดอยู่แต่ในระดับชุมชนหรือประเทศ แต่หากยังสามารถเชื่อมโยงเกื้อหนุนเพื่อประโยชน์ของชาวโลกได้ด้วย เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสหารือกับท่านบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยได้แจ้งแก่ท่านว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ Every Woman Every Child (EWEC) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์โลกสำหรับสุขภาพของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความริเริ่มของท่านเลขาธิการสหประชาชาติ ในนามของประเทศไทยได้มอบคำมั่นแสดงเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพของสตรีในประเทศไทย เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสตรี และพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติในการบรรลุซึ่งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ในโอกาสดังกล่าวยังได้แสวงหาความร่วมมือกับสหประชาชาติให้มาช่วยพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย โดยได้เชิญให้องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อนำประสบการณ์และข้อเสนอแนะมาใช้ประโยชน์ต่อไปด้วย
นายกรัฐมนตรีสรุปในตอนท้ายของการบรรยายว่า "ขอให้กำลังใจกับพี่น้องผู้หญิงที่อยู่ในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ให้ประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าทุกท่านมีความสามารถและมีความพร้อม ดังนั้น หากได้รับโอกาสก็จะสามารถก้าวไปตามความฝันที่ทุกท่านได้ตั้งใจไว้ ก็มั่นใจว่าทุกท่านจะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับบทบาทของสตรี ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาสังคมและประเทศ ให้ก้าวไกลดั่ง “อีฮวา” หรือการเบ่งบานของดอกแพร์ตลอดไป"


หมายเหตุ - มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา เป็นสถาบันการศึกษาของเอเชียมีชื่อเสียงทางด้านการศึกษา ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1886 เผยแพร่ความรู้ด้านการศึกษามานานกว่า 120 ปี ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพไปกว่า 150,000 คน ขณะที่มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้จำนวน 21,000 คน  


Photo by InsiderNews Editorial 

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

ตามไปดู! เมนูพิเศษ "ทางการเกาหลี" เลี้ยงรับรอง "ยิ่งลักษณ์"

เผยภาพเมนูเด็ดที่ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เลี้ยงรับรอง นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเป็นทางการ โดยเป็นงานเลี้ยงอาหารแบบรัฐพิธี (State Dinner) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีของไทย

"ซุปหม้อไฟเกาหลี" พร้อมเครื่องเคียงกิมจิอันหลากหลาย
ทั้งนี้ กำหนดการของนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันนี้ (24 มีนาคม 2555) ได้เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ พร้อมหารือข้อราชการเต็มคณะกับนายอี มยอง-บัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและกรอบพหุภาคีที่เป็นผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

Photo by InsiderNews Editorial

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

“ยุวสตรี” หนุน “กองทุนสตรีฯ” นิสิต-นักศึกษา เผยรัฐบาลช่วยเปิดโอกาสหญิงวัยรุ่น

กองบรรณาธิการ InsideThaiGOV ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นิสิต นักศึกษา ในฐานะยุวสตรี ที่จะมาสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของวัยรุ่นต่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


นางสาวรัตติยา น่วมรัศมี ประธานชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
นางสาวรัตติยา น่วมรัศมี ในฐานะประธานชมรมพุทธศาสตร์ มศว หนึ่งในตัวแทนนิสิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า “เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เนื่องจากผู้หญิงจำนวนมากต้องการโอกาสทางสังคมรวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะนำเงินที่ได้จากกองทุนดังกล่าวไปใช้หมุนเวียนทางธุรกิจ อาจจะทั้งปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำแล้วแต่คณะกรรมการจะอนุมัติ โดยการรวมกลุ่มกันจำนวน 5 คน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกคนในทุกระดับมีโอกาสในการทำสิ่งต่างๆต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งดีกว่าที่จะปล่อยให้สตรีจำนวนมากไปกู้เงินนอกระบบที่ประสบปัญหาการจ่ายดอกเบี้ยที่สูง”

นางสาวรัตติยา กล่าวต่อว่า “เบื้องต้นตนคิดว่านิสิต นักศึกษา จำนวนมากอาจจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย หากรวมกลุ่มกันไม่ต่ำกว่า 5 คนแล้วจะสามารถนำเงินที่ได้จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไปใช้ลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์เพื่อช่วยหมุนเวียนการทำธุรกิจ และช่วยเป็นช่องทางหาเงินระหว่างเรียนได้ แต่ก็ต้องควรนำไปใช้ในทางที่ถูกจริยธรรมด้วย ทั้งนี้ตนคิดว่านิสิตนักศึกษาจะสนใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุนนี้ และเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของนิสิตนักศึกษาทั่วไป” 

“ส่วนสิ่งที่ตนจะฝากถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนั้น โดยส่วนตัวแล้ว อยากให้รัฐบาลมีการออกบูทย่อยๆตามมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้ทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น เป็นกิจกรรมต่อเนื่องเพิ่มเติมหลังจากรัฐบาลเปิดตัวเว็บไซท์ http://www.womenfund.thaigov.go.th อีกทั้งจะเกิดเป็นประโยชน์ต่อตัวนิสิตนักศึกษาเอง และต่อประชาชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่สนใจด้วยเพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลและรายละเอียดของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้อย่างเท่าเทียมกันค่ะ”

นางสาวปุณฑริกา เรืองฤทธิ์
ทางด้าน นางสาวปุณฑริกา เรืองฤทธิ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในมุมมองของยุวสตรีว่า “ข้อดีของคนรุ่นใหม่ คือ มีแนวความคิดใหม่ๆ เพียงแต่ว่ายังไม่มีทุนทรัพย์ ฉะนั้นหากกลุ่มนักศึกษารวมเพื่อนได้อย่างน้อย 5 คน ที่มีแนวคิดที่สามารถทำงานร่วมกันและเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกัน เมื่อได้เงินทุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมาแล้วนั้น แน่นอนว่าพวกเราเราก็ต้องนำเงินดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดให้สังคมได้ด้วย เช่น การรวมกลุ่มกันทำธุรกิจแบบโซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพรส์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกิจการเพื่อสังคม ไม่ใช่ว่าเราจะหากำไรจากธุรกิจเพียงอย่างเดียว และเราจะแบ่งผลกำไรคืนสู่สังคมได้ด้วย จะทำให้เงินที่ได้จากกองทุนมีคุณค่ามากขึ้น” 

“นโยบายของรัฐบาลได้หยิบยื่นโอกาสให้พวกเราได้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งสามารถนำต่อยอดได้กว้างมาก โดยส่วนตัวนั้น ตนกับเพื่อนอยากจะนำเงินไปทำธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ เช่น นำเงินไปจ้างช่างฝีมือที่มีทักษะดีแต่ไม่มีงานทำและขาดโอกาส เช่น เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ ซึ่งทางบ้านก็ให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว”

ส่วนสิ่งที่จะฝากถึงรัฐบาลนั้น นางสาวปุณฑริกา กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นการกระจายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น ที่มีการทำงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ แต่อยากให้รัฐบาลให้โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน ไม่เน้นเฉพาะคนคนชั้นกลางในเมืองเท่านั้น แต่กระจายการเข้าถึงแหล่งทุนในประชาชนทุกกลุ่มของสังคม และ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็จะต้องได้รับโอกาสดังกล่าวด้วยค่ะ”

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

Prime Minister Yingluck sets Thailand, Canada on path to free trade agreement

Thai Prime Minister Yingluck Shinawatra and Canada's Prime Minister Stephen Harper shake hands during a meeting at the Government House in Bangkok on March 23, 2012. Harper is on a three-day visit to Thailand. / Photo by AFP
Bangkok, Thailand — Prime Minister Stephen Harper defended his government's record on free trade deals Friday after announcing the first step towards such an agreement with Thailand.

