เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 กรกฎาคม มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยเป็นการแถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนหรือรายงานพร้อมความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติของผู้ถูกกล่าวหา ตามข้อบังคับ ข้อ 154 วรรคหนึ่ง
พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงเปิดคดีถอดถอน อดีต ส.ส. 248 คน ที่ร่วมลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มา ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง - 15 กรกฎาคม 2558
Posted by TV24 สถานีประชาชน on 15 กรกฎาคม 2015
จากนั้น ตัวแทนผู้ถูกกล่าวหาขึ้นกล่าวโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวน โดยเริ่มจาก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนถูกกล่าวหาว่ากระทำความจงใจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญที่มีเกือบ 300 ชีวิต ถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง ถือเป็นการประหารชีวิตกัยในทางการเมือง ซึ่งตนต้องขอแถลงคัดค้านการกล่าวหา ตั้งแต่การดำเนินการไต่สวนการลงมติ และความไม่โปร่งใสของกรรมการ ป.ป.ช. ดังนี้
"ตนเพิ่งเห็นคำยื่นร้องที่ขอให้ตรวจสอบพวกตนที่ยื่นโดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า พวกตนได้กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ และส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนถอดถอน เพราะมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ระบุว่า ผู้ร้องต้องระบุชื่อ ที่อยู่อาชีพ เลขบัตรประชาชน และลงวันที่ร้องด้วยตนเอง แต่ว่าผู้ร้องในคำร้องไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากนั้น ยังมีระเบียบของวุฒิสภา ที่สอดคล้องกับกฎหมายป.ป.ช.ว่าแบบคำร้องขอให้พิจารณาถอดถอนต้องเป็นแบบพิมพ์ แต่คำร้องของผู้ยื่นถอดถอนไม่ได้ทำตาม จึงถือว่าเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเป็นโทษมหันต์ ผู้ร้องต้องมีหลักแหล่งไม่ใช่เอาคนหลักลอยมาแกล้งร้องหรือเป็นอีแอบ"
พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ป.ป.ช.ได้มีการยกนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า พวกตนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า เป็นการกระทำการล้มล้างระบอบการปกครอง ตามมาตรา 68 ซึ่งพวกตนไม่ได้ไปแก้ข้อกล่าวหา เพราะไม่ยอมรับข้อกล่าวหาดังกล่าว เพราะเห็นว่า พวกตนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรนิติบัญญัติที่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 291 ขณะที่ ข้อกล่าวหาว่า พวกตนลงมติแก้ที่มา ส.ว.เป็นการจงใจขัดรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีการแจ้งข้อกล่าวหา และตั้งประเด็นการไต่สวนมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ถือเป็นการรวบหัวรวบหาง ทั้งๆ ที่การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ผู้ใดไม่สามารถนำไปฟ้องร้องกันมิได้
ดังนั้น จึงสะท้อนว่า ป.ป.ช.ไม่เข้าใจประเพณีปฏิบัติที่เป็นงานของนิติบัญญัติอย่างชัดเจน อย่างการนำร่างกฏหมายที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำเสนอนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำให้สมบูรณ์ก่อนที่จะมีกรบรรจุวาระ ซึ่งสามารถทำได้ แต่ป.ป.ช.บอกว่า ทำไม่ได้ จนเป็นความผิดจนนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา
“มีการพูดกันเยอะว่า มีกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ท่านหนึ่ง ที่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ เพราะลาออกจากนิติบุคคลทางการค้าแห่งหนึ่งไม่ชัดเจน จึงถือเป็นบุคคลภายนอก เมื่อมาร่วมลงมติก็ถือเป็นมติที่ไม่ชอบ ซึ่งป.ป.ช.มีอำนาจลงโทษทั้งทางอาญา ปรับ และทางวินัย จึงต้องมีความโปร่งใส มีเครดิต ทำอะไรต้องได้รับการยอมรับนับถือ” พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าว
และว่า ตนอยากให้ประธาน สนช. และสมาชิก สนช. ช่วยถามป.ป.ช.ว่าเรื่องที่เสนอถอดถอนเป็นกรณีเดียวกันกับอดีตส.ว. 38 คน ที่พิจารณาก่อนหน้านี้หรือไม่ เป็นข้อหาเดียวกันเกิดในห้องเดียวกันเวลาเดียวกัน ซึ่งป.ป.ช.คงไม่โกหกว่าไม่จริง ถ้าใช่ก็อยากฝากประธานฯ และสมาชิกสนช.ทุกคนเรื่องมาตรฐานที่ลงมติไว้ว่าควรเป็นมาตรฐานเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น