วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ถอดรหัสคำต่อคำ "ทักษิณ" เผยผ่าน อัลจาซีรา เตือน คสช. ห่วงประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ได้ออกอากาศบทสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใน Al Jazeera: Thaksin Shinawatra: Let Thailand return to democracy โดย กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน เรียบเรียงเนื้อหาเป็นภาษาไทย ดังนี้


Al Jazeera:  ขอบคุณมากครับที่มาร่วมรายการกับเราในวันนี้ ทั้งคุณ (ดร.ทักษิณ ชินวัตร) และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้อยู่ในสายตาของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในสมุดภาพที่สวยงามและบนปฏิทินที่แจกจ่ายไปทั่วประเทศ  ทำไมต้องเกิดขึ้นตอนนี้?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: ผมเลือกที่จะอยู่อย่างเงียบๆ เพื่อปล่อยให้รัฐบาลได้แก้ปัญหากันไป แต่ขณะที่เวลาผ่านมาปีครึ่งแล้ว แต่การปรองดองกลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง ขณะที่มีการกระทำต่างๆที่ส่งผลกระทบจนรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือเหตุผลที่แค่อยากออกมาบอกว่ารู้สึกเดือดร้อนจากคณะรัฐบาล

Al Jazeera:  ตลอดเวลาตั้งแต่หลังรัฐประหาร มีทั้งนักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรมออกมาต่อต้านเป็นจำนวนมากแต่ทั้งคุณและยิ่งลักษณ์ต่างเงียบ เพราะอะไร?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  เราอยากจะให้เวลาแก่คณะรัฐประหาร เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แต่ดูเหมือนว่าแนวทางแก้ปัญหาจะออกนอกลู่นอกทาง รัฐบาลไม่ได้ความคิดที่จะปรองดอง

Al Jazeera:   ดูเหมือนคุณก็ไม่ได้หวังว่ามันจะปรองดองได้?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  การปรองดองไม่เคยเกิดขึ้นจริง ครั้งแรกหากคุณจำได้  ตอนที่ทหารนั่งเรียงกันเป็นแถวเพื่อแถลงการทำรัฐประหาร สาเหตุที่ต้องยึดอำนาจการปกครองคือเพื่อสร้างความปรองดอง  ถ้าคุณลองย้อนกลับไปฟังว่าคสช.พูดอะไรในวันแรกเปรียบเทียบกับวันนี้ ผ่านมาปีครึ่งแล้ว ไม่มีการปรองดองใดๆเลย


Al Jazeera:  นี่คือการเริ่มต้นการตอบโต้ โดยชินวัตร?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: การพูดวันนี้ไม่ใช่การตอบโต้ ผมแค่ปรารถนาให้ประเทศกลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย ไม่ได้เลยออกไปสู่ความเป็นเผด็จการ

Al Jazeera:  ดูจากที่คุณสื่อสารกับมวลชนผู้สนับสนุนผ่านโซเชียลมีเดีย พูดในทำนองว่า “ปีนี้เตรียมตัวให้พร้อม” คุณหมายความว่าอย่างไร?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: การเลือกตั้ง

Al Jazeera: ปีนี้?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  หากสิ่งที่รัฐบาลทำ ทำให้ประชาชนพอใจได้ บริหารเศรษฐกิจประเทศให้เจริญเติบโตได้ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามาก สถานการณ์แย่ลง ประชาชนยากจนลง จนแทบไม่มีความหวังแล้ว

Al Jazeera:  คุณกำลังจะบอกว่ารัฐบาลทหารจะถูกกดดันให้จัดการเลือกตั้งในปีนี้ ในขณะที่รัฐบาลก็บอกว่าจะเกิดขึ้นในสิ้นปีหน้า?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  สถานการณ์นี้อาจไม่เอื้อให้รัฐบาลทหารอยู่ได้นานนัก เพราะวิธีการปกครองประเทศของรัฐบาล ระบบใดที่ไม่ฟังเสียงประชาชนของตนเอง จะอยู่ไม่ได้นาน  รัฐบาลจะต้องใส่ใจประชาชนให้มากขึ้น  ผมไม่แคร์หากรัฐบาลอยากมีอำนาจต่อ อยู่ต่อไปเลย! แต่ต้องทำให้ประเทศก้าวหน้าและต้องห่วงใยประชาชนให้มากกว่านี้ แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องอย่าลืมว่าประเทศชาติไม่ได้หมายถึงแผ่นดินเพียงอย่างเดียว หากแต่ประเทศหมายรวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินด้วยเช่นกัน


Al Jazeera:  คุณบอกว่ามันจะถูกกดดันให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้  แรงกดดันเหล่านี้มาจากไหนที่จะกดดันจนต้องเกิดการเลือกตั้ง และหากไม่ได้เกิดการเลือกตั้งมันจะเกิดอะไรขึ้น?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร : ผมมองว่าวิธีการปกครองประชาชน วิธีการบริหารขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาล สิ่งที่ต่างประเทศมองไทย  ถ้ารัฐบาลรักและห่วงใยประชาชนจริงๆเหมือนที่กล่าวอ้าง รัฐบาลต้องปล่อยให้ประเทศกลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตย

