วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อิสลามแบงก์ ขานรับ นโยบายรัฐบาล ชี้ช่องเจาะตลาดผู้บริโภคมุสลิมกว่า 1.4 พันล้านคนทั่วโลก


ผู้บริหารธนาคารอิสลามฯขานรับนโยบายรัฐบาลอ้าแขนรับกลุ่มทุนตะวันออกกลางร่วมทุนกองทุนธนาคารอิสลามชี้ช่องเจาะตลาดผู้บริโภคมุสลิมกว่า 1.4 พันล้านคนทั่วโลก

(กรุงเทพฯ 21 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) - นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกองบรรณาธิการ InsideThaiGOV กรณี นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือน ราชอาณาจักรบาห์เรน และรัฐกาตาร์ อย่างเป็นทางการและได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจากับกลุ่มทุนตะวันออกกลางในด้านการสำรองพลังงานและการลงทุนผ่านธ.อิสลามเพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย

นายธีรศักดิ์ ระบุว่า "เป็นวิสัยทัศน์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ริเริ่มและประสบความสำเร็จในการชักจูงกลุ่มทุนตะวันออกกลางหรือประเทศที่มีรายได้จากการขายน้ำมันซึ่งมีบาห์เรนเป็นศูนย์กลาง(Petro Dollar Market) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์สภาพคล่องในตลาดกระแสหลักที่ลดลง เพราะกลุ่มทุนตะวันออกกลางถือเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและสภาพคล่องสูงสามารถรองรับผลกระทบที่อาจเกิดอันเนื่องมาจากวิกฤติการเงินในยุโรปได้"

นอกจากนี้นายธีรศักดิ์ยังได้กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลสามารถผลักดันโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยมุ่งเปิดตลาด “อาหารฮาลาล” ว่า "ตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิมเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการสูง รัฐบาลสามารถส่งเสริมและพัฒนาภาคใต้ของประเทศไทยให้เป็นครัวของผู้บริโภคชาวมุสลิมซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1.4 พันล้านคนทั่วโลก และตลาดข้าวที่ทั้งสองประเทศรองรับการขายข้าวไทย"

นายธีรศักดิ์ ได้กล่าวถึงการให้สินเชื่อผู้ประกอบการอาหารฮาลาลว่า “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบกิจการที่มีใบอนุญาตผลิตอาหารฮาลาลโดยเฉพาะ และผู้ประกอบอาหารฮาลาลที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถขอสินเชื่อในอัตราพิเศษ”

นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า “คำว่า ฮาลาล นี้ หมายถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค หรือ  Food Safety ดังนั้นการพูดถึงผู้บริโภคอาหารฮาลาล จึงหมายถึง กลุ่มผู้บริโภคที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก มิได้จำกัดเฉพาะในประเทศที่เป็นมุสลิมเท่านั้น โอกาสของประเทศไทยในการที่จะเชื่อมโยงต่ออาหารฮาลาลจึงสูงมาก คือ ผลิตอาหารฮาลาลเข้าประเทศกลุ่มตะวันออกกลางโดยตรง และอีกส่วนหนึ่งที่ซื้ออาหารเพื่อนำไปบริจาคให้กับสมาชิกในกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่า จำนวนผู้บริโภคใน 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่”

“ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายมากกว่าประเทศอื่น หากเราสามารถพัฒนายกระดับประเทศไทยให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตได้ เราจะได้ลูกค้าจำนวนมหาศาล และในอนาคต ตลาดอาหารฮาลาลจะขยายตัวไปถึงทวีปยุโรปและอเมริกา เพราะอาหารที่ผลิตด้วยกรรมวิธีอันทันสมัย ถูกสุขลักษณะ จะเป็นอาหารที่ทุกชาติต้องการ เพราะนั่นหมายถึงอาหารที่ปลอดภัยอย่างนั่นเอง”

“ดังนั้น การนำนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิตสินค้าอาหารไปเยือนราชอาณาจักรบาห์เรน และรัฐกาตาร์ ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับนักธุรกิจไทย ได้ไปเรียนรู้กฎระเบียบต่างๆที่จำเป็น และนำกลับมาปรับปรุงกิจการของตนให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานอาหารฮาลาล และพร้อมที่จะส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศกลุ่มตะวันออกกลางต่อไป ตามนโยบายครัวไทย สู่ครัวโลก” นายธีรศักดิ์กล่าว

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"ยิ่งลักษณ์" ประชุมครม.นอกสถานที่ ลุยตั้งท่าเรือน้ำลึกทวาย



(20 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) - การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในวันนี้ (20 พ.ค.) เริ่มเมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ห้องประชุมชั้น 2 ตึกดินสอ อาคารบริการวิชาการและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี โดยที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงต่างๆ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือ กรอ. ที่ได้ข้อสรุปไปแล้วเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) ก่อนการประชุมได้มีความเห็นจากรัฐมนตรีหลายคนในเรื่องการสร้างความปรองดองและการปรับคณะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลประเด็นถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี

นายวรวัจน์ เอื้อภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีรายชื่อในพรรคเพื่อไทยว่าอาจถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรีว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี

ด้านนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้เช่นกันบอกแต่เพียงว่ายังไม่ทราบรายละเอียด เรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง พร้อมเดินหน้าผลักดัน พระราชบัญญัติการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมยอมรับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี อาจได้กลับประเทศไทยภายปีนี้

ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการที่พันตำรวจโททักษิณ โฟนอินมาที่การชมุนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ระบุให้ร่วมกันสร้างความปรองดองนั้น เป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วยที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และต้องใช้พระราชบัญญัติการสร้างความปรองดองแห่งชาติเท่านั้น เพราะรายละเอียดจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเตรียมเสนอสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรแต่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ยอมรับว่าพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พันตำรวจโททักษิณได้กลับประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับมาได้ภายในปลายปีนี้ แต่ติดปัญหาที่พันตำรวจโททักษิณ ยังไม่ต้องการกลับมาไทย เพราะต้องการให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองก่อน

ร้อยตำรวจเอกเฉลิม ยังระบุว่า การที่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชื่นชมผลงานของตนเองเป็นอันดับ 1 นั้น ทำให้มีกำลังใจในการทำงาน แต่จะมีผลให้ได้เป็นรัฐมนตรีในสมัยหน้าหรือไม่ ไม่ทราบได้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุถึงเรื่องการสร้างความปรองดองว่าเกิดขึ้นได้แต่ทุกคนต้องเปิดใจ และคนไทยทุกคนต้องได้ประโยชน์ รวมทั้ง พันตำรวจโททักษิณ ที่เป็นคนไทยเช่นกัน

นายณัฐวุฒิ กล่าวถึงพันตำรวจโททักษิณ ที่โฟนอินเข้ามายังกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์เมื่อคืนนี้ พร้อมกับระบุว่า หวังว่าการโฟนอินจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเป็นการสื่อสารกับพี่น้องเสื้อแดงด้วยวิธีนี้ เพราะหวังว่ากระบวนการปรองดองจะเดินหน้าไปได้ และถึงวาระที่จะกลับมาพบกับคนเสื้อแดงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นความคาดหวังของพันตำรวจโททักษิณ ส่วนสัญญาณต่างๆ ที่บอกว่าไม่ปฏิเสธการปรองดอง พันตำรวจโททักษิณ มีสิทธิ์ที่จะคาดหวังที่จะได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมสำหรับทุกคดีที่ถูกกล่าวหาในประเทศไทย อย่างไรก็ตามมองว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันถือเป็นเรื่องเล็ก สิ่งที่สำคัญหากทุกฝ่ายเปิดใจความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ และการปรองดองจะต้องเกิดประโยชน์กับคนไทยทุกคน รวมมั้ง พันตำรวจโททักษิณ ที่เป็นคนไทยเช่นกัน ซึ่งหากคิดจะกีดกันก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนที่ พันตำรวจโททักษิณ แสดงความยินดีกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ นั้น คงเป็นการให้กำลังใจ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า นายจตุพร มีความสามารถทางการเมืองไม่ด้อยไปกว่าใคร และหลังจากนี้เชื่อว่า นายจตุพร จะเดินหน้าทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แต่จะได้รับตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่อยู่ที่นายกรัฐมนตรี จะพิจารณา

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ คณะรัฐมนตรี จะเร่งผลักดันร่าง พระราชบัญญัติ ป.ป.ง. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับที่ ...พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ...ที่จะเข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันนี้ ซึ่งจะมีในเรื่องของการเพิ่มโทษหรือไม่ว่าที่ประชุม ครม. วันนี้จะมีการพิจารณากันในหลายมาตรา และหากดำเนินการได้ทันก็จะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้

ด้าน กรอ.เสนอโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมเสนอให้เร่งเปิดด่านชายแดนไทย-พม่า โดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุน

นายนิพัฒน์ เจริญกิจการ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ที่จังหวัดกาญจนบุรีวันนี้ ได้เสนอผลสรุปการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือ กรอ. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงภาคตะวันตก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเชื่อมโยงโลจิสติกส์ลงสู่ภาคใต้ , การเตรียมพร้อมรองรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ด้วยการผลักดันให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตอุตสาหกรรม บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี, การพัฒนาการค้าชายแดน ด้วยการยกระดับด่านชั่วคราวบ้านพุน้ำร้อน ด่านสิงขร และด่านเจดีย์สามองค์ เป็นด่านถาวร , การบริหารทรัพยากรน้ำ ,การประกาศเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองหัวหินและพื้นที่เชื่อมโยง, การปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพ จังหวัดกาญจนบุรี ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่ยังคาดหวัง ให้มีการเร่งเปิดด่านชายแดนไทย-พม่า โดยเร็วที่สุด เนื่องจาก เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี เชื่อว่า ในส่วนของจังหวัดกลุ่มภาคตะวันตกจะมีแนวทางเชื่อมโยงด้านการค้ากับประเทศพม่าเพิ่มมากขึ้นไม่ใช่เป็นคู่แข่งกัน เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

สำหรับโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างไทยและพม่า เพื่อรองรับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายของฝั่งพม่า ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรี นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 4

โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นหนึ่งในโครงการที่เป็นความร่วมมือแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เวียดนาม และไทย ในปี 2551 ไทยและพม่าได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และพัฒนาถนนเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทวายมายังจังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 130 กิโลเมตร รวมทั้งจะมีการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่าเรือน้ำลึกทวายด้วย

