วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

"จาตุรนต์" เชื่อ "อุดมเดช" ลาออก ปม "ราชภักดิ์" ก็ไม่จบ


เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2558 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุมีการลดระดับการเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และกรณีข่าวมารดา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ระบุกลางดึก วันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีทหารในเครื่องแบบมาที่บ้านถามหา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หลังกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือเอ็นดีเอ็น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ที่นำโดยนายสิรวิชญ์ นัดรวมแนวร่วมจัดกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" วันที่ 7 ธ.ค.ว่า กรณี นายณัฐวุฒิ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นการลดระดับจริง ถ้าเทียบกับการที่เคยส่งทหาร พร้อมอาวุธเข้าไปในบ้าน หรือการจับไปกุมตัวในค่ายทหาร มองว่าเป็นการลดระดับ แต่การส่งคนไปคุมทั้งที่บ้าน ตามประกบภรรรยาและลูกแบบนี้ อาจรุนแรงมากกว่าด้วยซ้ำ ทำให้หวาดกลัว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือมีใครแปลกปลอมมา หรือทหารที่ส่งไปอยู่ในสภาพคุมกันเองไม่อยู่ อาจเป็นอันตรายได้ การคุกคามเจ้าตัวแล้วเขาไม่กลัว ไปถึงภรรยาแล้วไม่กลัว ก็ไปถึงลูก คงต้องการให้พ่อแม่ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับลูก

"ถือเป็นการการข่มขู่คุกคาม และละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น การใช้วิธีการแบบนี้ กับครอบครัว นายณัฐวุฒิ และจ่านิว เป็นการใช้สมัยสงครามโบราณ หรือไม่ก็พวกมาเฟียใช้กัน แต่ที่เป็นปัญหามากกว่านั้น การใช้วิธีแบบนี้ ทำไมต้องเกิดกับผู้ที่เห็นต่าง ผู้ที่ต้องการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ หาทางสกัดกั้นไม่ให้ไป ย่ิงไปกันใหญ่ ทำให้ไม่เข้าใจไปกันใหญ่ว่า สร้างเพื่ออะไร ในเมื่อมีคนจะไปสักการะ ชื่นชม แต่ไม่สามารถไปได้ คนก็จะตั้งคำถามได้ว่า มีอะไรต้องปิดบังนักหนา" แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนที่มีความพยายามให้ปัญหาราชภักดิ์จบเร็ว ให้บางหน่วยงานรีบตอบ รีบสรุป ตนคิดว่าคงไม่สามารถทำให้เรื่องนี้จบลงได้ เนื่องจากโครงนี้มีผู้เกี่ยวข้องและรับผิดชอบหลายคน ซึ่งจริงแล้วๆ กรณีอย่างนี้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ไม่ควรจะทำอะไร แต่ ศอตช.และรัฐบาล ควรให้องค์กรอิสระที่มีอยู่ ทำหน้าที่ตรวจสอบ ดำเนินการอย่างอิสระ เนื่องจากผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกกล่าวหา เป็นคนในรัฐบาล เป็นกรรมการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย ควรอิสระจากรัฐบาลและ คสช. ส่วนที่ไม่ค่อยได้พูดถึงคือ กระทรวงมหาดไทย ที่รับผิดชอบเรื่องของมูลนิธิ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้งบประมาณทั้งรัฐบาลและกองทัพ มูลนิธิต้องมีการรายงานรายจ่ายรายรับ ดังนั้น ข้อสงสัยว่ามีการทุจริตกระทรวงมหาดไทยต้องตรวจสอบอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นการรีบสอบให้จบเร็วๆ จึงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่จะทำให้เรื่องจบ แต่อาจเป็นการเร่ิมต้นไปสู่จุดจบได้

เมื่อถามว่า แสดงว่ามั่นใจยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีก แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในเมื่อโครงการนี้ มีผู้เกี่ยวข้องและรับผิดชอบจำนวนมาก การจะได้ข้อสรุปมีผู้ทุจริตกี่คน จึงต้องมีการตรวจสอบจากหลายฝ่าย และต้องอิสระ ตรงไปตรงมา เมื่อถามว่า มองว่าผลการปมอุทยานราชภักดิ์ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่? นายจาตุรนต์ กล่าวว่า โครงการที่ทุกคนชื่นชมและคาดหวัง เกิดความเสียหายที่ไม่บังควร ต้องตรวจสอบ เพราะหากยังทำให้คนสงสัยเชื่อไปว่ามีการทุจริต หรือปกปิด จะนำไปสู่ต่อความเชื่อถือศรัทธาที่มีต่อผู้รับผิดชอบ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและอดีต ผบ.ทบ.ออกจากตำแหน่ง ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ผลกระทบกับรัฐบาลอาจมากกว่าที่คิด 

ส่วนที่มีการระบุว่า เรื่องของโครงการราชภักดิ์กับคดีจำนำข้าว แตกต่างกันนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า แน่นอนเปรียบเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่คล้ายกัน คือ กระบวนการตรวจสอบที่ใช้ เป็นกระบวนการตรวจสอบที่ไม่เป็นอิสระ ส่วนความรับผิดชอบนอกจากทางกฎหมาย แล้ว ต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่นั้น คงต้องใช้คำพูดเดียวกับผู้นำ คสช.และรัฐบาลคือ ให้ไปคิดกันเอาเอง แต่เวลานี้ส่ิงที่ควรจะเน้นก็คือการตรวจสอบ ควรเปิดโอกาสผู้ที่ความสนใจ ต้องการหาข้อเท็จจริง ต้องการตรวจสอบอย่างเต็มที่ ไม่ใช่สกัดกั้น ขัดขวางทุกวิถีทางอย่างที่เป็นอยู่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น