วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

“วรวัจน์” ห่วง “กรธ.” ร่างรัฐธรรมนูญขวางประชานิยม-ประเทศไม่พัฒนา


"วรวัจน์" ห่วง กรธ. ระบุห้ามทำประชานิยม คือการห้ามอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ บทความของ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีเนื้อหาดังนี้

รัฐธรรมนูญกับประชานิยม: 

ได้เห็นแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการ แล้วก็ทำให้นึกเป็นห่วงอยู่เหมือนกันว่าในอนาคต ธรรมนูญไทย อาจจะก่อให้เกิดข้อจำกัดของการบริหารประเทศขึ้นมาก็ได้ เพราะหลายท่านมองว่าการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจนั้น เป็นประชานิยม เพราะติดวาทกรรมทางการเมืองคำว่าประชานิยมหรือคำว่ากำไรขาดทุนของรัฐบาล ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ซึ่งความจริงแล้วถ้าเราไม่เลือกดูแต่กระบวนการว่าใครทำอย่างไรผิดหรือใครทำอย่างไรถูก แล้วเราไปดูผลลัพธ์ว่าทำแบบไหนระบบเศรษฐกิจจะกระเตื้องมากกว่ากัน แบบไหนประชาชนจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และทำอย่างไรรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว เราจะเห็นว่าการใช้แนวทางอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มแก่ประชาชนเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ขอยกตัวอย่างโครงการจำนำข้าว ซึ่งหลายท่านบอกว่า ทำให้รัฐเสียหาย!!! จริงหรือไม่??? ซึ่งถ้าไปฟังวาทกรรม ว่ารัฐขาดทุนแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะจริง แต่ทำไมประชาชนไม่เพียงแต่ชาวนา กลับมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทั้งระบบ ร้านค้ามีเงินหมุนเวียนมากขึ้น บริษัทต่างๆขายของได้มากขึ้น และรัฐบาลก็จัดเก็บภาษี ได้มากขึ้น

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น??? ก็เพราะ... อันที่จริงแล้ว โครงการของรัฐ จะแสวงหากำไรจากประชาชนไม่ได้ รายได้ของรัฐ จะมาจากการจัดเก็บภาษีหรือการจำหน่ายทรัพย์สินของรัฐเท่านั้น เพราะฉะนั้น การบริหารรัฐกิจ ของรัฐบาลทุกรัฐบาล ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ไม่เว้นแม้แต่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในปัจจุบัน ก็ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม เพื่อก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และในทุกสัดส่วนกำไรของประชาชนในทุกขั้นตอนนั้น รัฐบาลก็จะจัดเก็บภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแม้แต่ภาษีสรรพสามิตได้ เพื่อเป็นรายได้ของรัฐบาล นั่นคือแนวทางสร้างรายได้ของรัฐบาลทุกรัฐบาล ถ้าบริหาร จัดการก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบของประชาชนได้หลายรอบ ก็จะได้ภาษีมากกว่ารายจ่าย ก็จะทำงบประมาณเกินดุล ถ้าระบบการเงินยังหมุนไม่มากพอ ต้องกู้เพิ่ม ก็เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล การบริหารจัดการงบประมาณ มันจึงเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น โครงการประชานิยม ที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนในลักษณะ โครงการจำนำข้าว จึงไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย อาจจะดูว่ามีรายจ่ายภาครัฐที่สูง แต่ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนดี ประชาชนมีรายได้สูง และรัฐบาลก็จัดเก็บภาษีได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว จนกระทั่ง รองนายกรัฐมนตรี กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้กล่าวว่า รัฐบาลจะเก็บภาษี ได้มากขึ้นและกำลังจะจัดทำงบประมาณสมดุลย์ ได้ ในอีก 2 ถึง 3 ปี ต่อมาเท่านั้น นั่นจึงเป็นสิ่งที่แสดงว่า โครงการจำนำข้าวนั้น มิได้ทำให้รัฐเสียหาย เพราะฉะนั้น ถ้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เขียนระบุห้าม การทำประชานิยม หรือการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็อาจจะทำให้การบริหารประเทศในอนาคต อาจจะเกิดข้อจำกัด และทำให้ประเทศไทยพัฒนาหรือแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ซึ่งจะทำให้น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยเป็นของพวกเราทุกคนนะครับ การตัดสินใจผูกมัดประเทศไทย ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ควรหาข้อมูลข้อเท็จจริง ที่ถูกต้องก่อนตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนนะครับ

อ้างอิง : วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
http://www.facebook.com/woravat.auapinyakul

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น