ปัจจุบัน โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างไทยและพม่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดย บริษัท อิตาเลียนไทย เป็นบริษัทของไทยบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในการพัฒนาโครงสร้างหลักของโครงการนี้ ทั้งการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงทวาย – บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 160 กิโลเมตร เป็นถนน 4 ช่องจราจร , การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ตำบลนาบูเล ห่างจากทางตอนเหนือของจังหวัดทวาย ออกไป 34 กิโลเมตร โดยในระยะแรก จะทำการก่อสร้าง 1 ท่าก่อน นอกจากนี้ยังมีอู่ต่อเรือที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 22 ลำในคราวเดียวกัน รวมถึงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ประมาณ 4 แสนไร่ เพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน โดยแผนการก่อสร้างกำหนดไว้ 15 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 สิ้นสุดในปี 2563

ขณะนี้จังหวัดกาญจนบุรี ได้วางแผนในการพัฒนาเพื่อรองรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย โดยเร่งรัดโครงการต่างๆ 5 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี , โครงการขยายเส้นทางคมนาคมไปสู่เขตการค้าชายแดนให้กว้างขึ้น , โครงการพัฒนาสนามบินของกองพลทหารราบที่ 9 สู่สนามบินพาณิชย์ , โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และสุดท้าย คือ โครงการเปิดจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี คาดกันว่าหากโครงการพัฒนาเพื่อรองรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายสำเร็จตามแผน จะทำให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญด้านตะวันตก ช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

สำหรับบรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่บริเวณตึกดินสอ อาคารบริการวิชาการและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี ตั้งเต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สุนัขดมกลิ่น เครื่องตรวจวัตถุระเบิด การจัดการจราจร และสถานที่จอดรถ ถูกจัดแบ่งออกเป็นที่จอดรถของคณะรัฐมนตรี ผู้ติดตาม และสื่อมวลชน รวมทั้งการติดบัตรประจำตัวที่จัดทำไว้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“ยิ่งลักษณ์” ลุยตรวจตลาดนครปฐมด้วยตนเอง


(19 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) - นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพ่อค้าแม่ค้า ที่ตลาดกลางพืชผลทางการเกษตรปฐมมงคล อ.เมือง จ.นครปฐม เพื่อตรวจสอบราคาสินค้า เนื่องจากเป็นตลาดค้าส่งเกษตรขนาดใหญ่ในพื้นที่

โดยมีนายนิมิตร จันทร์วิมล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ พร้อมประชาชนชาวนครปฐมจำนวนมาก ที่มามอบดอกไม้ให้กำลังใจอย่างเนืองแน่น ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามพ่อค้าแม่ค้าถึงราคาขายส่งพืชผล พบว่า ราคาส่งส่วนใหญ่ราคาลดลง เช่น กะหล่ำปลี เดิมราคา 120 บาทต่อ 1 ถุง น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ลดลง 20 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่าปัจจัยที่ทำให้ราคาแตกต่างกันมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องสถานที่และความเสียหายของผลผลิตระหว่างขนส่ง และการขายปลีก ขณะที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในพื้นที่ อ.สามพราน และนครชัยศรี ได้ยื่นข้อร้องเรียนให้นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่ผ่านมา โดยขอให้เพิ่มค่าชดเชยเสียหายจากเดิมไร่ละ 5,098 บาทเป็น 50,000 บาทต่อไร่ เบื้องต้นผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับปากนำปัญหาหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว


"ปลอดประสพ" ยืนยัน น้ำจะไม่ท่วมเขตเศรษฐกิจ



นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เผย ในรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน จะไม่ยอมให้น้ำท่วมเหมือนปีที่แล้ว โดยเตรียมมาตรการไว้หลากหลาย อาทิ พร่องน้ำทุกเขื่อนให้น้อยกว่าปีที่แล้ว 1% เพื่อทำการผันน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำให้ใช้งานได้ทุกตัว ระดมทีมงานฝีมือดีมาพัฒนาระบบการป้องกัน มั่นใจระบบการเตือนภัยและประสานงานจะดีขึ้นเพราะได้บทเรียนจากปีที่แล้ว


เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 19 พ.ค. 2555 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ชี้แจงแนวทางป้องกันอุทกภัย ผ่านรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2555 นี้คาดการณ์จากสถิติเดิม คือร้อยปีที่ผ่านมา และคาดว่ามรสุมปีนี้กับปีที่แล้วคงจะเหมือนกัน ปริมาณน้ำจะอยู่ในเกณฑ์มาก แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว คือ ประมาณ 1,500-1,600 มิลิเมตร โดยปีที่แล้วมีปริมาณฝนปีระมาณ 1,800 มิลลิเมตร ในปีนี้เราจัดการน้ำในเขื่อนให้น้อยกว่าปีที่แล้ว 1% พร่องเอาไว้ สามารถรองรับน้ำได้ หากมีน้ำไหลลงมา เราก็จะนำเข้าแก้มลิงไว้ เราเตรียมพื้นที่ไว้ 2 ล้านไร่ ซึ่งประมาณน้ำที่เหลือจะอยู่ในขั้นที่เราสามารถจัดการได้

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า "มั่นใจปีนี้ไม่น่าห่วง ต่อให้น้ำเท่าปีที่แล้ว แต่ก็ไม่เหมือนปีก่อน เพราะเรามีเขื่อนเก็บกักน้ำ คูคลองลอกไปแล้ว 60-70% พื้นที่สำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ทำเขื่อนล้อมรอบหมด แม่น้ำลำคลองสำค้ญ เรายกพนังขึ้นสูงทั้งหมด เช่น คลองรังสิต ตั้งแต่ต้นคลองถึงท้ายคลอง ยาว 25 กม. เรายกขึ้นหมด ถ้าน้ำท่วมไม่มีทางข้ามคลองรังสิตได้ ซึ่งก็หมายความว่าดอนเมืองจะปลอดภัย แม้ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม เรื่องน้ำไม่ท่วมเลยคงไม่มี จะมีท่วมตามธรรมชาติบ้าง อย่างเช่น ริมน้ำเจ้าพระยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท น่าจะมีท่วมบ้าง แต่ถ้าเป็นเขตเศรษฐกิจเราป้องกันไว้หมด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ไม่ท่วม เพราะไม่ให้ท่วมแล้ว"

ประธาน กบอ. กล่าวต่อว่า "ปีนี้เราไปเก็บข้อมูลความละเอียดของพื้นที่เส้นทางน้ำทั้งหมด จะรู้ว่าทางน้ำจะไปไหน และเราก็ใช้ระบบเครือข่าย 3G ช่วยทำให้รู้ละเอียด นอกจากนี้ เรายังมีการติดโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ในพื้นที่ที่เราต้องเห็นน้ำ อีกทั้งยังมีตัวเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ ออกไปถึงสมุทรปราการ ปัจจุบันมีทั้งหมด 800 ตัว แต่จะเพิ่มขึ้นให้ถึง 1,000 ตัว ซึ่งท่านนายกฯ ได้ไปดูงานที่จีนมา แล้วมีคำสั่งให้ดูว่าประเทศไทยควรมีซีซีทีวี เซ็นเซอร์ เท่าไหร่ ซึ่งจะมีการติด 2 ชุด ชุดแรกใน 1-2 เดือนเสร็จ ส่วนชุดที่สองก็จะดูให้ครอบคลุม นอกจากนี้ จะประสานกับเอกชนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในภาคประชาชนด้วย ซึ่งประชาชนสามารถส่งข้อมูลให้ได้"

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า "ส่วนเรื่องวิธีการเตือนภัย เราจะมีการบอกตั้งแต่ต้น เป็นระบบ เป็นจังหวะ จะบอกทุกจุดที่สำคัญ ขออย่างเดียวขอให้ประชาชนกรุณาติดตาม และกรุณาเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีระบบ ซิงเกิล คอมมานด์ ซึ่งทุกอย่างจะมารวมการสั่งการที่จุดเดียว มั่นใจไม่มาหลายทางเหมือนปีก่อน อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มีอำนาจทำอะไรได้ตามอำเภอใจได้ ทุกอย่างมีระบบ มีขบวนการทางวิชาการ ซึ่งเรามีหน่วยงาน 19 หน่วยงาน ตนก็ดูแลอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่วิกฤติ ก็มีการสั่งการตามปกติ แตกต่างจากเมื่อก่อน ที่ต้องผ่านหลายหน่วยงาน แต่ตอนนี้ไปหน่วยปฏิบัติเลย ซึ่งหากเกิดวิกฤติจริง ท่านนายกฯ อาจจะลงมาช่วย"

"มั่นใจว่าน้ำไม่ท่วม กทม. หากท่วมจริงก็ต้องบริหารร่วมกัน ซึ่งเราจะสั่ง กทม.เลยว่าต้องเปิดประตูน้ำไหนเปิด ประตูไหนปิด ซึ่งเราสามารถสั่ง กทม.ได้ และต้องทำด้วย หากไม่ทำติดคุก เพราะเป็นอำนาจทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเราได้บทเรียนมาแล้วว่าการไม่ฟังกัน ต่างคนต่างคิด แล้วประชาชนประเทศชาติเสียหาย ยืนยันเลยว่าจะไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมันเป็นเรื่องความอยู่รอดของประเทศชาติ" ประธาน กบอ. กล่าว

นายปลอดประสพ กล่าวถึงเรื่องฟลัดเวย์ว่า เราได้เลือกพื้นที่แล้วว่าจะให้น้ำอยู่ หรือน้ำผ่าน รวมกันประมาณ 2 ล้านไร่ ในพื้นที่ 2 ล้านไร่นี้ มีพื้นที่ที่น้ำท่วมแน่ๆ ประมาณ 1.2-1.3 ล้านไร่ โดยน้ำจะเข้า-ออกเป็นปกติ ค่าชดเชยเยียวยาก็จะไม่มีให้ เพราะมันเป็นปกติ ส่วนอีก 8 แสนไร่ ที่ไม่ปกติ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชลประทานเหมือนกัน ถ้าท่วมเข้ามาเราอาจจะต้องมีการเยียวยา

ส่วนเรื่องการสร้างประตูน้ำ ประธาน กบอ. กล่าวว่า ในปลายเดือนนี้ โครงการของต้นน้ำจะต้องสร้างเสร็จ มิ.ย. โครงการของกลางน้ำต้องเสร็จ และ ก.ค.โครงการของปลายน้ำต้องเสร็จ ซึ่งโครงการเฉพาะหน้าเสร็จทันแน่นอน ส่วนโครงการระยะยาว ก็มีการดำเนินการไป เรื่อง เครื่องสูบน้ำ เครื่องดันน้ำ ปีนี้มีความพร้อมทั้งของราชการและเอกชน ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้เครื่องดันน้ำ เพราะ กทม.เป็นที่ต่ำ จึงจำเป็นต้องมี

"หากเกิดเหตุเภทภัย เราจะขอความช่วยเหลือจากทหาร และ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ขณะนี้ เรากำลังทำอาคารเก็บเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อที่จะพร้อมใช้ พร้อมหาข้อมูลเครื่องใช้ของภาคประชาชน ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้เราจะขอความร่วมมือต่อไป" ประธาน กบอ. กล่าว.

