วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"เพื่อไทย" ติงช็อปช่วยชาติไร้ผล-เศรษฐกิจแย่ ขาดกำลังซื้อ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมาตรการช็อปช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 18 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ว่า "มาตรการนี้ไม่น่าจะเกิดประโยชน์สำหรับประชาชนโดยทั่วไปมากนัก จะได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มคนที่เสียภาษีไม่กี่ล้านคน ที่มีฐานะดีและพร้อมใช้จ่าย รวมถึงกลุ่มทุนตระกูลใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรมขนาดใหญ่ ซึ่งหากรัฐบาลต้องการออกมาตรการให้เห็นผลจริง ควรไปกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม เน้นแก้ปัญหาในโครงสร้างใหญ่ของทั้งประเทศ มากกว่าการลดหย่อนภาษีหรือแจกเงินให้กับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ที่ทำไปแล้วสูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี กำลังซื้อที่แท้จริงจะตามมา วันนี้แม้ประชาชนอยากจะช็อปช่วยชาติ ร่วมกับรัฐบาล แต่ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปช็อป รัฐบาลลองให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง จะรู้ว่าเศรษฐกิจแย่มาก อย่าว่าแต่คนซื้อ ร้านรวงก็ปิดตัวเองไปเป็นจำนวนมาก ลำบากกันถ้วนหน้า ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการให้เกิดการช่วยเหลือคนไทย เศรษฐกิจไทย ควรเลือกการช่วยเหลือที่ลงถึงรากหญ้า ถึงเกษตรกรซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ฐานปิรามิด รวมถึงการมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับนักลงทุน ไม่ใช่ปล่อยให้มีความสับสนทั้งเรื่องพรบ.คอมพิวเตอร์ หรือข่าวเลื่อนการเลือกตั้งออกไปซึ่งไม่เป็นไปตามโรดแมป ความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศก็จะหดหายไป"
วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"ณัฐวุฒิ" แนะรัฐหยุดระบบอุปถัมภ์-สร้างประชาธิปไตยแก้ปัญหาประชาชน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่าแปลกใจมากที่สนช.เสนอรายงานเรื่องการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในวงราชการ ทั้งที่สนช.เองก็เข้าสู่อำนาจจากระบบอุปถัมภ์โดยคณะรัฐประหาร และสาระของรัฐธรรมนูญที่กรธ.ร่างมีรูปลักษณ์ของรัฐราชการซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของระบบดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อเสนอแบบห้ามตีกอล์ฟ ห้ามกินเลี้ยง ดูแผ่วเบามากสำหรับการแก้ปัญหานี้ เท่าที่ตามข่าวไม่มีการพูดถึงปัญหาหลักการอย่างแท้จริงว่า ความไม่เป็นประชาธิปไตยคือแหล่งเพาะพันธ์ุและขยายผลของระบบอุปถัมภ์ ถ้ารูปแบบการปกครองไม่ใช่การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน การพูดถึงการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ยังเป็นเรื่องไกลความจริง"
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า "พิจารณาจากสภาพปัจจุบันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า สังคมไทยอยู่ภายใต้กลไกของระบบอุปถัมภ์ในวงราชการ การแต่งตั้งบุคคลเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากฝ่ายความมั่นคงและบุคคลใกล้ชิดเป็นเครื่องยืนยันประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี ในคณะกรรมาธิการที่ศึกษาไม่ได้พูดคุยกันเลยหรือว่า การลดอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์คือการเพิ่มอิทธิพลให้ประชาชน วันนี้ก็เห็นกันอยู่ว่า ทุกกลไกเขาถือคติตามใจแป๊ะ แม้แต่ในที่ประชุมสนช.เองก็เพิ่งมองข้ามเสียงเรียกร้องของประชาชนหลายแสนคนที่คัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะอำนาจที่ตั้งตัวเองมาต้องการให้ผ่าน และมีหวังกับการได้ไปต่อในฐานะส.ว.ลากตั้งหากทำงานเข้าตา สนช.เสนอการแก้ปัญหาทั้งที่ตัวเองอยู่ตรงกลางของปัญหาแบบนี้ได้อย่างไร?"
"ผมเห็นด้วยกับการแก้ไขระบบอุปถัมภ์ แต่เห็นว่าจะแก้ได้จริงคือ ต้องสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าคนคิดแก้ปัญหากินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง แต่ทำเป็นมองไม่เห็นความจริง คงคาดหวังกับการแก้ปัญหาไม่ได้" นายณัฐวุฒิกล่าว
“คณิน” เตือนกรธ.เขียนกติกาต้องเป็นธรรม-กรรมการต้องเป็นกลาง
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 40 ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวกรณีที่ กรธ. แถลงจะเพิ่ม มาตราใหม่ในร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำบัญชีจ่ายเงินเดือน ส.ส. พร้อมแจงที่มาของเงินและถ้าแจ้งเท็จหัวหน้าพรรคมีโทษ ว่า กรธ. ชักจะไปกันใหญ่แล้ว วันๆมีแต่ จะคิดหาวิธีที่จะเล่นงานนักการเมืองและพรรคการเมือง จนชักจะสงสัยแล้วว่า กฎหมายใช้บังคับแล้ว มีการเลือกตั้ง จะมีหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคสักกี่คนที่จะรอดพ้นจากการติดคุก และถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และจะมีพรรคการเมืองสักกี่พรรคที่จะรอดจากการถูกยุบพรรค การเขียนกติกาแบบนี้ในทางวิชาการ เขาเรียกว่า “กติกาที่ไม่เป็นธรรม” ยิ่งถ้าไปเจอ “กรรมการที่ไม่เป็นกลาง” เข้าไปอีก การเลือกตั้งและประชาธิปไตยมิต้องถึงคราวสาบสูญไปจากประเทศไทยอย่างเป็นการถาวรหรือ?
นายคณิน กล่าวว่า ที่บอกว่า “กติกาไม่เป็นธรรม” นั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นธรรมต่อนักการเมือง เพราะนักการเมืองนั้น ถึงอย่างไรก็สู้ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องสู้ในกติกาที่เสียเปรียบ แต่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะเหตุว่า เป็นกติกาที่กำหนดขึ้นมาเพื่อให้องค์กร ที่มาจากการแต่งตั้งโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน มีอำนาจควบคุมและตรวจสอบองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือพรรคการเมือง หรือแม้แต่ประชาชนที่เป็นสมาชิก พรรคการเมือง ในขณะที่นักการเมือง พรรคการเมือง และประชาชน ไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งเหล่านั้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา หรือแม้แต่นายกฯคนนอก เช่นนี้เรียกว่า “กติกาที่ไม่เป็นธรรม” เมื่อเป็น กติกาที่ไม่เป็นธรรม อย่านึกว่ามันจะส่งผลกระทบต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น อย่างที่ชอบพูดกันว่า ถ้าไม่ทำอะไรผิด จะกลัวอะไรนั่นแหละ แต่จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศด้วย เพราะประเทศอื่นๆ เขาจะมองว่า ขนาดกติกาทางการเมืองยังไม่เป็นธรรมแล้วกติกาอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติกาทางเศรษฐกิจ และกติกาด้านการปกป้องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกติกาการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรี จะเป็นธรรมหรือ?
นายคณิน กล่าวต่อว่า ลำพังแค่คำถามที่ว่า ในเมื่อ กรธ. กำหนดกติกาการสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส. ไว้อย่างเข้มงวด คอขาดบาดตายถึงขนาดนี้ โทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต โดยอ้างว่า เพื่อให้ได้คนดีที่ไม่โกงมาบริหารประเทศและดูแลบ้านเมือง แต่เหตุไฉนจึงไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งด้วยเล่า กรธ. จะตอบอย่างไร?
