วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

“จาตุรนต์” แนะ รัฐธรรมนูญ ต้องรีบทำประชามติ


#TV24 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความ ผ่าน Facebook : Chaturon Chaisang โดยมีเนื้อหาดังนี้

ประชามติ ประชามติ ประชามติ

เห็นวิวาทะระหว่างท่านวิษณุกับท่านบวรศักดิ์แล้วก็รู้สึกเห็นใจที่คอหอยกับลูกกระเดือกต้องมาเล่นบทลิ้นกับฟัน แต่ถึงยังไงลิ้นกับฟันกระทบกันก็คงไม่ถึงกับหนักหนาอะไรหรอก

ที่มีการถกกันว่าควรตัดเนื้อหาออกไปสัก 20-30 มาตรานั้น ผมเข้าใจว่าอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรเลย ถ้าจะดูที่เนื้อหาแล้วจะว่าร่างนี้ยาวไปก็ยาวจริงๆ มีเรื่องจำนวนมากที่ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการสร้างองค์กรจำนวนมากมาควบคุมและแย่งเอาอำนาจไปจากประชาชนกับการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศและการปฏิรูปทั้งหลายเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจะตัดกันจริงๆคงไม่น้อยกว่า 100-150 มาตรา ส่วนที่ไม่ตัดทิ้งก็ยังต้องแก้ไขในสาระสำคัญอีกมาก

ส่วนที่คุณบวรศักดิ์บอกว่าจะให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ไป 5 ปีก่อนแล้วค่อยมีการแก้ไขนั้น ความจริงต้องถือเป็นความก้าวหน้าอยู่เหมือนกันเพราะตามร่างนี้ หากใช้แล้วจะไม่มีใครแก้อะไรได้อีกเลย ตลอดไป แต่ข้อเสนอของคุณบวรศักดิ์ดูจะไม่เป็นที่ขานรับเพราะเขาเข็ดกับการ "รับไปก่อนแล้วแก้ไขทีหลังได้" กันหมดแล้ว

สำหรับเรื่องการลงประชามตินั้น ถ้าดูจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว การจะให้มีการลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทำได้ 2 ทางคือการใช้อำนาจของคสช.ตามมาตรา 44 และการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 46

การใช้อำนาจคสช.ตามมาตรา 44 อาจมีคนโต้แย้งว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าทำขึ้นมาจริงๆ รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็บอกว่าเป็นที่สุด ใครก็โต้แย้งไม่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าถามว่าสมควรใช้หรือไม่ก็เป็นอีกประะเด็นหนึ่ง การใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้นมีข้อเสียที่สำคัญคือเมื่อใช้อย่างไรแล้ว ไม่มีใครแก้ไขอะไรได้อีกนอกจากคสช.จะแก้เองเท่านั้น นอกจากนั้นการใช้มาตรา 44 ยังเป็นการยืนยันว่าคสช.มีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยทุกฝ่ายซึ่งจะไม่น่าจะเป็นผลดี

ดังนั้นจึงเหลืออยู่ช่องทางเดียวที่จะให้เกิดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญคือการที่คสช.และครม.มีมติร่วมกันแล้วเสนอต่อสนช.ให้เห็นชอบ ถ้าจะทำกันจริงๆคณะกรรมาธิการยกร่างหรือสปช.หรือทั้ง 2 องค์กรซึ่งปรากฏเป็นข่าวว่าส่วนใหญ่เห็นว่าควรจัดให้มีการลงประชามติอาจร่วมกันเสนอความเห็นไปยังครม.และคสช.ได้ ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวจะไม่ได้กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการและสปช. แต่ก็ไม่ได้ห้ามไว้และนายกรัฐมนตรีก็ยังได้พูดไว้ว่าให้องค์กรทั้งสองเป็นผู้เสนอมาดีกว่าที่จะให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเองตามลำพัง

นอกจากนั้นใครที่เห็นว่าควรมีการลงประชามติก็สามารถเสนอความเห็นไปยังผู้มีอำนาจในเรื่องนี้ได้อีกด้วย