Al Jazeera:  คุณมีความเห็นอย่างไรกับการรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2014

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: ภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงบนท้องถนน ผมได้ตั้งข้อสังเกตไปว่ามีทหารไปแฝงตัวในการชุมนุม ผมคิดว่ามีการวางแผนกันมาเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร  และตั้งแต่ประมาณ เมษายน ทหารเริ่มตั้งบังเกอร์ตามท้องถนนในกรุงเทพฯ คุณจำได้ไหม ที่มีการตั้งบังเกอร์ที่เชียงใหม่ด้วย ผมรู้ทันทีว่า มีการวางแผนทำรัฐประหาร

Al Jazeera:  ทหารบอกว่าการตั้งบังเกอร์เพื่อรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: ไม่เลย คุณรู้ไหม ตั้งแต่ทหารเริ่มแฝงตัวในม็อบสุเทพ ผมเริ่มเห็นจากวิธีในการสื่อสารกับรัฐบาลน้องสาวผมในตอนนั้น ผมก็รู้แล้ว ผมรู้ทันทีว่าจะเกิดรัฐประหารแน่นอน

Al Jazeera:  นั้นคือการเตรียมการรัฐประหารมาอย่างดีเยี่ยม?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  ใช่

Al Jazeera:  คุณเชื่อมั่นเช่นนั้น คุณรู้ตั้งแต่นาทีที่ม็อบเกิดขึ้นบนท้องถนน?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ใช่

Al Jazeera:  แล้วคุณคิดว่าตอนนี้รัฐบาลจะเดินหน้ากันไปยังไง คุณเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับถัดไปจะไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าไร การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวนายกรัฐมนตรี?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีในอนาคตจะถูกควบคุมโดยองค์กรเหนือรัฐแบบโปลิตบูโรควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติยาวนานต่อเนื่อง 20 ปี เพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลอีกที ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับไม่ได้สนใจเคารพในเสียงของประชาชนเลย ประชาชนแทบจะไม่มีอำนาจอะไรเลย คนทั้งประเทศเลือกตั้งรัฐบาล แต่นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกมา กลับไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายใดๆนอกเหนือไปจากในกรอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติที่มาจากกองทัพ มันเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด แย่มากกว่ารัฐธรรมนูญของประเทศเมียนมาร์สมัยก่อนการปฏิรูปประเทศด้วยซ้ำ

 Al Jazeera:  รัฐบาลปัจจุบันมักพูดว่า ตั้งแต่รัฐประหารมาประเทศชาติสงบมากขึ้น ไม่มีประท้วงวุ่นวาย มันก็น่าจะดีกว่า?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ตอนนี้ประชาชนยากจนลง การส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศไม่มีการวางแผนสำหรับอนาคต

Al Jazeera:  ช่วงหลังรัฐประหาร นักธุรกิจนักลงทุนต่างชาติ ดูไม่ได้ใส่ใจ เหมือนชอบเพราะรู้สึกการเมืองนิ่งมากขึ้น อุตสาหกรรมใหญ่ก็ไม่มีการย้ายฐานการผลิต?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  เพราะเขารู้แน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งแน่ๆ ในปีหน้าตามสัญญา และมันแค่ปีเดียว ก็จะกลับสู่ประชาธิปไตยแล้ว

Al Jazeera:  คุณพูดถึงเศรษฐกิจของประเทศ คณะรัฐประหารบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดผิดทางหรือเปล่า และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลคุณ ก็ไปเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังให้กับคณะรัฐประหาร และได้นำเอานโยบายที่ได้รับความนิยมสมัยรัฐบาลคุณมากระตุ้นเศรษฐกิจ?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  ผมรู้สึกดีใจที่รัฐบาลนำเอานโยบายของผมไปปรับใช้ ถ้าพูดง่ายๆ เศรษฐกิจคล้ายสิ่งมีชีวิต ปัญหาเศรษฐกิจเปรียบเหมือนไวรัส เมื่อเจอยาตัวเดิมไปบ่อยๆนานๆ จะดื้อยา เพราะเศรษฐกิจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ปัญหาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา ยาเก่าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้

Al Jazeera:  เศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอนต่อเนื่อง แล้วส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจส่งออก?

 ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ไทยเคยเป็นประเทศที่มีอัตราความเจริญเติบโตสูงที่สุดในอาเซียน แต่วันนี้ประเทศกลับเจริญเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน นี่พอจะพิสูจน์อะไรได้บ้าง

Al Jazeera:  นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และน้องสาวของคุณ ถูกดำเนินคดีในโครงการรับจำนำข้าว ในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มีการรับข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาด นโยบายมีการบริหารงานผิดพลาดหรือไม่?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายเดียวในโลกที่นโยบายไม่ผิด แต่คนทำนโยบายผิด เป็นนโยบายที่ได้รับการเลือกจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอย่างถล่มทลาย หลักคิดเบื้องหลังโครงการรับจำนำข้าวคือ หากเราภูมิใจที่เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก เราควรที่จะช่วยเขารักษาอาชีพชาวนาให้ดำรงอยู่ได้ ถ้าคนไทยมีอาชีพเป็นชาวนา เขาต้องภาคภูมิใจ ไม่ใช่ อ๋อ คุณเป็นชาวนา ก็เป็นไปจะขาดทุนเจ๊งยากจนก็ไม่ต้องสนใจ ซึ่งไม่ยุติธรรมเลยสำหรับชาวนา และอีกทั้งชาวนาคือคนส่วนมากของประเทศที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา เมื่อชาวนานำข้าวไปจำนำในโครงการ ชาวนาก็รับเงินตรงจากธนาคาร ข้าวมีความชื้นก็หักเปอร์เซ็นต์ความชื้นซึ่งเป็นปกติ เมื่อชาวนาได้เงิน ชาวนาก็นำไปใช้จ่าย เงินที่ชาวนาใช้จ่าย ก็กลับไปเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ขับเคลื่อนหมุนเวียนอยู่วงจรเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล แล้วรัฐบาลก็ได้เงินเหล่านี้กลับมาในรูปแบบของภาษี

Al Jazeera:  แต่มันก็ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะเมื่อคุณนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ คุณคิดว่ามันจะควบคุมได้ไหม หรือไม่ได้ควบคุมดูแลอย่างเพียงพอ?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  รัฐบาลอยู่ในฐานะผู้ให้นโยบาย รับผิดชอบในระดับนโยบาย ในระดับปฏิบัติ จะมีระบบข้าราชการนำนโยบายไปปฏิบัติต่อ แต่บังเอิญตอนนั้นอินเดีย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เทขายข้าว 9 ล้านตันออกมาในตลาดในปีนี้  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของฝ่ายตรงข้าม โจมตีว่าข้าวไทยมีมากเกินไป ล้นตลาดขายไม่ได้ ข้าวไม่มีคุณภาพขายไม่ได้ ความจริงก็แค่ผู้ค้าข้าวในต่างประเทศหยุดระบายข้าว ไม่ซื้อเพิ่มและไทยก็ควรเก็บสต็อคข้าวไว้ก่อนอย่าเพิ่งขาย(แข่งกับอินเดีย) ก็แค่นั้น  ในส่วนของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์นั้น เธอทำงานอย่างหนัก ทั้งควบคุมดูแลและพยายามผลักดันให้ตัวแทนค้าข้าวออกไปขายข้าวในต่างประเทศตลอด

Al Jazeera:  แล้วยิ่งลักษณ์ได้รู้เห็นละเลยในการทุจริต?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ในกระบวนการรับจำนำข้าวนั้น แม้แต่ในภาคเอกชน แม้จะมีวิธีปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบ แต่ก็ย่อมมีจุดอ่อนให้ปรับปรุงพัฒนา ในองค์กรเล็กๆอาจพอแก้ไขจุดอ่อนได้ง่าย ในองค์กรขนาดใหญ่ก็ควรแก้ไขจุดอ่อนในระบบขั้นตอนปฏิบัติการและพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทุกฤดูกาลผลิตเสมอ  เพราะระบบยังไม่ได้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด หากรัฐบาลสามารถทำระบบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มวัดตารางพื้นที่ปลูกข้าวได้ ก็จะไม่มีจุดอ่อนและควบคุมได้ดีกว่านี้

Al Jazeera:  พูดถึงชีวิตของคุณสักหน่อย คุณเองถูกรัฐประหารออกนอกประเทศ หากคุณมองย้อนกลับไปคุณคิดไหมว่าคุณจะต้องมาอยู่นอกประเทศเป็นสิบปีได้ยังไง

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ได้สิ ผมก็ต้องปรับตัวให้อยู่ได้

Al Jazeera:  คุณก็ไม่ต้องอยู่ต่างประเทศสิ คุณจะกลับไปบ้านตอนไหนก็ได้ กลับไปอยู่กับคนที่คุณรักและสนับสนุนคุณ?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ถ้าผมกลับไป ใครจะรับประกันความปลอดภัยในชีวิตผม มีความพยายามลอบสังหารผมถึง 4 ครั้ง สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี

Al Jazeera:  คุณคิดว่า หากคุณกลับไป ชีวิตคุณจะตกอยู่ในอันตราย?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  แน่นอน

Al Jazeera:  ใคร ต้องการฆ่าคุณ?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  (ผายมือและยิ้ม) ผมไม่สามารถพูดได้ ผมไม่ได้สามารถบอกคุณได้ ผมไม่รู้ว่าใคร  ผมถูกลอบสังหาร ผมก็พยายามพยายามค้นหาความจริง แม้กระทั่งพยานในคดีคาร์บอม  ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 เคยบอกว่ามีคนพยายามฆ่าผม หากไม่สำเร็จก็จะใช้วิธีรัฐประหารขับไล่ ถ้ารัฐประหารสำเร็จ นั่นคือสิ่งที่พยานได้ให้ปากคำในการสอบสวนไว้ในเดือนสิงหาคม จากนั้น ในเดือนกันยายน ผมก็ถูกรัฐประหาร และในเดือนตุลาคม ก็มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ถูกพยานกล่าวถึง