ส่วนประเด็นที่ถกกับ กกต. ในเรื่องงบลับก็ดี หรือเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ลงตัวกันนั้น ก็เป็นการชี้ว่า ทั้ง กรธ. และ กกต. ต่างก็ยังจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบความคิดที่ว่า ทำอย่างไรที่จะเล่นงานนักการเมืองและพรรคการเมืองให้อยู่หมัดเท่านั้น โดยอาจจะลืมคิดไปว่า ก็แล้วประชาชน และนักการเมืองจะมีเครื่องมืออะไรที่จะใช้ในการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของ กกต. ได้บ้าง? ทำไม กรธ. จึงไม่รู้จักคิดหาวิธีที่ประชาชนจะใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของ กกต. เหมือนอย่างในประเทศประชาธิปไตยที่เขาเจริญแล้วเขาทำกันบ้าง? อย่างน้อยเอางบลับ กกต. และงบที่จะตั้ง กกต.จังหวัด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้ง รวมทั้งงบที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์ นั่นแหละ ไปให้ประชาชนเขาได้ทำหน้าที่ชักชวนประชาชนด้วยกันให้ไปเลือกตั้ง พร้อมๆไปกับการตรวจสอบและกระตุ้น กกต. ให้ตื่นมาดูโลกบ้างว่า ชาวบ้านเขาก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ไม่ใช่คอยจ้องอยู่แต่ว่าจะแจกใบเหลืองใบแดงให้ใครบ้างอย่างที่ผ่านมาเท่านั้น
นายคณิน กล่าวในที่สุดว่า กระบวนการทางการเมืองที่ถูกกำหนดโดย กติกาที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำยังจะมีกรรมการที่ไม่เป็นกลาง คอยจ้องแต่จะเล่นงานนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในขณะที่ยกย่องให้เกียรติบรรดาองค์กรและฝ่ายการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง เสียราวกับเป็นเทวดานั้น นอกจากประชาธิปไตยจะไปไม่รอดแล้ว ประเทศก็จะไปไม่รอดด้วย จึงอยากจะขอให้ กรธ. ตั้งสติและนึกทบทวนถึงสิ่งที่ได้ทำมาตลอดนั้นว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือของใครกันแน่? หวังว่าขึ้นปีใหม่ 2560 นี้ ประชาชนคงจะได้เห็นคำตอบ
"อนุสรณ์" ห่วงรัฐเดินหน้าพรบ.คอมฯกระทบสิทธิ์ประชาชน-แนะฟังความเห็นต่าง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี กระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ว่า "ระหว่างการสื่อสารของกลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ กับข้อมูลของผู้ถืออำนาจรัฐ ดูจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ฝ่ายต่อต้านอ้างว่าสามารถปฏิบัติการได้สัมฤทธิ์ผลและยกระดับมุ่งเป้าโจมตีระบบออนไลน์ของหน่วยงานรัฐสำคัญๆมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐ บอกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่นอกจากคนในประเทศจะเฝ้ามอง ต่างประเทศก็จับตาว่าเรื่องนี้จะเดินต่อและไปจบลงตรงไหน ความจริงก็ดูเป็นการลักลั่นด้านนโยบายของรัฐบาลคสช. มุมหนึ่งบอกว่าเน้นไทยแลนด์ 4.0 เดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แต่กลับเปิดประเด็นที่ทำให้สังคมหวาดระแวงด้วยพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ ที่กำลังตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เจอสถานการณ์นี้อาจทำให้ต้องคิดหนักกว่าเดิม โดยเฉพาะประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลในการดำเนินธุรกิจ ประเทศไทยเสียโอกาสมามากแล้ว ทั้งจากการรัฐประหารไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาสร้างสิ่งกีดขวางเพิ่มเติมในช่วงที่ยากลำบากเช่นนี้ การที่รัฐบาลคสช.ผลักดันเรื่องนี้เต็มสูบ เข้าใจว่าเน้นในเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก แต่ก็ไม่ควรละเลยหรือมองข้ามผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และการให้ความสำคัญด้านสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ถ้ารัฐบาลคสช.ตีโจทย์ไม่ผิด จะทราบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นเสียงของประชาชนผู้ที่มีส่วนได้เสีย ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นการเปิดใจ เปิดหู รับฟังเสียงเห็นต่างบ้าง บางทีอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าการไม่ฟังเสียงใคร มิฉะนั้น สิ่งที่คาดว่าจะได้จากพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จะได้ไม่คุ้มเสีย
วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"สุรพงษ์" ห่วงประเทศล้าหลัง-สอนรัฐบาลเปิดวิสัยทัศน์
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การพัฒนาเด็กหรือเยาวชนของชาติด้านเทคโนโลยีไอทีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเปิดกว้างให้เยาวชนคนไทยได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้เพื่อให้ตามทันวิวัฒนาการด้านนี้ให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศอื่นๆ เพื่อให้รู้เท่าทันเขา เพราะทุกวันนี้อุปกรณ์โทรศัพท์ มือถือมีฟังค์ชั่นการทำงานที่เหนือกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ในอดีตมากมายนัก มีเทคโนโลยีที่เปิดกว้างจนเข้าสู่ยุคแห่งการสื่อสารที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง จนนับได้ว่ากลายเป็นปัจจัยที่ 5 นอกเหนือไปจากปัจจัยสี่ที่เรารู้ๆกันมาแต่ในอดีตคือ บ้าน ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และอาหาร เพราะฉะนั้นผู้บริหารประเทศจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เข้าใจถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับชีวิตและความเป็นอยู่ประจำวันของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ประเทศจึงจะพัฒนาและก้าวตามทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ มิฉะนั้นประเทศไทยเราก็จะกลายเป็นเสมือนเต่าล้านปีก็เป็นได้ ผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้เฒ่ากะโหลกกะลาในสายตาของเด็กๆไปกันแล้ว ก็ต้องขอให้ผู้บริหารประเทศชุดนี้ได้เปิดวิสัยทัศน์ของตนเองให้กว้างไกล คิดอะไรให้ถี่ถ้วน รอบคอบก็แล้วกัน เพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่เด็กและเยาวชนของไทยเราเพื่อจะได้มีโอกาสก้าวตามทันประเทศอื่นๆที่พัฒนาไปไกลกว่าเรา การปิดกั้นเสรีภาพในการใช้วิวัฒนาการไอทีโดยวิธีการกำหนดตัวบทกฎหมายโดยปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการใช้ข้อมูลข่าวสารในการเชื่อมโยง ติดต่อสี่อสารกันในสังคมข้อมูลข่าวสารก็อาจจะส่งผลเสียหายย้อนกลับมาทำให้ไทยเราอาจจะล้าหลังในด้านความคิดและการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นได้ ก็รู้สึกสงสารยุคไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลคสช.
