สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานวันนักข่าว เพื่อรำลึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในวิชาชีพ พร้อมเชิญ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอบโจทย์ประเทศไทย”
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานวันนักข่าว" หรือ "วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ" แห่งประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี และตรงกับวันสถาปนาสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย หรือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน เพื่อให้นักข่าวได้รำลึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในวิชาชีพ นอกจากนี้ในอดีตมีประเพณีระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่าน ว่าวันที่ 6 มีนาคมของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของนักข่าว แต่ในปัจจุบันยกเลิกประเพณีดังกล่าวแล้ว เนื่องจากผู้อ่านตื่นตัวและต้องการรับข่าวสารมากขึ้น
ทั้งนี้ เวลา 18.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอบโจทย์ประเทศไทย” ในงานดินเนอร์ทอล์ก “Thai Journalists Association 57th Anniversary” ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า "ขอแสดงความยินดีกับสื่อมวลชน และเป็นกำลังใจในการทำงานข่าว รู้ดีว่าสื่อมวลชนทำงานด้วยความยากลำบาก เพื่อนำข่าวสารมาเสนอต่อประชาชน ขณะที่รัฐบาลก็ได้ทำงานควบคู่กับสื่อมวลชนในการให้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้จากหัวข้อ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอบโจทย์ประเทศไทย" ต้องเข้าใจรากปัญหา ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศสงบสุข โดยในแง่ทางการเมืองต้องการความเสมอภาค ทุกคนอยากเห็นความเท่าเทียม ความขัดแย้งลดลง ปัจจัยสี่ก็ต้องเติมเต็มให้ครบเช่นกัน"
"ส่วนมิติทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม มีรากเหง้าที่เหมือนกันคือความเสมอภาคเท่าเทียม และปัจจัยสี่ต้องมีให้ครบ ถ้าคิดว่าปัญหาของตนเองเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า ก็จะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมได้ รัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศ ดูแลประชาชน ให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมกัน และลดความขัดแย้งของคนในชาติ รัฐบาลทำหนาที่ให้ข้อมูล ไม่เน้นการตอบโต้ เพื่อลดความขัดแย้งในสังคม แต่เน้นการให้ข้อมูลข่าวสาร และทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคม และให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสร้างสรรค์ รับฟังเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย"
"ส่วนการแก้ปัญหาในมิติของเศรษฐกิจ มีความซับซ้อน โดยมองการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ส่วนคือ 1.การแก้ฐานประชากรโดยยึดฐานรายได้เป็นหลัก ให้ความสำคัญในการเติมเต็มปัจจัยสี่ และปัจจัยพื้นฐานอย่างเต็มที่ และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และการพักชำระหนี้ 2.แก้ไขปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ ประเภทของกองทุน ทั้งหลาย เป็นการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทุกนโยบายจะต้องช่วยให้สร้างรายได้ และช่วยตัวเองได้ 3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ทั้งนี้ ยังมองการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งในประเทศ และเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รัฐบาลจะมีการปรับปรุงยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเร่งให้เกิดประโยชน์ในข้อตกลง"
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการบริหารบ้านเมือง แต่ขณะเดียวกันสื่อมวลชน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตอบโจทย์ ดังนั้นขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการทำงานตอบโจทย์ ต่างๆ ทั้งนี้การทำงานร่วมกันไม่ใช่การทำงานเพื่อรัฐบาลหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำงานเพื่อคนไทยทุกคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น