Al Jazeera:  ดังนั้น คุณกำลังบอกว่า กองทัพพยายามที่จะฆ่าคุณ

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  ผมไม่รู้หรอก. ผมไม่ต้องตอบอะไร.... มันชัดเจน

Al Jazeera:  จตุพร พรหมพันธุ์ได้กล่าวไว้ว่าหาก ทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่ในประเทศ ประเทศชาติจะไม่ตกต่ำขนาดนี้ ประชาธิปไตยก็จะยังคงรุ่งโรจน์ก้าวหน้า คุณคิดอย่างไร

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  หากผมอยู่ในประเทศ ผมอาจจะถูกฆ่า ผมจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้หรือไม่ ผมก็ไม่รู้ ผมไม่คิดว่าผมสำคัญขนาดนั้น ผมคาดการณ์ไม่ได้

Al Jazeera:  หลายคนเป็นห่วงและคาดการณ์เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในไทย มันจะเกิดขึ้นในไม่ช้า?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ผมไม่เห็นด้วย เพราะคนไทยรักสันติ คนไทยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายต่อต้านผม มักคิดว่าผมจะแก้แค้นเอาคืนแล้ว ไม่เลย ผมอยู่อย่างเงียบสงบแบบนี้ผมมีความสุขมาก ถ้าไม่มาเกี่ยวข้องกับผม ผมก็ไม่เคยพูดอะไรเลยสักคำ แม้เค้าจะพยายามโจมตีให้ร้าย ผมกลับเก็บเนื้อเก็บตัว ผมพยายามไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ แต่อย่างที่บอก ผมไม่อยากเห็นประเทศตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่ ผมจึงพูดเสมอว่าอย่ากังวลอะไรเกี่ยวกับตัวผม อย่ากลัวหวาดระแวงผม อย่าคิดว่าผมจะพยายามแก้แค้น ผมพอใจที่จะเป็น “อดีตนายกรัฐมนตรี” ผมรักประเทศผม ผมรักประชาชนของผม

Al Jazeera:  และคุณปรารถนาที่จะกลับประเทศด้วย?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  ตอนนี้ผมโอเคนะ  ใช่ ผมเคยอยากกลับ หากผมได้กลับบ้าน แน่นอนผมจะกลับ แต่หากไม่สามารถกลับได้ ผมโอเค เพราะผมอยู่ได้ทุกประเทศ

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  รัฐบาล คสช.พูดเสมอว่า  รัฐบาลอยากสร้างความปรองดอง อยากเห็นประเทศเดินหน้าได้ แต่นี่มันปีครึ่งแล้ว มันแทบไม่มีสัญญาณของการปรองดองใดๆ ในทางกลับกัน กลับเอาอกเอาใจฝ่ายหนึ่ง และกดดันบีบคั้นอีกฝ่ายหนึ่ง ความปรองดองมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ การขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้า ผมมองเห็นแต่ประเทศถอยหลังมากกว่าเดินหน้า นี่คือสิ่งที่ผมกังวล และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุดถ้าเราเปรียบเทียบกับเกาหลีเหนือ

Al Jazeera:   คณะรัฐประหารหมดเวลาแล้ว?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: คสช.ต้องย้อนกลับไปถึงวันแรกที่สัญญากับคนทั้งโลกในวันที่ทำรัฐประหารว่าคสช.จะสร้างความปรองดอง ต้องกลับไปดูเทปว่าวันนั้น คสช. ประกาศว่าอะไรและทำตามนั้น  นั่นคือสิ่งที่ผมขอ ผมไม่เคยขออะไรให้ตัวเอง

Al Jazeera:   คุณได้พูดคุยโดยตรงกับคณะรัฐประหารบ้างไหม?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ไม่เคย เขาก็พูดเองว่าไม่ต้องการพูดคุย แต่ผมไม่ได้สนใจ ผมแค่ตั้งใจเตือนว่า อย่าห่วงอะไรผม ให้ห่วงประเทศชาติ ให้ห่วงประชาชน ประเทศไม่ใช่แค่แผ่นดิน แต่หมายถึงประชาชนที่อาศัยร่วมกันอยู่บนผืนแผ่นดิน

