วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

เผยภาพ "สุนทรพจน์นายกฯยิ่งลักษณ์" ภาษาญี่ปุ่น

สุนทรพจน์นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภาษาญี่ปุ่น

สุนทรพจน์นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภาษาอังกฤษ
บทสุนทรพจน์ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนานักธุรกิจ หัวข้อ "ประเทศไทยที่ไม่แพ้ และโอกาสที่ไม่มีใดเสมอเหมือน" (UNBEATABLE THAILAND, UNPARALLELED OPPORTUNITIES) จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยมีนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยและสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำนวนกว่า 1,200 คน เข้าร่วมรับฟัง ณ โรงแรมอิมพีเรียลกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

"ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเยือนประเทศญี่ปุ่นและได้มาอยู่ ณ ที่นี้ อยากแสดงความขอบคุณต่อบรรดาเพื่อนๆ ทั้งหลายจากภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ณ ที่นี้

ไทยและญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศเก่าแก่ที่มีอนาคตทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่ จากเมื่อครั้งที่เคยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 125 ปี ก่อนหน้านี้ เรื่อยมาจนถึงการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ร่วมกันภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปป้า) ในวันนี้ ประเทศญี่ปุ่นและภาคเอกชนได้แสดงบทบาทสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของประเทศไทย ความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างไทยและญี่ปุ่นจะยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อโลกยิ่งมองมายังเอเชียในฐานะเป็น ผู้ขับเคลื่อนหลักเพื่อการเติบโตอันยั่งยืนของ ทั้งโลก

ญี่ปุ่น เป็นหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย การส่งออกของเรามายังญี่ปุ่นขยายตัว 8.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่ผ่านมา ท่านยังเป็นผู้ลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของไทย การลงทุนของญี่ปุ่นผ่านการขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ทั้งหมดของไทยเมื่อปีที่แล้ว บริษัทญี่ปุ่นยังเข้ามาดำเนินการวิจัย พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ในไทยมากกว่าประเทศอื่นใด ยิ่งไปกว่านั้น รัฐสภาไทยเพิ่งผ่านความเห็นชอบให้เปิดการเจรจาต่อเนื่องภายใต้กรอบเจเทปป้าในอีก 5 ขอบเขต รวมถึงการค้า, กฎว่าด้วยการกำหนดแหล่งที่มา, การบริการ, การลงทุน และการบังคับใช้พันธกรณีจากเจเทปป้า

เมื่อปีที่แล้วทั้งไทยและญี่ปุ่นประสบความทุกข์ยากจากภาวะน้ำท่วม แต่โดยแรงสนับสนุนด้วยกรุณาของท่านทั้งหลาย เราสามารถผ่านพ้นมาได้ในสภาพที่เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม ประเทศไทยจะสำนึกขอบคุณทั้งในความช่วยเหลือของท่านตลอดไปและในความเชื่อมั่นที่ท่านทั้งหลายมีต่อเรา

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า เราอยู่ระหว่างกระบวนการเพื่อปฏิบัติใช้ระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องชุมชนและเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญทั้งหลายอยู่ในเวลานี้

ประการแรกสุด เรากำลังบริหารจัดการเขื่อนทั้งหลายที่เรามีอยู่ ด้วยการลดระดับน้ำลง จะช่วยให้เขื่อนเหล่านั้นสามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้นระหว่างหน้ามรสุมที่มีปริมาณฝนสูงสุด

ประการที่สอง เราได้จำแนกพื้นที่สำหรับ การกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ จะทำหน้าที่เป็น อีกแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง พื้นที่เหล่านี้เชื่อมต่อโดยตรงอยู่กับแม่น้ำหลักทั้ง หลาย ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำหลังภาวะน้ำท่วมทำได้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากนั้น เรายังได้เริ่มขยายขีดความสามารถของระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่เพิ่มเติม รวมทั้งบรรดาประตูระบายน้ำ ลำคลอง สถานีสูบน้ำและพนังกั้นน้ำต่างๆ

ประการที่สาม กำหนดให้มีมาตรการเพื่อคุ้มครองพื้นที่เศรษฐกิจ จะรวมไปถึงการลงทุนสร้างระบบคันกั้นน้ำโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ถนนจะถูกยกระดับขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานเพื่อจัดส่งสินค้าและบริการต่างๆ ได้ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าระบบโลจิสติกส์และการลำเลียงชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ จะไม่สะดุดลง ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้ปรับปรุงการระบายน้ำผ่านลำคลองต่างๆ เพื่อให้สามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว

ประการที่สี่ มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการหนึ่งเดียวขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการบริหารจัดการจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การตอบสนองเป็นไปทันต่อสถานการณ์ นอกจากนั้นเรายังได้ปรับปรุงการคาดการณ์ล่วงหน้าและระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้ดีขึ้นอีกด้วย

