วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

“ยรรยง” เร่งรัฐแก้ราคาข้าวตกต่ำ แนะหยุดโทษกลไกตลาด-สร้างมายาคติ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอให้หยุดสร้าง "มายาคติไทยเป็นแชมป์โลกส่งออกข้าว" และตอบคำถามว่าไทยเป็นแชมป์แล้วทำไมราคาข้าวจึงตกต่ำชาวนาจึงยากจนติดหนี้มากขึ้นเหมือนถูกน็อคยกแรก เกิดภาวะเงินฝืดทั้งปี เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน แล้วใครกันแน่ที่ได้ถ้วยและเงินรางวัลแชมป์ ?

เมื่อวานนี้ ( 7 ม.ค.) ผมเห็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องข้าวและชาวนา 2 เรื่อง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง คือข่าวแรกผู้บริหารภาครัฐบาลและภาคเอกชนต่างตื่นเต้นดีใจออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าไทยจะส่งออกข้าวได้นับ 10 ล้านตันและกำลังจะทวงแชมป์โลกส่งออกข้าวคืนจากอินเดีย ซึ่งตรงข้ามกับอีกข่าวหนึ่งที่เป็นเด็กลูกชาวนาพิษณุโลกที่มาร่วมงานโปรโมทงานวันเด็กที่พูดถึงพ่อแม่ที่เป็นชาวนาที่มีความทุกข์เดือดร้อนเพราะถูกห้ามไม่ให้ทำนาจึงขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัวจึงอ้อนวอนให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยรีบด่วน

ผมคิดว่าผู้สร้าง "มายาคติไทยเป็นแชมป์โลกส่งออกข้าว" มีความฉลาดหลักแหลมมากเพราะสามารถสร้างอารมณ์ร่วมของคนในชาติว่าเราต้องเป็นแชมป์โลกและต้องรักษาแชมป์ไว้ให้ได้ จนทำให้สังคมมองข้ามความเป็นจริงอันแสนขมขื่นว่านักมวยตัวจริงคือ ชาวนาที่เป็นผู้ผลิตต้องลงทุนลงแรงไปจนหมดตัว แต่ถูกกดราคา (ชาวนาลงทุนตันละ 8,000-9,000 บาท แต่ขณะนี้ขายข้าวเปลือกได้ตันละ 6,500-7,500 บาท) จึงเหมือนโดนน็อคตั้งแต่ยกแรก

ส่วนผู้ที่โดนน็อคด้วยอีกคนหนึ่งก็คือ ประเทศชาติโดยส่วนรวม เพราะเมื่อขายข้าวหรือส่งออกข้าวในราคาต่ำ ก็ทำให้รายได้เข้าประเทศตกต่ำการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีก็ลดลง (ขณะนี้จีดีพีไทยขยายตัวเป็นอันดับ 10 คือ รั้งท้ายในอาเซียนในขณะที่เป็นแชมป์โลกส่งออกข้าวในเชิงปริมาณ) และยังส่งผลต่อเนื่องให้การหมุนเวียนของเศรษฐกิจลดต่ำลงมากจนเกิดภาวะเงินฝืด (ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดต่ำจนติดลบติดต่อกันเกินกว่า 10 เดือนแล้ว) เพราะชาวนาซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดกว่า 17 ล้านคนขาดกำลังซื้อ

เหตุผลที่ใช้อ้างเพื่อกดราคาชาวนาคือเราต้องทำเพื่อรักษาตำแหน่งแชมป์โลก เพื่อให้ไทยขายข้าวได้ปริมาณมากกว่าอินเดียหรือเวียดนาม เราต้องลดราคาข้าวเพื่อแข่งขันราคากับประเทศเหล่านี้ ทั้งๆที่ชาวนาไทยต้องรับภาระต้นทุนเองเกือบทั้งหมดเช่นค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยว และค่าเช่านา เป็นต้น แต่ชาวนาเวียดนามและอินเดียได้รับการช่วยเหลืออุดหนุน (subsidize)จากรัฐบาลในเรื่องเหล่านี้ทั้งทางตรงทางอ้อมเกือบทั้งหมด ในขณะที่ชาวนาไทยถูกผลักให้รับรับภาระเหล่านี้เองทั้งหมดรวมทั้งผลขาดทุนจากการส่งออกราคาต่ำเพื่อรักษาหน้าในฐานะแชมป์โลก

