วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

"เพื่อไทย" ชี้แจงปมถูกถอดถอน ยันทำถูกต้องทุกขั้นตอน ทั้งหลักกฎหมาย ข้อบังคับ และนิติบัญญัติประเพณี การประชุมสภานิติบัญญัติฯ


พรรคเพื่อไทย ชี้แจงคลายปมถูกถอดถอน ยันทำถูกต้องทุกขั้นตอน ทั้งหลักกฎหมาย ข้อบังคับ และนิติบัญญัติประเพณี

‪#‎TV24‬ ‪ จับตาการพิจารณาคดีถอดถอนอดีต ส.ส.248 คน ที่ร่วมลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มา ส.ว. ซึ่งวันนี้เปิดให้คู่กรณีแถลงเปิดสำนวนคดีเป็นวันแรก คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ และ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส.ทั้ง 248 คน  โดยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นอดีต ส.ส. 237 คน ที่ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่วมลงมติผ่านทั้ง 3 วาระ ที่เหลืออีก 2 กลุ่มเป็นอดีต ส.ส.ที่ไม่ได้ร่วมลงมติในวาระ 2 และ 3 สำหรับการแถลงเปิดสำนวนคดีนั้น กำหนดไว้ 2 วัน คือ วันนี้กับวันพรุ่งนี้ เพราะมีคนถูกถอดถอนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ทยอยเข้าห้องประชุม ภายในอาคารรัฐสภา โดย อดีต ส.ส. ทั้ง 248 จะทำการชี้แจง ต่อ สนช. นำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการรองหัวหน้าพรรค,  นายสามารถ แก้วมีชัย, นายวิชาญ มีนชัยนันท์, พล.ร.อ.สุรพล จันทน์แดง และ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ฯลฯ

ทั้งนี้ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้ เผยแพร่ "6 ประเด็นชี้แจง" กรณี ป.ป.ช. ยื่นถอดถอน 248 ส.ส.แก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง โดยมีเนื้อหาดังนี้

1. รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ "ถูกยกเลิก" ไปแล้ว

• คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาว่าอดีต ส.ส. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่

ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง

แต่เมื่อได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เมื่อวันที่ 23

พฤษภาคม 2557 ให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง และต่อมาได้ประกาศใช้

รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แล้ว จึงเท่ากับไม่มีมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ

2550 หรือมาตราอื่นใดใช้บังคับอยู่ที่จะให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.อาศัยเป็นฐาน

ในการพิจารณา จึงเท่ากับว่ากฎหมายหลักที่ใช้เป็นข้อกล่าวหาชี้มูลความผิด

อันจะนำไปสู่การถอดถอนนั้นได้ "ถูกยกเลิก" ไปแล้ว

• การกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. ว่าได้มีมติวินิจฉัยไปก่อนวันที่ 23 พฤษภาคม 2557

ที่มีประกาศฉบับที่ 11/2557 ให้รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิก ผลก็คือ

ผู้กระทำย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด การดำเนินการทั้งหลายจะต้องสิ้นสุดลง

ตามหลักกฎหมายทั่วไป ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจส่งเรื่องมายัง สนช. ได้



2. คำวินิจฉัยที่ปราศจากอำนาจย่อมไม่ผูกพันองค์กรอื่น

• การถอดถอนในครั้งนี้มีที่มาจากการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งในเรื่องการรับคำร้องโดยตรงทั้งที่ไม่ผ่านอัยการสูงสุด

และการเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจตรากฎหมายของรัฐสภา ทั้งที่รัฐธรรมนูญ

ไม่ได้ให้อำนาจ

• ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีอำนาจเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจ

ไว้เท่านั้น เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา รัฐธรรมนูญ

ไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบได้ และมาตรา 291 มิได้ให้อำนาจ

ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

• ศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายอำนาจตัวเองผิดไปจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ไว้ในสองประการ ได้แก่

1) ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาโดยตรง โดยที่ยังไม่ผ่าน

การตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุด

2) การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อใช้อำนาจตรวจสอบ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่

ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจ

• สำหรับกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. อ้างว่าตนเองต้องผูกพันในผลแห่งคดี

ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15–18/2556 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ก็เป็นเรื่องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่

คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาคำร้องขอถอดถอนจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการพิจารณา

ตามมาตรา 270 และมาตรา 291


3. การดำเนินการของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เที่ยงธรรม

• นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนที่จะเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.

