วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

มองความปรองดอง และท่าทีของปชป. ผ่านสายตาของ “ภูมิธรรม” อดีตรมช.คมนาคม

บทความโดย กองบรรณาธิการ insidernewsfeed


ในระหว่างที่มีการถ่ายทอดสด การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 2 นั้น หากใครสนใจติดตามข่าวสารการเมืองทางทวิตเตอร์นั้น ก็จะได้เห็นความคิดเห็นของบุคคลสำคัญทางฝ่ายการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แต่น้อยครั้งนัก ที่จะมีฝ่ายรัฐบาลออกมาโต้แย้งหรือตอบโต้ เพราะแต่ละครั้งที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลออกมาชี้แจงและอธิบาย ก็มักจะอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลเสมอ

หลายต่อหลายครั้งที่สื่อมวลชนบางฉบับบางคอลัมภ์ออกมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝ่ายค้านได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งอธิบายถึงภาพรวมของความเสื่อมถอย จากการวางตัวของพรรคประชาธิปัตย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 111 ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องความปรองดองได้อย่างน่าสนใจ

นิยามความปรองดองของนายภูมิธรรม คือ "ความปรองดอง" คำที่กำลังมีความหมายในสถานการณ์ปัจจุบัน ปรองดองไม่ได้มีความหมายว่า ทำความแตกต่างให้กลับมาเหมือนกัน แต่หมายถึง การยอมรับความแตกต่างที่แต่ละคนมี แต่ละคนเป็น และยอมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบและสันติ โดยสงวนความแตกต่างกันไว้ และแสวงหาจุดร่วมกันที่พอยอมรับกันได้ (คือประโยชน์ของประเทศและประชาชน) เพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ และให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ต้องใช้ใจที่ใหญ่และใจที่กว้าง พร้อมทั้งรู้จักอดทนให้เวลา ช่วยแก้ไข เยียวยา เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจร่วมกันให้มากขึ้น ที่สำคัญต้องรู้จักยอมรับและพร้อมที่จะเข้าใจ ในสิ่งที่แตกต่างที่แต่ละคนคิด และแต่ละคนเชื่อมั่นให้มากขึ้น

นายภูมิธรรม ยังได้ชี้ให้เห็นว่า วันนี้คู่ขัดแย้งในสังคมไทยมี 2 ขั้ว คือ ขั้วอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง กับขั้วประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจที่ให้โอกาสทุกคนได้แข่งขันโดยเสรี สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นตัวแทนคู่ขัดแย้งในสังคมคือ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ซึ่งนับวันจะต่อสู้ ขับเคี่ยวกัน เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประชาธิปัตย์ เกือบ 20 ปี นับแต่ปี 2538 เป็นต้นมาประชาธิปัตย์ยังไม่เคยประสบความสำเร็จจนไดัรับชัยชนะในการเลือกตั้งทั้ง 6 ครั้งที่ต่อเนื่องกันมาเลย ถ้าไม่นับการอิงแอบกับอำนาจนอกระบบ หรืออำนาจพิเศษ เกือบ 20 ปีมานี้ เชื่อได้ว่า ประชาธิปัตย์จะไม่มีทางได้เป็นรัฐบาลเลย แม้แต่ครั้งเดียว น่าเสียดายการพยายามกลับสู่อำนาจในช่วงหลังๆของประชาธิปัตย์ ล้วนเป็นการเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการพิเศษที่ไม่ได้อิงแอบกับการยอมรับและการตัดสินใจของประชาชน

“ผมชอบข้อสรุปของคุณมุกดา สุวรรณชาติ ในคอลัมภ์ "หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว" ของมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ คุณมุกดาวิเคราะห์ประชาธิปัตย์ว่า การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงหลังๆของประชาธิปัตย์ สามารถปรับตัวเข้าหากลุ่มอำนาจในทุกสถานการณ์ ทุกรูปแบบ มีเพียงบางครั้งที่อิงอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในหลายๆครั้งล้วนอิงอยู่กับอำนาจทหาร หรืออิงกับกลุ่มพลังอำนาจพิเศษในสังคมไทย ซึ่งมีหลายคนวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมของประชาธิปัตย์ในระยะหลัง ได้ทำให้ความนิยมของประชาธิปัตย์ในหมู่ประชาชนเสื่อมถอยลงตลอด”