Shortly after a celebratory toast marking the launch of a study to examine whether a trade agreement between the two countries makes economic sense, Harper said he was "very confident" about concluding a free trade deal with Thailand.

 "We have rapidly expanding trade and investment with Thailand," he said as Thai Prime Minister Yingluck Shinawatra stood at a podium beside him following a closed-door meeting between the two leaders that featured high-ranking ministers and officials on both sides.

 "We have made it our business to get back into the game of trade negotiations," Harper added.





Photo by InsiderNews Editorial

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

ยิ่งลักษณ์เตรียมเยือนเกาหลี หารือความมั่นคงทางนิวเคลียร์โลก

(21 มีนาคม 2555 - ทำเนียบรัฐบาล, กรุงเทพฯ) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24-27 มี.ค. และเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ปี 2555 (2012 Nuclear Security Summit) โดยมีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง2ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกมิติ ซึ่งจะมีการหารือข้อราชการกับประธานาธิบดีอีมยองบัก ทั้งด้านการค้า การลงทุน การส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านการเกษตร ความร่วมมือทางทหาร แรงงาน การท่องเที่ยว nuclear energy และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ จะได้พบปะกับบุคคลสำคัญทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำของเกาหลีที่มีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการลงทุนหลังจากที่ไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรง รวมทั้ง ได้เชิญภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพที่จะลงทุนร่วมกับเกาหลีให้ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ในการเยือน นายกรัฐมนตรี จะได้เยี่ยมชมระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของเกาหลี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำของไทยด้วย

จากนั้น ในวันที่ 26-27 มี.ค. นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ที่เกาหลีเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีผู้นำจาก 52 ประเทศ และอีก 3 องค์กร ได้แก่สหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และองค์การตำรวจสากล (INTERPOL)) เข้าร่วมด้วย โดยประเทศไทยจะแสดงจุดยืนและย้ำถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐบาลในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์และการลดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ และยังเป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะได้พบปะหารือกับผู้นำหลายประเทศจากทั่วโลกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศไทย

คณะผู้สื่อข่าวเกาหลี สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีก่อนเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลี
ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
คณะผู้สื่อข่าวเกาหลี สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีก่อนเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลี
ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

"นางงาม" หนุน "กองทุนสตรีฯ" แห่สมัครสมาชิกคึกคัก


(21 มีนาคม 2555 - ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล, กรุงเทพฯ) นางนลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้การต้อนรับผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2012 จำนวน 30 คน เพื่อสนับสนุนนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของรัฐบาล โดยผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2012 ได้ทยอยลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดจุดบริการรับสมัครสมาชิกกองทุนฯ ไว้บริเวณตึกสันติไมตรี

นางนลินีชี้แจงว่า วันนี้ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญ และยอมรับผู้หญิงมากขึ้น เช่นเดียวกับสังคมไทย แต่เรายังเห็นผู้หญิงบางคนถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกกดขี่และใช้ความรุนแรงอยู่ ส่วนหนึ่งอาจมาจากค่านิยมที่สังคมมักมองผู้หญิงว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเป็นผู้ตาม หรือเป็นเพศที่อ่อนแอ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่ควรมองข้าม เพราะตราบใดก็ตามที่ทุกคนพูดถึงความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย แต่ไม่หยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้หญิงเหล่านั้น ความคิดดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ กองทุนฯนี้มีเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างศักยภาพของสตรี ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ เกิดความเสมอภาค และประคับประคองให้ผู้หญิงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

หลังจากนั้นผู้เข้าประกวดได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนางนลินี โดยผู้เข้าประกวดให้ความสนใจการแก้ไขปัญหาหาสตรีเช่น กระบวนการค้ามนุษย์ ปัญหาหนี้สินในครอบครัวเป็นต้น และพร้อมที่จะสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของกองทุนฯ รวมทั้งจะให้ร่วมมือด้วยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์นโยบายดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตามผู้เข้าประกวดลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯด้วย

จากนั้นนายจุลภาส เครือโสภณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำผู้ประกวดเข้าพบรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีภายในห้องสีฟ้า ซึ่งจัดเป็นสถานที่รับรองผู้เข้าประกวด โดยนางนลินีกล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ได้มาพบและพูดคุยกันเรื่องการสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เนื่องจากทุกวันนี้ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญและยอมรับผู้หญิงมากขึ้น เช่นเดียวกับสังคมไทย แต่เราก็ยังเห็นผู้หญิงบางคนถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกกดขี่และใช้ความรุนแรงอยู่ ส่วนหนึ่งอาจมาจากค่านิยมที่สังคมมักมองผู้หญิงว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ตาม หรือเป็นเพศที่อ่อนแอ ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่ควรมองข้าม เพราะตราบใดก็ตามที่ทุกคนพูดถึงความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย แต่ไม่หยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้หญิงเหล่านั้นความคิดดังกล่าวก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้

“กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่มีผู้นำเป็นผู้หญิง ซึ่งนิตยสารนิวสวีคของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นสุดยอดผู้หญิงนักสู้ของโลก 1 ใน 150 คน เนื่องในวันสตรีสากลประจำปีนี้ โดยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างศักยภาพของสตรีให้ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ เกิดความเสมอภาค และประคับประคองให้ผู้หญิงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับองค์กรสตรี ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้โอกาสสตรีในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน ได้ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมพัฒนา จากกองทุนที่รัฐบาลจะมอบให้ เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสร้างงาน สร้างอาชีพ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี ตลอดจนพัฒนาความรู้และคุณภาพชีวิตของสตรีให้สามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายได้

ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้สมัครต้องเป็นสตรีไทยที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สมัครได้ที่ที่ทำการหมู่บ้าน พัฒนากรตำบล และกศน.ตำบล เฉพาะกรุงเทพมหานคร สมัครได้ที่ กศน. เขต และศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชนเขต 12 เขต ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดหรือลงทะเบียนออนไลน์ได้ทาง http://www.womenfund.thaigov.go.th โทร. 1111 กด 6 จากนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำผู้เข้าประกวดไปลงทะเบียนเพื่อสมัครเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีด้วย





วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

ครม.สัญจรภูเก็ตจัด8หมื่นล้าน ลุย117โครงการอันดามัน

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.ภูเก็ต
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.ภูเก็ต มีมติเห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, ตรัง ระนอง จำนวน 117 โครงการ วงเงินรวมกว่า 84,000 ล้านบาท

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา กล่าวว่า แบ่งเป็นโครงการกลุ่มจังหวัด 10 โครงการ วงเงิน 24,873 ล้านบาท และโครงการจังหวัด 107 โครงการ วงเงิน 59,263 ล้านบาท แยกเป็นจังหวัดภูเก็ต จำนวน 67 โครงการ วงเงิน 47,683 ล้านบาท,จังหวัดพังงา จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 3,817 ล้านบาท,จังหวัดกระบี่ 10 โครงการ วงเงิน 3,439 ล้านบาท,จังหวัดตรัง 6 โครงการ วงเงิน 334 ล้านบาท และจังหวัดระนอง 11 โครงการ วงเงิน 3,990 ล้านบาท

สำหรับ โครงการที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ เช่น โครงการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงข่ายถนนระหว่างจังหวัด,การพัฒนาโครงข่ายภายในจังหวัด,การพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศ-น้ำ, การพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ, โครงการด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว, โครงการด้านสาธารณสุข, โครงการด้านการศึกษา

โดยรัฐบาลจะใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเป็นการยะระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กให้แล้วเสร็จและลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของโครงการต่างๆ ลงด้วย ที่สำคัญให้มีความสอดคล้องกับโครงการต่างๆ ที่รัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละจังหวัดประมาณ 100 ล้านบาทในการดำเนินโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันทีรวม 23 โครงการ วงเงิน 628 ล้านบาท โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าของโครงการเร่งจัดทำรายละเอียดคำขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2555 จัดส่งให้สำนักงบประมาณภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมในปีงบประมาณ 2555 ต่อไป ยกเว้นโครงการเตรียมพื้นที่, ปรับปรุงพื้นที่, ถมดินบริเวณโครงการจัดตั้งศูนย์ราชการระดับจังหวัด จ.พังงา วงเงิน 35 ล้าบาท ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ พ.ศ.2539 ก่อนทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

"จาตุรนต์ ฉายแสง" : จับประเด็น ตอบคำถาม ทำไมต้องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ?