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทวิตเตอร์ "ยิ่งลักษณ์" เผย 6 ยุทธศาสตร์ต่อต้าน ทุจริตคอร์รัปชั่น


(18 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมเชิงปฏิบัติการ "ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน" ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยก้าวไกลไร้ทุจริต” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ล่าสุด ทวิตเตอร์ ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร http://twitter.com/PouYingluckได้ เผยแพร่ข้อความ 6 ยุทธศาสตร์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ประกอบไปด้วย 1. ปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน 2. พัฒนาองค์กร 3. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน  4. การปรับปรุงกฎหมาย  5. การตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุก 6. การปราบปรามอย่างจริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด"

นอกจากนี้ ทวิเตอร์ ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ยังได้เชิญชวนให้ประชาชน ร่วมกันกด like เพจ "คนรุ่นใหม่ (เครือข่ายต่อต้านทุจริต) โดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ" อีกด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. มีภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ ซึ่งสอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในข้อที่ 1.3 ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลที่เป็นสากล โดยการสร้างเครือข่ายในการสนับสนุนและยกย่องเชิดชูคนดีและป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ อันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคีทุกภาคส่วน และเพื่อให้ภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ท. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐอย่างจริงจัง

เผยแผน "ยิ่งลักษณ์" ประกาศ "ต้านคอร์รัปชั่น"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2550-2555 ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ของไทยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น อยู่ในระดับ 3.3-3.5 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งนี้ได้ยึดหลักพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า การทำงานต้องระเบิดจากภายในแล้วแก้ปัญหา และการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยจะเน้นย้ำไม่ให้มีการทุจริตทุกหน่วยงานราชการ อาทิ ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง

1.สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นภาครัฐ

สถิติเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องไว้ระหว่างปี พ.ศ.2551 - ปัจจุบัน โดยอาศัยฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบว่า ในปี 2551 มีเรื่องร้องเรียน 15,348 เรื่อง ปี 2552 มีเรื่องร้องเรียน 21,399 เรื่อง ปี 2553 มีเรื่องร้องเรียน 21,261 เรื่อง ปี 2554 มีเรื่องร้องเรียน 22,534 เรื่อง และในปี 2555 มีเรื่องร้องเรียน 658 เรื่อง รวม 81,200 เรื่อง โดยจังหวัดที่มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา 5 จังหวัดแรก ได้แก่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ นครราชสีมา และปทุมธานี

ขณะที่เรื่องร้องเรียนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตเงินงบประมาณโครงการต่างๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐยักยอก/ฉ้อโกงทรัพย์สินของทางราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์

ขณะที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้วิจัยสำรวจวัดระดับการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ระหว่างวันที่ 15-28 มกราคม 2555 พบว่า ประชาชนยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย โดยเห็นด้วยถึง 64% ไม่เห็นด้วย 36% และประชาชนส่วนใหญ่ยังคิดว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดาในการทำธุรกิจ โดยเห็นด้วย 68.9% ไม่เห็นด้วย 31.1%

2.มาตรการเพื่อเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชั่น

จากสภาพปัญหาการคอร์รัปชั่นข้างต้น สำนักงาน ป.ป.ท.จึงเห็นควรกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชั่นตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ โดยมี 7 มาตรการ ดังนี้

2.1 มาตรการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับสังคมไทยและร่วมใจต้านภัยการทุจริต

รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นภายใต้คำขวัญ "คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม" โดยจำแนกประชากรเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนทั่วไป เยาวชน และข้าราชการ

2.2 มาตรการสร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น

สร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น ภายใต้คำขวัญ "อย่าทำทุจริต มีคนจ้องมองท่านอยู่" โดยกำหนดให้มีเครือข่าย 4 กลุ่ม คือ เครือข่ายเฝ้าระวังภาคประชาชน ในทุกสังคม ชุมชน ตำบาล และหมู่บ้าน เครือข่ายเฝ้าระวังภาคราชการทุกหน่วยงาน เครือข่ายเฝ้าระวังภาคสื่อมวลชน และเครือข่ายเฝ้าระวังภาคผู้ประกอบการนักลงทุน

2.3 มาตรการสร้างกลไกรองรับเรื่องร้องเรียน และกำหนดมาตรการตรวจสอบ ติดตามการปฏิบัติต่อข้อร้องเรียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

2.4 มาตรการศึกษารูปแบบการกระทำผิดเพื่อนำสู่การปฏิรูปกระบวนงานของหน่วยงานภาครัฐ

2.5 มาตรการยกระดับมาตรฐานหน่วยงานเพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งความโปร่งใส (ISO)

มีการจัดลำดับความโปร่งใส และยกระดับมาตรฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อก้าวสู่องค์กรแห่งความโปร่งใส โดยจะดำเนินการนำร่องในระดับ กระทรวง/กรม และจังหวัด

2.6 มาตรการสร้างกลไกคุ้มครองนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

ควรให้จัดตั้ง "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับชาวต่างชาติ (Corruption Complaint Center) หรือซีซีซี" เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งเรื่องร้องเรียนกรณีนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

2.7 มาตรการบูรณาการป้องกันการทุจริตเงินงบประมาณในโครงการหน่วยงานภาครัฐ

โดยจะมีการติดตามประเมินผลโครงการภาครัฐ ใน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย การประเมินผลขั้นตอนวางแผนก่อนดำเนินโครงการ การประเมินผลขั้นตอนการดำเนินงาน และการประเมินผลขั้นตอนสรุปผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ กรอบการดำเนินงานใน 7 มาตรการดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างจิตสำนึกและค่านิยมให้หน่วยงานภาครัฐบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ

โดยมีข้อเสนอให้แต่งตั้งอนุกรรมการ 7 คณะ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนทั้ง 7 มาตรการ โดยให้ประธานคณะกรรมการไปสรรหาอนุกรรมการอีกคณะละ 10 ท่าน โดยคณะอนุกรรมการทั้ง 7 คณะ จะมีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ท.มอบหมาย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ จำนวน 1 คน อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอีกจำนวน 1 คน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.ที่เลขาธิการ ป.ป.ช.มอบหมาย เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอีกจำนวน 1 คน

ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการแต่ละคณะจะมีจำนวน 10 คน/1 คณะ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ (1) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผน/กิจกรรม ในการขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 7 มาตรา (2) จัดทำแผน/กิจกรรม/งบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 7 มาตรการ (3) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการนำผลการศึกษาวิเคราะห์ รวมทั้งเสนอแผน/กิจกรรม/งบประมาณ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และให้สำนักงาน ป.ป.ท.เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และงบประมาณต่อคณะอนุกรรมการ และให้คณะอนุกรรมการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายเบี้ยประชุมได้ตามระเบียบของทางราชการ

3.ปฏิทินการดำเนินการตามแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล

ได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 อาทิ วันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ วันที่ 18 พฤษภาคม 2555 นายกฯประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมเปิดศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room)

เดือนมิถุนายน 2555 ออกสื่อประชาสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2555 การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น/แก้กฎ ก.พ.ให้การสอบสวนลงโทษกรณีทุจริตแล้วเสร็จภายใน 120 วัน/จัดสัญจรส่วนภูมิภาคเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งที่ 1

ระยะที่ 2 อาทิ เดือนสิงหาคม 2555 รายงานผลรอบ 3 เดือน สรุปผลจำนวนเรื่องร้องเรียน/ดำเนินการเสร็จ แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น/การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น เดือนกันยายน 2555 จัดสัญจรส่วนภูมิภาคเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งที่ 2 /รายงานผลสำรวจองค์กรยอดดี/ยอดแย่จากความเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2555 การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น/จัดสัญจรส่วนภูมิภาคเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งที่ 3

เดือนพฤศจิกายน 2555 เปิดตัวการนำร่องการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในส่วนราชการ

เดือนธันวาคม 2555 นายกฯประกาศผลสำเร็จรอบ 6 เดือน เดือนมกราคม 2556 ออกสื่อประชาสัมพันธ์ ครั้งที่ 2

เดือนมีนาคม 2556 การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น/จัดสัญจรส่วนภูมิภาคเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งที่ 4

เดือนพฤษภาคม 2556 การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น/แถลงผลงานครบรอบ 1 ปี/ประกาศและมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่องค์กรดีเด่น (รางวัลประจำปี)

หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ครั้งที่ 1/2555 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม

นายกฯเปิดงานคิกออฟยุทธศาสตร์เชิงรุกต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ยันรัฐบาลนี้ไม่มีซื้อขายตำแหน่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดทั้งวันในวันนี้ (18 พฤษภาคม 2555) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน" ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยก้าวไกลไร้ทุจริต”

ซึ่งงานดังกล่าวจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ(ก.พ.ร.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน เพื่อเร่งดำเนินการ4แผนเชิงรุก (Anti-Corruption Quick Win Program) โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมฯ และนำคณะรัฐมนตรี(ครม.) หัวหน้าส่วนราชการและผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์การไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น

นอกจากนี้ภายในงานตลอดทั้งวันจะมีการบรรยายพิเศษจากบุคลชั้นนำ อาทิ หัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานปปช.

