นายกฯยิ่งลักษณ์พร้อมคณะตรวจเยี่ยมกิจการรถไฟความเร็วสูงของจีน |
ไทยถือเป็นประเทศที่มีรถไฟใช้ ในระดับต้นๆของภูมิภาคก่อตั้งมา 122 ปี แต่ระบบรถไฟไทยไม่ได้มีการพัฒนามาเลย จนกระทั่งในยุคของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมื่อปี 2547 สายกรุงเทพ-นครราชสีมา แต่ปรากฏว่าโครงการต้องสะดุดไปเมื่อเกิดการรัฐประหาร
รถไฟความเร็วสูง ถือเป็นโครงการที่ภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กรอ.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2555 กรอ.ได้เสนอให้รัฐบาล เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่ง ครม. มีมติให้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เร่งพิจารณารายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยกำหนดรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่ได้มีการตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 รวมทั้งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำการศึกษาความเหมาะสมทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ของโครงการโดยละเอียด
ขณะที่ ครม. สัญจรที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 กรอ. มีข้อเสนอเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-หนองคาย ตามที่ รฟท. ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงของกระทรวงคมนาคมไว้เมื่อปี 2553 วงเงินประมาณ 700,000 ล้านบาท โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำหนดการก่อสร้างเส้นทางบางซื่อ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร วงเงิน 149,000 ล้านบาท เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และจีนภาคตะวันออก รวมทั้งเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ซึ่งที่ประชุม ครม. มีมติให้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ศึกษาไว้ พร้อมทั้งเร่งดำเนินการเสนอโครงการฯ ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน เมื่อเดือน ธันวาคม 2554 ระหว่างการเดินทางเยือนไทยของ รองประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้มีการหยิบยกประเด็นรถไฟฟ้าความเร็วสูง ขึ้นเป็นหนึ่งในประเด็นสนทนาระหว่างการหารือข้อราชการเต็มคณะกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการประสานงานจากนั้นเป็นต้นมา จนนำมาสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทยและจีนดังกล่าวในวันนี้ (18 เมษายน 2555) จึงถึอเป็นก้าวสำคัญที่โครงการ “รถไฟฟ้าความเร็วสูง” จะได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที หลังรอมานานกว่า 7 ปี
การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าว มีแผนในการก่อสร้างทั้งหมด 4 สาย คือ
- กรุงเทพ-พิษณุโลก (ต่อเนื่องยาวถึงเชียงใหม่)
- กรุงเทพ-นครราชสีมา (ต่อเนื่องยาวถึงหนองคาย)
- กรุงเทพ-ระยอง
- กรุงเทพ-หัวหิน
ดังนั้น นอกจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะช่วยแก้ปัญหาด้านการขนส่ง ทั้งขนส่งมวลชนและขนส่งผลิตภัณฑ์เกษตร-อุตสาหกรรมทั้งหมด ช่วยประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งได้จำนวนมหาศาลต่อปีแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่สามารถขนส่งนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนมายังประเทศไทยได้มากกว่า 100,000 คนต่อปี
จึงนับเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถครองความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในอันดับต้นของภูมิภาคได้ในช่วงเวลาอีก 10 ปีต่อจากนี้ไปด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น