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ให้สัมภาษณ์พิเศษ กองบรรณาธิการ InsideThaiGOV
ประเด็น การแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550
เหตุใดจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ?
จาตุรนต์ ฉายแสง : รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความไม่ชอบธรรมและมีปัญหาทั้งที่มาและเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากการรัฐประหาร ถือได้ว่าคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้รับรองการรัฐประหารด้วย การคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปทั้งที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ในสายตาของอารยประเทศเขาถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกลับยอมรับกฎกติกาที่พวกเผด็จการสร้างไว้

ในส่วนของเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมคือให้องค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารหรือผ่านความเห็นชอบมาจากคณะรัฐประหารสามารถล้มรัฐบาล คนไม่กี่คนที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเลยสามารถหักล้างมติของประชาชนทั้งประเทศได้ การตรวจสอบ ควบคุมและถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารรวมทั้งข้าราชการระดับสูงทำโดยองค์กรที่ขาดความชอบธรรมและสามารถเลือกปฏิบัติโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลนอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆที่เป็นปัญหาอีกมากเมื่อใช้รัฐธรรมนูญนี้มาระยะหนึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองถูกทำลายให้อ่อนแอลงอย่างมาก ความไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยที่นับวันจะหนักหนายิ่งขึ้นทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนา ประชาชนเสียประโยชน์ทั้งๆที่ประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออำนวย มีโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆที่พัฒนาก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ แต่ต้องกลับมาติดหล่มความขัดแย้งและยังขาดความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศโดยเฉพาะในระบบความยุติธรรมและความไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ความสนใจที่เขาจะมาลงทุนหรือทำมาค้าขายด้วยน้อยลงไปอย่างมาก

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร?
จาตุรนต์ ฉายแสง : ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา ผู้ที่สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 3 ฝ่ายคือคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา หรือประชาชนแล้วให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีนี้ก็ได้ แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาเองก็มีการคัดค้านกันมากว่าจะแก้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาเอง พอคนคิดกันอย่างนี้มากๆเข้าก็ทำให้แก้โดยวิธีนี้จะสำเร็จได้ยาก เป็นที่มาของการมีสสร.ขึ้น นอกจากนั้นก็มีการเสนอว่าหลังจากร่างเส็จแล้วควรให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสินเป็นขั้นตอนสุดท้าย การจะมีสสร.และการลงประชามตินี้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นถ้าจะให้มีขึ้นจึงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งเป็นมาตราว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน

สสร.ควรมีที่มาและองค์ประกอบอย่างไร?
จาตุรนต์ ฉายแสง : ที่ผ่านมาเคยมีสสร.มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ในปี 40 ให้ผู้สมัครในแต่ละจังหวัดเลือกกันเองให้เหลือ10 คน แล้วให้รัฐสภาเลือกให้เหลือจังหวัดละคน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิก็ให้วงการวิชาการสรรหากันมาแล้วให้รัฐสภาเลือก ส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสสร.มาจากการสรรหาแล้วให้คมช.เลือก ครั้งนี้จะใช้วิธีการอย่าง 2 ครั้งก่อนคงไม่ได้ แบบคมช.นั้นเป็นเผด็จการเต็มที่ ส่วนแบบปี 40 ก็อาจยังไม่เป็นที่ยอมรับเพียงพอ เมื่อการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาก การให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นคนตัดสินจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด ดังนั้นสสร.จึงควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

สสร.ควรมีจำนวนเท่าไหร่นั้นย่อมขึ้นกับภารกิจที่จะมาทำคือการร่างรัฐธรรมนูญ น้อยไปก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่ดี จะมาจากจังหวัดละคนหรือจะเป็นสัดส่วนกับประชากร เป็นเรื่องที่หารือกันได้ในขั้นตอนต่อไป
สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาช่วยยกร่างนั้นอาจให้วงการวิชาการเสนอมาหรือสมัครมาเองแล้วให้รัฐสภาเลือกหรือจะให้สสร.เลือกอีกทีก็ได้ บางคนเสนอให้สมัครกันเองแล้วให้ประชาชนทั้งประเทศเลือกโดยตรงไปเลย ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เรื่องเหล่านี้หารือกันคงมีข้อยุติที่ดีได้

ทำไมต้องมีการลงประชามติ การลงประชามติควรมีก่อนหรือหลังการยกร่าง?
จาตุรนต์ ฉายแสง : การลงประชามติเป็นเรื่องจำเป็นทำให้รัฐธรรมนูญใหม่มีความขอบธรรม คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีโอกาสล้มร่างนั้นเสียก็ได้ หากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยร่างนั้นก็ต้องตกไป ถ้าเห็นด้วยก็ผ่าน แล้วใครจะมาฉีกก็จะยาก คนส่วนใหญ่จะไม่ยอม

การลงประชามติก่อนยกร่างนั้นมีปัญหาว่าจะถามว่าอย่างไร ถามว่าแก้หรือไม่นั้นไม่มีความหมาย เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะแก้มากหรือน้อยในเรื่องอะไร ถ้าออกมาว่าไม่ให้แก้ก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่บอกว่าแก้ได้ จะกลายเป็นว่าต่อไปใครก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้อีกเลยหรือ การลงประชามติก่อนยกร่างจึงไม่เป็นประโยชน์ เป็นการสูญเปล่า

ที่ควรให้ความสำคัญสำหรับการลงประชามติคือ ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตลอดจนความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง ต้องให้เป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ต้องเปิดโอกาส ส่งเสริมให้มีการรณรงค์ได้อย่างเสรี จัดเวลาให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อสาธารณชนได้เต็มที่และเท่าเทียมกันให้มากที่สุด อย่าทำเหมือนการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทำแบบมัดมือชกฝ่ายเดียว ไม่อนุญาตให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้มีโอกาสสื่อสารกับประชาชน ขณะนั้นยังคงใช้กฎอัยการศึกในหลายสิบจังหวัด ใครไม่เห็นด้วยก็จับไปขังในค่ายทหาร ปล่อยให้พูดได้อยู่ฝ่ายเดียว และยังออกกติกาด้วยว่าถ้าไม่ผ่านก็ให้คมช.นำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ก็ได้ตามใจชอบ การลงประชามติอย่างนั้นเป็นเรื่องลวงโลก รัฐบาลนี้ไม่ควรทำอย่างนั้นอีก

ควรแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นอะไร มาตราใดบ้าง?
จาตุรนต์ ฉายแสง : รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาสำคัญๆจำนวนมากที่ต้องแก้ ถึงได้เรียกกันว่าต้องยกร่างกันใหม่ แต่เมื่อจะแก้หรือยกร่างใหม่โดยสสร.ก็คงต้องช่วยกันให้แก้มาตรา 291 ให้สำเร็จเสียก่อนแล้วค่อยมาว่ากันที่เนื้อหาสาระที่จะแก้ ถึงตอนนั้นควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเสนอความเห็นกันได้เต็มที่