หัวข้อ “แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทย” โดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาราชการแทนผู้ตรวจเงินแผ่นดินและนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต้านคอร์รัปชั่น และปิดท้ายในหัวข้อ “การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวางราชการ” โดย นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

ทั้งนี้แผนเชิงรุก 4 แผน ได้แก่ 1.การปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ โดยจะมีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติ กำหนดบัญชีรายชื่อข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริต หรือมีผลงานในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จัดทำตารางสัญลักษณ์แสดงการอาสาต่อต้านคอร์รัปชั่น จัดทำป้ายสัญลักษณ์ในการประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่รับสินบนหรือคอร์รัปชั่นตั้งไว้ที่จุดบริการประชาชน 2.พัฒนาองค์กร โดยส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของตัวเอง พัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น จัดตั้งศูนย์หรือกลุ่มงานในหน่วยราชการเพื่อปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตฯ 3. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 4. การปรับปรุงกฎหมาย 5.การตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุก โดยการเปิดศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room) เปิดสายด่วน 1206 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียว โดยจะนำรายงานผลตรงจากศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี(PMOC) และจะมีการลงโทษข้าราชการทุจริตอย่างจริงจัง และ 6.การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด โดยจะประกาศบทลงโทษผู้กระทำผิด ประชาสัมพันธ์ การดำเนินคดี ปราบปรามทุจริตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่องค์กรดีเด่นประจำปี

พล.อ. ยุทธศักดิ์ รองนายกฯมั่นใจ ประชุมแก้ปัญหาใต้สร้างความเข้าใจทุกฝ่าย




(18 พฤษภาคม 2555) - พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจหลังประชุมเชิงปฏิบัติการกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบูรณาการการทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน

พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจหลังประชุมเชิงปฏิบัติการกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบูรณาการการทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน

พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความมั่นใจว่าผลการประชุมจะสามารถสร้างความเข้าใจที่ดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐจากทุกหน่วยงานที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ทั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ มีความเห็นที่สอดคล้องกัน ว่า การประชุมครั้งนี้ มีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐจากต่างหน่วยงาน ให้เข้าใจถึงปัญหา และเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการ ทำงานร่วมกัน

Thai PM to visit Australia

The Prime Minister of Thailand will visit Australia over four days later this month.

Prime Minister Julia Gillard on Friday said Her Excellency Ms Yingluck Shinawatra would visit between May 26 to 29 in recognition of the 60th anniversary of diplomatic relations between Australia and Thailand.

Her itinerary will include meetings in both the ACT and NSW, with a focus on trade, investment and tourism.

Thailand is Australia's ninth largest trading partner overall, and its second largest in ASEAN.

In 2010/11, two-way trade between the countries totalled nearly $20 billion.

Prime Minister Yingluck, who will be accompanied by senior Thai ministers, and will also call on the Governor-General.

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แบงก์อิสลาม แนะต่อยอดบริการทางการแพทย์ หลัง “ยิ่งลักษณ์” เปิดตลาดตะวันออกกลาง

(17 พฤษภาคม 2555 กรุงเทพฯ) – นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  ให้สัมภาษณ์พิเศษ หลังจาก นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือน ราชอาณาจักรบาห์เรน และรัฐกาตาร์ อย่างเป็นทางการ กรณีการสนับสนุนการลงทุนเพื่อประกอบกิจการหรือขยายสถานที่ประกอบการด้านการแพทย์ในไทย

นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้นๆของโลกที่มีการบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานโลกโดยมีค่าใช้จ่ายที่ถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศฝั่งยุโรปและอเมริกา  การแพทย์ของไทยไม่ใช่แค่การรักษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลทั้งผู้ป่วยและผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งสถานพยาบาลของไทยดูแลกลุ่มลูกค้าได้ดีมาก ทำให้ปัจจุบันมีชาวตะวันออกกลางเดินทางมารักษาและใช้จ่ายเงินในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก”

เหตุที่ชาวตะวันออกกลางนิยมออกมารักษาพยาบาลที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า “เป็นเพราะความเป็นกันเอง การมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย คุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ซึ่งชาวตะวันออกกลางจะเชื่อถือบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมากกว่าประเทศอื่น ฉะนั้นการที่สถานประกอบการด้านพยาบาลเชิญกลุ่มลูกค้าชาวตะวันออกกลางให้มารักษาในประเทศไทย จะทำให้ไทยได้ผลตอบแทนมากกว่าเพราะจะส่งผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจอย่างมหาศาล”

แบงก์อิสลาม ขานรับนโยบาย "ยิ่งลักษณ์" ขยายตลาดตะวันออกกลาง หวังกองทุนสตรีฯ ดันธุรกิจเสื้อผ้ากลุ่มประเทศมุสลิมเติบโต

นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
(กรุงเทพฯ 17 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) – นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับกองบรรณาธิการ InsideThaiGOV กรณี นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือน ราชอาณาจักรบาห์เรน และรัฐกาตาร์ อย่างเป็นทางการ ที่มีความเชื่อมโยงกับนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของรัฐบาล โดยนายธีรศักดิ์ กล่าวว่า “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสามารถไปช่วยเหลือประชาชนได้ในหลายเรื่อง อาทิ การนำเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดำเนินธุรกิจ เช่น กลุ่มของธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม อาทิ หมวก ชุดละหมาด ฯลฯ โดยกลุ่มแม่บ้านเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เหล่านั้น เมื่อขาดเงินทุนหมุนเวียน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะให้เงินทุนอุดหนุน และเขาจะนำเงินไปใช้หมุนเวียนต่อไป”





“ด้านเสื้อผ้าของชาวมุสลิม มีหลายระดับทั้งระดับบน จนถึงระดับล่าง ระดับบนเช่น แบบเสื้อผ้าของชาวมุสลิมแบรนด์เนม เช่น ปราด้า, กุชชี่ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคด้านตะวันออกกลางที่มีรายได้สูง ประเทศเราสามารถเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง โดยเน้นไปที่ความละเอียด ประณีตสวยงาม และเราก็ยังสามารถผลิตชุดคลุมหัว ชุดละหมาด ในระดับปานกลางถึงทั่วไป ซึ่งปกติ กลุ่มแม่บ้านผลิตเองและขายเองอยู่แล้ว เพียงแต่ยังทำอยู่ในกลุ่มจำกัดกันเอง ไทยเราเองสามารถไปจับตลาดได้ทั้งสูง กลางและล่าง ทำให้สามารถขยายส่วนแบ่งทางการตลาดเสื้อผ้าอิสลามได้ทุกระดับ รวมถึงการสวมเสื้อเพื่อปกปิดส่วนที่ต้องตาในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลาดนี้ขายได้ทั้งในตะวันออกกลาง และขายให้ประเทศมุสลิมทุกประเทศทั่วโลก”

“ดังนั้นการเยือนของท่านนายกรัฐมนตรี จะเป็นการเปิดตลาดให้ทั้งฝ่ายผู้บริโภค และประเทศไทยซึ่งเป็นฝ่ายผู้ผลิต ได้มีการเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าไทยและประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางสามารถขยายมูลค้าการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นได้” นายธีรศักดิ์กล่าว

เผยข้อหารือ 2 นายกฯ ไทย-กาตาร์ ที่คนไทยต้องรู้




(กรุงเทพฯ 17 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้หารือข้อราชการกับ H.E. Sheikh Hamad bin Jassim bin Jabr Al-Thani นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ โดยได้มีการหารือในด้านต่างๆ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทยและกาตาร์ที่ไทยถือว่ากาตาร์เป็นมิตร ที่แนบแน่นและยาวนาน และหวังที่จะร่วมกับกาตาร์ในการขยายความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยไทยชื่นชมบทบาทสำคัญของกาตาร์ในโลกมุสลิม และโดยที่กาตาร์ก็มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาหรับ จึงเชื่อมั่นว่า ไทยและกาตาร์จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ซึ่งเป็นประตูสำหรับการค้าและการลงทุน รวมทั้งรูปแบบความร่วมมือต่างๆด้วย โดยในโอกาสนี้ ไทยได้ขอบคุณกาตาร์ที่ให้การสนับสนุนท่าทีไทยเกี่ยวกับปัญหาสถาณการณ์ จังหวัดชายแดนใต้ในเวทีองค์กรความร่วมมืออิสลามหรือ OIC มาโดยตลอด อีกทั้งสนับสนุนด้านการศึกษาและการลงทุนในภาคใต้ของไทย


ในโอกาสนี้ ไทยและกาตาร์ได้หารือถึงกรอบความร่วมมือต่างๆที่สามารถเสริมสร้างและขยายผล เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยกาตาร์เห็นว่าขณะนี้ไทยมีความมั่นคงทั้งด้านการเมือง และศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ดังนั้น ไทยและกาตาร์เห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ในสาขาที่สำคัญ คือ 

1. การก่อสร้าง โดยภาคเอกชนไทยมีความสนใจเข้าร่วมการพัฒนาสาธารณูปโภคและสนามกีฬา เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 ของกาตาร์ เพราะไทยมีศักยภาพด้านฝีมือแรงงาน สถาปัตยกรรม และการวางระบบต่างๆ ซึ่งกาตาร์ยินดีเปิดรับนักลงทุนในสาขานี้ และจะดำเนินการอย่างโปร่งใส

2. ความมั่นคงทางอาหาร โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในฐานะผู้ผลิตอาหารรายสำคัญ ยินดีจัดหาอาหารตามชนิดที่กาตาร์มีความต้องการ และขอให้กาตาร์ระบุความต้องการ ซึ่งไทยจะได้ผลิตตามความต้องการเป็นการเฉพาะ และเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ไทยยินดีร่วมมือกับกาตาร์โดยสามารถเป็นไซโลอาหาร เพื่อเป็นแหล่งสำรองอาหารให้กับกาตาร์

3. ความร่วมมือภาคการลงทุน ไทยยินดีสนับสนุนกาตาร์และ QIA (Qatar Investment Authority ) และ Qatar Holding ซึ่งเป็นสถาบันการลงทุนของกาตาร์ร่วมลงทุนในภาคการเงินของไทย โดยไทยและกาตาร์จะได้ให้หน่วยงานทั้งสองประเทศนำไปหารือและศึกษาต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่กาตาร์มีความสนใจ และเสนอให้มีการจัดทำรายชื่อสาขาธุรกิจและผู้ติดต่อ เพื่อความความสะดวกและ รวดเร็วในการดำเนินงาน

4. การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการบริหารจัดการโรงพยาบาล ไทยยินดีต้อนรับประชาชนกาตาร์เพื่อท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และจะขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาโรงพยาบาลและธุรกิจด้านสุขภาพ โดยรัฐบาลได้อนุมัติในหลักการให้ขยายเวลาการพำนักในประเทศไทยรวม 90 วันสำหรับการเข้ามารักษาพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนของไทยยินดีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์ในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022

5. ความร่วมมือด้านพลังงาน ไทยและกาตาร์ เห็นว่ายังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีก โดยกาตาร์เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรีพลังงานเพื่อผลักดัน การขยายความร่วมมือให้เป็นผล ทั้งนี้ บริษัท ปตท. และ Qatargas จะได้รับการสนับสนุนให้มีการลงนามความตกลงระยะยาวในการซื้อขายก๊าซ LNG และบริษัทพลังงานของไทยจะเป็นประตูของกาตาร์สู่อาเซียนและภูมิภาคใกล้เคียง นอกจากนี้ ไทยกำลังเจรจาซื้อก๊าซ LNG จากกาตาร์ จำนวน 600,000 ตันในปีนี้ และได้มีการตกลงซื้อขายระยะยาวจำนวน 2,000,000 ตันในปีหน้าแล้ว

6. การยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่จากไทย โดยกาตาร์จะยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าภายใน 2 สัปดาห์ ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงระหว่างรัฐกาตาร์กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานในรัฐกาตาร์ 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความ ร่วมมือด้านสาธารณสุข 3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม 4. ปฏิญญาร่วมในการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตรโดยเฉพาะอาหาร ฮาลาล

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รัฐบาลไทย ให้ความเชื่อมั่นนักธุรกิจบาห์เรน

 

วันนี้ (14 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจการเดินทางเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนเป็นวันที่ 2 ช่วงเวลาประมาณ16 .00น.(ตามเวลาท้องถิ่น) ช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานกล่าวเปิดประชุมคณะนักธุรกิจไทย-บาห์เรน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนทั้งสองประเทศ ที่โรงแรมอินเตอร์คอน โดยชี้แจงถึงนโยบายและแผนการป้องกันอุทกภัย ทั้งระยะยาวและระยะสั้น ภายใต้งบประมาณ11.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมระบุว่าไทยพร้อมให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือบาห์เรน หากต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปและสร้างความปรองดองในประเทศแบบสันติ ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทางการเมือง รวมทั้งก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงด้วย

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวเปิดการประชุมคณะนักธุรกิจไทย-บาห์เรน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยหลังประสบอุทกภัยต่อหอการค้าบาห์เรน และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความได้เปรียบในการลงทุน เพราะไทยมีแรงงานคุณภาพสูงและไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์กลางอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนของรัฐบาล เช่น ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศถึงการทำธุรกิจระหว่างกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการส่งเสริมการท่องเที่ยว



ทางด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรม ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษทางโทรศัพท์ระหว่างการเยือนประเทศบาห์เรนอย่างเป็นทางการร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า “การมาเยือนประเทศบาห์เรนและกาตาร์ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลได้เป็นตัวหลักในการเชื่อมสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจ นักลงทุนเอกชนได้ติดตามกันไป ได้ลงไปช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคด้านต่างๆ ที่มีอยู่ รวมถึงช่วยพัฒนา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ขยายระบบเศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้นดีขึ้น"

"การมาเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร การขายพืชผลทางการเกษตร เพิ่มการค้าการลงทุน หาช่องทางด้านพลังงาน ซึ่งตรงกับความต้องการกับกลยุทธ์ของประเทศในขณะนี้ นักธุรกิจมองว่าตะวันออกกลางเป็นตลาดใหญ่  เราสามารถเป็นครัวโลก ที่ผลิตและเสริมความมั่นคงด้านอาหารให้กับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ด้านปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง ด้านการท่องเที่ยว และที่ภูมิใจคือที่นี่เขามองว่าประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำด้านอาหารให้กับกลุ่มประเทศเขาได้" นายพยุงศักดิ์กล่าว

คนไทยเฮ! มติครม.ตีกลับ ไม่ขึ้นบัญชีควบคุม "อาหารปรุงสำเร็จ"

คณะรัฐมนตรียังไม่เห็นชอบให้ "อาหารปรุงสำเร็จ 10 รายการ" เป็นสินค้าควบคุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้เหตุผลว่า ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคในร้านที่พึงพอใจได้ ขณะที่ร้านอาหารที่จำหน่ายต่างมีความหลากหลาย ทั้งปริมาณและคุณภาพ

(14 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) - คณะรัฐมนตรียังไม่เห็นชอบให้ "อาหารปรุงสำเร็จ 10 รายการ" เป็นสินค้าควบคุม โดยให้เหตุผลว่า ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคในร้านที่พึงพอใจได้ ขณะที่ร้านอาหารที่จำหน่ายต่างมีความหลากหลาย ทั้งปริมาณและคุณภาพ

ระหว่างการประชุม ครม. ซึ่งมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้รายงานผลการลงพื้นที่ต่อ ครม. เป็นรายบุคคล โดยสรุปภาพรวมพบว่า ราคาสินค้าบางชนิดปรับขึ้นจริง แต่ไม่สูงมาก และขณะนี้ก็มีสินค้าบางชนิดปรับราคาลงแล้ว

หลังจากนั้นก็พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ในการนำสินค้าปรุงสำเร็จ 10 รายการ เข้าเป็นสินค้าควบคุม ด้วยเหตุนี้ รัฐมนตรีหลายคนเห็นว่า การคุมราคาข้าวแกงคงทำได้ยาก เพราะมีการจำหน่ายตามร้านอาหารทั่วไป ศูนย์การค้า และร้านอาหาร โดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ตามปริมาณ คุณภาพ และความอร่อย รวมทั้งการอำนวยความสะดวก และการบริการจากร้านอาหาร

เมื่อมีข้อท้วงติงเกิดขึ้นประธานในที่ประชุม จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ติดตามดูแลเท่านั้น และหากสัปดาห์หน้ายังคงพบปัญหาราคาขายที่แพงเกินควร ก็สามารถเสนอพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคมีความหลากหลายในอาชีพและสามารถเลือกได้ 

ทั้งนี้ รายการอาหารปรุงสำเร็จ 10 รายการ ประกอบด้วย ข้าวไข่เจียว, ข้าวราดแกงหรือกับข้าว 1 อย่าง, ข้าวไข่พะโล้, ข้าวขาหมู, ข้าวกระเพราหมู/ไก่, ข้าวผัดหมู/ไก่, ก๋วยเตี๋ยวหมู/ไก่/ลูกชิ้นปลา, ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า, ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว และขนมจีนน้ำยา/แกงไก่

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยิ่งลักษณ์จัดทัพ 6รัฐมนตรี ลุยตรวจราคาสินค้า อีกครั้งพรุ่งนี้

นายกฯยิ่งลักษณ์ มอบ 6 รัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องปรุงรส อาหารสด อีกครั้งวันพรุ่งนี้ (13 พ.ค.) อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ผักสด เครื่องแบบนักเรียน ทั้งราคาต้นน้ำ-ปลายน้ำ วิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (value chain) ถึงสาเหตุราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อถึงมือผู้บริโภค

(12 พฤษภาคม 2555) - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าและรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8  พฤษภาคม 2555 ไปแล้วนั้น ขณะนี้ประชาชนยังมีความกังวลต่อราคาสินค้าที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพ  ดังนั้น เพื่อเป็นการคลี่คลายความกังวลและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน  รวมถึงทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาราคาสินค้า

นายกรัฐมนตรีจึงมีบัญชามอบหมายให้รัฐมนตรีลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องปรุงรส อาหารสด อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่  ผักสด และเครื่องแบบนักเรียน ว่ามีราคาเหมาะสมหรือไม่  ทั้งในส่วนของราคาต้นน้ำ (ราคาต้นทุน ราคาหน้าฟาร์ม)  ราคากลางน้ำ (ค่าขนส่ง ค่าเช่า และกำไร)  ราคาปลายน้ำ (ราคาขายปลีก)  โดยวิเคราะห์ในลักษณะของห่วงโซ่อุปทาน  (value chain) ว่า สาเหตุใดราคาสินค้าจึงเพิ่มสูงขึ้นเมื่อถึงมือผู้บริโภค

โดยรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจสอบราคาต้นทุนสินค้า ทั้งในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี และชลบุรี ในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2555  ตั้งแต่เวลา 09.00 –11.00 น. ดังนี้

1. นายนิวัฒน์ธำรง  บุญทรงไพศาล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  จะไปดูราคาหมูที่ฟาร์มหมูชัยยุทธ อ.เมือง  จ.นครปฐม  เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนราคาหมูมีชีวิต

2. นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรม  ไปดูฟาร์มไก่เนื้อและไก่ไข่ที่บุญวันฟาร์ม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี  ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไก่เนื้อส่งออกสู่ตลาดและไข่ไก่ในพื้นที่ภาคตะวันออก

3. น.อ.อนุดิษฐ์  นาครทรรพ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ไปที่บริษัท สุขสมบูรณ์  อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี   ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวด

4. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ไปสำรวจราคาผักสวนครัว  ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรประเภทผักสวนครัว  ที่แปลงปลูกผัก อ.ดำเนินสะดวก  จ. ราชบุรี  เพื่อให้ทราบถึงราคาผักสวนครัวที่เกษตรกรผลิตและขายต่อมายังพ่อค้าคนกลาง

5. นางนลินี  ทวีสิน  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ไปสำรวจราคาชุดนักเรียน ราคาขายส่งในตลาดโบ้เบ้

6. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ไปตลาดไท รังสิต เพื่อดูราคาสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูป และอาหารบรรจุถุงว่ามีราคาสูงขึ้นหรือไม่

รัฐบาลตรึงราคาสินค้าจำเป็นอีก 4 เดือน‎




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (12พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีงดจัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” โดยมอบหมายให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงรายละเอียดสินค้าราคาสูง พร้อมมาตรการรองรับในการช่วยเหลือประชาชน
     
นายบุญทรง กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้า 4 เดือน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่ประชาชนใช้ตลอดเวลา ซึ่งได้รับรายงานจาก กรมการค้าภายในว่า ผู้ประกอบการหลายรายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ต้องยอมรับว่า ค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นตัวส่งผลกระทบอีกด้าน ตรงนี้ทางกระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาพลังงานไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระมากนัก
     
“กรมการค้าภายในได้ทำหนังสือ คาดว่าอาทิตย์หน้าจะเชิญผู้ประกอบการมาร่วมพูดคุยเพื่อชี้แจงขอความร่วมมือการตรีงราคาสินค้า โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ สิ้นปีราคาลดลงแน่นอน ส่วนสินค้าพวกอาหารสำเร็จรูปที่เป็นประเด็นในขณะนี้ที่มีราคาสูงขึ้นนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ลงตรวจสอบแล้ว พบว่า วัตถุดิบ อาทิ ไก่ ไข่ไก่ ราคาลดลง ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาต้นทุน” นายบุญทรง กล่าว
     
สำหรับมาตรการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้จับจ่ายสินค้าราคาถูกนั้น นายบุญทรง กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีโครงการธงฟ้าที่รัฐบาลในอดีตมีการจัดเพียงระยะเวลาสั้นๆ คือ 5 วัน แต่ขณะนี้ทางกระทรวงควบคุมพื้นที่ใน กทม. ทั้งหมดและจะมีการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้จับจ่ายสินค้าราคาถูก ซึ่งยืดเวลาออกไปเป็น 2 เดือน
     
