วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2559

“วัฒนา” ยืนยันจำนำข้าวช่วยชาวนา เพิ่มรายได้ประชาชน-ดูแลเกษตรกร ไม่ผิดกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

แพะทางการเมืองชื่อ "ยิ่งลักษณ์"

วันที่ 15 มกราคม 2559 จะเป็นวันที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เริ่มทำการไต่สวนคดีรับจำนำข้าวที่นายกยิ่งลักษณ์ถูก ป.ป.ช. กล่าวหาว่าดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน มีการกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกที่สูงกว่าราคาตามท้องตลาดเกินกว่าที่ควรคาดหมายได้ตามปกติ อันมีลักษณะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ก่อให้เกิดภาระรายจ่ายของรัฐและภาวะขาดทุนเป็นจำนวนมาก

ความจริงแล้วโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกเพื่อช่วยเหลือชาวนาอันเป็นนโยบายสาธารณะทางเศรษฐกิจตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติให้รัฐต้อง "คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด" มีผลเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรเกิดกำลังซื้อเพื่อให้เกิดการบริโภค จึงไม่ใช่การค้าขายโดยรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ

การตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดจึงเป็นความตั้งใจช่วยเหลือเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวนา แต่การระบายหรือการขายต้องเป็นไปตามราคาตลาด ที่อาจสูงหรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องกำไรหรือขาดทุนตามที่หลายฝ่ายพยายามบิดเบือน แต่อาจจะมีผลต่อรายรับรายจ่ายหรือเงินทุนหมุนเวียนของโครงการ

นโยบายดังกล่าวคือนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุกโครงการจะต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ ส่วนจะมีความคุ้มค่าหรือไม่จะมีความเห็นที่แตกต่างกันเสมอ เช่นเดียวกันกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น โครงการเช็คช่วยชาติของรัฐบาลอภิสิทธิ์ หรือโครงการช็อปปิ้งเพื่อชาติ ซื้อสินค้าก่อนสิ้นปีหักลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาทของรัฐบาลนี้ ที่มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ฝ่ายหนึ่งอาจเห็นว่าคุ้มค่าในขณะที่อีกฝ่ายอาจเห็นว่ามีแต่ความเสียหายที่ไม่ควรทำเลยก็ได้

ความเห็นที่เป็นนโยบายจึงมักอยู่ในกระบวนการนำเสนอต่อประชาชนในรูปแบบการหาเสียง เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้เลือกมากกว่าเป็นการตัดสินว่าผิดหรือถูกซึ่งเป็นกระบวนการปกติของระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้โครงการที่มุ่งช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ก็ไม่เคยถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายมาก่อน

ส่วนข้อกล่าวหาว่ามีความเสียหายหรือเกิดการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการโกงความชื้น โกงน้ำหนักข้าว มีการสวมสิทธิ์ นำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ มีความเสียหายจากการเก็บรักษา ข้าวเสื่อมสภาพ การระบายทำได้ล่าช้าหรือมีการทุจริตในการระบาย ล้วนเป็นข้อกล่าวหาในเรื่องงานด้านปฏิบัติการหรือการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ความผิดพลาดในการกำหนดนโยบาย (failure in policy)

ดังนั้น เมื่อมีข้อทักท้วงจากหลายฝ่ายรัฐบาลจึงเลือกใช้มาตรการทั้งหลายตามที่จำเป็น เพื่อป้องกันความเสียหายหรือป้องกันการทุจริตแทนการยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายซึ่งไม่มีความผิดพลาด โครงการที่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจจึงต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวม ไม่อาจพิจารณาความคุ้มค่าหรือความเสียหายของโครงการที่ค่าใช้จ่ายของรัฐตามลำพัง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรวม 5 ฤดูกาลผลิต จ่ายเงินให้กับชาวนาโดย ธกส. เป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรงจำนวน 878,209 ล้านบาท โครงการประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวนามีกำลังซื้อส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม มีหลักฐานแสดงความสำเร็จของโครงการในระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำในปีงบประมาณ 2555 - 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้าในปีงบประมาณ 2552-2554 ที่ใช้นโยบายประกันราคา ดังนี้

(1) รายได้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2555-2557 เก็บได้เฉลี่ยปีละ 1,793,759.25 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2552-2554 เก็บได้เฉลี่ยปีละ 1,306,693.22 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 397,057.03 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.38 ต่อปี

(2) รายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2555-2557 เก็บได้เฉลี่ยปีละ 678,781.11 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2552-2554 เก็บได้เฉลี่ยปีละ 503,920.75 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 174,860.36 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.70 ต่อปี

(3) ยอดเงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือเงินออมภาครัฐ ภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาในปี 2554 จำนวน 7,990,823 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2557 มียอดเงินฝากรวม 12,010,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,019,547 ล้านบาท หรือประเทศมีเงินออมเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.30

(4) อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 46.32 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 50 อันเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย โดยมีรายได้ประชาชาติหรือ GDP ของปี 2557 จำนวน 12,141,100 ล้านบาท ในขณะที่ GDP ของปี 2554 จำนวน 10,540,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,601,000 ล้านบาท หรือ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.81

ดังนั้น การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจึงอยู่ในกรอบของวินัยการเงินและการคลังทุกประการ กล่าวคือ รัฐสามารถรักษาดุลการคลัง โดยดูแลให้รายจ่ายสาธารณะและข้อผูกพันทางการเงินของรัฐบาลทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับขีดความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาล ทำให้รัฐมีเสถียรภาพทางการคลัง

ข้อกล่าวหาที่ว่าการดำเนินโครงการมีผลขาดทุนสูงมาก ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดเชยผลการขาดทุน ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเป็นความเท็จทั้งสิ้น

วัฒนา เมืองสุข
3 มกราคม 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น