ใครควรเป็นผู้เสนอแก้มาตรา 291?
จาตุรนต์ ฉายแสง : เท่าที่เป็นข่าว ขณะนี้ประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อกันอยู่ใกล้จะยื่นได้แล้ว นี่ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน นอกจากนี้เข้าใจว่าสส.ฝ่ายรัฐบาลก็เตรียมเสนอร่างเช่นกัน ก็สอดคล้องกับที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง ก็เหลือแต่รัฐบาล เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วรัฐบาลก็คงต้องเสนอด้วยเพราะรัฐบาลก็แถลงนโยบายไว้ว่าจะแก้ แถมยังแถลงไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะทำใน 1 ปีด้วย นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่าประชาชนเห็นต่างกันในเรื่องเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ ก็ชอบแล้วที่รัฐบาลจะหาทางออกให้สังคมด้วยการให้มีสสร.ที่มาจากประชาชนมาร่างแล้วให้ประชาชนตัดสินด้วยการลงประชามติเท่ากับรัฐบาลกำลังช่วยหาทางออกให้กับสังคม

จะแก้เมื่อไหร่ดี?
จาตุรนต์ ฉายแสง : ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ขณะนี้ความจริงก็ช้าไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สายไป ถ้าจะให้ทันกำหนดหนึ่งปีก็คงต้องเริ่มในเร็วๆนี้จะได้แก้มาตรา 291 ได้ทันในสมัยประชุมนิติบัญญัติ มิฉะนั้นจะไปติดช่วงปิดสมัยประชุม เปิดอีกทีก็สิงหาคมก็ไม่ทันกำหนดแล้ว ที่ว่าทำใน 1 ปีนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องเสร็จทั้งฉบับ แต่ควรจะแก้มาตรา 291ให้เสร็จ เมื่อแก้มาตรา 291 แล้วยังต้องเลือกสสร. ต้องยกร่างแล้วยังต้องทำประชามติ ยังต้องใช้เวลาอีกเป็นปี

มีข้อโต้แย้งว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความขัดแย้ง?
จาตุรนต์ ฉายแสง : ก็จริง การแก้รัฐธรรมนูญย่อมทำให้เกิดการต่อต้านคัดค้าน จนอาจเกิดความรุนแรง ก็ต้องดูว่าการคัดค้านนั้นมีเหตุผลหรือไม่ ใช้วิธีการที่ถูกต้องหรือไม่และมีทางออกที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้หรือไม่ ป้องกันหรือลดความขัดแย้งหรือความรุนแรงได้หรือไม่ การให้มีสสร.และการลงประชามติน่าจะช่วยลดปัญหานี้ได้มาก

แต่ไม่แก้ก็ขัดแย้ง สังคมไทยอยู่กับความขัดแย้งมาหลายปีแล้ว ขณะนี้ก็ยังขัดแย้งกันอยู่ ยิ่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปนานเท่าใดก็จะยิ่งมีความขัดแย้งมากขึ้น การที่มีความพยายามที่จะปรองดองเป็นเรื่องดีและคงช่วยลดความขัดแย้งได้บ้าง แต่ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญที่เป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้ง การปรองดองที่เป็นจริงก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ก็ยังจะขัดแย้งไม่จบสิ้นและรุนแรงกว่าเดิม การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมและให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ความจริงแล้วคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยในระยะยาว เมื่อแก้แล้วก็มารณรงค์กันให้สังคมไทยมีค่านิยมที่ยอมรับกติกา แก้ปัญหาการมีความคิดที่แตกต่างกันที่ยังมีอยู่ตลอดไปด้วยด้วยสันติวิธีในระบบกติกาที่เป็นธรรม

ข้อกล่าวหาว่าแก้เพื่อคนๆเดียว?
จาตุรนต์ ฉายแสง : เหตุผลสำคัญที่มักใช้ในการต่อต้านขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญก็คือการทำเพื่อคนๆเดียว ทั้งๆที่ความจริงแล้วการมุ่งทำลายคนๆเดียวต่างหากที่เป็นต้นเหตุให้ประชาธิปไตยและระบบยุติธรรมของประเทศนี้ต้องถูกทำลายเสียจนยับเยินอย่างทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลหรือรัฐสภาจะแก้รัฐธรรมนูญเองทั้งหมดคงหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหานี้ได้ยาก ถึงไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อคนๆเดียวเขาก็หาเรื่องได้อยู่ดี ดังนั้นการที่สสร.ที่มาจากประชาชนจะเป็นคนร่าง แล้วยังให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติได้อีกซึ่งเท่ากับว่าไม่มีใครกำหนดอะไรได้ จึงเป็นวิธีที่จะทำให้ข้อกล่าวหาที่ว่าทำเพื่อคนๆเดียวก็คงไม่มีน้ำหนักต่อไป

หมายเหตุ - บทสัมภาษณ์ "จาตุรนต์ ฉายแสง"  โดย InsiderNews Editorial และ กองบรรณาธิการ InsideThaiGOV



แกะกล่องซอฟท์แวร์แท็บเล็ต - “โอฬาร” เผย “เราจะเรียนด้วยความสนุก”

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แสดงซอฟท์แวร์เครื่องต้นแบบวันแท็บเล็ตเพอร์ชายด์
ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษาและกรรมการบริหารนโยบาย “วันแท็บเล็ตเพอร์ชายด์” เปิดเผยรายละเอียดซอฟท์แวร์ที่บรรจุลงเครื่องแท็บเล็ตพีซีของไทยครั้งแรก

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาและกรรมการบริหารนโยบาย “วันแท็บเล็ตเพอร์ชายด์” (One Tablet Per Child) ให้สัมภาษณ์พิเศษเว็บไซต์ InsideThaiGOV ถึงความคืบหน้าของโครงการในส่วนของซอฟท์แวร์ ว่า “เรื่องของซอฟท์แวร์จะมีหนังสืออิเลคทรอนิกส์ (e-Book) ที่ใช้ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่1 ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี เลิร์นนิ่งออฟเจ็ค (Learning Object) หรือ แฟ้มดิจิตอลเพื่อใช้นำเสนอให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของสื่อในรูปแบบของสื่อผสมที่มีการออกแบบอย่างเป็นระบบ โดยได้นำการ์ตูน และภาพเคลื่อนไหว ที่พัฒนาเสร็จแล้วกว่า360 เรื่อง ประกอบไปด้วยวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ”

“สำหรับเนื้อหาที่ถูกพัฒนาเสร็จแล้วทั้งหมดจะเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งบทเรียนที่ใช้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และ มัธยมศึกษาปีที่ 1-3 อาทิ การสอนนับเลขในวิชาคณิตศาสตร์ หรือ การเรียนรู้หลักไวยากรณ์ในวิชาภาษาไทย ทั้งหมดเป็นบทเรียนที่ไม่เน้นการท่องจำแต่ใช้ความเข้าใจเป็นหลักนักเรียนก็จะเรียนด้วยความสนุกสนาน โดยใช้หลักการแบบ “เอ็ดดูเทนเมนท์” (Edutainment: Education + Entertainment) ส่วนเสียงเนื้อหาภาษาอังกฤษจะมีการเลียนแบบเสียงที่คล้ายภาษาแม่ (Native Speaker) มากที่สุด ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการทำการพัฒนาระบบการบริหารการจัดการเรียนรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางด้านการศึกษาทั้งครูผู้สอน และตัวผู้เรียนเอง โดยตัวระบบจะเป็นผู้ประมวลผลและวัดประสิทธิภาพทางการศึกษาเพื่อนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ที่มากขึ้น”

ดร.โอฬาร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ส่วนของหน่วยความจำหลักจะมีความจุไม่มากนัก จึงใช้หน่วยความจำแบบไมโครเอสดีการ์ด (Micro SD Card)บรรจุเนื้อหาสาระทั้งหมด สามารถแบ่งจำนวนเครื่องแยกตามหน่วยงานโดยประมาณในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 566,000 เครื่อง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ 183,000 เครื่อง โรงเรียนสาธิต 3,700เครื่อง และ กระทรวงมหาดไทยที่รวมโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รวมทั้งสิ้น 847,500 เครื่อง”

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

แก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ใครเสียประโยชน์? : สาระ “สำคัญ” ของร่างรัฐธรรมนูญ

โดย กองบรรณาธิการ InsideThaiGOV


ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน ตุลาการ ว่า หลายมาตราในรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย หลายมาตราให้อำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากจนเกินความสมดุล จนเกิดปัญหาแตกแยกวุ่นวายในบ้านเมืองดังที่ทราบกันดี

วันนี้ เมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้วจึงสมควรนำรัฐธรรมนูญเจ้าปัญหาฉบับดังกล่าวกลับมาหารือ และเห็นพ้องร่วมกันในสภาว่าสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้นำเข้าสู่สภาผ่านวาระแรกเรียบร้อยแล้ว แต่เรามักได้ยินบางคนที่อ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบุคคลคนเดียว เพื่อนิรโทษกรรมอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แต่เราควรคิดถึงความเป็นจริงว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครได้ประโยชน์ และหากแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยดังเช่นฉบับก่อนหน้านั้น ใครกันแน่ที่เสียประโยชน์?

