วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558
'จาตุรนต์' เผยเวที ศปป. ไม่ได้เลื่อนเลือกตั้ง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีข่าวเวทีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ฝ่ายการเมือง พร้อมให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ ว่า ข้อสรุปไม่ตรงกับที่พูดกัน ความเห็นที่เห็นตรงกัน คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าบังคับใช้จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างมาก และไม่สิ้นสุด อาจจะนำไปสู่การจบลงด้วยการรัฐประหารอีก ดังนั้น จึงเสนอว่าควรจะมีการแก้ไขในเนื้อหาสำคัญเสียก่อน แต่ถ้าจะดีควรให้มีการลงประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลา
"ถ้าให้มีการลงประชามติจริง หลายคนในเวทีวันนั้น ก็คาดว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะไม่ผ่าน ประชาชนจะไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้ต้องร่างใหม่ และถ้าเป็นอย่างนี้ ผู้ที่เข้าร่วมการหารือส่วนใหญ่เห็นว่า ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และจะสร้างปัญหาต่อไปหากนำมาใช้เลย"
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก คือให้มีการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการให้มีการแก้ไขสาระสำคัญ แต่เชื่อว่าการแก้ไขสาระสำคัญคงไม่เกิดขึ้น ส่วนแนวโน้มสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คงจะเห็นด้วยกับร่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการแก้ไขเนื้อหาสาระ เนื่องจากไปผูกสปช.กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ หากร่างนี้ถูกคว่ำโดย สปช. ทั้ง 2 องค์กรก็ต้องถูกยกเลิก และเร่ิมต้นกันใหม่ ทำให้ สปช.ไม่มีทางจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
"ฟังจากการอภิปรายก็จะเห็นแล้วว่า สปช.ปูทางสำหรับการผ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้ไว้ ด้วยลักษณะที่เออออ หรือชื่นชมกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ทางที่จะระงับ ยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอันตรายนี้ได้ ที่บางคนเรียกว่าเป็นระเบิดเวลา คือการให้ทำประชามติ แต่อาจมีบางคนตั้งคำถามว่า ถ้าต้องทำประชามติแล้วไม่ผ่านก็จะเสียเวลาอีกนาน อันนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ถ้าจะมีการลงประชามติต้องหมายความว่า ผ่านก็ได้ ไม่ผ่านก็ได้ แล้วแต่ประชาชน ถ้าไม่ผ่านก็เสียเวลา ถือเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าคิดว่าทำประชามติแล้วต้องผ่านอย่างเดียว ก็ไม่รู้จะลงประชามติไปทำไม"
เมื่อถามว่า โอกาสไปปรับแก้ในชั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ให้อำนาจไว้นั้น มองว่าคนแก้ไขจริงๆ สุดท้ายเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง คสช.และ ครม.เสนอความคิดเห็นได้ ถ้าจะใช้กำลังภายในจริงๆ แต่คิดว่ากมธ.ยกร่างฯ คงไม่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ และจะเดินเข้าสู่ความขัดแย้งและวิกฤติที่ใหญ่กว่าเดิม ดังนั้น ไม่ควรปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน ควรมีการทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะหารือกันเรื่องปรองดอง คงจะต้องพูดกันถึงขบวนการ และผู้ที่จะมาหารือให้ชัดเจน ส่วนการจะส่งเสริมฟังความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นประโยชน์ เพราะมีผู้ที่สนใจและสามารถให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์อีกมาก คนเหล่านี้ควรได้รับเชิญมากขึ้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ทหารไทยโดนใบเหลืองที่ ๒ จากชาวโลกเรอะเปล่า? จึงต้องมีเลือกตั้ง.
ตอบลบ