Al Jazeera:   ขอบคุณมากครับ






วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

“นพดล” สอนคนอยากมีอำนาจ ต้องมาจากประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"ตนเห็นความพยายามอยากได้อำนาจของคนบางกลุ่มโดยไม่ผ่านการเห็นชอบและเห็นหัวประชาชนไม่ว่าแนวคิดนายกคนนอกหรือส.ว.ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ซ้ำร้ายมีการเสนอกลไกควบคุมอำนาจหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อขีดเส้นให้รัฐบาลและรัฐสภาที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในอนาคตเดินตาม นี่ถือว่าเป็นการวางกลไกอำนาจซ้อนอำนาจที่พยายามสร้างเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภาที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตนถือว่าขัดหลักการประชาธิปไตยและเป็นการทำลายความหวังของคนไทยอย่างแท้จริง ถือว่าเป็นการไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน ขอถามว่าเป็นการดูถูกสติปัญญาคนไทย 64 ล้านคนว่าไร้ความสามารถที่จะเลือกส.ส.และรัฐบาลที่ดีใช่หรือไม่ ถือว่าเริ่มคิดก็ผิดแล้วและเป็นการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก จึงอยากให้ผู้มีอำนาจทบทวนแนวคิดดังกล่าวข้างต้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายไปและกลายเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งขึ้นใหม่อีกครั้งและนำไปสู่ความแตกแยกขัดแย้งอย่างไม่รู้จักจบสิ้น “เลิกพูดคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆได้แล้ว ประชาธิปไตยก็เหมือนสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลและไทยก็เป็นภาคีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาเกือบ 60 ปีแล้ว อย่าทำลายความหวังคนไทยด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญที่แล้งประชาธิปไตย และสร้างกลไกที่เกิดจากความไม่ไว้วางใจว่าคนไทยจะสามารถจัดการชีวิตและกิจการบ้านเมืองในอนาคตได้ คนไทยมาไกลเกินกว่าจะยอมรับอะไรแบบนี้ได้แล้ว"

"ขัตติยา" หนุนภาคประชาชน สะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยต่อเวทีโลก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล" อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

จากที่เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (หรือกสม.) จากเอเป็นบี และในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ก็จะถึงกำหนดที่ประเทศไทยจะถูกคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) พิจารณาถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยแล้ว ซึ่งการพิจารณาดังกล่าว คณะกรรมการจะไม่เพียงดูจากรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยเพียงอย่างเดียว แต่ให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ และภาคประชาชนได้ส่งรายงานและความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเข้าไปในที่ประชุมเพื่อร่วมพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็น Human Rights Watch, Amnesty International, Freedom House รวมทั้งองค์กรด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนระหว่างประเทศต่างๆ ด้วย ซึ่งเดียร์แน่ใจว่าองค์กรต่างๆ ดังกล่าว น่าจะมีข้อมูลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยมากกว่าที่กสม. มีด้วยซ้ำ เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ทำงานรับใช้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คอยดูแลให้คนได้มีสิทธิและเสรีภาพที่ควรมีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ถูกปิดกั้นที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่ถูกห้ามที่จะชุมนุมอย่างสันติ ไม่นำประชาชนไปขึ้นศาลทหาร และไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน นักวิชาการ นักเรียน และนักศึกษา เพราะมันคือหลักการทางประชาธิปไตยที่ประเทศซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตยควรจะมีให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

น่าเสียดายที่ กสม. ของประเทศไทยถูกลดระดับความน่าเชื่อถือไปเสียก่อน เนื่องจากประเทศอื่นๆ เขามองว่ากสม. ไทยทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ ไม่มีความเป็นกลาง รวมถึงไม่เห็นความคืบหน้าหรือการมีส่วนร่วมของกสม. ต่อคดีต่างๆ ที่มีต้นตอมาจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จนมีคนตายเกือบ 100 คน ทำให้เดียร์คิดว่า ศักดิ์ศรีของประเทศไทยในเรื่องสิทธมนุษยชนมันไปอยู่ที่ตรงไหน มาในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ กสม. เลยไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอรายงานและความเห็นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เดียร์ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง จึงได้แต่ฝากความหวังไว้ที่ภาคประชาชน ที่น่าจะสะท้อนความจริงไปยังเวทีโลกได้ดีกว่ากสม. ให้ประเทศอื่นๆ ได้ทราบว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ที่แท้แล้วมันมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่เพียงใด และคงต้องคอยจับตาดูผลของการประชุมครั้งนี้ว่าจะส่งผลต่อประเทศไทยไปไนทิศทางใด

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

“ภูมิธรรม” สอน “วิษณุ” วิธีการนอกระบบนำมาซึ่งวิกฤต


นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่นายวิษณุ รองนายกฯ ระบุถึงข้อเสนอ 16 ข้อให้ กรธ. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อ 16 ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าดูเหมือนมีความต้องการแอบแฝงเพื่อการสืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน โดยนายวิษณุได้ร่วมหารือกับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ. เพื่อให้นำไปพิจารณาปรับแก้ร่างแรกของรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญ 2 ขยัก โดยมีข้ออ้างว่ามีความห่วงใยประเทศจะเกิดการสะดุดและแตกแยก เพราะขัดแย้งเหมือนช่วงก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม2557 ทั้งนี้ส่วนตัวตนเห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม2557 มิใช่วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากความจงใจของกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตย และต้องการได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศด้วย วิธีการนอกระบบ ซึ่งวิกฤตการณ์ 22 พฤษภาคม 2557 จึงไม่ใช่วิกฤตตามธรรมชาติแต่เป็นวิกฤตการณ์ช่วงชิงอำนาจที่มีการจงใจสร้างขึ้น และบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐละเลยและไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย รวมถึงการไม่ยอมรับกระบวนการใช้เสียงข้างมากในการตัดสินปัญหาตามกติการะบอบประชาธิปไตย