"ทนายวันชัย" ยื่น ปปง. ตรวจสอบ "อุตตม-ชัยณรงค์" คดีปล่อยกู้กฤษดานคร
23 ธันวาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่า เมื่อเวลา 10.00น. ที่ผ่านมา ทนายวันชัย บุนนาค นักวิชาการด้านกฏหมาย เข้ายื่นหนังสือต่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ให้ตรวจสอบอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงเทพที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีกรุงไทยปล่อยกู้กลุ่มกฤษดานคร
โดย ทนายวันชัย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังเข้ายื่นหนังสือดังกล่าวว่า "คดีกรุงไทยปล่อยกู้กลุ่มกฤษดานคร ในส่วนทางแพ่ง เป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) วันนี้จึงเดินทางมาให้ข้อมูล ปปง. ให้ทราบข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมไว้ เพื่อให้เห็นว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เพียงธนาคารกรุงเทพ และกลุ่มกฤษดานคร แต่ยังมีบุคคลที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีในคดีหลักและในคดีการฟอกเงินที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อย่างน้อย กลุ่มผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ที่ทำการลดหนี้ จาก 14,297 ล้านบาท แล้วรับชำระจนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2546 เพียง 4,500 ล้านบาท ซึ่งที่เหลือไม่มีการตามเก็บจากลูกหนี้ โดยส่วนนี้ที่ ปปง. สมควรจะตรวจสอบ
ทนายวันชัย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ นายอุตตม สาวนายน และ ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ในฐานะคณะกรรมการของธนาคารกรุงไทย ในฐานะกรรมการอนุมัติสินเชื่อทั้งหมดที่ให้กลุ่มกฤษดานคร สมควรได้รับการถูกตรวจสอบ
ทั้งนี้ ทนายวันชัย ยังระบุว่า กลุ่มกฤษดานคร นำเงินไปกระจาย ยังกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม กลุ่มแรกที่สมควรถูกตรวจสอบมากที่สุด คือกลุ่มที่รับเงินไปจากกลุ่มกฤษดานครโดยตรงเป็นกลุ่มแรก และผมก็ได้นำเส้นทางการเงินของกลุ่มแรกมามอบให้ ปปง. ไว้สำหรับการพิจารณา
#TV24 ทนายวันชัย บุนนาค เข้ายื่นหนังสือต่อ ปปง.ให้ตรวจสอบอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงเทพที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีกรุงไทยปล่อยกู้กลุ่มกฤษดานคร pic.twitter.com/WhnnD9XS0l— TV24 Official (@TV24Official) 23 ธันวาคม 2559
วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559
ประมวลภาพ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม "สุขุม เลาวัณย์ศิริ"-อดีตส.ส.โคราช10สมัย
(22 ธันวาคม 2559) ภาพบรรยากาศงานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม นายสุขุม เลาวัณย์ศิริ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา 10 สมัย ณ ศาลา15 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน โดยวันนี้ นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ในเวลา 18.30น. ด้วย ทั้งนี้จะมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559 เป็นวันสุดท้าย ก่อนเคลื่อนไปบรรจุที่สุสาน อำเภอบ้านเหลื่อม จังหวัดนครราชสีมา ในวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม นี้
วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"เพื่อไทย"สอน"ประชาธิปัตย์"- สั่ง"อภิสิทธิ์"หนุน"ยิ่งลักษณ์"ช่วยชาวนา
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก สนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับซื้อข้าวจากชาวนาในช่วงปีใหม่ แค่สร้างภาพตามบทนักการตลาด ว่า "ความจริงท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ มีเจตนาช่วยชาวนาด้วยใจบริสุทธ์ ไม่เคยคิดเรื่องหาผลประโยชน์ทางการเมืองแต่อย่างใด ในโอกาสขึ้นปีใหม่ท่านก็ซื้อข้าวจากชาวนามาเป็นของขวัญ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ช่วยชาวนา โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำเช่นนี้ ไม่ใช่การตลาดการเมืองอะไร แต่เป็นเจตนาที่จะช่วยชาวนา ช่วยเหลือประชาชนตามกำลังของแต่ละคน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ดร.ทักษิณ ท่านก็เห็นดีด้วยจึงร่วมสนับสนุน ตนเชื่อว่าประชาชนที่มองเรื่องนี้อย่างใจยุติธรรม จะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนา จึงไม่อยากให้นายวัชระ มองทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมืองไปเสียหมด และไม่ควร มีใครมาหาประโยชน์ทางการเมือง หรือต้องชิงธงนำ ใครทำก่อนทำหลัง ใครได้ใครเสีย ซึ่งถ้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือใครในพรรคประชาธิปัตย์ จะลุกขึ้นมาช่วยชาวนาทำโครงการลักษณะแบบนี้ ก็ยิ่งจะเป็นการดี เพราะจะได้เห็นว่าทั้งสังคมได้ช่วยชาวนาคนละไม้คนละมือ ดังนั้นจึงไม่ใช่การตลาดทางการเมือง แต่เป็นการหาตลาดให้ชาวนา และคนที่มีใจเป็นธรรมและมองโลกในแง่ดีคงเข้าใจ"
ประมวลภาพ บรรยากาศงานพระราชทานเพลิงศพ "สุพัตรา มีนชัยนันท์"
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพนางสุพัตรา มีนชัยนันท์ (มารดานายวิชาญ มีนชัยนันท์) ที่วัดบำเพ็ญเหนือ โดยมีแกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทย รวมทั้งประชาชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก
"เพื่อไทย" ติงกรธ.-พ.ร.ป.พรรคการเมืองจำกัดสิทธิ์ประชาชน
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 40 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังยืนยันที่จะคงโทษประหารชีวิต ในความผิดฐาน ซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งราชการ ว่า ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะคงไม่มี กรธ. คนไหน คิดจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลงสมัคร รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เพราะเหตุว่ามีแต่ในมาตรา 44 และมาตรา 105 ของ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามร่างของ กรธ. เท่านั้น ที่กำหนดความผิดฐาน ซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งข้าราชการประจำ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต เพราะฉะนั้นจึงนำกฎหมายนี้ไปใช้บังคับกับบุคคลอื่นที่ทำการซื้อขายตำแหน่งเช่นเดียวกันแต่ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี รัฐมนตรี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. (นายกฯคนนอก) จึงเป็นการตรากฎหมายขึ้นเพื่อใช้บังคับแก่คดีใด คดีหนึ่ง กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะ ถือว่าเป็นการตรากฎหมายที่ขัด หลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง นั่นเป็นประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง โทษฐานซื้อขายตำแหน่งเป็นข้อหาที่ครอบจักรวาลและค่อนข้างเป็นนามธรรมซึ่งจับต้องได้ยาก ดังนั้น จึงง่ายแก่การกล่าวหาและสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้ง ทำลาย หรือใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือดิสเครดิตคู่แข่งขันในตำแหน่งต่างๆ ทั้งในทางการเมืองหรือตำแหน่งราชการ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ตัดสินคดีความ ซึ่งถึงแม้จะใช้บังคับกฎหมายหรือวินิจฉัยกฎหมายอย่างเที่ยงธรรมและปราศจากอคติใดๆ ก็ตาม ก็ยากที่จะอำนวย ความยุติธรรมได้เต็มร้อย เพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจอย่างเดียวเพราะไม่มีใครในโลกที่จะรู้ได้ว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่? และถ้าในภายหลังมีหลักฐานและความเป็นจริงเป็นที่ประจักษ์ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ถามว่า ผู้ที่ทำให้เขาถูกประหารชีวิต รวมทั้งผู้เขียนกฎหมายฉบับนี้ จะรับผิดชอบอะไรไหม? ที่ร้ายกว่านั้นจะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ที่จะบอกว่าผู้ใช้บังคับกฎหมายและผู้ตัดสินในคดีซื้อขายตำแหน่งจะไม่ใช้ “ดุลพินิจตามอำเภอใจ”
ประการที่สาม ในเมื่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง และยังระบุด้วยว่าเมื่อใดก็ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเมื่อนั้น ก็ต้องพ้นจากสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้น การเขียนกฎหมายเพื่อเอาผิดกับสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต จึงเท่ากับไม่ให้เกียรติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ไม่ให้เกียรติประชาชนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งและที่สำคัญไม่ให้เกียรติบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ประการที่สี่ กรธ. ต้องไม่ลืมว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองและการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองถือเป็นเสรีภาพของบุคคล ไม่ว่าจะตามรัฐธรรมนูญหรือตามหลักประชาธิปไตยสากล เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับจึงต้องเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพดังกล่าว ไม่ใช่ออกมาจำกัดหรือสกัดกั้นการใช้เสรีภาพของประชาชน เพราะการออกกฎหมายเช่นนี้ เท่ากับ เป็นการลิดรอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุเพียงแค่ว่าเขาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้น
และประการสุดท้าย การตรากฎหมายเช่นนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 คือ นอกจากจะขัดต่อหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ เพราะเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับและประชาชนรับรู้ถึงสาระสำคัญและบทกำหนดโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุแล้ว คงไม่มีใครอยากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแน่ ดังนั้น การที่ กรธ. ระบุไว้ในมาตรา 32 ว่าภายในหนึ่งปี พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน สาขาพรรคแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกในพื้นที่ไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน และต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนภายในสี่ปี จึงอยากจะถาม กรธ. ว่า ฝันไป หรือเปล่า?
วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"สุรพงษ์" แนะรัฐฟังพลังเสียงโซเชียลฯ-ห่วงปัญหาละเมิดสิทธิ์ประชาชน
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "การละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้อื่น และการไม่เคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน การล่วงละเมิดหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นับว่าเป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ในบ้านเรา องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกก็ได้ออกมาท้วงติงและแสดงความห่วงใย ข้อกังวลต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเราในสายตาประชาคมโลกไม่ดีเอาเสียเลย ยิ่งรัฐบาล คสช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และบางครั้งท่านนายกฯประยุทธ์ ก็คิดเอาเหมาเองว่ารัฐบาลของท่านมาโดยความเห็นชอบของประชาชน ที่มอบหมายให้ท่านมาบริหารประเทศ ก็ไม่ว่ากันหรอก แต่สังคมโลกเขารู้ว่ารัฐบาล คสช. มีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งนี่คือจุดอ่อนของรัฐบาลนี้ที่ทำให้การบริหารงานไม่เป็นที่ยอมรับในภาพกว้าง วันนี้ก็ต้องขอเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ควรรับฟังข้อทักท้วงของทั้งสื่อมวลชน และประชาชนผู้ใช้ Social Media ที่ออกมาเรียกร้องในการตรากฎหมายของ สนช. ที่จะส่งผลกระทบในการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพ และปิดกั้นเนื้อหาสาระต่างๆของผู้ใช้ข้อมูลข่าวสาร และทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน และเกิดความแตกแยกทางความคิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งหลักการในการตรากฎหมายนั้นควรต้องคำนึงถึงทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไปพร้อมๆกันด้วย ไม่ใช่คิดว่าจะใช้พวกมากลากไป หรือการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จไม่ฟังเสียงประชาชนเลย เร่งรีบให้กฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติเพื่อหวังทำลายสถิติว่า สนช. ชุดนี้มีผลงานมากที่สุด ออกกฎหมายได้รวดเร็วเป็นจำนวนมาก ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดเคยทำได้ทำนองนั้น แต่กฎหมายที่ดีควรมีคุณภาพและต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน ยึดมั่นในหลักความเป็นธรรม และเคารพในสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกันด้วย"
วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-สมชาย" มอบข้าวเป็นของขวัญ-สวัสดีปีใหม่ 2560
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 3 อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี - "ปีใหม่นี้ ผมขออุดหนุนผลผลิตของชาวนาไทย เพื่อส่งความสุขให้กับพี่น้องชาวไทยครับ พี่น้องชาวนาไทยต้องเสียสละด้วยการทำงานหนักมาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่คุณภาพชีวิตของชาวนาไทยกลับยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร จึงเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนควรต้องช่วยกันใส่ใจดูแล ในขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้ชาวนาชาวไร่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดรายได้ กำลังซื้อและเศรษฐกิจจึงซบเซาไปด้วย ผมเห็นความตั้งใจที่ดีของนายกฯปูในการรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงและนำมาขายให้แก่ผู้บริโภค เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนา ผมอยากให้คนไทยได้ช่วยกันบริโภคข้าวจากชาวนาไทยด้วยกัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพวกเขา และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปีแห่งความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สุดท้ายนี้ผมขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จในทุกด้าน และเป็นกำลังใจให้กันและกันในการฝ่าฟันทุกอุปสรรค สวัสดีปีใหม่ครับ"
ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี - "ปีใหม่นี้ ผมขออุดหนุนผลผลิตของชาวนาไทย เพื่อส่งความสุขให้กับพี่น้องชาวไทยครับ พี่น้องชาวนาไทยต้องเสียสละด้วยการทำงานหนักมาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่คุณภาพชีวิตของชาวนาไทยกลับยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร จึงเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนควรต้องช่วยกันใส่ใจดูแล ในขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้ชาวนาชาวไร่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดรายได้ กำลังซื้อและเศรษฐกิจจึงซบเซาไปด้วย ผมเห็นความตั้งใจที่ดีของนายกฯปูในการรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงและนำมาขายให้แก่ผู้บริโภค เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนา ผมอยากให้คนไทยได้ช่วยกันบริโภคข้าวจากชาวนาไทยด้วยกัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพวกเขา และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปีแห่งความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สุดท้ายนี้ผมขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จในทุกด้าน และเป็นกำลังใจให้กันและกันในการฝ่าฟันทุกอุปสรรค สวัสดีปีใหม่ครับ"
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี - "การช่วยชาวนานอกจากการซื้อข้าวและการบริโภคให้มากขึ้นแล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่งก็คือการนำข้าวมาเป็นของขวัญปีใหม่เพื่อส่งมอบความสุขให้กันและกัน
เพราะฉะนั้นของขวัญปีใหม่ปีนี้ จึงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากข้าวจากชาวนาโดยตรงค่ะ
ดิฉันจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์อุดหนุนข้าวของพี่น้องชาวนา และเพื่อเป็นการส่งเสริมสินค้าไทย ด้วยการมอบข้าวเป็นของขวัญปีใหม่ 2560 ค่ะ"
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี - "สวัสดีปีใหม่ 2560 ผมขอมอบให้ด้วยใจ ให้ข้าวอยู่คู่ชีวิตคนไทยตลอดไปครับ ในโอกาสปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ขอให้ทุกท่านประสบแต่ความสุข และสมหวังในสิ่งที่ตั้งใจปรารถนาไว้ทุกประการ"
'สุดารัตน์' นำพรรคเพื่อไทย เจ้าภาพสวดพระอภิธรรม 'สุพัตรา มีนชัยนันท์'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นำสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าภาพและร่วมฟังสวดพระอภิธรรม "นางสุพัตรา มีนชัยนันท์" (มารดานายวิชาญ มีนชัยนันท์) ซึ่งถึงแก่กรรม สิริอายุรวม 82 ปี ณ วัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี
วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559
เยาวชนร้องรัฐทบทวนพรบ.คอมฯ แนะนายกฯ-สนช. ฟังเสียงประชาชน
เยาวชนรวมตัวแสดงจุดยืนคัดค้านร่างฯพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พร้อมเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้รัฐฟังเสียงประชาชน ทบทวน/ยกเลิก ร่างฯพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ โดยมีสื่อมวลชนไทย-ต่างประเทศเดินทางมาทำข่าวเป็นจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงาน จากบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน ว่า นางสาวอ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ ในนามกลุ่ม FIST : Free Internet Society of Thailand ระบุว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าพื้นที่สื่อโซเชียลมีเดีย กำลังโดนคุกคาม จึงต้องมาแสดงออกเชิงรูปธรรมนอกสื่อโซเชียลมีเดีย โดยต้องการให้ สนช. ทบทวนการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์อีกครั้งและอยากให้ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ขณะเดียวกัน อยากให้ สนช.รับทราบว่าเสียงของประชาชนยังมีความหมายอยู่ แม้ สนช.จะมี 168 เสียง แต่ยังมีประชาชน 360,000 เสียง หรือประชาชนอีกเป็นจำนวนมากในประเทศนี้ที่มีสิทธิ์มีเสียง จึงอยากให้รับฟังเสียงของประชาชน ทั้งนี้ มองว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว ยังมีความคลุมเครือในอนาคตอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีรับฟังเสียงของประชาชน
วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"สุรพงษ์" แนะรัฐฟังเสียงประชาชน-ทบทวนพ.ร.บ.คอมฯ
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "นี่ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน และถ้าสภาฯจะออกกฎหมายใดขึ้นมาและถัาปรากฎว่ามีประชาชนเข้าชื่อคัดค้านกฎหมายกว่า 3 แสนคน ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ยิ่งกว่าเหมือนจิ้งจกทักเสียอีก ในฐานะที่ผมเคยมีส่วนร่วมยกร่างพรบ. คอมพิวเตอร์มาในอดีตในสมัยรัฐบาลชุดก่อนๆ ก็ต้องขอบอกว่าวิวัฒนาการ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านไอทีหรือในยุคดิจิตอลนั้นมันเป็นไปอย่างรวดเร็วมากๆและมีความหลากหลาย คนที่คิดจะยกร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จะต้องมีวิสัยทัศน์และควรตามทันกับพัฒนาการด้าน ซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชั่นให้ทัน และต้องเปิดใจกว้างที่จะต้องยอมรับในหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนและเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน และคำนึงถึงการใช้แอพฯของผู้ใช้จากทั่วโลกด้วยเพราะทุกวันนี้เราอาศัยอยู่ในโลกที่ไร้พรมแดน เป็นโลกที่เปิดกว้างจึงอยากขอให้สนช. รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนที่เข้าชื่อกันให้สนช. ทบทวน พรบ. คอมพิวเตอร์ ในครั้งนี้เอาไว้ก่อนด้วย ไม่ควรรีบเร่งที่จะต้องผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปให้ได้ และการเปิดรับฟังข้อท้วงติงและชี้แจงประเด็นที่ประชาชนมีข้อกังขา ข้อสงสัยให้เกิดความกระจ่างชัดเจนก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด และสนช. ก็จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ก็น่าจะดี ไม่ควรใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับการผ่านร่างพรบ. พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพรบ. อื่นๆที่นั่งพิจารณาทำๆกันไปโดยไม่มีฝ่ายค้าน 3 วาระรวดวันเดียวจบ อะไรทำนองนั้น จนเป็นความเคยชินไปแล้ว ควรให้ประชาชนที่เข้าชื่อกันได้มีส่วนร่วม และได้มีโอกาสเสนอแนวคิดหรือมุมมองของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่เข้าใจในเนื้อหาสาระของตัวบทกฎหมายไดัดีกว่าและเป็นผู้ที่จะได้รับผลจากกฎหมายที่สนช. ยกร่างกันขึ้นมาโดยตรง และก็ควรเชิญตัวแทนกลุ่มประชาชนมาร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณายกร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ก็อยากขอให้รัฐบาลคสช. สั่งให้สนช. ชะลอพรบ. ฉบับนี้เอาไว้ก่อนก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้กฎหมายเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชนในอนาคต ไม่เห็นว่าจะต้องรีบเร่งกันไปถึงไหน ต้องรู้จักฟังคนอื่นเขาเอาไว้บ้าง อย่าคิดว่าพวกตนเองมา จากรัฐฏาธิปัตย์ คิดจะทำอะไรก็ได้
วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"ณัฐวุฒิ" แนะ สนช. ฟังเสียงประชาชน-ห่วงพ.ร.บ.คอมฯจำกัดสิทธิ์
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า "เท่าที่ติดตามการเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นตนเห็นว่า กลุ่มที่ดำเนินการไม่ได้มีปัญหาในประเด็นเรื่องความมั่นคง แต่หัวใจสำคัญคือ ข้อกังวลเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนกรณีซิงเกิลเกตเวย์ ซึ่งแกนนำกลุ่มคัดค้านนั้นหยิบยกสาระในหลายมาตรามาอธิบาย โดยส่วนตัวเห็นว่า นี่คือการคัดค้านอย่างเป็นอารยะ และไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง หากผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงก็ควรเปิดเวทีสาธารณะให้ตัวแทนของกลุ่มได้ซักถามและมีผู้รับผิดชอบมาอธิบาย แม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นความจำเป็นเร่งรีบ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเสียงเรียกร้องของประชาชนจำนวนมาก"
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า "นอกจากสาระของกฎหมายซึ่งมีความเห็นต่างกันแล้ว ข้อสังเกตุอีกประเด็นคือ การทำหน้าที่ของสนช. ถ้าเป็นสภาฯ จากการเลือกตั้งเรื่องแบบนี้ฝ่ายตรวจสอบจะไม่เพิกเฉย อาจมีการตั้งกระทู้ถามหรือแสดงบทบาทอื่นๆ ในฐานะตัวแทนประชาชนให้ฝ่ายบริหารต้องอธิบาย แต่จนถึงขณะนี้สนช.ยังเงียบ และเป็นไปได้ว่าวันนำเข้าสภาฯ ก็จะเฉย เพราะท่าทีของผู้มีอำนาจเป็นเอกภาพว่าจะเอาให้ได้ สนช.ที่อยู่บนเรือแป๊ะก็ต้องตามใจแป๊ะ เข้าทำนองได้หมดถ้าแป๊ะสดชื่น ทั้งนี้ สาระของกฎหมายฉบับนี้ลิดรอนเสรีภาพหรือไม่ยังถกเถียงกันอยู่ แต่โดยหลักการ อำนาจสถาปนากฎหมายคืออำนาจของประชาชน สนช.ไม่ได้มาจากอำนาจนี้ หากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตัวจริงหลายแสนคนเข้าชื่อคัดค้านแต่กลับไม่รับฟังก็หาความชอบธรรมไม่ได้"
"อนุสรณ์" ย้อน "ประยุทธ์" ดูกรธ.ไม่รู้วันเลือกตั้ง-สังคมจับตามีใบสั่ง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ระบุ ถ้าพรรคการเมืองยังไม่ปลดล็อกตัวเอง ไม่ร่วมมือ เอาแต่ได้ นอกจากจะไม่ปลดล็อก ยังจะใส่ล็อกเพิ่มอีกชั้น ว่า การพูดเช่นนี้เห็นชัดเลยว่า มุมมองของท่านที่มีต่อพรรคการเมืองเป็นเช่นไร พรรคการเมืองไม่ใช่หน่วยทหารในสังกัด ไม่ใช่หน่วยขึ้นตรงของท่าน นักการเมืองไม่ใช่พลทหารที่ท่านจะมาสั่งซ้ายหันขวาหันหรือสั่งให้ออกกำลังกายทุกวันพุธหรือสั่งให้ทำอะไรตามอำเภอใจได้ พรรคการเมือง คือสถาบันการเมืองที่เป็นคณะบุคคลซึ่งมีแนวความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องมารวมตัวกัน มีเป้าหมายสำคัญในการทำหน้าที่แทนประชาชนในการผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ การดูถูกพรรคการเมือง นักการเมืองเท่ากับดูถูกประชาชน แทนที่จะมาโยนบาปให้พรรคการเมือง ท่านลองมองย้อนกลับไป สารพัดเวทีที่กรธ.อ้างว่ารับฟังความเห็น ดูจากกำหนดการก็รู้ว่าตั้งใจไปฟังหรือไปพูด ที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะของใคร พรรคไหน ที่กรธ.มีการนำไปปรับแก้ที่มีให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง? ท่านจะมีพิมพ์เขียว จะมีใบสั่งหรือไม่ สังคมเขาสังเคราะห์จากแนวทางการดำเนินการที่ผ่านมาได้ ผลงานของท่านมันเป็นที่ประจักษ์ชัด อย่าตัดสินพรรคการเมืองเพียงแค่ใคร พรรคไหนเข้าร่วมพิธีกรรมที่ท่านจัดขึ้นหรือไม่ ถ้ารัฐบาล คสช. และกรธ.จริงใจกว่านี้ พรรคไหนจะปฏิเสธ ท่านเก่งขนาดคิดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ แต่เพียงแค่วันเลือกตั้ง หรือวันให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ท่านกลับไม่รู้ ที่ท่านบอกว่าพรรคการเมืองเอาแต่ได้ ท่านอย่าลืมสำรวจเครือข่ายพวกพ้องของท่านด้วยว่ามีวิธีคิดแบบนั้นหรือไม่?
วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"ณัฐวุฒิ" ติงพ.ร.บ.พรรคการเมือง-เปิดโอกาสการเมืองนอกระบบมีอำนาจ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "สภาพความเป็นจริงหลังรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกบังคับใช้นั้น จะมีพื้นที่ทางการเมือง 2 แบบคือ 1.พื้นที่ทางการเมืองโดยอำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านกระบวนการของพรรคการเมือง และ 2.พื้นที่ทางการเมืองโดยอำนาจพิเศษผ่านกระบวนการลากตั้งทั้งหลายตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลายประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในพ.ร.บ.พรรคการเมือง แต่อยากขยายภาพปัญหาให้ชัดขึ้นหากบังคับใช้คือ จะทำให้พื้นที่การเมืองในระบบแคบลง คนที่จะเข้าสู่สนามการเมืองผ่านการเลือกตั้ง หรือตั้งพรรคการเมืองเพื่อแสดงบทบาทในเรื่องที่สนใจเป็นการเฉพาะจะมากด้วยข้อจำกัด ทั้งเรื่องเงินค่าก่อตั้ง ค่าสมาชิก ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการทอดกฐินที่นายมีชัยกล่าวอ้าง เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนบังคับให้กรรมการต้องจ่ายเงินแบบการก่อตั้งพรรคการเมือง การหาจำนวนสมาชิก บทลงโทษต่างๆ และแรงเสียดทานจากสมมติฐานที่ถูกสร้างว่านักการเมืองเป็นพวกโกง ชั่วร้ายไปทั้งหมด"
