วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

“ยิ่งลักษณ์” ยื่นท้วง “ประยุทธ์” ใช้อำนาจบริหารรวบรัดคดีจำนำข้าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา โดยมีเนื้อหาดังนี้

เรื่อง โต้แย้งคัดค้าน และขอความเป็นธรรมในการโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน

กราบเรียน  นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อ้างถึง   (1) คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ลงวันที่ 3 เมษายน 2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด

            (2) สำเนาคำฟ้องคดีอาญา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558

            (3) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  เรื่อง ขอความเป็นธรรมและโต้แย้ง คัดค้าน มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กระทรวงการคลังเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว  ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558

            (4) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อง ขอความเป็นธรรมและโต้แย้ง คัดค้าน มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กระทรวงการคลังเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว  ถึง ปลัดกระทรวงการคลัง  ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558

            (5) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  เรื่อง ขอความเป็นธรรมและโต้แย้ง คัดค้าน มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กระทรวงการคลังเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว  ถึง ดร. วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ 2558

            (6) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เรื่อง ข้อมูลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว 5 ฤดูกาลผลิต ระหว่างปีการผลิต 2554/55-2556/57 ถึง นายจิรชัย  มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และคณะ ฉบับลงวันที่ 2 กันยายน 2558

            (7) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อง โต้แย้ง คัดค้าน การปฏิบัติหน้าที่และให้ยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ถึง นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และคณะ ฉบับลงวันที่ 2 กันยายน 2558

            (8) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อง โต้แย้ง คัดค้าน คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ถึง พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ฉบับลงวันที่ 2 กันยายน 2558

            (9) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อง ขอคัดถ่ายพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่  ถึง นายจิรชัย  มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2558

            (10) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยสั่งการตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ลงวันที่ 3 เมษายน 2558 และให้วางตนให้เป็นกลางในเรื่องคดีโครงการรับจำนำข้าว ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2558

            (11) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เรื่อง  นำส่งเอกสารถ้อยคำพยานผู้เกี่ยวข้อง ถึง นายจิรชัย  มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และคณะ ฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2558

            (12) หนังสือของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เรื่อง  ให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีโครงการรับจำนำข้าวให้โอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ถึง  นายจิรชัย  มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และคณะ ฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2558


ตามที่มีการออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ลงวันที่ 3 เมษายน 2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดที่อ้างถึง (1) โดยอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งความเห็นให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลของข้าพเจ้า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 73/1 และอ้างว่าเป็นกรณีถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเสียหายและอ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน โดยการออกคำสั่งดังกล่าวอ้างว่าอาศัยอำนาจตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 นั้น

ดิฉัน ขอกราบเรียนว่า คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 448/2558 ที่อ้างถึง (1) นั้น เป็นเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งท่านและนายสมหมาย ภาษี ผู้ออกคำสั่งที่อ้างถึง (1) อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบตามที่ดิฉันได้โต้แย้งคัดค้านการออกคำสั่งและการดำเนินการตามคำสั่งมาโดยตลอดตามที่อ้างถึง (1) – (12)  และยังคงโต้แย้งคัดค้านการออกคำสั่งของท่านต่อไปโดยเฉพาะประเด็นที่ดิฉันมิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาในสายการบังคับของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้  ประกอบกับท่านในฐานะประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้แสดงออกจนเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความเห็นต่างในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายรับจำนำข้าว และถือว่าตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และไม่มีความเป็นกลางที่จะใช้อำนาจในทางการบริหารมาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการกระทำทางการบริหารด้วยกัน อันเป็นการขัดต่อ “หลักนิติธรรม”

อีกทั้ง  พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเน้นและบังคับใช้แก่เฉพาะละเมิดอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ (เช่น การกระทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา) เพื่อประโยชน์ของทางราชการ แล้วผลก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอก กับ ละเมิดอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือไม่ก็ตาม