โดยหลักการร่างรัฐธรรมนูญ จะมีสาระสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
1. บทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
2. บทบัญญัติเรื่องการจัดสรรอำนาจ การได้มาและการกระจายอำนาจนั้นผ่านระบบต่างๆในรัฐธรรมนูญ
3. การสร้างระบบถ่วงดุล โดยเฉพาะการตรวจสอบอำนาจของฝ่ายบริหาร

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ของไทยมีมาตราต่างๆรองรับหลักการทั้ง3ข้อดังกล่าวข้างต้น มาตราสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่สมควรยึดเป็นหลักเบื้องต้น คือ บทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

เมื่อดูรายละเอียดด้านสิทธิและเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองประชาชนไว้นั้น มีบัญญัติเรียงไว้ดังนี้
  • มาตรา 34 เสรีภาพในการเดินทาง และเลือกถิ่นที่อยู่
  • มาตรา 36 เสรีภาพในการสื่อสาร
  • มาตรา 45 เสรีภาพในการแสดงออก
  • มาตรา 56 เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลทางราชการ
  • มาตรา 63 เสรีภาพในการชุมนุม
  • มาตรา 64 เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม
ทุกมาตราล้วนแต่เขียนบรรยายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ทุกมาตราทั้งหมดถูกบัญญัติต่อท้ายว่า “ยกเว้นแต่กรณีว่าด้วยบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเพื่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน”

การคุ้มครองดังกล่าวข้างต้นทุกข้อดูเหมือนดีมาก แต่ทุกมาตราจบด้วยการ “ข้อยกเว้นด้านความมั่นคงแห่งรัฐ ศีลธรรมอันดีงาม” และที่สำคัญ ก่อนการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ดังกล่าว ได้มี “กลุ่มบุคคล” แอบผ่านร่างสำคัญ 2 ฉบับที่เป็นไม้เด็ดคือ “พระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” และ “พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจทหารไว้ล้นมือจนสามารถประกาศกฎอัยการศึกได้


ผ่านการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาแล้ว 5 ปี คนไทยจะทนเห็นรัฐธรรมนูญฉบับเจ้าปัญหาแผลงฤทธิ์ได้ไปอีกกี่ปี?!

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

ป้ายเป็นเหตุ! ประชาธิปัตย์ผวาหลังถูกเพื่อไทยยื่นยุบพรรค



นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ ว่า พรรคเพื่อไทยได้รับการร้องเรียนจากประชาชนใน จ.สงขลา ว่ามีการขึ้นป้ายต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยแก้ไข รธน. เพื่อระบอบทักษิณ และหวังล้มสถาบัน ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อมูลทำให้เกิดความสับสนเข้าใจผิด และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ พรรคเพื่อไทยได้ส่งคนลงพื้นที่เพื่อรวบรวมหลักฐาน รวมทั้งกรณีการปราศรัยของนักการเมืองบางคน จากเหตุการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ออกปฏิญญาหาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย มาตรา 94 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง บิดเบือนทำให้ประชาชนเกิดความไม่เข้าใจและต่อต้าน โดยตนและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 15 มีนาคม เวลา 10.00 น. ให้สอบสวนเรื่องนี้ ซึ่งมีผลถึงขั้นยุบพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง แต่เป็นการดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เดินอยู่ในวิถีทางประชาธิปไตย

ส่วนความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมจากทางพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายอมรับว่าป้ายขนาดใหญ่ที่ติดตั้งทั่วพื้นที่หาดใหญ่นั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ติดตั้ง ประกอบไปด้วยป้ายต่อต้านการล้มสถาบัน การแก้ไขมาตรา 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนๆเดียวจำนวนมาก แบ่งเป็นทั้งป้ายขนาดใหญ่และเล็ก อาทิ บริเวณวงเวียนน้ำพุ ถนนเพชรเกษม, บริเวณ 4 แยกโรงปูน ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 1 ตัดถนนรัถการ, บริเวณถนนแสงจันทร์, บริเวณใกล้ 4 แยก ถนนประชาธิปัตย์ตัดถนนประชารักษ์ โดยตามสี่แยกใหญ่ๆ จะติดป้ายขนาดใหญ่ ส่วนป้ายขนาดเล็กจะติดตามกำแพงหรือหน้าต่างร้านต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามปฏิญญาหาดใหญ่ ซึ่งเป็นมติของที่ประชุมสาขาพรรค 14 จังหวัดภาคใต้


ป้ายต้นเหตุที่จะเป็นสาเหตุสู่การยุบพรรคประชาธิปัตย์

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

"บัวแก้ว" แจงวอลสตรีทเจอร์นัล กรณีสุนทรพจน์ "ยิ่งลักษณ์"

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2555 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีสำนักข่าว Wall Street Journal ได้รายงานข่าวการเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนานักลงทุนญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย โดยที่ไม่มีล่ามแปลตาม ซึ่งมีสื่อไทยนำไปอ้างอิง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ในงานสัมมนา Strengthening Thailand-Japan Business Partnership ระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2555 ณ โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว มีการกล่าวเปิดงานโดยนายกรัฐมนตรีและนาย Tadashi Okamura ประธานบริหารของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Japan Chamber of Commerce and Industry: JCCI) โดยประธานบริหาร JCCI กล่าวต้อนรับและเปิดงานเป็นภาษาญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานเป็นภาษาไทย ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันไว้ล่วงหน้า เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลา โดยหลังพิธีเปิดงานดังกล่าว ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องเข้าร่วมการสัมมนาธุรกิจกลุ่มย่อยรายสาขารวม 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร ท่องเที่ยว ปิโตรเคมี ก่อสร้าง และค้าปลีก ด้วย

2. ในพิธีเปิดงานดังกล่าว มีการแจกคำแปลคำกล่าวของประธานบริหาร JCCI เป็นภาษาไทย และคำแปลคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งรูปแบบของการจัดการสัมมนา โดยการเผยแพร่เอกสารคำแปลในงานเช่นนี้ เป็นการจัดตามมาตรฐานสากล เมื่อมีข้อจำกัดด้านเวลา อนึ่ง ในช่วงการสัมมนาธุรกิจกลุ่มย่อยรายสาขารวม 7 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น ได้มีการจัดเตรียมล่ามภาษาไทย - ญี่ปุ่น สำหรับนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทยที่เข้าร่วมตลอดการสัมมนา

3. เป็นที่น่าเสียดายที่เนื้อหาของข่าวที่ถูกนำเสนอไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระของคำกล่าวทั้งของฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น แต่มุ่งเน้นที่จะกล่าวถึงรูปแบบในภาพย่อยซึ่งไม่ใช่ภาพรวมของภารกิจของนายกรัฐมนตรีในการเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้

4. เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักข่าว Wall Street Journal เพื่อทำความเข้าใจและแสดงความผิดหวังแล้วด้วย