“สภาพที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย รับรู้กันเช่นนี้ นายวิษณุ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือ แกล้งโง่ ทำเป็นไม่รู้ ไม่เข้าใจกันแน่ ขณะเดียวกันการมาเยือนประเทศไทยของ นาย Miroslav Jenča ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติฝ่ายกิจการการเมืองและคณะ ที่ได้มาพบกับฝ่ายต่างๆรวมทั้งพรรคเพื่อไทยเพื่อติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยและเพื่อติดตามกระบวนการกลับไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยปกติ ซึ่งการมาเยือนของคณะผู้แทน UN ครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่านานาอารยประเทศมีความห่วงใยประเทศไทยและแสดงความชัดเจนที่อยากเห็นการจัดการเลือกตั้งที่เสรี เที่ยงธรรมเป็นประชาธิปไตยและเชื่อถือได้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด”นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ความจริงถ้านายวิษณุ ไม่มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ “เนติบริกร” รับใช้คณะผู้มีอำนาจอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง นายวิษณุน่าจะช่วยผลักดันให้กระบวนการเลือกตั้งต่างๆกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วมากกว่ามามัวทำหน้าที่คอยอธิบาย หาเหตุผลข้ออ้างมาแก้ต่างให้กลุ่มผู้มีอำนาจอย่างที่กำลังพยายามทำอยู่เช่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่พยายามอธิบายถึงความจำเป็นที่อยากจะคงอยู่ในอำนาจโดยพยายามผลักดันให้ความเป็นประชาธิปไตยของไทยเป็น 2 ขยัก แล้วไปกล่าวอ้างว่าการกระทำเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตจึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ถือว่าตั้งใจหาเหตุผลมาตอบสนองความต้องการมีอำนาจของฝ่ายตน อย่างไม่คำนึงถึงสิ่งใดๆ อันที่จริงอดีตที่ควรนำมาสนับสนุนการกระทำในปัจจุบัน ควรเป็นอดีตดีๆที่ควรเอามาเป็นเยี่ยงอย่างโบราณเขาสอนให้นำสิ่งดีมาปฏิบัติ แต่ให้เอาสิ่งเลวร้ายมาเป็นอุทาหรณ์เพื่อระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีก เขาให้เอาบทเรียนความผิดพลาดมาเป็นอุทาหรณ์เพื่อจะได้ไม่ผิดซ้ำซากขึ้นอีก ไม่ใช่เอาความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาถือปฏิบัติแล้วอ้างว่าอดีตก็เคยทำกันมาวิญญูชนทั้งหลายเขาไม่ทำกันเพราะเขามีความละอายเพียงพอ

ด่วน! คาร์บอมบ์ถล่ม 'ปัตตานี' บาดเจ็บจำนวนมาก

#‎TV24‬ ‪#‎BreakingNews‬ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดระเบิด "คาร์บอมบ์" ใกล้ฐานปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ "ชุดปฏิบัติการตะวัน" ม.4 บ้านงาแม่ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 7 นาย และประชาชนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ทราบชื่อดังนี้ 1. ส.ต.ต.สุรศักดิ์ สังข์นวล 2. ส.ต.ท.ปกป้อง ชุมขำ 3. ส.ต.ท.มงคลชัย นุ่นเกลี้ยง 4. ร.ต.ท.สุรเดช ทรัพย์สมบัติ 5. ส.ต.ท.ธีรพงษ์ เกื้อหล่อ 6. ส.ต.ท.ปิยพงศ์ ชุ่มเขา 7. ส.ต.ท.อรรถพล นิ่มวุ้น 8. นางสาว พรชนก อักษรชู โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงแจ้งให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางบริเวณหน้าปัตตานีคอนกรีต เนื่องจากมีการปิดการจราจร ขณะที่ โรงพยาบาลปัตตานี ขอบริจาคเลือดกรุ๊ป B / ภาพถ่าย:อาสาสมัครกู้ชีพสันติ ปัตตานี















"เจ้าคุณประสาร" แนะรัฐอย่าเลือกปฏิบัติ ไม่เสมอภาค-สันติไม่เกิด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ในความเป็นจริงแล้วปัจจุบันปัญหาของคณะสงฆ์ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ภายในของคณะสงฆ์เองเป็นฐานเริ่มต้นก่อตัวแห่งปัญหา