แต่ในกรณีของดิฉัน ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามมาตรา 171 ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา 176 ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลของดิฉันดำเนินโครงการตามนโยบายรับจำนำข้าวที่แถลงไว้กับรัฐสภา เป็นการดำเนินโครงการที่มีลักษณะในเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาพืชเศรษฐกิจของประเทศทำนองเดียวกับการดำเนินโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ซึ่งฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบในทางการเมืองมิใช่เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยใช้อำนาจปกครองตามกฎหมาย และมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น การกระทำของดิฉันจึงมิอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

นอกจากนี้แม้แต่ในมาตรา 4 (1)  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บังคับแก่ “รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ”และในมาตรา 4 (3) ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บังคับแก่ “...การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง...” ดังนั้น ในกรณีนี้ยิ่งเป็นอันชัดเจนว่ามิอาจนำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาใช้บังคับกับดิฉันได้ด้วย เพราะเมื่อพิจารณาถึง คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ดังกล่าวข้างต้น ก็ได้บรรยายข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนแล้วว่า ดิฉันถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในกรณีอ้างว่า ดิฉันได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวก็เป็นที่ทราบ รับรู้ และประจักษ์ชัดกันโดยทั่วไปแล้วว่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางนโยบายโดยตรงของพรรคเพื่อไทย ที่ได้ประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง และต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามารับผิดชอบเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ดิฉันในฐานะหัวหน้ารัฐบาลหรือในนามคณะรัฐมนตรีก็ได้แถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภา อันเป็นความผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดโดยมิอาจปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้

ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของดิฉันจึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ของดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ “เป็นการปฏิบัติโดยทั่วไป” ซึ่งไม่มีการใช้อำนาจทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามหน้าที่นั้นแต่อย่างใด การออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด ทั้งผู้ออกคำสั่งดังกล่าวก็อาจต้องรับผิดชอบต่อการออกคำสั่งนั้นด้วย ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 448/2558 จะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายก็ตาม แต่หากคณะกรรมการตามคำสั่งดังกล่าวจะฝ่าฝืนดำเนินการตามคำสั่งนั้นต่อไป โดยหนังสือนี้ดิฉันก็สงวนสิทธิ์ และขอโต้แย้งคัดค้านการกระทำของคณะกรรมการดังกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวได้อ้างอำนาจตามความในข้อ 10 และข้อ 11 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยระบุให้คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รับฟังพยานบุคคลฯ... และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวข้อ 15 กำหนดว่า “คณะกรรมการต้องให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงโต้แย้งแสดงหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรมฯ” แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านและไม่ปฏิบัติตามข้อ 15  แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพราะไม่ได้ให้โอกาสแก่ดิฉันชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้ง แสดงหลักฐานอย่างเพียงพอ ทั้งๆ ที่ดิฉันได้แสดงเจตนาใช้สิทธิตามข้อ 15 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้างต้น ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย (1) ถึง (12) อย่างชัดเจนแล้ว  เช่น ดิฉันได้ขออ้างพยานบุคคลให้คณะกรรมการฯสอบสวน แต่คณะกรรมการฯไม่ดำเนินการสอบสวนให้แม้แต่รายเดียว แต่กลับมีการเร่งรีบ รวบรัด การดำเนินการสอบสวน ทั้งที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลท่านเองได้แจ้งต่อสาธารณะโดยทั่วไปว่า  “อายุความ” คดีนี้ยังมีอยู่ถึง 1 ปี ครึ่ง  การกระทำของคณะกรรมการดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของท่านแต่อย่างใด ซึ่งหากคณะกรรมการฯเสนอผลการดำเนินการมาให้ท่านพิจารณาและท่านพิจารณาเห็นชอบผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯนั้นต่อไป ท่านอาจต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ที่ระบุข้อความอยู่แล้วว่า มูลเหตุกรณีมาจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการดำเนินการทางอาญาและต่อมามีการฟ้องดิฉันต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญา ตามที่อ้างถึง (2) ดังนั้น การพิจารณาของคณะกรรมการฯ จะต้องรอผลการดำเนินคดีในส่วนอาญาให้ได้ข้อยุติเสียก่อนว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาเช่นใด จากนั้นจึงจะพิจารณาในเรื่องความรับผิดทางละเมิดต่อไปได้  ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และเป็นวิธีที่ถือปฏิบัติกันเป็นปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การที่คณะกรรมการฯ เร่งรีบพิจารณาดำเนินการและด่วนสรุปเรื่องการสอบสวน ตามคำสั่งที่อ้างถึง (1)โดยไม่รอผลคดีอาญา ตามที่อ้างถึง (2) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเสนอให้ดิฉันต้องเป็นผู้รับผิดในทางละเมิดแล้ว  การกระทำของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะส่งผลทำให้ท่านจะต้องเกิดความรับผิดชอบขึ้นได้

