วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559
"จาตุรนต์" หวั่นร่างฯรธน.ใหม่ นำสังคมไปสู่วิกฤติ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมรัฐธรรมนูญว่า ยังมีปัญหาในเชิงระบบโครงสร้างโดยรวมคือโดยมากการจะร่างรัฐธรรมนูญจะมองไปที่ประเด็นหลักการ และส่วนใหญ่ก็พยายามดูไปที่ประเด็นที่สำคัญ ตนคิดว่า การดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อมาถึงขั้นนี้ คงจะต้องเอาประเด็นสำคัญๆมาเชื่อมโยงกันแล้วจะทำให้เห็นโครงสร้างและระบบที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำลังจะสร้างขึ้น ซึ่งระบบที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะสร้างขึ้นเป็นระบบที่จะตัดอำนาจของประชาชนออกไป และให้บ้านเมืองอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมขององค์กรและบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งองค์กรและบุคคลดังกล่าวนี้มีจำนวนไม่น้อยที่จะเชื่อมโยงกับคสช. เช่น องค์กรอิสระหลายองค์กร ซึ่งกว่าจะถึงตอนที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้คงจะได้รับการแต่งตั้งจากคสช.แล้วเป็นส่วนใหญ่ และจะอยู่ในหน้าที่ต่อไป
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งไม่มีความหมาย และอำนาจของรัฐสภาก็จะถูกแบ่งไปเป็นของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่องค์กรทั้งหลายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้ง ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการกำกับ ควบคุม และกำหนดการดำรงอยู่ของรัฐบาล ก็จะทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอ่อนแออย่างมาก การเมืองไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ เงื่อนไขที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างไว้จะทำให้รัฐบาลบริหารงานอะไรไม่ได้ เพราะจะถูกกำกับโดยการร่วมกันกำกับขององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนี้ยังสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่วิกฤติ ส่งเสริมให้เกิดวิกฤติ คือเมื่อรัฐบาลอยู่ได้ยาก ล้มง่าย และการเลือกตั้งก็ถูกขัดขวางได้โดยง่าย จะเป็นแรงจูงใจให้คนคิดที่จะขัดขวางการเลือกตั้งโดยวิธีง่ายๆคือ พรรคการเมืองไม่ส่งสมัคร และรณรงค์โหวตโน
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ภาวะวิกฤติจะนำไปสู่การใช้ความมาตรา 7 โดยศาลรัฐธรรมนูญ และจะนำไปสู่การที่องค์กรและบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหลายจะมีอำนาจในการบริหารได้นาน ดังนั้น จะเป็นระบบที่ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่มีความหมายอะไรเลย เท่ากับว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยหลงเหลืออยู่ ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้สังคมไทยต้องมาตัดสินใจว่า จะต้องให้รัฐธรรมนูญนี้สักแต่ว่าผ่านไปเพื่อให้มีการเลือกตั้ง แล้วหวังว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น ต่างประเทศจะยอมรับ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย หรือต้องมายอมเสียเวลากันในการทำให้ร่างรับธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน และมาพูดกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรกับการร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นที่จะตามมาคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศเป็นที่ยอมรับโดยเร็ว หรือจะทำอย่างไรให้เกิดการเลือกตั้งที่มีความหมายโดยเร็ว
“ผมคิดว่า จากเนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ผู้สนใจทั้งหลาย ทั้งโดยบุคคล องค์กร และพรรคการเมืองต่างๆจะตั้งคำถามต่อการเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านในขั้นลงประชามติหรือไม่เร็วขึ้นกว่าเดิม คือ เมื่อมีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วก็เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ฝ่ายต่างๆที่สนใจปัญหาบ้านเมืองจะต้องมาร่วมกันคิดอย่างจริงจัง ว่าจะเอาอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และมีความจำเป็นที่ใครที่เข้าในในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องรีบบอกประชาชนว่า ถ้ามีร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ที่หวังว่าจะให้มีการเลือกตั้งแล้วจะแก้ปัญหาได้ไม่เป็นจริงเลย” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า เขาไปร่างรัฐธรรมนูญแล้วปิดทางในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการที่กำหนดเงื่อนไขพิสดารว่าต้องได้เสียงจากทุกพรรคการเมือง หรือพรรคเล็กๆรวมกันอย่างน้อย 10% และต้องได้เสียงส่วนหนึ่งจากวุฒิสภาด้วย เท่ากับเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้เลย มีความหมายไม่ต่างกับการบัญญัติว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขไม่ได้ ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขให้สังคมไปสู่วิกฤติที่ไม่มีทางออกโดยสันติ หรือโดยระบบ ซึ่งจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวงมากสำหรับประเทศไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น