สุรนันท์ยันนายกฯไม่มีจุดด้อยในการใช้ภาษาอังกฤษ


นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ โฆษกประจำตัวนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีสำนักข่าวต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตการกล่าวเปิดการสัมมนาระหว่างนักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นภาษาไทยโดยไม่มีล่ามแปล มีเพียงเอกสารที่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า การประชุมดังกล่าว จัดโดยหอการค้าญี่ปุ่น มีตัวแทนของญี่ปุ่นกล่าวเปิดงานก่อนเป็นเวลา 7 นาที ตามด้วยนายกรัฐมนตรีอีก 7 นาที ซึ่งเป็นข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยคำกล่าวของญี่ปุ่น มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี มีการแจกเอกสารแปลเป็นภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น แจกให้ก่อนเริ่มงาน ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติของเจซีซีไอ และนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงไปยังสื่อต่างๆ ให้ทราบกระบวนการเหล่านี้ และกรณีดังกล่าวเป็นการเปิดสัมมนา ไม่ใช่การแถลงข่าวและไม่มีการซักถาม จึงไม่จำเป็นต้องมีล่ามแปล จึงยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีจุดด้อยในการใช้ภาษาอังกฤษ และย้ำว่านายกรัฐมนตรี มีเจตนาที่ดีและตั้งใจในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปด้วยดี

โฆษกประจำตัวนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสาสน์แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของช่างภาพชาวญี่ปุ่น ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองให้กับครอบครัวผ่านเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นแล้ว

เผยภาพ "สุนทรพจน์นายกฯยิ่งลักษณ์" ภาษาญี่ปุ่น

สุนทรพจน์นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภาษาญี่ปุ่น

สุนทรพจน์นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภาษาอังกฤษ
บทสุนทรพจน์ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนานักธุรกิจ หัวข้อ "ประเทศไทยที่ไม่แพ้ และโอกาสที่ไม่มีใดเสมอเหมือน" (UNBEATABLE THAILAND, UNPARALLELED OPPORTUNITIES) จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยมีนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยและสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำนวนกว่า 1,200 คน เข้าร่วมรับฟัง ณ โรงแรมอิมพีเรียลกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

"ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเยือนประเทศญี่ปุ่นและได้มาอยู่ ณ ที่นี้ อยากแสดงความขอบคุณต่อบรรดาเพื่อนๆ ทั้งหลายจากภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ณ ที่นี้

ไทยและญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศเก่าแก่ที่มีอนาคตทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่ จากเมื่อครั้งที่เคยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 125 ปี ก่อนหน้านี้ เรื่อยมาจนถึงการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ร่วมกันภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปป้า) ในวันนี้ ประเทศญี่ปุ่นและภาคเอกชนได้แสดงบทบาทสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของประเทศไทย ความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างไทยและญี่ปุ่นจะยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อโลกยิ่งมองมายังเอเชียในฐานะเป็น ผู้ขับเคลื่อนหลักเพื่อการเติบโตอันยั่งยืนของ ทั้งโลก

ญี่ปุ่น เป็นหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย การส่งออกของเรามายังญี่ปุ่นขยายตัว 8.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่ผ่านมา ท่านยังเป็นผู้ลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของไทย การลงทุนของญี่ปุ่นผ่านการขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ทั้งหมดของไทยเมื่อปีที่แล้ว บริษัทญี่ปุ่นยังเข้ามาดำเนินการวิจัย พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ในไทยมากกว่าประเทศอื่นใด ยิ่งไปกว่านั้น รัฐสภาไทยเพิ่งผ่านความเห็นชอบให้เปิดการเจรจาต่อเนื่องภายใต้กรอบเจเทปป้าในอีก 5 ขอบเขต รวมถึงการค้า, กฎว่าด้วยการกำหนดแหล่งที่มา, การบริการ, การลงทุน และการบังคับใช้พันธกรณีจากเจเทปป้า

เมื่อปีที่แล้วทั้งไทยและญี่ปุ่นประสบความทุกข์ยากจากภาวะน้ำท่วม แต่โดยแรงสนับสนุนด้วยกรุณาของท่านทั้งหลาย เราสามารถผ่านพ้นมาได้ในสภาพที่เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม ประเทศไทยจะสำนึกขอบคุณทั้งในความช่วยเหลือของท่านตลอดไปและในความเชื่อมั่นที่ท่านทั้งหลายมีต่อเรา

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า เราอยู่ระหว่างกระบวนการเพื่อปฏิบัติใช้ระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องชุมชนและเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญทั้งหลายอยู่ในเวลานี้

ประการแรกสุด เรากำลังบริหารจัดการเขื่อนทั้งหลายที่เรามีอยู่ ด้วยการลดระดับน้ำลง จะช่วยให้เขื่อนเหล่านั้นสามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้นระหว่างหน้ามรสุมที่มีปริมาณฝนสูงสุด

ประการที่สอง เราได้จำแนกพื้นที่สำหรับ การกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ จะทำหน้าที่เป็น อีกแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง พื้นที่เหล่านี้เชื่อมต่อโดยตรงอยู่กับแม่น้ำหลักทั้ง หลาย ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำหลังภาวะน้ำท่วมทำได้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากนั้น เรายังได้เริ่มขยายขีดความสามารถของระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่เพิ่มเติม รวมทั้งบรรดาประตูระบายน้ำ ลำคลอง สถานีสูบน้ำและพนังกั้นน้ำต่างๆ

ประการที่สาม กำหนดให้มีมาตรการเพื่อคุ้มครองพื้นที่เศรษฐกิจ จะรวมไปถึงการลงทุนสร้างระบบคันกั้นน้ำโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ถนนจะถูกยกระดับขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานเพื่อจัดส่งสินค้าและบริการต่างๆ ได้ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าระบบโลจิสติกส์และการลำเลียงชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ จะไม่สะดุดลง ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้ปรับปรุงการระบายน้ำผ่านลำคลองต่างๆ เพื่อให้สามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว

ประการที่สี่ มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการหนึ่งเดียวขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการบริหารจัดการจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การตอบสนองเป็นไปทันต่อสถานการณ์ นอกจากนั้นเรายังได้ปรับปรุงการคาดการณ์ล่วงหน้าและระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้ดีขึ้นอีกด้วย

เพื่อให้แน่ใจว่าแผนต่างๆ เหล่านี้จะประสบผลสำเร็จ จะมีการใช้จ่ายเงินราว 47,000 ล้านเยน (18,000 ล้านบาท) ในปีนี้ และอีกประมาณ 915,000 ล้านเยน (350,000 ล้านบาท) ในอีกสองสามปีข้างหน้า นอกจากนั้นแล้ว ข้าพเจ้ายังได้เดินทางเยือนพื้นที่สำคัญต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในแผนด้วยตัวเองเพื่อให้ได้รับการสนับสนุน

นอกเหนือจากแผนบริหารจัดการน้ำแล้ว รัฐบาลยังริเริ่มชุดความช่วยเหลือทางการเงินหลายประการเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือในการสร้างคันป้องกันน้ำท่วมเช่นเดียวกับกองทุนเพื่อการประกันภัยสำหรับสนับสนุนบริษัทที่ได้รับผลกระทบ

แม้จะเกิดอุทกภัยขึ้นครั้งใหญ่ แต่พื้นฐาน ทางเศรษฐกิจของเรายังคงแข็งแกร่ง เรามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับสูง และมีสถานะทางการคลังที่ดีโดยมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจไทยจึงได้รับการคาดหมายว่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 5.5-6.5 เปอร์เซ็นต์ ข้าพเจ้าอยากชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้ว่าจะเกิดภาวะน้ำท่วม นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมากกว่า 1.1 ล้านคน ยังคงเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นราว 13 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลของเราจะยังคงบังคับใช้นโยบายต่างๆ ในอันที่จะอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนต่างประเทศในไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป ภาษีผู้ประกอบการจะปรับลดลงจากระดับ 30 เปอร์เซ็นต์สู่ระดับ 23 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และจะปรับลดลงต่อไปเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ในปีถัดไป อุปสรรคหลายประการถูกขจัดออกไปเพื่อให้ง่ายต่อการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคขึ้นในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานมีฝีมือชาวไทยยังคงเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญสำหรับบริษัทต่างชาติทั้งหลายอีกด้วย