และมาตรการต่อมา การขึ้นบัญชีควบคุมสินค้า โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ เข้ามาดูแลราคาที่เหมาะสมใน 10 เมนูอาหาร และลงไปตรวจสอบและนำมาหาข้อสรุปเพื่อควบคุมสินค้าให้เหมาะสม ให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม และมาตรการเรื่องบทลงโทษต่าง ๆ ตามกฎหมาย พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้า ที่มีบทลงโทษให้ผู้ที่กระทำผิดหรือฝ่าฝืน คือมีโทษปรับ 400,000 กว่าบาท จำคุก 7 ปี ซึ่งหลักการดังกล่าวคณะกรรมการจะหารือเพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้อนุมัติในหลักการ เพื่อจะได้ดูแลเรื่องอาหาร สินค้าต่อไป
     
“สำหรับสินค้าที่ขึ้นบัญชีควบคุมนั้น หากกระทรวงพาณิชย์ลงไปตรวจสอบและพบว่า สินค้าเป็นธรรมทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อ ทางกระทรวงก็จะมีการถอดออกจากบัญชีควบคุมได้ทันที” นายบุญทรง กล่าว
     
นายบุญทรง กล่าวว่า ร้านค้าสหกรณ์มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว แต่ส่วนใหญ่สินค้าภายในจะมาจากสมาชิกด้วยกันเอง โดยจำหน่ายในราคาถูก เป็นแนวคิดที่แตกต่างจากร้านถูกใจ คือ สหกรณ์ จะจำหน่ายสินค้าให้แก่สมาชิกด้วยกันเท่านั้น ส่วนร้านถูกใจจะเปิดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป ขณะนี้ได้เปิดแล้วทั้งหมด 84 แห่งในกทม. และจะเปิดเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล อีกทั้งราคาสินค้าที่ให้จำหน่ายผู้ประกอบการที่เข้าร่วมก็จะได้ผลต่างกำไรที่สูงขึ้น และผู้ซื้อก็ได้ของดีมีคุณภาพที่ถูกลง
     
นายบุญทรง กล่าวว่า นโยบายการรับจำนำข้าวนั้น เป็นนโยบายที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกร แม้ว่าขณะนี้ราคาข้าวถุงจะมีการปรับขึ้นแต่ก็ไม่มาก ผู้ประกอบการยังมีผลกำไรอยู่
     
ส่วนชุดนักเรียนที่หลายพื้นที่มีราคาสูงขึ้นนั้น นายบุญทรง กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ขอให้ผู้ผลิตชุดนักเรียนแจ้งมาว่าต้นทุนเป็นอย่างไร ขายอย่างไร และได้รับรายงานว่ายังไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเข้าไปควบคุมราคา แต่ยังติดตามความเคลื่อนไหว และกระทรวงพาณิชย์จะดูแลพี่น้องประชาชนหากเริ่มมีผลกระทบและจะนำหารือเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
     
สำหรับในช่วงที่ 2 ของรายการ เป็นการชี้แจงของ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เกี่ยวกับ ความพร้อม และขั้นตอนในการดำเนินการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 หลังจากได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายกับ บ.เซินเจิ้น สโคป ไปเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา

โดย นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  "เป็นการปฏิรูป ปฎิวัติวิธีการเรียนการสอน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา เกาหลีฯลฯ ถามว่าทำไมต้องทำเหมือนเราเปลี่ยนกระดานชนวนเป็นกระดาษ เช่นเดียวกันตอนนี้ก็เปลี่ยนจากระบบกระดาษเป็นระบบแท็บเลต ทำให้มีการจัดศึกษาเท่าเทียมกันทุกที่ แม้แต่ครูผู้สอนในโรงเรียนห่างไกลก็เรียนรู้ตรงนี้ได้ มีตัวอย่างให้ดู เป็นการเรียนแล้วทำให้เร็วขึ้น สอนแค่ครึ่งชั่วโมง อีกครึ่งชั่วโมงทำแบบฝึกหัด และให้เด็กกลับบ้านไปด้วย ต่อไปก็จะบรรจุตั้งแต่ป.1ถึงป. 6 แต่ที่หลายคนบอกไม่เห็นด้วย เดี๋ยวไปเล่นเกมส์ ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเครื่องมือการสอนที่ดีกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า เนื้อหาเท่าเทียมกันหมด ตอนนี้เนื้อหาเสร็จถึง ป.6 แล้ว"

วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นายกรัฐมนตรี หารือกับรมว.พาณิชย์ ดูแลราคาสินค้า แก้ปัญหาค่าครองชีพ

นายกรัฐมนตรี หารือกับรมว.พาณิชย์ ต่อแนวทางการแก้ไขปํญหาราคาสินค้า หลังที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีมติให้เพิ่มอาหารปรุงสำเร็จเข้าอยู่ในบัญชีสินค้าราคาควบคุม ขณะที่รมว.พาณิชย์เตรียมหารือผู้ประกอบการเพื่อให้ตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไปอีก 4 เดือน


(11 พฤษภาคม 2555) -   น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อประชุมหารือร่วมกับ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ผู้บริหารของกระทรวง ต่อแนวทางแก้ไขปัญหาราคาสินค้าและยกระดับราคาสินค้าเกษตร หลังจากนั้นจะประชุมร่วมกับคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. มีมติให้เพิ่มอาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารจานด่วน เข้าอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม ส่งผลให้บัญชีสินค้าและบริการควบคุม จากเดิมที่มีอยู่ที่ 42 รายการเป็น 43 รายการ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในสัปดาห์หน้า

สำหรับอาหารปรุงสำเร็จที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เสนอควบคุมที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ เช่น ข้าวไข่เจียว ข้าวขาหมู ข้าวผัด ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ผัดซีอิ๋ว ขนมจีนน้ำยา โดยเฉลี่ยควบคุมที่ราคา 25-35 บาท แต่อาจพิจารณาราคาใหม่อีกครั้ง ตามสถานที่จำหน่ายและต้นทุนค่าเช่าที่ของผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ และเมื่อประกาศเป็นบัญชีสินค้าราคาควบคุม ผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนดจะต้องมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท

ขณะที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีการหารือกับผู้ประกอบการอีกครั้ง เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าออกไปอีก 4 เดือนเพื่อช่วยผู้บริโภค

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นายกฯยิ่งลักษณ์ เตรียมเยือนบาห์เรน-กาต้าร์

(9 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) - น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศบาห์เรนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 13 – 15 พ.ค. และประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 15 -16 พ.ค.นี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่น พร้อมส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติ 

ทั้งนี้ในการเยือนบาห์เรน นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดี และ มกุฎราชกุมารแห่งบาห์เรน จากนั้น จะเข้าร่วมการหารือและประชุมเต็มคณะกับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน พร้อมร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับบาห์เรน ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี จะได้ถือโอกาสขอบคุณประเทศบาห์เรนที่สนับสนุนไทยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีโอไอซีมาโดยตลอด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ
สมเด็จพระราชาธิบดีฮามัด บิน อิซา อัล คอลิฟะห์แห่งราชอาณาจักรบาห์เรน
เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ (15 เมษายน 2555)
ไทยและบาห์เรนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2520 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด บาห์เรนถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมไทยสู่ประเทศในตะวันออกกลางในหลายมิติ

สินค้าออกที่สำคัญของไทยไปบาห์เรน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เสื้อผ้า สำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ทองแดง ผ้าผืน ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องใช้สำหรับเดินทาง

ประเทศบาห์เรนมีคนงานไทยทำงานอยู่ที่บาห์เรนประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือที่ทำงานในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเคาะพ่นสี ช่างเชื่อม ซ่อมเรือสินค้า ช่างประกอบท่อส่งน้ำมัน ช่างเสริมสวย ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และคนปรุงอาหาร ส่วนใหญ่ทำงานในกิจการขนถ่ายสินค้าทางเรือ ซ่อมบำรุง โรงกลั่นน้ำมัน ก่อสร้างอาคารและถนน กิจการอู่ซ่อมรถยนต์ และร้านเสริมสวย เป็นต้น

ส่วนการเยือนกาตาร์นั้น นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการ เข้าเฝ้าฯ เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ และหารือเต็มคณะกับนายกรัฐมนตรีกาต้าร์  พร้อมให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีรา  ซึ่งเป็นสื่อมวลชนชั้นนำของโลก ทั้งนี้ การเยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการครั้งนี้นอกจากจะแสดงถึงการให้ความสำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลางและโลกมุสลิมโดยเฉพาะในกลุ่ม GCC หรือคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ที่ไทยต้องการดำเนินความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและขยายความร่วมมือต่างๆ แล้ว ยังมุ่งเน้นกระชับความสัมพันธ์กับกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมสายกลางและมีบทบาทที่โดดเด่นในภูมิภาค และใช้โอกาสหาแนวทางพัฒนาความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมในทุกมิติ  เช่น ความร่วมมือด้านการเมืองและทหาร เป็นต้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเยือนทั้งบาห์เรนและกาตาร์ ของนายกรัฐมนตรี จะมีคณะนักธุรกิจไทยกว่า 50 ราย จาก 40 บริษัท และ 15 รายจากสมาคม และสาขาต่าง ๆ อาทิ ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ การเงิน ธนาคารและการลงทุน  เกษตรและอาหาร พลังงาน ท่องเที่ยว  และอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ร่วมคณะด้วย เพื่อสนับสนุนให้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชนในการบุกเบิกตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายกับภาครัฐและเอกชนของกาตาร์และบาห์เรน  ตลอดจนมีโอกาสสำคัญทางธุรกิจในบาห์เรนและกาตาร์