เพื่อให้แน่ใจว่าแผนต่างๆ เหล่านี้จะประสบผลสำเร็จ จะมีการใช้จ่ายเงินราว 47,000 ล้านเยน (18,000 ล้านบาท) ในปีนี้ และอีกประมาณ 915,000 ล้านเยน (350,000 ล้านบาท) ในอีกสองสามปีข้างหน้า นอกจากนั้นแล้ว ข้าพเจ้ายังได้เดินทางเยือนพื้นที่สำคัญต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในแผนด้วยตัวเองเพื่อให้ได้รับการสนับสนุน

นอกเหนือจากแผนบริหารจัดการน้ำแล้ว รัฐบาลยังริเริ่มชุดความช่วยเหลือทางการเงินหลายประการเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือในการสร้างคันป้องกันน้ำท่วมเช่นเดียวกับกองทุนเพื่อการประกันภัยสำหรับสนับสนุนบริษัทที่ได้รับผลกระทบ

แม้จะเกิดอุทกภัยขึ้นครั้งใหญ่ แต่พื้นฐาน ทางเศรษฐกิจของเรายังคงแข็งแกร่ง เรามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับสูง และมีสถานะทางการคลังที่ดีโดยมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจไทยจึงได้รับการคาดหมายว่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 5.5-6.5 เปอร์เซ็นต์ ข้าพเจ้าอยากชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้ว่าจะเกิดภาวะน้ำท่วม นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมากกว่า 1.1 ล้านคน ยังคงเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นราว 13 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลของเราจะยังคงบังคับใช้นโยบายต่างๆ ในอันที่จะอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนต่างประเทศในไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป ภาษีผู้ประกอบการจะปรับลดลงจากระดับ 30 เปอร์เซ็นต์สู่ระดับ 23 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และจะปรับลดลงต่อไปเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ในปีถัดไป อุปสรรคหลายประการถูกขจัดออกไปเพื่อให้ง่ายต่อการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคขึ้นในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานมีฝีมือชาวไทยยังคงเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญสำหรับบริษัทต่างชาติทั้งหลายอีกด้วย

ไทย เป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างของพวกท่านในเวลานี้ สำหรับการเชื่อมโยงต่อไปยังประชาคมอาเซียนทั้งหลาย ประชาคมตลาดเดียวและฐานการผลิตแห่งนี้ในปัจจุบันมีผู้บริโภคอยู่มากกว่า 600 ล้านคน จีดีพีรวมกันราว 143.4 ล้านล้านเยน และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

ประชาคมแห่งนี้กำลังเป็นโอกาสที่เปิดกว้างในหลายๆ พื้นที่ ที่มีการเติบโตในระดับภูมิภาค อาทิ การคมนาคมขนส่ง, พลังงาน, การดูแลสุขภาพ, ท่องเที่ยวและเกษตรกรรม โดยที่ประเทศไทยที่ความได้เปรียบอยู่ในบางพื้นที่เหล่านี้ เราจึงมีศักยภาพพอในการทำหน้าที่จับคู่ของพลวัตแห่งการเติบโตระหว่างประชาคมอาเซียนและการเติบใหญ่ของการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้

เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) และ อาเซียน รัฐบาลนี้มีพันธะที่จะลงทุนในระบบโลจิสติกส์ และเครือข่ายเพื่อการคมนาคมขนส่งซึ่งรวมถึงถนนและรางรถไฟที่จะเชื่อมต่อไทยเข้ากับเพื่อนบ้านทั้งหลายของเราผ่านช่องทางเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ สิ่งนี้ จะช่วยส่งเสริมไม่เพียงแต่แผนปฏิบัติการหลักเพื่อการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันแห่งอาเซียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเชื่อมโยงกับหุ้นส่วนทั้งหลายในอาเซียนบวกสาม อันหมายถึง จีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ที่ไทยเป็น ผู้ริเริ่มไว้อีกด้วย

โครงการที่เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเข้มแข็งมากขึ้นก็คือ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย กำลังถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือกับเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเราอย่างพม่า ความสำเร็จของโครงการนี้ ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลพม่า ไม่เพียงจะส่งเสริมให้เกิดการเติบโตและพัฒนาการในพม่าเท่านั้น หากยังจะขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยและในภูมิภาคเพิ่มเติมมากขึ้นอีกด้วย สิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างเรากับเอเชียใต้, เอเชียตะวันออกและพื้นที่นอกเหนือไปจากนั้นมากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้าพเจ้าสามารถรับประกันต่อท่านทั้งหลายได้ว่า ไทยจะยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อการลงทุนต่อเนื่องของพวกท่าน ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเรา นโยบายที่เกื้อหนุนของเราและด้วยพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของเรา ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นจะยังคงทำหน้าที่เป็นเสาหลักในความเป็นหุ้นส่วนของเรานี้ต่อไปในอีกหลายต่อหลายปีข้างหน้า"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น