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า "ผลที่สุดคือ คนที่สนใจการเมืองจะเกิดวิธีคิดว่า พื้นที่การเมืองนอกระบบเป็นเรื่องง่ายกว่า ดูดีกว่า และมีโอกาสเข้าสู่อำนาจอย่างปลอดภัยมากกว่า แม้กระทั่งกลุ่มสนับสนุน เช่น กลุ่มทุนทั้งหลายก็จะเห็นว่า ต้องยืนอยู่กับอำนาจนอกระบบ เพราะไม่มีกระบวนการตรวจสอบและบทลงโทษ คำถามคือ กติกาแบบนี้หรือที่จะนำการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ก็ไม่มีทางเลือกอื่น พรรคการเมืองทุกพรรคต้องปฏิรูปตัวเองและแสดงรูปธรรมที่ชัดเจนเรื่องหลักการประชาธิปไตย หากยังย่ำอยู่กับที่ ภายใน 5 ปีจะหาที่ยืนไม่ได้ ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจนอกระบบ ซึ่งหมายถึงการเอาอำนาจของประชาชนไปยอมจำนนด้วย พรรคการเมืองไม่สามารถเป็นสถาบันได้ภายใต้กติกานี้ แต่จะเป็นได้โดยสำนึกทางการเมืองที่ถูกต้องของตัวนักการเมืองเอง"
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า "ผลที่สุดคือ คนที่สนใจการเมืองจะเกิดวิธีคิดว่า พื้นที่การเมืองนอกระบบเป็นเรื่องง่ายกว่า ดูดีกว่า และมีโอกาสเข้าสู่อำนาจอย่างปลอดภัยมากกว่า แม้กระทั่งกลุ่มสนับสนุน เช่น กลุ่มทุนทั้งหลายก็จะเห็นว่า ต้องยืนอยู่กับอำนาจนอกระบบ เพราะไม่มีกระบวนการตรวจสอบและบทลงโทษ คำถามคือ กติกาแบบนี้หรือที่จะนำการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ก็ไม่มีทางเลือกอื่น พรรคการเมืองทุกพรรคต้องปฏิรูปตัวเองและแสดงรูปธรรมที่ชัดเจนเรื่องหลักการประชาธิปไตย หากยังย่ำอยู่กับที่ ภายใน 5 ปีจะหาที่ยืนไม่ได้ ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจนอกระบบ ซึ่งหมายถึงการเอาอำนาจของประชาชนไปยอมจำนนด้วย พรรคการเมืองไม่สามารถเป็นสถาบันได้ภายใต้กติกานี้ แต่จะเป็นได้โดยสำนึกทางการเมืองที่ถูกต้องของตัวนักการเมืองเอง"
"ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนคดีจำนำข้าว-แนะกรธ.เปิดกว้าง ฟังความเห็นประชาชน
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าพรรคเพื่อไทยยินดีให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ของประชาชน พร้อมขอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดกว้างเนื้อหาให้ประชาชนได้รับทราบ และรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะไม่เข้าร่วมเวทีรับฟังและชี้แจงความคิดเห็นของ กรธ. ต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ชี้แจงว่าไม่มีเจตนาสร้างความขัดแย้ง หรือไม่ให้ความร่วมมือ แต่ กรธ. ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล และสิ่งที่เป็นกติการ่วมกัน ซึ่งพรรคการเมืองก็จะต้องแสดงจุดยืนที่มีความเห็นต่างและข้อดีข้อเสียเพื่อให้ประชาชนรับรู้ซึ่งความเห็นต่างนี้ ก็เป็นเสน่ห์ของการเมือง ส่วนการตัดสินใจก็อยู่ที่ประชาชน
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังกล่าวถึง มาตรการช็อปช่วยชาติของรัฐบาลว่า ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องเสียภาษี แต่ขอให้รัฐบาลหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชนในระดับรากหญ้า หรือประชาชนที่ยังไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าด้วย
วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"นพดล" ติงร่างพรบ.พรรคการเมือง-โทษประหารขัดหลักนิติธรรม
นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "ร่าง พรบ. พรรคการเมืองที่กรธ. ยกร่างเบื้องต้นมีหลายแนวคิดที่น่ากังวล ตนเองขอหยิบยกให้สังคมช่วยพิจารณา ส่วน กรธ. และ สนช. จะแก้หรือไม่ ไม่ขอก้าวล่วง เพราะมุมมองต่างกัน ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดคือการเขียนกฎหมายที่มีโทษทางอาญาที่รุนแรงมาก แต่ถ้อยคำที่ใช้กว้างขวางและเปิดช่องให้ตีความไปได้หลายทาง ซึ่งอาจสร้างสนามกับระเบิดทางนิติศาสตร์โดยไม่ตั้งใจ เช่นการห้ามพรรคการเมืองส่งเสริมหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในมาตรา 43 ซึ่งคำว่า ก่อกวนหรือคุกคาม หรือ ความสงบเรียบร้อย มีความหมายกว้าง และนักกฎหมายตีความข้อเท็จจริงได้ต่างกัน ดังนั้น พรรคการเมืองยากที่จะรู้แนวทางปฏิบัติหรือบรรทัดฐานของการกระทำได้ อีกทั้งมาตรา 105 ในร่าง พรบ. พรรคการเมืองดังกล่าว กำหนดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตถ้าฝ่าฝืนมาตรา 43 ตนเห็นว่าการเขียนกฏหมายเช่นนี้มีปัญหาเพราะ 1. การกำหนดความผิดด้วยถ้อยคำที่กว้างมาก ขาดบรรทัดฐานในการปฏิบัติที่ชัดเจน และ 2. โทษที่กำหนดรุนแรงเกินควรไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ซึ่งน่าจะไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม"
"ตนขอหยิบยกให้ประชาชนได้เห็นบางตัวอย่างเท่านั้น เพื่อบันทึกไว้หากมีปัญหาในอนาคต สิ่งที่ประเทศไทยต้องการในขณะนี้คือการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง การกำหนดโทษรุนแรงจึงไม่ใช่ทางออก"
วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"ยิ่งลักษณ์" เยือนน่าน-ไทลื้อต้อนรับอบอุ่น
(12 ธันวาคม 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังอำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยได้ทักทายประชาชนชาวไทลื้อที่มารอต้อนรับอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ประชาชนชาวไทยลื้อได้มอบดอกไม้ ผ้าคลุม และกระเป๋าสะพาย ซึ่งเป็นผ้าพื้นถิ่นฝีมือของชาวจังหวัดน่านให้แก่นางสาวยิ่งลักษณ์ด้วย จากนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เข้ากราบองค์พระประธานภายในวิหารไทลื้อ ซึ่งเป็นวิหารเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี และได้เข้าสักการะหอเทพญารินทร์ เจ้าหลวงช้างเผือกงาเขียว ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์โอทอป OTOP บ้านร้องแง เลือกชมสินค้าพื้นบ้านโดยเฉพาะผ้าพื้นถิ่น ผ้าทอลายโบราณ พืชผักผลไม้ สดๆจากในพื้นที่ พร้อมชมนิทรรศการ และประวัติศาสตร์ของชาวไทลื้อด้วย
ต่อมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางไปนึ่งข้าวเหนียวร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญของการลงพื้นที่ครั้งนี้ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงมือตั้งแต่การคัดเลือกข้าวเหนียว การแช่ข้าวเหนียวโดยใช้น้ำในปริมาณ ที่เหมาะสม ล้างไห นำข้าวเหนียวที่เริ่มหมาดแล้วใส่ในไห ก่อนนำข้าวเหนียวดังกล่าวไปนึ่ง และตักข้าวเหนียวใส่กระติ๊บ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร ยืนยันว่า ได้ข้าวเหนียวที่หอมนุ่มพร้อมสำหรับการรับประทาน
"วัฒนา" ห่วงเศรษฐกิจดิ่ง-ติงรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
"จะดันทุรังไปใหน"
กรมสรรพากรรายงานการจัดเก็บภาษีของเดือนตุลาคม 2559 ว่าจัดเก็บได้ 113,608 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ 2,784 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.45 ต่ำกว่าเดือนตุลาคม 2558 จำนวน 1,104 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 ส่วนการแจกเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยตามมติ ครม. จำนวน 5.4 ล้านรายๆ ละ 1,500-3,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งกำหนดจะเริ่มแจก 1-30 ธันวาคม 2559 เพิ่งเริ่มแจกได้เมื่อวันที่ 9 โดยอ้างว่าการลงทะเบียนคนจนมีความซ้ำซ้อนและข้อมูลคลาดเคลื่อน จึงคาดการณ์เศรษฐกิจของไทยได้ว่ามีแต่จะแย่ลง เพราะแค่เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ทุกอย่างก็แย่กว่าที่คาดแล้ว ที่หนักกว่านั้นคือการแจกเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องถูกเลื่อนกำหนด ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการไร้ประสิทธิภาพและขาดความเป็นมืออาชีพของรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลที่วางยุทธศาสตร์ชาติให้คนไทยต้องเดินตามไปอีก 20 ปี