แต่ปัญหาเกิดจากบุคคลบางกลุ่มบางพวกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองและกลุ่มอำนาจรัฐ เซ็ตเรื่อง เซ็ตระบบ เซ็ตปัญหา เพื่อโยงใยความขัดแย้งทั้งหมดโยนเข้ามาสู่วงการคณะสงฆ์ เพื่อให้คนทั่วไปมองว่าคณะสงฆ์ในปัจจุบันมีแต่ปัญหา มีความขัดแย้ง ซุกของเน่าของเหม็นไว้ใต้พรม เมื่อเป็นแบบนี้แล้วจะต้องได้รับการแก้ไขและปฏิรูปทั้งระบบโดยด่วน

การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป้าหมายที่แท้จริงนั้นไม่ได้คิดและหวังดีต่อคณะสงฆ์ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

เป้าหมายที่แท้จริงกลับไปอยู่ที่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง เช่น ต้องการจะฉีก พ.ร.บ.สงฆ์ ล้มการปกครองคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมและนำไปสู่การปกครองภายใต้ พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับใหม่ที่พวกเขากำหนดขึ้นมาเอง เช่น พ.ร.บ.พุทธบริษัท เป็นต้น

สำหรับการปฏิบัติการของคนกลุ่มนี้จะมีการจะวางแผนงานอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างเรื่อง สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายสับสนดังที่กล่าวมา วิธีการเช่นนี้รัฐบาลมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหาหรือวิเคราะห์แยกแยะไม่ออก และแม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐด้านการข่าว เช่น การข่าวด้านความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ที่มีอยู่ในประเทศนี้จะไม่รายงานข้อเท็จจริงและความเคลื่อนไหวที่ผิดธรรมชาติเหล่านี้ให้รัฐบาลได้ทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงบ้างเลยหรือ

สำหรับ 3 ประเด็นหลักที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนั้นมีข้อน่าสังเกต ดังนี้

1.การทำประชาพิจารณ์ ในเรื่องนี้ปัญหาเกิดจากฝ่ายรัฐบาลโดยแท้ รัฐบาลพูดให้ข่าวตั้งแต่ต้น เช่น เรื่องดีเบตพระ เวลานี้ก็เรื่องการทำประชาพิจารณ์ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พอถูกท้วงติงจากพระสงฆ์และหลายภาคส่วน โฆษกก็ออกมาแก้ข่าวว่า ไม่เคยมีแนวคิดในเรื่องนี้ ทั้งที่ฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายออกมาพูด สำหรับกรณีการทำประชาพิจารณ์ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แค่คิดก็เป็นตลกร้ายในวงการสงฆ์แล้ว

2.ปัญหาของพระให้พระจัดการกันเอง บนพื้นฐานที่ไม่ขัดแย้ง ในเรื่องดังกล่าว ถ้าเป็นปัญหาภายในของคณะสงฆ์จริงๆ และพระรูปนั้นยอมรับกฎหมายสงฆ์ กฎหมายบ้านเมือง คณะสงฆ์ก็สามารถจะบริหาร จัดการและแก้ปัญหาภายในนี้ได้ แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องนี้ ทั้งเรื่องตัวบุคคลและเรื่องราวทั้งปวงที่บานปลายมาจนทุกวันนี้เริ่มต้นมาจากเรื่องการเมือง กลุ่มการเมืองและโยงใยร้อยรัดถึงอำนาจฝ่ายรัฐ ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือในขณะนี้

ข้อเสนอง่ายๆ ที่สามารถทำได้ ทำได้เลยและหยุดชะงักยับยั้งได้ทันทีก็คือ ให้ "รัฐบาลกระซิบบอกพระบางรูปและคนบางคนให้หยุดสร้างความขัดแย้งในวงการสงฆ์ได้แล้ว" ให้หยุดทันที วิธีนี้ง่ายที่สุด ดีที่สุด เห็นผลในทันที ดีกว่าวิธีที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ เสนอมาเสียอีก..ดีกว่าเยอะ

3.การแก้ปัญหา ให้ยึดหลัก พ.ร.บ.สงฆ์ กฎหมาย พระธรรมวินัย และยังพูดย้ำอีกว่า ทั้งพระภิกษุ ข้าราชการ และประชาชน ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

ประเด็นนี้สำคัญมาก สำคัญจริงๆ อยากถามไปที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ใครกันเล่าที่เพิกเฉย ละเลย ไม่ปฏิบัติตามทั้ง พ.ร.บ.สงฆ์ กฎหมายและพระธรรมวินัย
ใคร คนใด กลุ่มไหน ตอบได้หรือไม่ ตอบได้ไหม ?