เพราะไม่ได้ลาออกจากบริษัท องค์การเภสัชกรรม - เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายในกำหนด 15 วันนับแต่ได้รับแต่งตั้ง ซึ่งขัดต่อมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ

ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งถือว่า นายภักดี โพธิศิริ

มิได้มีสถานะทางกฎหมายเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่แรก จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

ที่จะเข้าประชุมและมีมติร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.

• นางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มีผลตั้งแต่วันที่ 9

กันยายน 2557 แต่กลับไปลงนามในสำนวนชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557

มติให้ชี้มูลความผิดในคดีนี้ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

• นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง มีทัศนคติที่เป็นลบต่อ ส.ส. และ

ฝ่ายการเมือง เพราะได้แสดงออกซึ่งทัศนคติดังกล่าวผ่านสาธารณะหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคดีนี้ได้ออกมาให้สัมภาษณ์และให้ความเห็นหลายครั้งในลักษณะของการชี้นำผลของคดีและได้แสดงออกถึงความไม่เป็นกลางทางการเมืองมาโดยตลอด จึงไม่สมควรที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะแต่งตั้งเป็นองค์คณะในการไต่สวนและผู้รับผิดชอบสำนวน

• การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมากไม่ได้รับโอกาสในการให้การต่อสู้คดีหรือไม่ได้รับโอกาสในการชี้แจงด้วยวาจาเพิ่มเติม การที่ผู้ถูกกล่าวหา

เป็นจำนวนมากไม่ได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.รีบเร่ง รวบรัด วินิจฉัยคดี ชี้มูลผู้ถูกกล่าวหา

• ผู้ร้องให้มีการถอดถอนเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ บุคคลเหล่านี้ได้ร่วมในการพิจารณาญัตติ

ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภามาตลอดตั้งแต่วาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3

และยังได้ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาในวาระที่ 2 เห็นได้ว่า ผู้ร้องเองก็สนับสนุนแนวคิด

ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. แต่กลับมาร้องให้เป็นคดี และคณะกรรมการ

ป.ป.ช. ก็รับเรื่องไว้พิจารณา แสดงถึงความไม่เที่ยงธรรมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

• คำร้องของผู้ร้องมิได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามข้อบังคับการร้องเรียนแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้

จึงถือเป็นคำร้องที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ สนช. ไม่อาจรับไว้พิจารณาดำเนินการได้กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับคำร้องไว้พิจารณาและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อย่างชัดเจน 6


4. ถอดถอน "ผู้ไม่มีตำแหน่ง"ออกจากตำแหน่ง

• องค์ประกอบสำคัญที่จะถอดถอนได้ คือ ผู้นั้นต้องยังดำรงตำแหน่งอยู่

การถอดถอนออกจากตำแหน่ง รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 270 กำหนดไว้ชัดเจนว่า

“ผู้ดำรงตำแหน่ง” ไม่ได้บัญญัติไปถึง "ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง" ด้วย ดังนั้นการจะถอดถอน

ก็ต้องมีข้อเท็จจริงว่า บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่งอยู่ จึงจะถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งได้

• การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง

ที่คำนึงถึงตำแหน่งที่บุคคลนั้นดำรงอยู่เป็นสำคัญ จึงให้องค์กรทางการเมือง คือ

วุฒิสภาเป็นผู้มีอำนาจถอดถอน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ไปโดยการยุบสภา

จึงไม่สามารถถูกถอดถอนซํ้าสองอีกได้ ยุบสภา = ส.ส.ทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง


5. แก้ข้อกล่าวหารายประเด็น

กรณีเปลี่ยนแปลงการปกครอง

• การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีข้อห้ามไว้ตามมาตรา 291 แต่เพียงห้ามแก้ไข

ซึ่งมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์

ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐเท่านั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่อง

ที่มาของ ส.ว.ก็เพื่อให้กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. มีความเป็นประชาธิปไตย