รัฐบาลนี้ใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนสูงมาก จนธนาคารโลกต้องออกมาเตือนว่ามีความเสี่ยงสูง แต่เศรษฐกิจกลับแย่ลงเพราะประชาชนและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในนโยบายและรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ นอกจากนี้ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกไม่ว่าจะเป็นแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกา ผลการลงประชามติของอิตาลี การเลือกตั้งของฝรั่งเศส การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรและอีกหลายประเทศที่มีแนวโน้มจะออกตาม เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น รวมถึงรูปแบบการค้าโลกที่หันมาเน้นนโยบายชาตินิยมอันจะทำให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น จึงเหลือวิธีเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังไม่เคยทำ คือกำหนดวันเวลาเลือกตั้งให้ชัดเจนและประกาศว่ากลุ่มคนที่ยึดอำนาจจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศอีก นักลงทุนจะเกิดความมั่นใจจากนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมา เข้าใจหรือยังว่าประเทศไม่ใช่กองทัพประชาชนไม่ใช่พลทหาร อำนาจตามมาตรา 44 ไม่สามารถสร้างความมั่นใจทำให้เกิดการบริโภคหรือเกิดการลงทุนได้ อย่าดันทุรังจนประเทศไม่เหลืออะไรเลย อันตรายครับ
วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"ภูมิธรรม" ยืนยันไม่ร่วมเวทีกรธ.-ติงมีชัยไม่ฟังความเห็น
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยระบุว่า "ขอให้มีความกล้า และพร้อมเผชิญหน้ารับผิดชอบกับผลที่ก่อไว้กับประเทศ
พรรคการเมืองคงไม่มีใครเข้าร่วมครับ
เพราะเท่าที่ดูการทำหน้าที่ของกรธ.แล้ว เข้าใจว่าไม่ได้สนใจที่จะฟังความเห็นผู้อื่นสักเท่าใด
ที่ผ่านมาการถามความเห็นทำแค่เป็นพิธีกรรมให้ดูดีและพรรคการเมืองก็ได้ส่งความเห็นต่างๆไปมากพอสมควรแต่ก็ไม่ได้รับการนำไปพิจารณาสักเท่าไร
เข้าใจว่ากรธ.และคุณมีชัยมีธงของตัวเองชัดเจนแล้วคือโร้ดแมปและความต้องการของคสช. ที่เหมือนผู้บังคับบัญชาของพวกเขาและใส่ใจเฉพาะความเห็นของพวกของตนเป็นสำคัญ
ถ้าใส่ใจ ต้องการความคิดเห็นของผู้อื่นที่มีความเห็นต่างจากพวกตนและคสช.จริงๆ วิธีการดึงการมีส่วนร่วมของผู้อื่น จะไม่เป็นเช่นนี้ จะตั้งใจและจริงใจ จริงจังที่จะระดมความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของคนอื่นมากกว่านี้
เราคงไม่ส่งใครไปและคงไม่เข้าร่วมส่งอะไรให้อีกแล้วเพราะไม่คิดว่าจะเกิดประโยชน์อะไร อยากทำอะไรเชิญคุณมีชัยและกรธ.ทำตามที่สบายใจ ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หวังว่าคุณมีชัยและคณะกรธ.ทั้งชุดจะมีความกล้าหาญและรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นกับประเทศ และ ควรเผชิญหน้ารับผิดชอบกับผลที่ได้ก่อให้ไว้กับประเทศนี้"
วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559
2 อดีตนายกฯ 'ยิ่งลักษณ์-สมชาย' เข้าร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระบรมมหาราชวัง
10 ธันวาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 19.00น. ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเข้าร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
"จาตุรนต์" ห่วงรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจประชาชน-ขอทุกฝ่ายร่วมกำหนดอนาคตประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
มาวันนี้เรากำลังจะมีรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำว่า 'ชั่วคราว' แต่ก็มีเนื้อหาเท่ากับเป็นเพียงรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพราะรับรองอำนาจสูงสุดของคณะบุคคล ต่อไปอีกเป็นปี และก็ยังมีบทกำหนดให้จำกัดอำนาจของประชาชนต่อไปอีกเป็นสิบๆปี
แต่ที่พูดมานี้ก็ไม่ใช่เป็นประเด็นใหม่เป็นเรื่องที่เคยพูดกันมาแล้วและร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว
แม้การลงประชามติที่ผ่านมาจะมีปัญหามากมายอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่มาถึงวันนี้จะวิจารณ์เรื่องเหล่านี้มากไปก็ออกจะเป็นเรื่องป่วยการ คงต้องร่วมกันศึกษาทำความเข้าใจและหาทางแก้ไขกันไปในอนาคตข้างหน้า
น่าดีใจที่วันรัฐธรรมนูญปีนี้ยังมีการเสวนา ยังมีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยที่น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย ก็หวังว่า สังคมไทยเราจะร่วมกันคิดร่วมกันหาทางทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเพื่อที่ในอนาคตข้างหน้าเวลาถึงวันรัฐธรรมนูญเราจะสามารถเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและถาวรได้จริงๆกันเสียที ถึงแม้ว่าอนาคตข้างหน้านั้นยังอยู่อีกไกลเพียงใดก็ตาม
"สุรพงษ์" แนะแก้ พรป.พรรคการเมือง-ห่วงพรรคเพื่อไทยถูกกลั่นแกล้ง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า "อ่านพรป. พรรคการเมืองที่ยกร่างโดยกรธ. แล้วก็รู้สึกเป็นห่วงหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอย่างยิ่ง เพราะท่านหัวหน้าพรรคอาจจะโดนโทษ ตามมาตรา 105 หรือ มาตรา 109 คือไม่ถูกประหารชีวิต ก็อาจจะถูกจำคุกตลอดชีวิต ก็เป็นได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พรรคเราก็มักจะถูกหรือโดนอะไรต่อมิอะไรที่พรรคการเมืองอื่นเขาไม่โดนกระทำกัน ยิ่งพรป. พรรคการเมืองเขียนแบบนี้ พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยจะอยู่ได้ยาก เพราะอย่างที่รู้ๆกัน พรรคเราไม่มีตัวช่วย โอกาสที่จะถูกกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย ป้ายสีก็จะมีสูงกว่าพรรคอื่นๆ นอกเสียจากว่าการบังคับใช้พรป. พรรคการเมืองจะยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ลำเอียง ไม่สองมาตรฐาน บังคับใช้กันอย่างตรงไปตรงมาและโอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะโดนยุบพรรคก็มีสูง ตามมาตรา 97 ที่กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องทำตามมาตรา 23 ที่กรธ. คุยนักคุยหนาว่าให้ทุกพรรคการเมืองลองศึกษาดูนั้นเมื่อดูแล้วก็รู้ได้ว่าพรรคเพื่อไทยก็คงถูกยุบพรรคเอาง่ายๆ กล่าวคือสมมุติว่าพรรคเพื่อไทยเสนอแนวคิดในการพัฒนาประเทศหรือแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ในแนวทางที่นักวิชาการ อาจารย์ อธิการบดีหรือผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายคิดไม่ได้ตามไม่ทัน อย่างเช่นเมื่อเราคิดนโยบาย 2 ล้านล้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศขึ้นมา แล้วก็มีการออกมา กล่าวหา โจมตีและไม่เห็นด้วยกับเรา จนในที่สุดกลายเป็นความผิดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วเมื่อรัฐบาลคสช. หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นทำใหม่กลับไม่ผิด นี่เป็นตัวอย่างที่ผมหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยมักจะโดนอะไรต่อมิอะไรที่คนอื่นเขาไม่โดนกันก็แค่นั้นเอง นี่ก็ต้องตั้งคำถามกันแบบตรงๆว่า เขียนกฎหมายลูกกันแบบนี้กรธ. มีเป้าหมายความต้องการอะไรอยู่ในใจกันแน่ และการใช้บทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตนั้นมันทำให้เราอาจถูกต่างชาติดูถูกดูแคลนในความไม่เป็นอารยะ ของบ้านเมืองเราก็เป็นได้ แก้เถอะครับยังทันอยู่"
วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"พันศักดิ์" ยืนยันจำนำข้าวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
“พันศักดิ์” ระบุ นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องจำเป็นของทุกรัฐบาล ไม่ต่างจาก จำนำข้าว ท่ี่ใช้เป็นมาตรการ อุ้มเศรษฐกิจในประเทศ "ย้ำ" การใช้งบฯความคุ้มค่าไม่อยู่ท่ี่กำไรขาดทุน ไม่เช่นนั้น การใช้จ่ายเพื่อความมั่นคง ไม่สามารถดำเนินการได้
วันนี้ (9 ธันวาคม 2559) นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้ให้การต่อองค์คณะผู้พิพากษา ณ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า เศรษฐกิจโลกในช่วง 7-8 ปีท่ี่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความผันผวนสูง และไทยพึ่งการส่งออกกว่า 60% เมื่อ จีดีพี ของประเทศผูกอยู่กับการส่งออก และเกิดความผันผวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศท่ี่เหลือก็ต้องจำเป็นประคับประคองให้อยู่ในระดับที่ไม่ให้เกิดผลกระทบ ดังนั้นรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ต้องทำเช่นนี้
