วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

ยิ่งลักษณ์เชิญญี่ปุ่นลงทุนท่าเรือน้ำลึก-นิคมอุตสาหกรรมทวาย

การประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ณ กรุงโตเกียว เสร็จสิ้นลงแล้วอย่างเป็นทางการ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหภาพพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และผู้นำญี่ปุ่น ได้แถลงร่วมกัน


นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า "ทุกประเทศในอนุภูมิภาคมีความเชื่อมโยง พึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ได้ ไทยจึงมีนโยบายให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศลุ่มน้ำโขงในกรอบทวิภาคีมานานกว่า 20 ปี ดิฉันขอชื่นชมที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศลุ่มน้ำโขงจำนวน 6 แสนล้านเยนในช่วง 3 ปีข้างหน้า

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงด้านคมนาคมถือเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยช่วยเชื่อมโยงพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญให้ได้รับการพัฒนา ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ไทยจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "รู้สึกพอใจกับผลการประชุมในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีการรับรองยุทธศาสตร์โตเกียว ที่เป็นแผนปฏิบัติการที่ญี่ปุ่น จะทำงานกับประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นเวลา 3 ปี โดยแผนยุทธศาสตร์มี 3 เสาหลัก คือ การส่งเสริมความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เสาหลักที่สอง คือการพัฒนาร่วมกัน ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การลงทุน รวมถึงนโยบายที่ส่งเสริมภายในภูมิภาค กับประเทศทั่วโลก เสาหลักที่สาม คือการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตสตรีและเด็ก รวมถึงปัญหาภัยพิบัติ และความมั่นคงทางอาหาร สำหรับประเทศไทย จะให้การสนับสนุนการพัฒนาร่วมกับญี่ปุ่น ในการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และแนวพื้นที่เศรษฐกิจทางใต้ ไม่ให้มีเพียงเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยง รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ พร้อมทั้งเชิญชวนญี่ปุ่นสนับสนุนและมีส่วนร่วมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวายในสหภาพพม่า และเสนอให้ญี่ปุ่นร่วมกันจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง"

ป้ายขนาดใหญ่แสดงให้เห็นบริเวณการก่อสร้างถนนขนาด 8 ช่องจราจรเชื่อมกับไทย
ที่ บริเวณพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายและเส้นทางการคมนาคมที่เชื่อมทวายกับกาญจนบุรี จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิต และเป็นฮับโล-จิสติกส์ในด้านการนำเข้าส่งออกของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เพราะไทยจะมีการสั่งซื้อวัตถุดิบทางทะเลจากพม่าผ่านทาง ถนนสายทวาย-พุน้ำร้อน ระยะทาง 160 กิโลเมตร และจะส่งออกไปยังภูมิภาคอินโดจีนได้อย่างสะดวก ความคาดหวังของไทยที่เคยประกาศไว้ว่าจะเป็นครัวของโลกก็จะเป็นความจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น