วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

“ยรรยง” ชี้ ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ เพราะไม่มีโครงการรับจำนำช่วยชาวนา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"ข้าวเปลือกราคาตกตํ่าเพราะไม่มีโครงการ 'รับจำนำช่วยชาวนา' หรือมาตรการพยุงราคา และการโหมโฆษณาเร่งระบายข้าวเน่าทำให้ตลาดสับสน ขอเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 39/2558 และให้ชะลอหรือทบทวนการประมูลข้าวเสื่อมให้รอบคอบ"

ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกษตรกรชาวนากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจคือภาวะเงินฝืดต่อเนื่องเพราะชาวนาซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่และเป็นเศรษฐกิจฐานรากมีรายได้ตกตํ่าอย่างต่อเนื่องเพราะราคาข้าวเปลือกฤดูใหม่ที่กำลังเก็บเกี่ยวอยู่ในขณะนี้ตกตํ่ายิ่งกว่าปีที่แล้วทั้งๆที่ต้นทุนไม่ได้ลดลงกว่าปีที่แล้วทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงและวัชพืช รวมทั้งค่ารถไถ แถมบางพื้นที่ยังถูกซํ้าเติมด้วยค่ารถเกี่ยวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากรถเกี่ยวข้าวถูกเรียกเก็บค่าหัวคิววันละ 1,000 บาทต่อคัน

ราคาข้าวเปลือกเจ้า5%ถ้าเป็นข้าวเกี่ยวสดราคาเหลือเพียงตันละ 6,000-6,900 บาทเท่านั้น ถ้าเป็นข้าวแห้งราคาประมาณตันละ 6,500-7,800 บาท ส่วนราคาข้าวหอมมะลิก็ ตกตํ่าเป็นประวัติการณ์ คือ ถ้าเป็นข้าวสดราคาเพียงตันละ 8,000-9,500 บาท ถ้าเป็นข้าวแห้งก็จะได้ราคาตันละ 10,000-11,500 บาท (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ราคาตลาดตันละ 15,000-17,000 บาท)

สาเหตุหลักที่ราคาข้าวตกตํ่าก็เพราะไม่มีโครงการ "รับจำนำช่วยชาวนา" จึงทำให้พ่อค้าสามารถกดราคาได้ตามใจชอบเนื่องจากชาวนาไม่มีแบ็คสนับสนุนจึงไม่มีอำนาจต่อรองใดๆทั้งสิ้น พ่อค้าเองก็มักจะอ้างว่าไม่มีเงินทุนพอที่จะรับซื้อข้าวได้ทั้งหมด(ขาดสภาพคล่อง) และขาดแคลนโกดังเก็บข้าว จึงเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสามารถกดราคาทำกำไรได้สูงสุด

ผมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางช่วยพยุงราคาข้าวโดยรีบด่วนในขณะที่ข้าวยังเหลืออยู่ในมือชาวนานะครับ

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวตกตํ่าผมเชื่อว่าเกิดจากการที่รัฐบาลเร่งรัดและโหมโฆษณาเรื่องการระบายข้าวเสื่อมคุณภาพหรือข้าวเน่าจนไม่สามารถบริโภคได้มากเกินไป ทำให้ตลาดเกิดความสับสนและขาดความเชื่อมั่น ซึ่งผมเคยเรียกร้องให้รัฐบาลแถลงปริมาณข้าวเน่าให้ชัดเจน พร้อมทั้งได้ตั้งข้อสงสัยว่าได้มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างถูกต้องโดยละเอียดหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตลาดหวั่นไหวหรือคลางแคลงใจว่ามีข้าวเน่าปนข้าวดีจำนวนมาก แต่สังคมก็ยังไม่ได้รับคำตอบในเรื่องนี้
ผมจึงขอให้รัฐบาลเร่งแถลงหรือสร้างความชัดเจนเพื่อลดความสับสนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นโดยเร็ว

ผมได้ติดตามการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ระบุว่าเป็นข้าวเน่าจนบริโภคไม่ได้ซึ่งกำลังจะเปิดประมูลเพื่อระบายให้ผู้ซื้อนำไปผลิตทางอุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ด้วยความไม่สบายใจอย่างยิ่งใน 2 ประเด็นคือ

1. ผมไม่ค่อยเชื่อมั่นในวิธีการและมาตรฐานในการตรวจสอบว่าถูกต้องและละเอียดจริงและได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสหรือไม่

2. วิธีการระบายโดยกำหนดให้ผู้เสนอซื้อต้องเป็นโรงงาน ผลิตทางอุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์เท่านั้นเป็นการล็อคเสป็คและเปิดช่องให้ฮั้วราคาหรือไม่ เพราะเหตุผลที่ระบุว่าต้องการป้องกันไม่ให้นำข้าวที่ระบายมาปนกับข้าวบริโภคก็สามารถหามาตรการป้องกันและกำหนดให้ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบได้อยู่แล้ว แต่ตามความเป็นจริงถ้าข้าวเน่าจริงน่าจะนำมาปลอมปนได้ยากเพราะน่าจะมีกลิ่นเหม็นและเป็นผงแล้ว และคงมีสีคลํ้ามาก ผู้ซื้อน่าจะสังเกตได้ง่าย และผู้ผลิตขายคงต้องลงทุนค่าปรับปรุงมากน่าจะไม่คุ้ม และมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ค้าขายสินค้าคุณภาพตํ่าและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว

ผมจึงขอเรียกร้องให้ทบทวนเรื่องนี้ให้ละเอียดอีกครั้ง

เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ไม่ถูกโต้แย้งว่ามีมูลเหตุจูงใจไปในทางไม่สุจริตหรือหวังผลไปถึงคดีความในศาล หรือมีเป้าหมายทางการเมือง อีกทั้งไม่เป็นการปิดปาก หรือตัดสิทธิฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นเจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ ตลอดจนโรงสีและชาวนาที่ได้รับผลกระทบ และบางฝ่ายอาจต้องรับผิดชอบตามสัญญาอันเป็นผลจากการตรวจสอบหรือไม่มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวอย่างแท้จริงและเป็นธรรม ให้สามารถที่จะโต้แย้งคัดค้านได้อย่างตรงไปตรงมา แม้แต่การใช้สิทธิทางศาล ทั้งนี้ผมยังคงยืนยันให้รัฐบาลยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่39/2558 เพราะผมเห็นว่านอกจากจะไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา44แล้ว ยังเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้อาจต้องรับผิดชอบตามสัญญาเช่นเจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์โรงสีตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่อาจมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิในการที่จะต่อสู้คดีหรือใช้สิทธิตามกฎหมายทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางปกครองต่อไป ซึ่งเท่ากับถูกต่อยข้างเดียวหรือมัดมือชกนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น