โครงการรับจำนำข้าวจึงเป็นนโยบายที่จำเป็นในขณะนั้นเพื่อหิ้วระบบเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ให้ล้ม ถือเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและให้เกิดการสร้างสินทรัพย์ใหม่ หรือการลงทุน ทั้งภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ ประชาชนมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และย้อนกลับมาเป็นภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี การบริโภคในประเทศเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตมาก ก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบต่อเนื่อง เป็นการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อประชาชนในชนบท ที่ส่งผลดีต่อประชาชนในเมืองอีกด้วย
นายพันศักดิ์ตอบคำถามอัยการกรณีรายงานธนาคารโลกว่าเป็นรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่คำเตือนต่อรัฐบาล ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นความเสียหายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว แต่เป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และธนาคารโลกยังได้รายงานอีกว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลจะส่งผลให้เกิดการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศอีกด้วย
นายพันศักดิ์ยังได้กล่าวต่ออัยการถึงกรณีหนี้สาธารณะของประเทศอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลลงทุนลงไปจะพิจารณาความคุ้มค่าโครงการจากหนี้สาธารณะไม่ได้ แต่ต้องดูที่สถานะของประเทศทางด้านอื่นๆด้วยตั้งแต่ การจัดเก็บภาษี เงินออมของประชาชน เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ การขึ้นลงของค่าเงินบาท รวมไปถึงการบริหารหนี้สาธารณะว่าอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ยกตัวอย่างหนี้สาธารณะที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 1.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลในขณะนั้นก็ยังสามารถบริหารได้ นอกจากนั้นด้วยสภาพคล่องที่ดีจนล้นเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการนำเงินบางหลายแสนล้านบาทไปฝากกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกินดอกเบี้ยข้ามคืน สะท้อนว่าเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวดีมาก
นอกจากนี้นายพันศักดิ์ยังได้ระบุ “การใช้จ่ายของรัฐบาลทุกบัญชีมีเหตุผล เช่นการใช้จ่ายเพื่อคงไว้ซึ่งความสงบทำให้บ้านเมืองมีความน่าเชื่อถือก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจะได้เงินกลับคืนมาเท่าไรเช่นกัน”
"ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนคดีจำนำข้าว ยืนยันสู้เต็มที่
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเข้ารับฟังการไต่สวนในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยมีประชาชน เกษตรกร และชาวนา เดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตราบใดที่คดียังไม่สิ้นสุด ก็จะขอต่อสู้อย่างเต็มที่ ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีนั้น อยากให้ใช้โอกาสนี้ดูผลงานของทุกกระทรวงและดูความต้องการเรื่องเศรษฐกิจ ว่าประชาชนต้องการอะไร เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้มาซ้ำเติมประเทศเพราะปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสะท้อนไปยังคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ด้วย ขณะเดียวกันรู้สึกกังวลกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลูก โดยเฉพาะร่างประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งไม่อยากให้กีดกันกันพรรค และขอเปิดโอกาสให้ประชาชนควรมีส่วนร่วมมากกว่านี้
วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"สุรพงษ์" แนะ "ประยุทธ์" ปรับครม.-ห่วงรัฐบาลเวลาเหลือน้อย
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่พรรคเพื่อไทยว่า “ถ้าจะให้ดีก็อยากฝากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เมื่อต้องปรับครม.ท่านอาจจะคิดที่จะนำเอาคนที่มีฝีมือด้านเศรษฐกิจมาเป็นรองนายกฯดูแลด้านเศรษฐกิจแทนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มาแทนรัฐมนตรีคลัง หรือรัฐมนตรีพานิชย์ น่าจะทำให้เศรษฐกิจของบ้านเราดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะคิดเห็นอย่างไรบ้าง แต่ประเด็นที่ท่านคำนึงถึงคือ บางท่านที่มีความสามารถก็ไม่อยากเอาตนเองมาเสี่ยงกับระยะเวลาสั้นๆที่เหลืออยู่นี้ ตนก็คิดว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นต้องทำงานหนักขึ้น หากไม่ถูกกีดกันโดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งสิ่งนี้คือปัญหาใหญ่ที่จะทำให้รัฐบาลชุดใหม่ทำงานได้อย่างยากลำบาก สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์พูดอยู่ตลอดเวลาว่า ประเทศไทยเราจะต้องเป็นประชาธิปไตย ก็อยากฝากท่านว่า วันนี้เรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นานาชาติ สังคมโลกเขาเฝ้ามองอยู่ว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ คือมีรัฐธรรมนูญ และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นก็ขอฝากไว้ในดุลยพินิจของพล.อ.ประยุทธ์ด้วยซึ่งท่านรู้เรื่องนี้ดีที่สุด ความจริงก็คือความจริง"
วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"สุรพงษ์" แนะ "ประยุทธ์" เลิกหงุดหงิด สอน "มีชัย" คิดใหม่-ห่วงแผนยุทธศาสตร์พาชาติถอยหลัง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "ต้องฝากถึง ท่านนายกฯประยุทธ์ และ รองนายกฯ ประวิตร ว่าถึงวันนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครหรือนักการเมืองคนไหนออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน เราทุกคนต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าด้วยความปรองดอง สมานฉันท์ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน จึงใคร่ขอให้ทั้งสองท่านที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหยุดใช้อารมณ์หรือแสดงอาการหงุดหงิดใส่สื่อมวลชนหรือมากล่าวหาต่อว่าคนโน้นคนนี้ได้แล้ว ขอให้รัฐบาลสบายใจได้ ขอให้รัฐบาลเดินหน้าไปตามโรดแมป ที่พวกท่านได้กำหนดกันเอาไว้ ขอให้แม่น้ำ 5 สายทำงานให้สบายใจได้ ขอให้เราได้มีกฎหมาย และ กติกา ที่เป็นธรรมกับทุกๆฝ่ายก็แล้วกัน บ้านเมืองและประเทศชาติเราจะต้องก้าวต่อไปข้างหน้า ด้วยความสงบและเรียบร้อย การทุจริต คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎรบังหลวงต้องหมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยกันเสียที ประชาชนต้องมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย สินค้าเกษตรต้องขายได้ราคา แรงงานไทยต้องมีงานทำ พูดง่ายๆว่าคนไทย ต้องมีกินมีใช้ ไม่อดอยากปากแห้ง และอยากให้พวกเราทุกสาขาอาชีพต้องหันหน้ามาช่วยกันทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองกันได้แล้ว ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องมาช่วยกันพัฒนาและปฎิรูปการทำงานในองค์กร และหน่วยงานต่างๆและปฎิรูปตนเองกันให้ได้เสียที เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยเรา แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการที่ประธานกรธ(มีชัย) ออกมาบอกว่าถ้ารัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจส่อผิดรัฐธรรมนูญ นั้น เพราะหากสมมุติว่าวิธีการคิดยุทธศาสตร์ของชาติ เกิดผิดพลาดหรือมันกำลังจะนำพาประเทศถอยหลังลงคลอง แล้วจะให้รัฐบาลชุดใหม่เดินตามแบบอย่างที่ผิดๆอย่างนั้นหรือ นี่ขนาดรัฐบาลชุดนี้เป็นต้นคิดวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและระดมสมองมาจากแม่น้ำ 4-5 สายรัฐบาลคสช. ก็บริหารบ้านเมืองมาเกือบ 3 ปี เศรษฐกิจประเทศยังถดถอยขนาดนี้และมีแนวโน้มที่ไม่ดีขึ้นเอาเสียเลย รายได้ประชากรก็ลดลง ประชาชนก็ทะยอยตกงาน สินค้าเกษตรราคาก็ตกต่ำแก้ไขไม่ได้ และรัฐบาลชุดนี้ก็ทำเป็นแค่การแจกเงินให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้คนหยุดงานแล้วท่องเที่ยวช่วยกันใช้เงิน แล้วแบบนี้ถ้าจะให้เดินตามก้นกัน มันจะไม่พากันลงเหวกันหมดทั้งประเทศหรืออย่างไร แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีที่รัฐบาลชุดนี้วางไว้และใช้มาร่วม 3 ปี ยังไม่เอาไหนเลย แล้วเหลืออีก 2 ปีจะครบ 5 ปี ถามกันตรงๆว่ามันจะแก้เศรษฐกิจได้จริงหรือ? ก็ขอฝากให้พวกท่านกลับไปลองคิดไตร่ตรองกันดูเสียใหม่จะดีหรือไม่?
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)