#TV24 นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับ "เว็บพรรคเพื่อไทย" กรณี ผลกระทบเรื่องการที่สหรัฐจัดอันดับการแก้ไขปัญหาและปราบปรามการค้ามนุษย์ไทย ถูกจัดลำดับเป็น "เทียร์ 3" ว่า
"กรณีที่ประเทศไทย ถูกสหรัฐจัดอันดับการแก้ไขปัญหาและปราบปรามการค้ามนุษย์อยู่ในระดับที่ไม่มีความคืบหน้า หรือ เทียร์ 3 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 นั้น หากมองถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็มองได้หลายมติ เพราะประเทศที่ถูกสหรัฐจัดอันดับให้อยู่ระดับ เทียร์ 3หลายประเทศ เช่น รัสเซีย อิหร่าน ลิเบีย เวเนซุเอลา แอลจีเรีย ซีเรีย เยเมน เกาหลีเหนือ ซูดานใต้และซิมบับเว ล้วนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐแล้วหลายประเทศ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายและปัญหาการค้ามนุษย์เป็นสำคัญ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทยกังวัลอยู่ในขณะนี้ นอกจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐแล้ว ก็เกรงว่า ประเทศอื่น ๆในสหภาพยุโรปอาจใช้ เทียร์ 3 เป็นข้ออ้างในการชะลอการน้ำเข้าสินค้าจากไทย หรือ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าได้ในอนาคต"
นายวิม ระบุว่า "สำหรับประเทศไทยนั้น หากถูกสหรัฐฯใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างจริงจัง คาดว่าในเบื้องต้นจะสร้างความเสียหายอย่างน้อย 1-2 แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะภาคการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมการประมง อาหารทะเล อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารที่แปรรูปจากอาหารทะเล หากรวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการใช้แรงงานที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ เพราะประเทศไทยใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น"
"ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ มีกฎหมายห้ามมิให้รัฐบาลสหรัฐลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศที่มีปัญหาด้านการค้ามนุษย์ในระดับ “เทียร์ 3”นั้น หากเรามองย้อนอดีตไปเมื่อปี 2533-2535 ประเทศไทยถูกสหรัฐฯใช้มาตรการ 301 ในกรณีที่ประเทศถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นก็พยายามเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาและยอม ที่จะตั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญาและเร่งดำเนินการปราบปรามผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง แต่สหรัฐฯก็ยังใช้มาตรการในการกีดกันทางการค้ากับประเทศไทยอยู่ดี เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 และสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในภาวะที่อ่อนไหวในขณะนี้ ก็เชื่อว่าไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่าสหรัฐจะไม่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย"
ส่วนข่าวลือ ที่ว่าปัญหาการค้ามนุษย์นี้เกิดจากรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ดำเนินการอะไรนั้น นายวิม ชี้แจงว่า "การแก้ไขปัญหาและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทุกรัฐบาลก็ได้แก้ไขเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่และลุกลามมานานแล้วซึ่งการแก้ไขต้องใช้ระยะเวลา และมีการจัดระบบในการแก้ไขซึ่งในรัฐบาลของนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยได้มอบหมายให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นเจ้าภาพในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นรัฐบาลปัจจุบันซึ่งมีอำนาจในการดำเนินการอย่างเต็มที่กับปัญหาเรื่องนี้ก็ควรเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมายหมดไปจากประเทศไทย"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น