กำหนดการเยือนบาห์เรน-กาตาร์ของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2555
เวลา 12.50 น. - นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจังหวัดสมุทรปราการ โดยเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (B777-200) เที่ยวบินพิเศษ TG 8800 ไปยังกรุงนามา ราชอาณาจักรบาห์เรน
เวลา 16.00 น. - เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงนามา ราชอาณาจักรบาห์เรน
- นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ H.M.King Hamad bin Isa Al Khalifa สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน และ H.R.H.Prince Salman bin Hamad Al Khalifa มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน
เวลา 20.00 น. - สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม 2555
เวลา 11.00 น. - พิธีต้อนรับนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ
- นายกรัฐมนตรีหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ณ ห้องทำงานนายกรัฐมนตรีบาห์เรน พระราชวัง Al Gudaibiya
- นายกรัฐมนตรีนำคณะทางการและคณะธุรกิจไทยเข้าเฝ้านายกรัฐมนตรีบาห์เรน ณ ห้อง Yellow Majlls พระราชวัง Al Gudaibiya
- การหารือเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ณ ห้อง Blue Majlls พระราชวัง Al Gudaibiya
- นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีบาห์เรนเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลราชอาณาจักรบาห์เรนว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
เวลา12.30 น. - นายกรัฐมนตรีบาห์เรนพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี
เวลา 14.30 น. - นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมคณะนักธุรกิจไทย - บาห์เรน ณ โรงแรม Intercontinental Regency
เวลา 15.20 น. - นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมมัสยิดกลาง Alfath Grand Mosque
-นายกรัฐมนตรีหารือ (กลุ่มเล็ก) กับผู้นำศาสนา ณ มัสยิดกลาง Alfateh Grand Mosqe
เวลา 18.00 น. - พบปะชุมชนไทยในบาห์เรน ณ โรงแรม Ritz Carlton
เวลา 20.00 น. - นายกรัฐมนตรีบาห์เรนเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำให้กับนายกรัฐมนตรี (กลุ่มเล็ก)

วันที่ 15 พฤษภาคม 2555
เวลา 10.00 น. - นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเล
เวลา 12.00 น. - นายกรัฐมนตรีบาห์เรนเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ ณ โรงแรม Ritz Carlton
เวลา 14.30 น. - นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติราชอาณาจักรบาห์เรนโดยเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (B777 - 200) เที่ยวบินพิเศษ ที่ TG 8801 ไปยังกรุงโดฮา รัฐกาตาร์
กำหนดการเยือนรัฐกาตาร์

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม 2555
เวลา 15.25 น. - เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงโดฮา

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2555
เวลา 11.00 น. - นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ H.H.Sheikh Hamad bin Khalifa Al-Thani เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ณ พระราชวัง Amiri Diwan
- นายกรัฐมนตรีหารือข้อราชการกับ H.H.Sheikh Hamad bin Jassim Bin Jabr Al-
- Thani นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐกาตาร์ (เต็มคณะ)ณ พระราชวัง Amiri Diwan
- นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีกาตาร์ฯ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลรัฐกาตาร์ ณ พระราชวัง Amiri Diwan
- นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐกาตาร์เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ
เวลา14.45 น. - นายกรัฐมนตรีพบหารือกับผู้บริหารของ Aspetar - Qatar Orthopedic and Sport Medical Center
เวลา 15.40 น. - นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สำนักข่าวท้องถิ่น Al Jazeera ณ โรงแรม Four Seasons Doha
เวลา 16.45 น. - นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนาย Hassan Al Thawadi เลขาธิการ Qatar 2022 Supreme Committee
เวลา 18.30 น. - นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองเพื่อพบปะกับภาคเอกชนไทยและกาตาร์

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม 2555
เวลา 07.20 น. - เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ

ยิ่งลักษณ์ มั่นใจแผนบริหารจัดการน้ำ


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 พ.ค. ที่ท้องสนามหลวง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการติดตามแผนงานและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ว่า "ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งบางโครงการได้เริ่มดำเนินการแล้วโดยเบิกงบประมาณลงไปใช้ดำเนินการ บางโครงการมีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ส่วนตัวได้สั่งการให้ติดตามและเร่งรัดอยู่ตลอดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพบว่าทุกหน่วยงานมีการความคืบหน้า ส่วนจังหวัดที่ยังไม่มีความคืบหน้านั้นได้สั่งการให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ไปติดตามแล้ว ทั้งนี้ตนจะติดตามงานไล่ตามพื้นที่เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันจะรับผิดชอบงานในส่วนที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จทันตามระยะเวลาที่กำหนดซึ่งในช่วงปลายเดือน พ.ค.จะลงพื้นที่ติดตามการทำงานด้วยตนเองอีกครั้ง"

"วันนี้ต้องยอมรับว่างานในช่วงแรกมีความล่าช้าเนื่องจากติดขัดในระเบียบต่าง ๆ โดยเพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 60 วัน แต่ได้พยายามปรับปรุงเร่งรัดวิธีการ โดยเน้นเรื่องความโปร่งใส ที่ผ่านมาได้ว่าจ้างสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ลงไปสำรวจในพื้นที่ด้วย เพราะบางพื้นที่ยังไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์จึงต้องใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมมาช่วยด้วย เช่น ความลึกหรือความตื้นของพื้นที่ซึ่งมีผลสัมพันธ์กับการไหลของน้ำ นอกจากนี้ทีมงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ประชุมร่วมกัน เพื่อทำแบบจำลองเพื่อดูสถานการณ์น้ำในทุกสถานการณ์ว่าน้ำจะไหลไปทางไหน ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการปรับฐานข้อมูลดังกล่าว คาดว่าปลายเดือน พ.ค.นี้จะมีความคืบหน้าและสามารถชี้แจงได้ มั่นใจว่าแผนงานในการบริหารจัดการน้ำนี้จะสามารถรองรับสถานการณ์ได้"

วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ด่วน! ยิ่งลักษณ์สั่ง11รัฐมนตรีลุยตลาด สำรวจราคาสินค้าทั่วประเทศ พรุ่งนี้

นายกฯยิ่งลักษณ์ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อติดตามและเร่งรัดมาตรการดูแลปัญหาราคาสินค้า (3 พฤษภาคม 2555) 
(5 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) - ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีด่วนที่สุด มอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจไปดูแลการปรับโครงสร้างราคาสินค้า เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในประเทศ อันสืบเนื่องจากการที่มีข้อร้องเรียนถึงราคาสินค้า ที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชนในขณะนี้ และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีเห็นควรมอบหมายให้ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ลงไปตรวจสอบราคาสินค้า และรายงานสภาพปัญหาและข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง พร้อมทั้งลงพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับประชาชน และนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ในวันที่ 6 พ.ค.นี้ ระหว่างเวลา 08.30-09.30 น. รัฐมนตรีเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย จะลงพื้นที่ตรวจสินค้าอุปโภคบริโภคตลาดสดในกทม. นครปฐม และเชียงใหม่ ได้แก่

  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลงพื้นที่ตลาดอ่อนนุชเฟรชมาร์ท(ฝั่งเหนือ) เขตวัฒนา 
  • นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ลงพื้นที่ตลาดสดเชียงใหม่ 
  • นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ลงพื้นที่ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี 
  • นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ ลงพื้นที่ตลาดนนทบุรี  
  • นางนลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตลาดวัฒนานันท์ ดอนเมือง 
  • นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ลงพื้นที่ตลาดบางขุนศรี ถนนจรัญสนิทวงศ์ 
  • นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ตลาดทุ่งครุ 
  • พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ตลาดสำโรง  พระประแดง 
  • น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ลงพื้นที่ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ 
  • ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์  สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตลาดศรีตระกล่ำ พัฒนาการ ถนนรามคำแหง 2 
  • นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ลงพื้นที่ตลาดเสรี จังหวัดนครปฐม

โอฬาร ทานข้าว35บาทโชว์สื่อ พร้อมเผยมาตรการลดค่าครองชีพ


ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ทานข้าวผัดกะเพราไข่ดาว ราคาเพียง 35 บาท
(5 พฤษภาคม 2555 ทำเนียบรัฐบาล - InsideThaiGOV)  - ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยกับกองบรรณาธิการ InsideThaiGOV ว่านายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นห่วงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาต้นทุนการผลิตได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงสั่งการให้ตั้งคณะทำงานเรื่องมาตรการลดค่าครองชีพ โดยลงสำรวจราคาสินค้า ตั้งวอร์รูมแก้ไขปัญหา หากพบสินค้าขึ้นราคาผิดปกติ จะเรียกมาถกคุมราคาทันที

ดร.โอฬาร เปิดเผยว่า "นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยราคาสินค้าอย่างมาก จึงมีคำสั่งตั้งคณะทำงาน “ศูนย์ปฏิบัติการดูแลค่าครองชีพ”  ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลัง ได้จัดทีมงานทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าอย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบว่าราคาสินค้ามีความเคลื่อนไหว หรือราคาขึ้นลงที่ผิดปกติหรือไม่ คณะทำงานนี้จะรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งมาที่ตนทุกวัน เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย และจะนำรายงานต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี"

"รายละเอียดของรายงานนั้นจะดูตั้งแต่โรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ดูตัวเลขด้านพลังงาน ดูการบริการสาธารณะรวมไปถึงไฟฟ้า-ประปา ทั้งนี้ ยังดูไปถึงมาตรการที่จะดูแลราคาสินค้า ตรวจสอบว่าหากราคาสินค้ากลุ่มไหนที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ จะเรียกผู้ประกอบการในสินค้ากลุ่มนั้น มาหารือ โดยจะขอความร่วมมือให้คุมราคาสินค้าไว้ หากจำเป็นต้องปรับราคา เพราะแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวก็สามารถปรับเพิ่มได้ แต่ถ้าเป็นการปรับขึ้นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น การปรับขึ้นค่าแรงงานทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น5% แต่มีการปรับราคาสินค้าขึ้น20%"

"การเรียกมาขอความร่วมมือผู้ประกอบการช่วยคุมราคา ไม่ใช่การใช้นโยบายตรึงราคาสินค้าทุกชนิด แต่จะหารือว่ามีแนวทางออกอย่างอื่นหรือไม่ที่ไม่จำเป็นต้องปรับราคา เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชนมากจนเกินไป และก็ไม่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือนร้อนจากการแบกรับภาระต้นทุนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งยอมรับที่ผ่านมาราคาสินค้าก็มีการปรับขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ใช่การปรับขึ้นราคาอย่างไม่มีเหตุผล เช่น ผักที่แพง ก็เป็นผลมาจากสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง แต่กรณีที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลจะต้องใช้กฎหมายเข้ามาจัดการขั้นเด็ดขาด  ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอธิบายเหตุผลได้อย่างพอเหมาะพอสมด้วย จากนั้นจะเสนอแนวทางดังกล่าวไปที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.) ในสัปดาห์หน้า" ดร.โอฬาร กล่าว

ข้าวผัดใส่ไข่ดาว ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ราคา เพียง 35 บาท 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชนแล้ว ดร.โอฬารได้สั่งข้าวผัดใส่ไข่ดาวรับประทานร่วมโต๊ะกับสื่อมวลชนด้วย และ เปิดเผยว่าข้าวผัดใส่ไข่ดาวดังกล่าวมีราคา 35บาท เท่านั้น