ผมมีความเห็นมาตั้งแต่ต้นว่าหากต้องการให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี เป็นประชาธิปไตยพอสมควร จำเป็นต้องให้มีการลงประชามติ และอยากจะย้ำอีกครั้งว่ายิ่งตัดสินใจให้มีการลงประชามติเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีมากเท่านั้น ไม่ควรรอให้เนิ่นนานไป การตัดสินใจเร็วจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะปรับท่าทีของตนเองคือจะรับฟังความเห็นของประชาชนและจะยอมให้มีการแก้ไขร่างนี้มากขึ้นเพราะรู้ว่าถ้าไม่ฟังเสียงคัดค้านบ้างเลย ร่างนี้ก็จะไม่ผ่านในการลงประชามติ

เวลานี้เหตุผลที่ไม่ต้องการให้มีการลงประชามติดูจะอยู่ที่กลัวว่าจะเสียเวลาซึ่งมีได้ 2 แบบคือเสียเวลาที่ใช้ในการลงประชามติกับเสียเวลามากขึ้นถ้าลงประชามติแล้วไม่ผ่าน

เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าถ้าคิดสักแต่ว่าให้ผ่านๆกันไปแม้ว่าร่างนี้จะแย่แค่ไหนก็ช่าง จะได้จบๆเสียทีนั้น เอาเข้าจริงๆแล้วจะไม่จบ แต่จะเสียหายมหาศาลและเสียเวลาไม่สิ้นสุด
ถ้าจะให้มีการลงประชามติจึงต้องไม่กลัวเสียเวลา ถ้าลงประชามติแล้วต้องผ่านสถานเดียว ไม่ต้องลงประชามติให้เสียทั้งเงินทองและเวลาไปเปล่าๆ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการลงประชามติจะต้องใช้เวลานานมากมายอะไร ถ้าตัดสินใจให้เร็ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกกต.ก็เตรียมการล่วงหน้าได้ ร่นเวลาเข้ามาได้อีกเป็นเดือนๆ ถ้าลงประชามติแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไรก็สามารถกำหนดได้ว่าให้ทำอย่างไรที่ไม่ใช่การกลับมาตั้งต้นใหม่โดยตั้งสปช.และคณะกรรมาธิการกันใหม่อีกรอบหนึ่ง

ที่ผ่านมาก็มีข้อเสนออยู่บ้างว่าถ้าลงประชามติไม่ผ่านก็อาจเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีตมาใช้ไปเลย หรือไม่ก็อาจจะใช้ไปพลางก่อน แล้วก็หาทางร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ด้วยวิธีที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

ในความเห็นของผมถ้าประชามติแล้วไม่ผ่านก็แสดงว่าประชาชนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ทางออกจะเป็นอย่างไรก็อาจเสนอให้ประชาชนตัดสินไปเสียด้วยเลยในการลงประชามติ ซึ่งถ้าสุดท้ายแล้วจะต้องเสียเวลาบ้างหรือแม้แต่ต้องเสียเวลาพอสมควรก็คงต้องยอมครับ 

ดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ออกมาใช้บังคับโดยไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญเพราะรังแต่จะทำให้ประเทศชาติต้องล้าหลัง เกิดวิกฤตขัดแย้งชนิดไม่มีทางออกแล้วก็กลับเข้าสู่วงจรเดิมๆไม่จบไม่สิ้นครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. รัฐบาลนี้ยิ่งอยู่นาน.....ผมยิ่งรักเข้ากระดูกทักษิณ และตระกูลชินวัตร ใช้คำว่ารักเข้ากระดูกแล้วน๊ะคนที่ชาวไทยไม่ได้เลือก แล้วสอใส่เกือกแหลมมาร่างกอมอandรอธอมอนอ (บอกแล้วว่าอย่าเรียนสูง)สุดยอดได้ใจชาวโลก.

    ตอบลบ