วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

กมธ.ยกร่างฯเคาะที่มานายกฯคนนอก


เมื่อเวลา16.00 น.ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงการพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในการการประชุมกมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาปรับแก้ไข 2 ประเด็นหลัก คือ ที่มานายกรัฐมนตรี และที่มาส.ว. โดยเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ในมาตรา182 ที่จากเดิมจะใช้เสียงของส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมดโดยเพิ่มเติม ว่า หากผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากส.ส.แล้วจะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมด พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่า หากเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากบุคคลภายนอก จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งสาเหตุของการปรับแก้ไข เพื่อต้องการเปิดช่องในยามวิกฤติที่สภาต้องการคนนอกมาทำหน้าที่ เช่น ในเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค.57ที่บ้านเมืองไม่มีทางออกจนนำมาสู่การรัฐประหาร

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เรื่องที่มาส.ว.ตามมาตรา 121 โดยที่ประชุมได้มีการปรับแก้ไขที่มาส.ว.โดยกำหนดให้ วุฒิสภามี 200 คน มาจาก 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คนโดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อมาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครในแต่ละด้านและคัดให้เหลือผู้สมัคร 10 คน จาก 10 ด้าน เพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน โดยรายละเอียดคณะกรรมการและคุณสมบัติของผู้สมัครจะบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในสัปดาห์หน้า

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า  กลุ่มที่สอง มาจากการเลือกตั้งกันเอง จำนวน 65 คน  คือ อดีตข้าราชการพลเรือน ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารจำนวนไม่เกิน 10 คน ข้าราชการฝ่ายทหารที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เลือกตั้งกันเองในแต่ละประเภทจำนวนไม่เกิน 10 คน ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้งไม่เกิน 15 คน และจากการเลือกตั้งกันเองของผู้แทนองค์กรด้านเกษตร ด้านแรงงานด้านวิชาการ ด้านชุมชนและท้องถิ่น จำนวนไม่เกิน 30 คน

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่สาม คือ การสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 58 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคงการบริหารราชการแผ่นดิน  กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมการปกครองท้องถิ่น การศึกษา การสาธารณสุข การเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผังเมืองทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะวัฒนธรรม คุ้มครองผุ้บริโภค ด้านเด็กและเยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และด้านอื่นๆโดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเช่นกัน

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งส.ว.อยู่ได้ถึง 6 ปี แต่ใน 3 ปีแรกจะให้พ้นจากตำแหน่งจำนวน 100 คน โดยไม่เกี่ยวกับส.ว.เลือกตั้ง 77 คน รวมถึง กลุ่มส.ว.จากการเลือกตั้งกันเอง จำนวน 65 คนให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมดเช่นกัน ขณะที่ส.ว.จากการสรรหา 58 คนนั้น จะใช้วิธีจับสลากออกจากตำแหน่ง 35 คน รวมเป็น 100 คน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสามารถกลับมาใช้สิทธิลงสมัครเป็นส.ว.ได้อีกโดยจะอยู่ในวาระ 6 ปี  เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น