รัฐบาลมุ่งเพิ่มรายได้ ดูแลราคาสินค้าแก้ปัญหาค่าครองชีพ



(5 พฤษภาคม 2555 InsideThaiGOV) - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ร่วมด้วย นายโอฬาร ไชยวัติ ผู้แทนการค้าไทย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน ดำเนินรายการโดย นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โดยเป็นการพูดคุยเรื่องมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าปัญหาค่าครองชีพเป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยอื่นที่นอกเหนือการควบคุม ทั้งเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะเป็นหน้าแล้งหรือน้ำท่วม รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลก

นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ยืนยันว่าราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งรัฐบาลก็ห่วงใยและไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเร่งหามาตรการช่วยเหลือประชาชน พยายามตอบโจทก์และเข้าไปดูแลในทุกกลุ่ม สำหรับราคาน้ำมันนั้น บางตัวก็มีการปรับตัวขึ้นบ้าง เช่นแก๊สโซฮอลล์ ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก ส่วนบางรายการที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ภาครัฐก็พยายามชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน รัฐบาลช่วยตรึงราคาภาคครัวเรือน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชน ว่า สิ่งแรกคือ มาตรการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ซึ่งได้มีมาตรการเร่งด่วน ทั้งการรับจำนำข้าวเปลือกที่เริ่มไปตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง และการเพิ่มรายได้ให้กับข้าราชการและพนักงานของรัฐ 2.ราคาสินค้าปลายทางที่ยังไม่ได้ลดลงเท่ากับภาวะปกติ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการปรับราคาให้เป็นธรรมตามกลไกและต้นทุนที่แท้จริง หากร้านใดขายสินค้าไม่เป็นธรรม ขอให้ประชาชนแจ้งมายัง 1569  เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแล ส่วนราคาพลังงาน รัฐบาลก็พยายามจะดูแลไม่ให้ขึ้นไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะแอลพีจีภาคครัวเรือน ก็จะตรึงราคาไปถึงสิ้นปีนี้ ส่วนผู้ใช้แอลพีจีภาคขนส่ง ก็จะมีการปรับราคาขายปลีกบ้างเล็กน้อย ซึ่งรัฐบาลก็จะเข้าไปดูแลภาคเอสเอ็มอีเฉพาะกลุ่มที่มีผลกระทบ ส่วนในภาคอุตสาหกรรมก็มีการปรับราคาขายปลีกขึ้นไตรมาสละ 3 บาท ซึ่งต้องขอความเห็นใจจริง ๆ เพราะที่ผ่านมาเราอุดหนุนมาจำนวนมากและเป็นเวลานาน สุดท้ายแล้วก็ฝืนกลไกการตลาดไม่ได้ จึงต้องทยอยปรับอย่างช้า ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ปรับตัวได้ สำหรับผู้ใช้เอ็นจีวีนั้นก็จะทยอยปรับตัว แต่เราก็จะมอบบัตรส่วนลดรวมถึงบัตรเครดิตการ์ดพลังงานให้กับผู้ขับรถเท็กซี่เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากนัก

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนการดูแลผู้ใช้น้ำมันดีเซลนั้น เราก็จะคงอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งทำให้ราคาไม่เพิ่มขึ้นมาก เช่นเดียวกับแก๊สโซฮอลล์ แต่สำหรับน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 เราก็จะปรับเพิ่มเงินเข้ากองทุนน้ำมันเดือนละ 1 บาท เพราะเราอยากส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล

“ต้องขอความกรุณาจากพี่น้องประชาชนเพราะช่วง ในไตรมาสที่ 2 นี้ รอยต่อที่อุปสงค์และอุปทานยังไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งจะเจอทั้งค่าใช้จ่ายและรายได้  เพราะโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และภาคการผลิตยังทำได้ไม่เต็มที่ บางส่วนเพิ่งฟื้นจากภาวะน้ำท่วม แต่จะมีการฟื้นฟูเต็มที่ในไตรมาสที่ 3 ประมาณหลังเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป ถ้าจำนวนอุปสงค์และอุปทานสัมพันธ์กัน และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็เชื่อว่าภาวะต่าง ๆจะเริ่มกลับเข้ามา” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน นายโอฬาร ไชยประวัติกล่าวว่า ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ เกิดจาก 2 ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ เรื่องดินฟ้าอากาศ และ 2.เรื่องราคาน้ำมัน หากปัจจัยทั้ง 2 ไม่เข้าข้างมากจะทำให้เงินเฟ้อมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าข้างก็ทำให้เงินเฟ้อลดลง ตรงนี้รัฐบาลต้องบริหารจัดการจากการปรับเงินเดือน และค่าจ้าง

นายโอฬาร กล่าวว่า ที่ผ่านมา เหตุการณ์น้ำท่วมกับราคาน้ำมันในตลาดโลก เป็นปัจจัยที่คุมไม่ได้ แต่หากเงินเฟ้ออยู่ระดับ 3-4% ถือว่าเป็นระดับที่พอดี ซึ่งตรงนี้รัฐบาลต้องหาวิธีการมาบริหารในการควบคุมราคาสินค้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน

ด้านนายบุญทรง กล่าวว่า ราคาสินค้าส่วนใหญ่จากการเก็บข้อมูลว่าสินค้าเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาพบว่าราคาถูกกว่าปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ได้นำเรื่องของพลังงานละอาหารรวมด้วย โดยเป้าหมายที่พาณิชย์ตั้งเป้าเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 3.8 ซึ่งในภาพรวมกระทรวงพาณิชย์พยายามดูความสมดุลราคาปลายทาง โดยส่งทีมลงไปสำรวจราคาจริงเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล ทั้งนี้ยืนยันว่าค่าครองชีพปีนี้โดยเฉพาะเรื่องของอาหารน่าจะถูกกว่าปีที่ แล้วอย่างไรก็ตามกระทรวงพาริชย์ตั้งเป้าเตรียมเปิดร้านถูกใจ 1,000 แห่งทั่วประเทศเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าราคาถูก

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รัฐบาลตั้งวอร์รูมปรับราคาสินค้าลง



(2 พฤษภาคม 2555 - InsideThaiGOV) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นเรื่องก­ารเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ทั้งนี้ ภายหลัง นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนเมษายน 2555 มีค่าเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนอยู่ที่ 3.16% โดยในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 3.45% ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในช่วงที่รัฐบาลต้องการ เพราะอัตราเงินเฟ้อไม่ควรเกินช่วง 3.3-3.8% ทั้งนี้ สินค้าในหมวดอาหารสดและสำเร็จรูปยังพบว่ามีแนวโน้มราคาที่ลดลง ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และผัก

นายยรรยง กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย.55 เท่ากับ 114.78 สูงขึ้น 2.47% เทียบกับเดือน เม.ย.54 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง หลังจากที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องก่อนหน้านี้ และต่ำสุดในรอบ 29 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ย.52 ที่ขยายตัว 1.9% เงินเฟ้อที่ลดลงเกือบ 1% จากเดือน มี.ค.ที่อยู่ที่ 3.45% และลดลงมาเหลือ 2.47% ในเดือน เม.ย. เป็นผลสำรวจที่ออกมาจริง และมั่นใจว่าเดือนต่อๆไปแนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะลดลงต่อเนื่อง จากมาตรการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการ และการดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ นายยรรยงระบุว่า ในเดือน เม.ย.นี้ สินค้าที่อยู่ในตะกร้าคำนวณเงินเฟ้อทั้งหมด 417 รายการ โดย 69 ราย ราคาลดลง และ 161 รายการราคาทรงตัว

นายยรรยงกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดูแลไม่ให้สินค้าปรับราคาขึ้นจนมากผิดปกติ โดยให้ตั้งวอร์รูมติดตามราคาสินค้าที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาผ่านทางสายด่วน 1569

คนไทยเฮ!!! รัฐบาลยืนยันไม่ปรับขึ้นภาษี



(2 พฤษภาคม 2555 - InsideThaiGOV) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นเรื่องก­ารเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวภายหลังจากการประชุม ว่า รัฐบาลไม่มีแผนงานใดๆที่จะปรับขึ้นอัตราภาษี

นอกจากนี้ ทางกระทรวงพลังงานก็ไม่มีแผนจะปรับราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน โดย ราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนภายในประเทศ ราคาต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ส่วนการลอยตัวราคาก๊าซ แอลพีจี LPG ภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นนโยบายที่ดำเนินการอยู่แล้วและจะดำเนินการต่อไป

รัฐบาลเล็งควบคุมเงินเฟ้อ ไม่ให้กระทบการเติบโตเศรษฐกิจ




(2 พฤษภาคม 2555 - ทำเนียบรัฐบาล) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ซึ่งประกอบด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายกิตติรัตน์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า "ในที่ประชุมได้นำข้อมูลราคาสินค้ามาวิเคราะห์ร่วมกัน และเห็นตรงกันว่า ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ปกติ โดย ดร.วีรพงษ์และนายโอฬารได้แสดงความเห็นที่ตรงกันว่า โดยทั่วไปหากดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลงต่ำกว่า 2% ก็ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะผู้ประกอบการจะไม่มีแรงจูงใจในการผลิตสินค้า แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น แต่ถ้าเงินเฟ้อมีอัตราสูงถึง 4-5% ก็จะเป็นเรื่องที่น่ากังวล ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกำกับดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ 2-3.5% ให้ได้"

อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลได้ติดตามภาวะราคาสินค้าหลายรายการ พบว่าความกดดันที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับนั้นเริ่มแสดงสัญญาณคลี่คลายลง โดยสินค้าบางรายการมีราคาอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มาตรการของรัฐบาลได้ผลดี

Govt insists inflation rate 'acceptable'




Kittiratt says fears based on perceptions, not facts

Inflation remains within acceptable levels, with prices for many goods showing declines from the same period last year, government policymakers insisted yesterday.

"Inflationary pressures have shown signs of easing, and prices for many goods have decreased compared with last year. It shows government policies have had a positive impact," Kittiratt Na-Ranong, a deputy prime minister and finance minister, said yesterday.

Policymakers pointed to the latest inflation figures as evidence. The Commerce Ministry yesterday announced that inflation, as measured by the consumer price index, rose 2.47% in April from the year before, a sharp decrease from the 3.45% year-on-year rise recorded the previous month.

Mr Kittiratt said the government wanted to maintain inflation within a range of 2% to 3.5%.