และยึดโยงอำนาจของประชาชน โดยกำหนดให้ ส.ว. ซึ่งเดิมมาจากการเลือกตั้งบางส่วน

และสรรหาบางส่วน แก้ไขเป็นให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จึงไม่ได้เป็นการแก้ไข

เพื่อการได้มาซึ่งอำนาจ หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่อย่างใด

กรณีร่างใหม่ VS ร่างเดิม

• เพื่อทำให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีความสมบูรณ์สอดคล้องกับหลักการ

ที่ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถกระทำได้ โดยวิธีการอาจเป็นการแก้ไข

เฉพาะหน้าที่ผิด หรือจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือร่างพระราชบัญญัติ

ทั้งฉบับโดยยังคงใช้เลขรับเดิม ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะบรรจุระเบียบวาระ โดยที่

ไม่จำต้องให้สมาชิกรัฐสภามาเข้าชื่อกันใหม่

• เหตุที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมก็เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ซึ่งได้ทำก่อนที่ประธานรัฐสภา

จะอนุญาตให้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา

ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ผ่านมาก็มีการทำเช่นนี้เป็นประจำ

ในกรณีของร่างพระราชบัญญัติ ถือเป็นนิติบัญญัติประเพณีที่ปฏิบัติต่อกันมา

และผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอญัตติก็ได้ทราบถึงการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นแล้ว จนได้พิจารณาผ่านวาระ

ที่ 1 ที่ 2 และวาระที่ 3 สมาชิกรัฐสภาทุกคนก็ได้พิจารณาและอภิปรายในร่างแก้ไขเพิ่มเติม

รัฐธรรมนูญร่างเดียวมาตลอดตั้งแต่วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 3

• การนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาเปลี่ยนกับร่างเดิม จึงเป็นขั้นตอนทางธุรการ

ก่อนบรรจุระเบียบวาระและเป็นไปตามหลักการที่ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งของ

ประชาชน ไม่จำกัดสิทธิของ ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง

ได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค เพราะหลักการมาจากประชาชน ประชาชนจะเลือกหรือไม่

ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลักการดังกล่าวเป็นที่รับรู้ในหมู่มวลสมาชิกรัฐสภาที่เข้าชื่อเสนอญัตติ

กรณี ส.ส. VS หน้าที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

• การลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ถือเป็นเอกสิทธิ์

โดยเด็ดขาดของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 130

และถือเป็นขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

มาตรา 291 จึงไม่มีกรณีใดที่จะถือว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

กรณีมติไม่ถอดถอน ส.ว.

• การถอดถอนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 248 คน ออกจากตำแหน่งในครั้งนี้

เป็นกรณีเดียวกันกับที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอดีตสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 38 คน

และที่ประชุมสภานิติญัตติแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 16/2558 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม

2558 ได้มีมติไปแล้ว โดยเสียงส่วนใหญ่ของ สนช. มีมติไม่ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา

กรณีนี้เป็นประเด็นข้อกล่าวหาในเรื่องเดียวกัน ข้อเท็จจริงอันเดียวกัน

• เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีมีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน ก็สมควรมีมติไปในทำนองเดียวกัน

เมื่อ สนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา ก็ไม่สมควรที่จะถอดถอนอดีตสมาชิก

สภาผู้แทนราษฎรด้วย

6. การลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็น "เอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด" ของสมาชิกรัฐสภา

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาในการเสนอ

และพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้

บัญญัติไว้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ไม่มีการกระทำใดที่จะถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

• การกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิใช่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ

เพื่อล้มล้างการปกครองประเทศ หรือกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง

ประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นการกระทำที่อยู่ในกรอบ

และครรลองของวิถีทางประชาธิปไตย

• เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติได้ใช้อำนาจ

นั้นในนามของปวงชนชาวไทย แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.

ก็เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจได้ตัดสินใจเลือกผู้แทนของตนเองโดยตรง

และการดำเนินการก็อยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

โดยมิได้มีการล้มล้างการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐใดๆ

• การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เป็นการล้มล้าง

การปกครอง และไม่ถูกต้องด้วยประการทั้งปวงที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น