น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2550-2555 ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ของไทยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น อยู่ในระดับ 3.3-3.5 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
ทั้งนี้ได้ยึดหลักพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า การทำงานต้องระเบิดจากภายในแล้วแก้ปัญหา และการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยจะเน้นย้ำไม่ให้มีการทุจริตทุกหน่วยงานราชการ อาทิ ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง
1.สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นภาครัฐ
สถิติเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องไว้ระหว่างปี พ.ศ.2551 - ปัจจุบัน โดยอาศัยฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบว่า ในปี 2551 มีเรื่องร้องเรียน 15,348 เรื่อง ปี 2552 มีเรื่องร้องเรียน 21,399 เรื่อง ปี 2553 มีเรื่องร้องเรียน 21,261 เรื่อง ปี 2554 มีเรื่องร้องเรียน 22,534 เรื่อง และในปี 2555 มีเรื่องร้องเรียน 658 เรื่อง รวม 81,200 เรื่อง โดยจังหวัดที่มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา 5 จังหวัดแรก ได้แก่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ นครราชสีมา และปทุมธานี
ขณะที่เรื่องร้องเรียนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตเงินงบประมาณโครงการต่างๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐยักยอก/ฉ้อโกงทรัพย์สินของทางราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์
ขณะที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้วิจัยสำรวจวัดระดับการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ระหว่างวันที่ 15-28 มกราคม 2555 พบว่า ประชาชนยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย โดยเห็นด้วยถึง 64% ไม่เห็นด้วย 36% และประชาชนส่วนใหญ่ยังคิดว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดาในการทำธุรกิจ โดยเห็นด้วย 68.9% ไม่เห็นด้วย 31.1%
2.มาตรการเพื่อเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชั่น
จากสภาพปัญหาการคอร์รัปชั่นข้างต้น สำนักงาน ป.ป.ท.จึงเห็นควรกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชั่นตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ โดยมี 7 มาตรการ ดังนี้
2.1 มาตรการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับสังคมไทยและร่วมใจต้านภัยการทุจริต
รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นภายใต้คำขวัญ "คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม" โดยจำแนกประชากรเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนทั่วไป เยาวชน และข้าราชการ
2.2 มาตรการสร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น
สร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น ภายใต้คำขวัญ "อย่าทำทุจริต มีคนจ้องมองท่านอยู่" โดยกำหนดให้มีเครือข่าย 4 กลุ่ม คือ เครือข่ายเฝ้าระวังภาคประชาชน ในทุกสังคม ชุมชน ตำบาล และหมู่บ้าน เครือข่ายเฝ้าระวังภาคราชการทุกหน่วยงาน เครือข่ายเฝ้าระวังภาคสื่อมวลชน และเครือข่ายเฝ้าระวังภาคผู้ประกอบการนักลงทุน
2.3 มาตรการสร้างกลไกรองรับเรื่องร้องเรียน และกำหนดมาตรการตรวจสอบ ติดตามการปฏิบัติต่อข้อร้องเรียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
2.4 มาตรการศึกษารูปแบบการกระทำผิดเพื่อนำสู่การปฏิรูปกระบวนงานของหน่วยงานภาครัฐ
2.5 มาตรการยกระดับมาตรฐานหน่วยงานเพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งความโปร่งใส (ISO)
มีการจัดลำดับความโปร่งใส และยกระดับมาตรฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อก้าวสู่องค์กรแห่งความโปร่งใส โดยจะดำเนินการนำร่องในระดับ กระทรวง/กรม และจังหวัด
2.6 มาตรการสร้างกลไกคุ้มครองนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
ควรให้จัดตั้ง "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับชาวต่างชาติ (Corruption Complaint Center) หรือซีซีซี" เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งเรื่องร้องเรียนกรณีนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2.7 มาตรการบูรณาการป้องกันการทุจริตเงินงบประมาณในโครงการหน่วยงานภาครัฐ
โดยจะมีการติดตามประเมินผลโครงการภาครัฐ ใน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย การประเมินผลขั้นตอนวางแผนก่อนดำเนินโครงการ การประเมินผลขั้นตอนการดำเนินงาน และการประเมินผลขั้นตอนสรุปผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ กรอบการดำเนินงานใน 7 มาตรการดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างจิตสำนึกและค่านิยมให้หน่วยงานภาครัฐบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ
โดยมีข้อเสนอให้แต่งตั้งอนุกรรมการ 7 คณะ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนทั้ง 7 มาตรการ โดยให้ประธานคณะกรรมการไปสรรหาอนุกรรมการอีกคณะละ 10 ท่าน โดยคณะอนุกรรมการทั้ง 7 คณะ จะมีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ท.มอบหมาย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ จำนวน 1 คน อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอีกจำนวน 1 คน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.ที่เลขาธิการ ป.ป.ช.มอบหมาย เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอีกจำนวน 1 คน
ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการแต่ละคณะจะมีจำนวน 10 คน/1 คณะ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ (1) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผน/กิจกรรม ในการขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 7 มาตรา (2) จัดทำแผน/กิจกรรม/งบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 7 มาตรการ (3) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการนำผลการศึกษาวิเคราะห์ รวมทั้งเสนอแผน/กิจกรรม/งบประมาณ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และให้สำนักงาน ป.ป.ท.เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และงบประมาณต่อคณะอนุกรรมการ และให้คณะอนุกรรมการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายเบี้ยประชุมได้ตามระเบียบของทางราชการ
3.ปฏิทินการดำเนินการตามแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล
ได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 อาทิ วันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ วันที่ 18 พฤษภาคม 2555 นายกฯประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมเปิดศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room)
เดือนมิถุนายน 2555 ออกสื่อประชาสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2555 การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น/แก้กฎ ก.พ.ให้การสอบสวนลงโทษกรณีทุจริตแล้วเสร็จภายใน 120 วัน/จัดสัญจรส่วนภูมิภาคเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งที่ 1
ระยะที่ 2 อาทิ เดือนสิงหาคม 2555 รายงานผลรอบ 3 เดือน สรุปผลจำนวนเรื่องร้องเรียน/ดำเนินการเสร็จ แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น/การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น เดือนกันยายน 2555 จัดสัญจรส่วนภูมิภาคเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งที่ 2 /รายงานผลสำรวจองค์กรยอดดี/ยอดแย่จากความเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2555 การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น/จัดสัญจรส่วนภูมิภาคเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งที่ 3
เดือนพฤศจิกายน 2555 เปิดตัวการนำร่องการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในส่วนราชการ
เดือนธันวาคม 2555 นายกฯประกาศผลสำเร็จรอบ 6 เดือน เดือนมกราคม 2556 ออกสื่อประชาสัมพันธ์ ครั้งที่ 2
เดือนมีนาคม 2556 การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น/จัดสัญจรส่วนภูมิภาคเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งที่ 4
เดือนพฤษภาคม 2556 การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น/แถลงผลงานครบรอบ 1 ปี/ประกาศและมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่องค์กรดีเด่น (รางวัลประจำปี)
หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ครั้งที่ 1/2555 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น