ดิฉัน ขอกราบเรียนยืนยันว่า การกระทำตามนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลของดิฉันในฐานะที่ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี มิได้เป็นความผิดในทางอาญาและไม่ต้องมีความรับผิดในมูลละเมิดแต่ประการใดทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประกอบกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ได้แสดงยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวของดิฉันมิได้เป็นความผิด

ด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ดิฉันกราบเรียนมาข้างต้น กรณีที่ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งพิจารณาร่วมกันและมีคำวินิจฉัยสั่งการตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ แล้ว ส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงการคลังตามข้อ 17 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ย่อมไม่อาจกระทำได้ รวมตลอดถึงกรณีจะมีการออกคำสั่งให้ดิฉันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมากกว่าห้าแสนล้านบาท ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก็ย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวมาโดยละเอียดมาแล้วข้างต้น ซึ่งในเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบได้เคยแสดงความเห็นด้วยและออกมาให้ข่าวชี้นำคณะกรรมการฯ ชี้นำตัวท่านและชี้นำสังคมตลอดมาอย่างต่อเนื่องว่า จะเลือกดำเนินการวิธีนี้ (ใช้มาตรา 57 ออกคำสั่ง) โดยไม่ใช้วิธีฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ซึ่งดิฉันขอโต้แย้ง คัดค้านว่าหากปล่อยให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการดังกล่าวนั้น จะเป็นการกระทำฝ่าฝืนและปฏิบัติผิดต่อกฎหมายดังกล่าว และเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันด้วย ดังเช่นในอดีตที่มีการดำเนินการทางละเมิดกับนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในการป้องกันค่าเงินบาท รัฐบาลขณะนั้นก็เลือกที่จะใช้วิธีฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท (โดยไม่ใช้วิธีออกคำสั่งตามมาตรา 57) โดยหนังสือฉบับนี้ ดิฉันจึงขอโต้แย้งคัดค้านว่าท่านจะดำเนินการออกคำสั่งตามมาตรา 57 ให้ดิฉันต้องชดใช้ค่าเสียหายโดยไม่ใช้วิธีการตามกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรมไม่ได้ (รวมถึงให้รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งคนใดจะออกคำสั่งแทนตัวท่านด้วยก็ไม่อาจกระทำได้เช่นเดียวกัน) ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้จึงเรียนมายังท่านเพื่อ

(1) คัดค้านคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่อ้างถึง (1) และพร้อมกับกราบเรียนขอความเป็นธรรมขอให้ท่านโปรดพิจารณาทบทวนการออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ด้วยการออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่อ้างถึง (1) พร้อมกับยกเลิกเพิกถอนการกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งที่อ้างถึง (1) ดังกล่าวทั้งหมดต่อไปด้วย

(2) หากยังคงฝืนดำเนินการตาม (1) ข้างต้น ดิฉันขอให้ท่านกำกับ ควบคุม ดูแลให้คณะกรรมการฯ ที่ท่านมีคำสั่งแต่งตั้งได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 15 โดยเคร่งครัดและได้ให้โอกาสดิฉันโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานต่าง ๆตามหนังสือที่อ้างถึงต่อไป

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอได้โปรดพิจารณาเพื่อให้ดิฉันได้รับการปฏิบัติจากท่านด้วยความเป็นธรรมตามสมควรและเหมาะสมต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
อดีตนายกรัฐมนตรี



1 ความคิดเห็น:

  1. ทุกวันนี้นึกว่าประชาชนส่วนใหญ่โง่ คิดจะปิด หู ตา จ้องหาเรื่องจะเอาผิดให้ได้ถ้าไม่ใช่พวกตน คล้อยตามก็รอด

    ตอบลบ