ไทย เป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างของพวกท่านในเวลานี้ สำหรับการเชื่อมโยงต่อไปยังประชาคมอาเซียนทั้งหลาย ประชาคมตลาดเดียวและฐานการผลิตแห่งนี้ในปัจจุบันมีผู้บริโภคอยู่มากกว่า 600 ล้านคน จีดีพีรวมกันราว 143.4 ล้านล้านเยน และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

ประชาคมแห่งนี้กำลังเป็นโอกาสที่เปิดกว้างในหลายๆ พื้นที่ ที่มีการเติบโตในระดับภูมิภาค อาทิ การคมนาคมขนส่ง, พลังงาน, การดูแลสุขภาพ, ท่องเที่ยวและเกษตรกรรม โดยที่ประเทศไทยที่ความได้เปรียบอยู่ในบางพื้นที่เหล่านี้ เราจึงมีศักยภาพพอในการทำหน้าที่จับคู่ของพลวัตแห่งการเติบโตระหว่างประชาคมอาเซียนและการเติบใหญ่ของการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้

เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) และ อาเซียน รัฐบาลนี้มีพันธะที่จะลงทุนในระบบโลจิสติกส์ และเครือข่ายเพื่อการคมนาคมขนส่งซึ่งรวมถึงถนนและรางรถไฟที่จะเชื่อมต่อไทยเข้ากับเพื่อนบ้านทั้งหลายของเราผ่านช่องทางเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ สิ่งนี้ จะช่วยส่งเสริมไม่เพียงแต่แผนปฏิบัติการหลักเพื่อการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันแห่งอาเซียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเชื่อมโยงกับหุ้นส่วนทั้งหลายในอาเซียนบวกสาม อันหมายถึง จีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ที่ไทยเป็น ผู้ริเริ่มไว้อีกด้วย

โครงการที่เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเข้มแข็งมากขึ้นก็คือ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย กำลังถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือกับเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเราอย่างพม่า ความสำเร็จของโครงการนี้ ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลพม่า ไม่เพียงจะส่งเสริมให้เกิดการเติบโตและพัฒนาการในพม่าเท่านั้น หากยังจะขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยและในภูมิภาคเพิ่มเติมมากขึ้นอีกด้วย สิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างเรากับเอเชียใต้, เอเชียตะวันออกและพื้นที่นอกเหนือไปจากนั้นมากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้าพเจ้าสามารถรับประกันต่อท่านทั้งหลายได้ว่า ไทยจะยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อการลงทุนต่อเนื่องของพวกท่าน ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเรา นโยบายที่เกื้อหนุนของเราและด้วยพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของเรา ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นจะยังคงทำหน้าที่เป็นเสาหลักในความเป็นหุ้นส่วนของเรานี้ต่อไปในอีกหลายต่อหลายปีข้างหน้า"

ฟังความรอบด้าน เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ50 ใครได้ประโยชน์?



จากประเด็นการแก้ไขรธน.เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไข ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลมาโต้ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่ความวุ่นวายได้ ทางกองบรรณาธิการเว็บไซท์ InsideThaiGOV ขอประมวลความเห็นจากทุกฝ่ายในสังคม มาเพื่อให้ทุกท่านได้ตัดสินใจ สังคมไทยจะเดินหน้าไปทางไหน? คำตอบอยู่ที่คุณ...

พันธมิตรฯเปิดศึก นัดระดมพลต้านแก้รัฐธรรมนูญ
นายปานเทพ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ/หรือถอดถอนและ/หรือยุบพรรค ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดำเนินการต่อไป รวมทั้งจะมีการเชิญแกนนำ ผู้ประสานงาน และตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศทุกกลุ่ม เพื่อประชุมเตรียมความพร้อมรับมือและลุกขึ้นต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะจัดให้มีการประชุมในวันเสาร์ที่ 10 มี.ค. เวลา 10.00 น. และจะแจ้งสถานที่ให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

ประชาธิปัตย์เรียงหน้าจัดหนัก เตรียม 30 ขุนพลถล่มรัฐบาล
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นเสียงส่วนน้อย คงไม่สามารถต้านทานความต้องการของรัฐบาลได้ แต่จะพยายามเต็มที่ โดยได้เตรียมผู้อภิปรายของพรรคที่ได้แสดงเจตจำนงไว้เป็นรายชื่อตัวจริง 30 คน สำรองอีก 20 คน พร้อมวางแนวทางการอภิปรายให้เป็นทิศทางเดียวกัน โดยครั้งนี้จะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรค ได้มีโอกาสอภิปรายอย่างเต็มที่ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ นายจุรินทร์ ลัก ษณวิศิษฎ์ ฯลฯ โดยใช้ห้องคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน ที่อยู่บริเวณชั้น 3 ของอาคารรัฐสภาในการเป็นวอร์รูม เพื่อหารือและวางแนวทางในการอภิปราย

เพื่อไทย ระบุ ส.ว. สรรหา เป็นพวกอำนาจเผด็จการ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่กลุ่ม ส.ว.ออกมาแถลงข่าวคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 มีลักษณะของการเริ่มเดินเครื่องเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มาจากกระบวนการรัฐประหาร ในส่วนของพรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนแล้วว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะมีการแก้ในมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อเข้ามายกร่างโดยที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการแก้ แต่ สสร.จะเป็นผู้ยกร่างซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถล้างบางหรือรวบ อำนาจองค์กรอิสระได้อย่างไร กลุ่ม ส.ว.ที่ออกมาพูดคล้ายพวกอำนาจเผด็จการ ซึ่งขณะนี้สอดคล้องกับที่มีการเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนในภาคใต้ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มเดียวกันหรือไม่ที่จะมาขัดขว้างการ อภิปรายเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 ก.พ. เพราะกลัวว่าจะมีการแก้ไขหมวดสถาบัน ดังนั้นการออกมาแถลงข่าวของ ส.ว.จึงเป็นการพูดที่ไม่รับผิดชอบไม่เคารพเสียงของประชาชนกลับออกมาทำให้ ประชาชนสับสนเกิดความวุ่นวายจนเป็นการปลุกระดมม็อบ ทั้งนี้ยืนยันว่าทางพรรคเพื่อไทยจะไม่แตะต้องมาตรา 291/11 อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้กลุ่ม ส.ว.ทบทวนบทบาทตนเองและใช้เวทีสภาแสดงความเห็นร่วมกันจะดีกว่า อย่าไปคิดแทนประชาชนจนสร้างความขัดแย้ง

