ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน ตุลาการ ว่า หลายมาตราในรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย หลายมาตราให้อำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากจนเกินความสมดุล จนเกิดปัญหาแตกแยกวุ่นวายในบ้านเมืองดังที่ทราบกันดี
วันนี้ เมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้วจึงสมควรนำรัฐธรรมนูญเจ้าปัญหาฉบับดังกล่าวกลับมาหารือ และเห็นพ้องร่วมกันในสภาว่าสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้นำเข้าสู่สภาผ่านวาระแรกเรียบร้อยแล้ว แต่เรามักได้ยินบางคนที่อ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบุคคลคนเดียว เพื่อนิรโทษกรรมอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แต่เราควรคิดถึงความเป็นจริงว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครได้ประโยชน์ และหากแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยดังเช่นฉบับก่อนหน้านั้น ใครกันแน่ที่เสียประโยชน์?
โดยหลักการร่างรัฐธรรมนูญ จะมีสาระสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
1. บทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
2. บทบัญญัติเรื่องการจัดสรรอำนาจ การได้มาและการกระจายอำนาจนั้นผ่านระบบต่างๆในรัฐธรรมนูญ
3. การสร้างระบบถ่วงดุล โดยเฉพาะการตรวจสอบอำนาจของฝ่ายบริหาร
รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ของไทยมีมาตราต่างๆรองรับหลักการทั้ง3ข้อดังกล่าวข้างต้น มาตราสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่สมควรยึดเป็นหลักเบื้องต้น คือ บทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เมื่อดูรายละเอียดด้านสิทธิและเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองประชาชนไว้นั้น มีบัญญัติเรียงไว้ดังนี้
- มาตรา 34 เสรีภาพในการเดินทาง และเลือกถิ่นที่อยู่
- มาตรา 36 เสรีภาพในการสื่อสาร
- มาตรา 45 เสรีภาพในการแสดงออก
- มาตรา 56 เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลทางราชการ
- มาตรา 63 เสรีภาพในการชุมนุม
- มาตรา 64 เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม
การคุ้มครองดังกล่าวข้างต้นทุกข้อดูเหมือนดีมาก แต่ทุกมาตราจบด้วยการ “ข้อยกเว้นด้านความมั่นคงแห่งรัฐ ศีลธรรมอันดีงาม” และที่สำคัญ ก่อนการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ดังกล่าว ได้มี “กลุ่มบุคคล” แอบผ่านร่างสำคัญ 2 ฉบับที่เป็นไม้เด็ดคือ “พระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” และ “พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจทหารไว้ล้นมือจนสามารถประกาศกฎอัยการศึกได้
ผ่านการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาแล้ว 5 ปี คนไทยจะทนเห็นรัฐธรรมนูญฉบับเจ้าปัญหาแผลงฤทธิ์ได้ไปอีกกี่ปี?!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น