#TV24 ที่สำนักงบประมาณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารสำนักงบประมาณใหม่ถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะขอต่ออายุตัวเองอีก 1 ปี โดยอ้างว่าเพื่อรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะที่มีงานสำคัญที่ต้องดำเนินการว่า ต้องพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ประเด็นสำคัญคือ ถ้าไปเริ่มสรรหาในตอนนี้ จะมีปัญหาการทำงานหรือไม่ และหากเรารอไว้จนเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วค่อยตั้งป.ป.ช.ใหม่ จะทำได้หรือไม่ ต้องหารือกัน ตนยังไม่ขอชี้ชัด มันเป็นไปได้ทั้งคู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2558 นี้ กรรมการป.ป.ช.จะพ้นวาระถึง 5 คนด้วยกัน คือ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.ที่ต้องพ้นวาระเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีในเดือนพ.ค.นี้ ส่วนนายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งจะเหลือกรรมการ 4 คนที่ยังไม่หมดวาระคือ นายปรีชา เลิศกมลมาศ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง นายณรงค์ รัฐอมฤต และน.ส.สุภา ปิยะจิตติ
ทางด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเรื่องนี้ใหม่สำหรับตน แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด ก่อนหน้านั้นคนที่มีความรู้และผู้เกี่ยวข้องเคยคิดมานานแล้ว แต่ยังคิดต่อไปไม่ถูกว่าจะดำเนินการอย่างไร ตามหลักการเมื่อกรรมการพ้นจากวาระ ต้องสรรหาบุคคลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ แต่ขณะนี้ต้องพิจารณาว่าการสรรหาจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากองค์ประกอบของผู้สรรหายังขาดอยู่ ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน และไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะเขียนเกี่ยวกับป.ป.ช.อย่างไร จะให้มีวาระกี่ปี ตามกฎหมายกำหนดไว้ 9 ปี แต่ยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะยอมให้อยู่ถึง 9 ปีหรือไม่ จึงเกิดเป็นคำถามเหมือนไก่กับไข่ ไม่รู้ว่าใครจะเกิดก่อนเกิดหลังระหว่างครบวาระกับรัฐธรรมนูญใหม่
"ยอมรับว่าเป็นปัญหาแต่ยังคิดไม่ออกถ้าต่ออายุจะทำอย่างไร ยังไม่มีคำตอบ ที่จริง 4 คนที่เหลือยังทำงานได้แต่คงไม่สะดวก ยกตัวอย่างมีมติ 3 ต่อ 1 อาจมีการวิจารณ์กันได้ ส่วน 5 คนถ้าครบวาระแล้วไม่มีที่ไหนบอกว่าให้ทำต่อ เมื่อไปแล้วก็ไปเลย และที่สรรหาไม่ได้เพราะคณะกรรมการสรรหายังไม่ครบ ถ้าจะไปหาก็ไม่รู้ว่าใครจะยอมเข้ามาหรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะอยู่นานเท่าไหร่ เขาต้องไปลาออกจากที่ต่างๆ จึงเร็วไปที่จะคิดตอนนี้ อีกทั้งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก็ยังร่างไม่เสร็จ ใครจะเป็นคนสรุปก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล" นายวิษณุกล่าว
ทางด้าน นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวว่า สิ่งนี้ทำได้หากคสช.มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ขอให้ดูตัวอย่างของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่หลังการรัฐประหารมีกรรมการครบวาระการดำรงตำแหน่ง ก็มีเข้าสู่กระบวนการสรรหาจนได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ ฉะนั้นการที่อ้างว่าต้องรอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่นั้นคงใช้ไม่ได้กับกรณีนี้ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ได้รอรัฐธรรมนูญใหม่ การสรรหาก็มีลักษณะเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 และแม้จะไม่มีรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว แต่คสช.ได้มีประกาศเรื่องการคงไว้ซึ่งองค์กรอิสระ เหมือนกับเป็นข้อยกเว้น หากพ้นจากตำแหน่งการสรรหาก็สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่เช่นนั้นหากอยู่เกินวาระจะเกิดคำถามตามมาว่าอยู่เพราะอะไร งานอะไรที่ยังทำไม่เสร็จ แล้วถ้าองค์กรอิสระอื่นจะขออยู่บ้างหากครบวาระจะทำได้หรือไม่ เรื่องนี้จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ
"ถ้าหากเป็นดิฉันก็ไม่คิดที่จะขออยู่ต่อ เมื่อครบวาระหรืออายุถึงวัยเกษียณแล้วก็ควรปล่อยให้เป็นไปตามนั้น เพราะการล้างมือในบ่อทองคำย่อมดีกว่า จะได้ถูกมองว่าทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ยึดติดกับอำนาจ โดยเฉพาะป.ป.ช.ที่ทำงานเกี่ยวกับการเมืองและยังถูกกล่าวหาว่าทำงานสองมาตรฐาน หากปล่อยให้คนเก่งมาทำหน้าที่แทนน่าจะส่งผลดีและอาจช่วยลดข้อครหานั้นได้"นางสดศรีกล่าว
รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ป.ป.ช.ได้พูดคุยกันถึงข่าวการขอต่ออายุว่าน่าแปลกใจที่ข่าวหลุดออกไปได้อย่างไร ทั้งที่การหารือระหว่างคสช.กับป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ซึ่งมองว่าอาจเป็นการโยนหินถามทางเพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่สำคัญขณะนี้คือองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่ง กรรมการป.ป.ช.ที่ประกอบด้วย 5 คน คือประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภา ผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่ช่วงสถานการณ์พิเศษนี้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดสามารถใช้มาตรา 44 ได้
ทั้งนี้ คสช.กับรัฐบาล อาจมีแนวทางว่าหากให้กรรมการป.ป.ช.ที่กำลังหมดวาระทั้ง 5 คน ต่ออายุพร้อมๆ กันก็ต้องมีคำสั่งก่อนเดือนพ.ค.นี้ เนื่องจากนายปานเทพจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง เพราะอายุ 70 ปี ในวันที่ 22 พ.ค. หรืออาจพิจารณาให้นายปานเทพพ้นจากตำแหน่งไปตามปกติ และมาพิจารณาว่ากรรมการอีก 4 คน ที่กำลังพ้นวาระการดำรงตำแหน่งครบ 9 ปีในเดือนก.ย.นี้จะให้ต่ออายุการทำงานหรือไม่ แต่ต้องมีเหตุผลที่สอดรับกับข้อกฎหมาย อธิบายต่อสังคมได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาว่าหากเหลือกรรมการป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่เพียงแค่ 4 คน จะเกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำงานหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น