นายภูมิธรรม ยังกล่าวอีกว่า วันนี้หนทางของประชาธิปัตย์ที่จะยืนผงาดขึ้นเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และทำให้ภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตยดูดีขึ้น มีหนทางเดียว คือ ประชาธิปัตย์ ต้อง "ลดเงื่อนไข" หรือ "ภาพจำ" ของตนในสายตาประชาชน เช่น เรื่อง "ดีแต่พูด" และที่สำคัญต้องหยุด "การใช้วาทกรรม ทำร้ายผู้อื่น" โดยเฉพาะ "วาทกรรมที่เป็นเรื่องเท็จ" หรือเป็นข่าว "โคมลอย" ที่นำมาใช้ทำลายคู่แข่งทางการเมืองที่พลพรรค "คนรุ่นใหม่" ของประชาธิปัตย์กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ภาพจำในอดีตในสายตาของประชาชน ตั้งแต่การตะโกนให้ร้ายท่านปรีดีในโรงหนัง เรื่อง ว.๕ เรื่องโฟว์ซีซัน เรื่องพ.ต.ท.ทักษิน และเจ้าหน้าที่รัฐเจรจากับผู้ก่อการร้ายในภาคใต้ ล้วนเป็นเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนทั้งสิ้นและเป็นเรื่องที่ทำให้ภาพพจน์ของประชาธิปัตย์ดูตกต่ำลง

นายภูมิธรรม ยังได้แนะนำทางออกในเรื่องดังกล่าวให้กับประชาธิปัตย์ด้วยว่า “เมื่อ 2 – 3 วันก่อนเครือเนชั่น ได้ลงคำชี้แจงของ ศอบต.และตีพิมพ์ข้อความขอโทษ และขออภัย ที่ตนเองตีพิมพ์ข่าวคลาดเคลื่อนอันส่งผลเสียต่อผู้อื่นอย่างร้ายแรง โดยขอโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่ได้ไปประชุมช่วยเหลือคนไทยที่ค้าขายในมาเลย์ แล้วถูกลงข่าวคลาดเคลื่อนว่าเป็นการเจรจากับผู้ก่อการร้าย ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่าสถานทูตไทยในมาเลย์ได้ประสานงานให้ศอบต. และผู้แทนแบงค์อิสลามในไทยเข้าไปช่วยเหลือชมรมต้มยำกุ้งของคนไทยแต่ถูกเข้าใจผิดกลายเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ที่สำคัญคนของประชาธิปัตย์นำไปดิสเครดิตและให้ร้ายผู้อื่นอย่างไม่รับผิดชอบ ทางเนชั่นได้แสดงความรับผิดชอบและขอโทษแล้ว แต่คนของประชาธิปัตย์ยังคงเฉย ดังนั้น ควรรีบปรับปรุงตัวโดยเร็ว เร่งทำพรรคให้มีภาพลักษณ์ดีๆแบบที่คนรุ่นก่อนๆเคยทำไว้ อย่าปล่อยให้คนที่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ทำลายพรรคอยู่เลย ตอนนี้ยังไม่สายเกินไป ประชาธิปัตย์ควรรีบก้าวข้าม"ความหวาดผวาในใจและก้าวให้พ้นพ.ต.ท.ทักษินโดยเร็ว" และรีบทำงานการเมืองให้มีคุณภาพมากกว่านี้ แล้วอะไรๆน่าจะดีขึ้น”

สิ่งที่นายภูมิธรรมได้ออกมาแสดงทัศนะนั้น จะได้รับการตอบสนองในทางที่ดีขึ้นจากผู้ที่ต้องการสื่อสารหรือไม่นั้น คงไม่อาจคาดเดาได้ แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจน คือ ท่าที การแสดงออก การจุดประเด็นทางสื่อของทางประชาธิปัตย์ ในแต่ละวันคงเป็นคำตอบได้อย่างชัดเจน ว่า ต้องการเดินไปสู่ทางออกของความปรองดองหรือไม่ หรือจะยังคงพายเรือในอ่างทองคำ แล้วพร่ำพูดชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อไป พร้อมแขวนป้ายห้อยคอว่า “ปรองดองๆ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น