วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559
"วัฒนา" ติงรัฐอุ้มยาง สูญ6พันล้าน หวั่นเสียค่าโง่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
"แทรกแซงยางพารา ค่าโง่รอบสอง"
ผมเห็นมติ ครม อนุมัติกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราตามที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอแล้ว ยิ่งสงสารพี่น้องชาวสวนยางภาคใต้ที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้มาตั้งแต่ต้น ถ้าจำกันได้ผู้รับผิดชอบที่เสนอโครงการครั้งนี้ คือคนเดียวกับที่ ครม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 เคยอนุมัติเงินจำนวน 6,000 ล้านบาท ให้ไปแทรกแซงยางพาราในโครงการมูลภัณฑ์กันชนและเป็นคนเดียวกับเจ้าของวลีที่เคยบอกว่า การผลักดันราคายางไปที่กิโลกรัมละ 80 บาท เป็นเรื่อง "กล้วยๆ" ท้ายสุดประชาชนต้องเสียเงินงบประมาณแผ่นดินไป 6,000 ล้านบาทเพื่อแลกกับราคายางที่ไหลลงมาเป็น 4-5 กิโลร้อย ผมถือว่านั่นคือการเสียค่าโง่รอบแรก
สำหรับมาตรการตามมติ ครม เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ดูเหมือนจะช่วยชาวสวนยางทั้งประเทศ เพราะไม่ได้ระบุแหล่งผลิตแต่เอาเข้าจริงคือการช่วยชาวสวนยางภาคใต้ เพราะยางในภาคอื่นๆ อยู่ในช่วงที่เรียกว่า "ปิดกรีด" คงเหลือเพียงยางในภาคใต้เท่านั้น แต่พี่น้องชาวสวนยางภาคใต้รายย่อยก็ยังคงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา มีมติให้รับซื้อยางแผ่นไม่รมควันชั้น 3 หรือยางแผ่นดิบในราคากิโลกรัมละ 45 บาท เบื้องต้นจำนวน 100,000 ตัน ชาวสวนยางที่แท้จริงผลิตและขายน้ำยางกับขี้ยางหรือยางก้อนเป็นรายวัน ผู้ผลิตยางแผ่นจึงมีเฉพาะนายทุนหรือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ที่สำคัญขณะนี้ยางอยู่ในมือพ่อค้าหมดแล้ว ท่านผู้นำเคยตำหนิสื่ออย่าติทหารทำงานไม่เป็น ครั้งแรกสูญเงินไป 6,000 ล้านบาทได้ยางราคา 4-5 กิโลร้อย มาตรการคราวนี้ชาวสวนยางรายย่อยก็ไม่ได้ประโยชน์อีก ท่านคงต้องออกคำสั่งตามมาตรา 44 กำหนดให้ถือว่าแบบนี้คือ "การทำงานเป็น"
ถึงแม้รัฐบาลอาจจะมีข้ออ้างว่าการรับซื้อยางแผ่นดิบเพื่อต้องการให้น้ำยางราคาขึ้นก็ตาม แต่เป็นมาตรการที่เลื่อนลอย เพราะมิได้กำหนดราคานำตลาด (indicative price) สำหรับน้ำยางที่ชาวสวนยางควรขายได้ รวมทั้งมิได้มีมาตรการใดๆ มาบังคับให้พ่อค้าต้องรับซื้อน้ำยางจากชาวสวนยางในราคานำตลาดที่รัฐบาลกำหนด รัฐบาลยังไม่มีกลไกไปรับซื้อถึงมือชาวสวนยางที่กรีดยางรายวันและไม่มีที่เก็บสต๊อก รวมถึงไม่มีกลไกที่จะจ่ายเงินตรงถึงมือชาวสวนยางเหมือนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ ธกส เป็นผู้จ่ายเงินผ่านบัญชีให้กับชาวนาโดยตรง ท้ายสุดชาวสวนยางก็ต้องยอมขายน้ำยางให้กับพ่อค้าและถูกกดราคาเหมือนเดิม เพราะน้ำยางไม่สามารถเก็บไว้นานได้ เปิดโอกาสให้พ่อค้าหรือนายทุนเป็นผู้เก็บสต๊อคยางราคาถูกไว้เรียกร้องเอาจากรัฐบาลในรอบต่อไป ส่วน 3 หน่วยงานหลักที่รัฐบาลให้ไปรับซื้อคือ อคส คสช และการยางแห่งประเทศไทย นั้น ผมถามจริงๆ ว่าท่านจะให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปรับซื้อยางจริงๆ อย่างนั้นหรือ ผมเชื่อแล้วว่าทหารทำงานเป็นท่านไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อีก ที่ผ่านมาเกือบสองปีคนไทยคงซาบซึ้งแล้วว่า คสช ได้ทำงานให้กับประเทศนี้ประสบความสำเร็จมากเพียงใด
คงจำกันได้ว่าในช่วงที่ยางออกใหม่ๆ ที่พี่น้องชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนแต่ถูกรัฐบาลข่มขู่สารพัด จึงทำให้พี่น้องชาวสวนยางที่แท้จริงไม่กล้าเคลื่อนไหว ต้องยอมขายน้ำยางในราคาถูกๆ ให้พ่อค้าเป็นผู้เก็บสต๊อค ชาวสวนยางที่แท้จริงไม่มีโอกาสทราบเลยว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ ยกเว้นขาใหญ่ที่สามารถยกหูโทรหาบุคคลสำคัญของรัฐบาลได้ คนพวกนี้ภาษาตลาดหุ้นเค้าเรียกอินไซ้ด์เด้อ พี่น้องชาวสวนยางภาคใต้ของผมจึงเป็นคนที่น่าเห็นใจที่สุด อุตส่าห์ยอมเชื่อแกนนำยกพลมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เวลาเดือดร้อนไม่มีใครยอมช่วยแม้กระทั่งเชือกที่ผูกคอตายยังต้องซื้อเอง แถมความเดือดร้อนของพี่น้องยังกลายเป็นเครื่องมือทำมาหากิน สร้างความร่ำรวยให้กับอินไซ้ด์เด้อบางคนอีก แบบนี้เค้าเรียกว่าเสียค่าโง่รอบสอง บริหารได้ดีแบบนี้อย่าใช้บริการของเนติบริกรนิรโทษกรรมหนีการตรวจสอบก็แล้วกัน
วัฒนา เมืองสุข
17 มกราคม 2559
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น