ถ้าดูตัวเลขรายได้ต่อหัวของชาวนาที่ต่ำมากในช่วงที่ไทยเป็นแชมป์ส่งออก เช่นช่วงปี 2550-2554 เกษตรกรชาวนามีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนคนละเพียง 1,000 บาทหรือต่อปีคนละ 12,000 บาทเท่านั้น น่าจะเป็นแชมป์โลกที่ยากจนและมีรายได้ต่ำที่สุดในโลก (ได้ดับเบิ้ลแชมป์ครอง 2 ตำแหน่งในคราวเดียวกัน) และชาวนาเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด ตรงกันข้ามกับช่วงที่ไทยไม่ได้เป็นแชมป์ส่งออกข้าว (ที่มีการกล่าวหาอย่างบิดเบือนว่าเพราะโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์)
ในช่วงปี 2555-2556 ที่เกษตรกรชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนดังจะเห็นได้จากยอดบัญชีเงินฝากของเกษตรกรใน ธกส.เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 71.32 คือ ในปี 2554 ที่อ้างว่าไทยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวมียอดบัญชีเงินฝากเกษตรกรจำนวน 146,358 ล้านบาท แต่ในปี 2556 ที่อ้างว่าไทยเสียแชมป์มียอดเงินฝากถึง 250,740ล้านบาท

ข้ออ้างที่ใช้เป็นข้อแก้ตัวและสร้างความชอบธรรมในการส่งออกข้าวราคาต่ำก็โยนให้เป็นเรื่องกลไกตลาด โดยหลีกเลี่ยงไม่ชี้แจงว่ากลไกตลาดข้าวเป็นอย่างไร มีการแข่งขันสมบูรณ์หรือไม่ ใครเป็นผู้กำหนดราคา ทำไมข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ส่วนใหญ่คือประมาณ 3,700 ล้านคนจึงมีราคาถูกกว่าน้ำดื่มหรือน้ำมันที่มีกระบวนการผลิตไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนและเสี่ยงเท่ากับการทำนาแต่อย่างใด

ถ้าวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาก็คงตอบได้ว่า มีผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการส่งออกข้าวราคาต่ำอยู่ 2 กลุ่มคือ 1. ผู้ส่งออกข้าว (ผมต้องขออภัยผู้ส่งออกข้าวที่มีคุณธรรมและเห็นใจชาวนาซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าให้ท่าน ขอให้เข้าใจว่าผมไม่ได้กล่าวหาว่าท่านทุจริตหรือเอาเปรียบชาวนา แต่ผมกำลังพยายามให้สังคมได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วกลไกตลาดข้าวไม่สมบูรณ์) ได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาข้าวที่รับซื้อจากชาวนาหรือโรงสี ถ้ารับซื้อราคาต่ำก็ได้กำไรมาก แต่แม้จะมีส่วนต่างน้อยถ้าส่งออกปริมาณมากก็ได้กำไรมาก (ขายเอาวอลลุ่มไม่ต้องออกแรงดันราคามาก) จึงต้องการให้ไทยเป็นแชมป์โลกส่งออกข้าวตลอดกาล

ผมขอสรุปแบบฟันธงว่าผู้ที่ได้รับถ้วยแชมป์และเงินรางวัลหรือผลประโยชน์จาก "มายาคติไทยเป็นแชมป์โลกส่งออกข้าว" คือ 1.ผู้ส่งออกข้าวและ 2.ผู้นำเข้าและผู้บริโภคข้าวในต่างประเทศที่ได้ซื้อข้าวคุณภาพดีราคาถูกจากประเทศไทย

ผมจึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้ใช้สติปัญญาเพื่อพิจารณาถอนตัวจากมายาคติดังกล่าวและเร่งรัดหาหนทางที่ถูกต้องเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวนาไทยของเราโดยเร็วเถอะครับ

ยรรยง พวงราช
9 มกราคม2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น