วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

"กิตติรัตน์" โพสต์ FB ติง ภาษีที่ดินฯ อัดรัฐไม่เข้าใจการบริหารเศรษฐกิจ


#TV24 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความ ผ่าน Facebook ส่วนตัว Kittiratt Na-Ranong โดยมีเนื้อหาดังนี้

ช่วงที่ผ่านมาผมใช้เวลาสอนหนังสือ สอนกีฬาแก่เด็กนักเรียนหลายโรงเรียน ขอแจ้งข่าวดีว่าประเทศเรามีความหวังกับเยาวชนครับ

แต่พอหันไปดูความคิดของผู้อาวุโสระดับผู้บริหารประเทศกลับรู้สึกหดหู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ที่บ่งบอกถึงความไม่เข้าใจ ในการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง "ภาษี" อย่างถ่องแท้ ผมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ ความไม่เข้าใจของผู้ผลักดันนโยบายฯ นี้ได้มากมายหลายเรื่อง แต่จะขอหยิบยกประเด็นสำคัญ เพียงสองสามประเด็น ก็คงจะเพียงพอที่จะทำให้ "ผู้มีสติ" หยุดความคิดนี้ได้

ประการที่1.หลักการภาษี ของประเทศเราคือ ขอรับภาษี เมื่อเกิด "เงินรายได้" และพยายามหักเป็นเงิน "ภาษี ณ ที่จ่าย" โดยผู้จ่ายเงินรายได้นั้น ต้องมีหน้าที่หักเงินสด และนำส่งรัฐ เช่นกรณีเงินเดือน ค่าจ้างทำของ หรือแม้แต่กรณี เงินกำไรของนิติบุคคล ก็กำหนดให้นิติบุคคลประมาณการผลกำไร และจ่ายภาษีก่อนครบปีเพื่อไม่เป็นภาระที่หนักเกินไปเมื่อคำนวณภาษีปลายปี หรือพูดง่ายๆ กลัวจะต้องจ่ายหนักเกินไปจนต้องเบี้ยวภาษีกัน

กรณีของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรวมถึงที่อยู่อาศัยก็ใช้หลักเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ห้องแถวสองห้องอยู่ติดกัน ห้องหนึ่งนำไปปล่อยเช่า และมีรายได้ อีกห้องหนึ่ง คุณตาคุณยาย อาศัยอยู่เอง  ห้องแถว ที่ต้องเสียภาษีโรงเรือน คือห้องที่ปล่อยเช่า และมีรายได้เท่านั้น... ถ้าบ้านไหนไม่จ่ายค่าน้ำ ก็ถูกตัดน้ำ และบ้านไหนไม่จ่ายค่าไฟ ก็ถูกตัดไฟ... แต่คราวนี้ถ้าเขาไม่จ่าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างล่ะ จะไล่เขาออกจากบ้านหรือ... อย่าด่วนสรุปว่า คุณตาคุณยายเอาเปรียบสังคมเพราะกว่าท่านจะสามารถซื้อห้องแถวห้องนี้ได้น่ะ ท่านต้องมีเงินได้และจ่ายภาษีมาก่อนแล้ว รวมทั้งหากท่านขายห้องแถว แล้วมีกำไร ท่านก็ต้องเสียภาษีเงินได้ และค่าโอน ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการภาษีที่ดี คือเก็บ "เมื่อมีเงินรายได้" 

ประการที่2. "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" เป็นภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้มีหน้าที่จัดเก็บคือ อปท. เพื่อนำรายได้ภาษีฯ นี้ ไปบริหารให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นนั้นๆ หน่วยงานราชการย่อมเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ จึงต้องมีหน้าที่จ่ายภาษีฯ ตามมูลค่าทรัพย์สินด้วย หากไม่ยอมจ่าย จะอ้างต่อชุมชนเข้าว่าอย่างไร ในอดีตนั้นคำอธิบายคือไม่มีเงินรายได้ที่เป็น "ฐานภาษี" ของภาษีโรงเรือน แต่เมื่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้ฐานภาษีเป็นมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ รัฐก็ย่อมต้องร่วมจ่ายภาษีด้วย

กรณีนี้ยังมีเรื่องที่น่าขำ ในความไม่รู้ของผู้บริหารประเทศ ที่นำภาษีฯ นี้ไปเทียบกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แถมยังไปอ้างเรื่องภาระหนี้ที่ยกยอดมาจากรัฐบาลก่อนๆ แบบไม่มีความรู้

รายได้จาก "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" เป็นของ อปท. ไม่สามารถนำมาจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินต้นของหนี้สาธารณะของประเทศ... (หรือทำที เป็นคิดริเริ่ม ภาษีฯ นี้
 แล้วอ้างว่าได้รับการต่อต้าน จนเดินต่อไม่ได้ เพื่อไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบลับ ลวง พราง ตามถนัด ก็ไม่รู้ได้)

ประการที่3. คำกล่าวอ้างในข้อดีของภาษีฯ นี้คือ จะทำให้เกิดกระบวนการทบทวน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ของประเทศอย่างขนานใหญ่ ซึ่งในความรู้สึกของประชาชนทั่วไปคือ ทำให้นายทุนใหญ่ๆ ที่มีที่ดินมากๆ ไว้เก็งกำไรต้องคายที่ดินออกมาทำประโยชน์  แต่ดูดีๆนะครับ จะมีข้อยกเว้นที่อ้าง "การเกษตรกรรม" มาเอื้อประโยชน์กัน แต่ในทางตรงกันข้าม นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้างแก่ประชาชนเกือบทุกหย่อมหญ้าแล้ว จะพบว่า บ้านเล็กบ้านน้อยเก่าแก่ที่อยู่ในทำเลทองและมีราคาประเมินที่สูงจะต้องเดือดร้อนขยับขยายให้นายทุนธุรกิจมารับช่วงไปทำธุรกิจกันเสียละมากกว่า

ผมไม่เห็นด้วยกับ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น