“ก่อแก้ว” เผยพันธมิตรฯหวังล้มรัฐบาล
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับท่าทีของพันธมิตรฯ เชื่อว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เพื่อหวังจะล้มรัฐบาลแน่นอน เพราะเป็นพวกฝักใฝ่เผด็จการแม้การแสดงท่าทีคัดค้านสามารถทำได้ แต่ขอให้เป็นไปแบบมีอารยะ มีเหตุผล คนเสื้อแดงไม่อยากเห็นการก่อความวุ่นวายนอกสภาเหมือน 3-4 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าไม่มีเป้าหมายแอบแฝงในการแก้ไข รธน. เนื้อหาการแก้ไขก็เป็นไปตามที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) กำหนด ไม่ได้เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงกำหนด ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์เสนอเนื้อหาให้ สสร.ไปพิจารณาได้ คนเสื้อแดงจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทั้งกลุ่มที่ต้องการให้แก้ไข กลุ่มที่ไม่ต้องการให้แก้ไข และกลุ่มที่เห็นว่าแก้ไขหรือไม่แก้ไขก็ได้ โดยกระจายตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ เพื่อจะได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ จำนวน 2,118 คน ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.- 3 มี.ค. 2555 ต่อคำถามที่ว่า ประชาชนคิดว่าจะ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” อย่างไร? จึงจะไม่เกิดความขัดแย้ง ผลสำรวจแบ่งออกตามลำดับดังนี้
อันดับ 1 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น /ทำประชาพิจารณ์หรือประชามติ เพื่อฟังเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายที่ระบุไว้ 43.27%
• อันดับ 2 ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ รัฐธรรมนูญมีความสำคัญและเป็นของคนไทย ทุกคน ถ้ามีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงก็ควรแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช่เพื่อทำลาย 27.93%
• อันดับ 3 การสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง /ชี้แจงเหตุผล ความสำคัญ หรือความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 17.01%
• อันดับ 4 ทุกคนต้องมีสติ มีวิจารณญาณ ยึดหลักความถูกต้อง เป็นธรรม /ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 7.14%
• อันดับ 5 สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ให้ความรู้ในเรื่องรัฐธรรมนูญในแง่มุมต่างๆที่หลากหลาย 4.65%

ถอดรหัสขึ้นราคา “น้ำมันปาล์มไทย” ใครได้-ใครเสีย?


นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ให้ทบทวนราคาควบคุมราคาจำหน่ายปลีก น้ำมันปาล์มขวดขนาด 1 ลิตร ไว้ที่ราคา 42 บาท โดยยื่นขอเพิ่มราคาน้ำมันปาล์มอีกราคาลิตรละ 5-7 บาท โดยอ้างเหตุผลว่าราคานี้ไม่ได้สะท้อนต้นทุนการผลิตจริง ซึ่งอ้างว่า ราคาต้นทุน ณ วันนี้มากกว่า 42 บาทไปแล้ว

สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ น้ำมันปาล์มก็ขาดตลาด ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นไปถึงขวดละเกือบ 70 บาท ปลายปีที่แล้วช่วงน้ำท่วม พ่อค้าน้ำมันปาล์มส่งเสียงว่าน้ำมันปาล์มจะขาดแคลน แต่พอรัฐบาลบอกว่า จะนำเข้าชดเชยเพื่อให้สินค้าไม่ขาดตลาด ปรากฏว่าหลังจากนั้นแค่สองวัน สินค้าก็ไหลกลับเข้าตลาดตามปกติจนท่วมชั้นวางสินค้าในห้าง

เมื่อกลับย้อนไปดูข้อมูลดิบเราพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูก ผลิตกลั่น และการตลาดในลำดับที่ 3 ของโลก มีการประมาณการว่า ปริมาณผลผลิตในช่วงที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องเฉลี่ย 27% และจะพุ่งขึ้นถึง 31% ในทุกๆ 5 ปี

กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มมากถึง 3.67 ล้านไร่ ได้ผลปาล์มสด 6.18 ล้านตัน หรือน้ำมัน 1.11ล้านตันต่อปี พื้นส่วนมากอยู่ในภาคใต้ จังหวัดกระบี่ สุราษฏร์ธานี ชุมพร สตูล อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีบริษัทที่สามารถผลิตและกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ขนาดใหญ่แค่ 10 โรงงาน และขนาดเล็ก 4 โรงงาน โรงงานขนาดใหญ่ 10 โรงงานควบคุมตลาดการผลิตไว้ได้ทั้งหมดถึง 99%

โดยธรรมชาติของปาล์ม จะมีผลผลิตในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน ดังนั้น ช่วงดังกล่าวราคาน้ำมันปาล์มจะเป็นช่วงที่น่าจะถูกที่สุด และหลังจากนี้ไปราคาจึงค่อยๆสูงขึ้นจนถึงปลายปี แต่วันนี้ ราคาน้ำมันปาล์มกลับพุ่งขึ้นผิดที่ ผิดเวลา

เคยมีผลสำรวจ ของเอแบคโพลล์เมื่อปี 54 ถามประชาชนถึงกรณีน้ำมันปาล์มขาดตลาดหรืออ้างขึ้นราคา ปรากฏว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 72% ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนหรือขึ้นราคาของน้ำมันปาล์มนั้น ประชาชนเชื่อว่าเป็นผลจากการบริหารไม่โปร่งใสของหน่วยงานและบริษัทเอกชน ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิต กลั่น น้ำมันปาล์ม

เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องรีบไปดูแลปัญหาราคาปลีกโดยด่วน แต่ในฐานะประชาชน ควรต้องตั้งคำถามแล้วว่า ตกลงแล้ว ราคาโครงสร้างต้นทุนจริงของน้ำมันปาล์มบรรจุขวดคือเท่าไร? สะท้อนต้นทุนจริงหรือไม่? เป็นการบริหารต้นทุนไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และไม่ไว้วางใจว่า อาจใช้ประเด็นขึ้นราคาน้ำมันปาล์มเป็นประเด็นทางการเมือง…

อ้างอิง - ถอดรหัสขึ้นราคา “น้ำมันปาล์มไทย” ใครได้-ใครเสีย?
http://www.insidethaigov.com/issue_detail.php?id=563

"ยิ่งลักษณ์" หนุนพลังสตรี ร่วมพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2555 เว็บไซต์ www.thaigov.go.th สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่คำปราศรัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสตรีสากล โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความเสมอภาคหญิงชาย พร้อมสนับสนุนบทบาทสตรีให้มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ คำปราศรัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า "รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับปัญหาของสตรีและความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย มีนโยบายสนับสนุนบทบาทของสตรีให้มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศอย่างเสมอภาค ปกป้องสิทธิของสตรี ปรับปรุงกฎหมายที่คุ้มครองสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ดึงศักยภาพของสตรีให้มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน การศึกษาและสาธารณสุข เพื่อให้สตรีมีความรู้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ มีหลักประกันในการดำรงชีวิต และที่สำคัญรัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นเพื่อให้สตรีไทยเท่าทันโลกยุคใหม่ ซึ่งจะทำให้สตรีไทยมีพลังอันเข้มแข็งที่จะร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทย ให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป"


วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

คนไทยเฮ! "ยิ่งลักษณ์" ติดอันดับสุดยอดหญิงนักสู้ของโลก


นิตยสารนิวส์สวีคจัดอันดับสุดยอดผู้หญิงนักสู้ของโลก 150 คน เนื่องในวันสตรีสากล โดยใช้ชื่อว่า 150 ผู้หญิงที่ไร้ความหวั่นเกรง เป็นการรวบรวมรายชื่อของผู้หญิงที่เป็นทั้งผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล แกนนำการประท้วงทั้งในเมืองใหญ่และหมู่บ้านเล็ก ๆ ผู้หญิงที่ต่อสู้ทั้งทางด้านการศึกษา ธุรกิจ และการคอร์รัปชั่น ผู้หญิงที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และลบล้างแนวความคิดผิดๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิต และสิทธิมนุษยชน และใน 150 คนนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงของไทย ติดอันดับอยู่ด้วย

นิวส์สวีค ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ด้วยการหาเสียงชูนโยบายการกำจัดปัญหาความยากจน ด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สร้างรถไฟความเร็วสูง และแจกคอมพิวเตอร์ฟรีให้นักเรียนทุกคน ทั้งนี้แม้ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อนเข้ารับตำแหน่ง แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจในความหวังเรื่องการปรองดอง ในประเทศที่เจอปัญหาการประท้วงทางการเมืองที่รุนแรงมานาน 2 ปี นอกจากนี้ยังต้องเริ่มงานในทันที เพราะ 1 เดือนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ได้เริ่มดำเนินการด้านการบรรเทาทุกข์ และการวางแผนป้องกันในระยะยาว

ที่มา http://www.thedailybeast.com/features/150-women-who-shake-the-world.html