ย้ำอีกครั้ง สำหรับคำพูดหรือวลีเด็ดที่ว่า "ทั้งพระภิกษุ ข้าราชการและประชาชน ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน" ขอให้ทุกฝ่ายจดจำและท่องวลีนี้ให้ขึ้นใจ

สิ่งสำคัญที่สุด ที่คนมองเห็นและรับรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศนี้คือ การปฏิบัติหรือการกระทำ ไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่วจีที่ไพเราะ แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม กฎหมายในประเทศนี้จะต้องอำนวยความยุติธรรมกับทุกคนทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคกัน ไม่เว้นพระเว้นโยม ไม่เว้นพรรคเว้นพวก ไม่เว้นแม้แต่คนที่มีบุญคุณเกื้อหนุนกันมาให้ขึ้นสู่ตำแหน่งหน้าที่ และไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ของตนเอง ไม่มีข้อยกเว้นจริงๆ

โปรดอย่าเลือกปฏิบัติ หรือบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งเอาจริงเอาจังกับคนบางคนบางกลุ่ม แล้วแกล้งเพิกเฉย ละเลยไม่บังคับใช้กับบางกลุ่มบางพวก จนกลายเป็นปัญหาใหญ่โตของประเทศและลุกลามเข้ามาสู่วงการสงฆ์เหมือนในปัจจุบัน

บ้านเมืองต้องมีความยุติธรรม (อวิโรธนะ) พระภิกษุ ข้าราชการและประชาชน จะต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาคกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่พูด ไม่เช่นนั้น ความสงบ ปรองดองและสันติ จะไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นในประเทศนี้อย่างแน่นอน

พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร จนฺทสาโร)
‪#‎เจ้าคุณประสาร‬
26 กุมภาพันธ์ 2559

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนคดีจำนำข้าว ห่วงช่วงเปลี่ยนผ่านรธน.5ปี


บรรยากาศสด จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาในเวลา 09.30น. ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดไต่สวนพยานฝ่ายอัยการ 5 ครั้ง ในวันนี้ (วันที่ 26 กุมภาพันธ์) เป็นนัดครั้งที่ 3 และครั้งต่อไปในวันที่ 4 และ 23 มีนาคม 2559 ตามลำดับ ซึ่งศาลกำหนดเวลาไต่สวนพยานไว้ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น เวลา 09.30–16.00 น. สำหรับวันนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมรับฟังกระบวนการไต่สวนพยานด้วยตัวเอง โดยมีประชาชนร่วมเดินทางมาให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำนวนมาก

โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า "การพูดกับยูเอ็น ได้มีการสอบถามความเป็นประชาธิปไตยของไทย ซึ่งก็อยากให้ไทยเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา และหวังว่าคสช.จะดำเนินการตามโรดแมปที่วางไว้ ส่วนช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญระยะเวลา 5 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่วนตัวไม่อยากให้มีกลไกพิเศษใด และอยากให้ประชาชนมีเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญ มีกลไกที่เป็นสากล เป็นประโยชน์กับประชาชน ส่วนตัวเข้าใจการทำงานคสช.แต่มีวิธีใด ที่จะสร้างความมั่นใจและเป็นประชาธิปไตย ไปพร้อมๆกัน"























วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"ขัตติยา" เผย "พานทองแท้" เป็นพยาน-เตือนสื่อหยุดแพร่ข่าวเท็จคดีกรุงไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล" อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ทนายความผู้รับมอบอำนาจ จากนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ ข้อความผ่าน เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

นับตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จากการทุจริตปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร และผลจากคำพิพากษาดังกล่าวทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (หรือดีเอสไอ) ต้องเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริงและสืบหาพยานหลักฐานต่อไปว่า เงินที่กลุ่มกฤษดามหานครได้ไปจากการปล่อยสินเชื่อครั้งนั้นไปอยู่ที่ส่วนใดบ้าง และเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ ดีเอสไอยังคงอยู่ในระหว่างการออกจดหมายเรียกบุคคล/นิติบุคคลมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ในฐานะ “พยาน” เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและหลักฐานมาประกอบเพื่อทำสำนวนสรุปส่งให้อัยการพิจารณาต่อ

แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อช่วงเดือน ส.ค. ของปีที่แล้ว สื่อมวลชนหลายสำนักได้ให้ความสนใจและเพ่งเล็งมาที่ชื่อของนายพานทองแท้ ชินวัตร หรือคุณโอ๊ค ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ ซึ่งเดียร์ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนหลายๆ สำนักค่ะ ที่นำเสนอข่าวและอ้างอิงข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณโอ๊คและขั้นตอนทางกฎหมายอย่างถูกต้องตามหลัก แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีสื่อบางสำนัก (ที่มักจะเป็นสื่อหน้าเดิมๆ) นำเสนอข่าวไปในลักษณะที่เป็นอคติและพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสังคม โดยชี้นำคนทั่วไปที่อาจไม่ทราบหรือศึกษาข้อเท็จจริงของคดีนี้อย่างละเอียด ให้เข้าใจว่าคุณโอ๊คได้กระทำความผิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน พาดหัว/เขียนข่าวกันสนุกสนาน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น...แน่นอนค่ะ ทำให้คุณโอ๊คเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากสังคม กลายเป็นว่า...คุณโอ๊คซึ่งไม่ผิดในคดีนี้ ถูกผลักให้ไปเป็น “จำเลยสังคม” ซะแล้ว

ทั้งที่เรื่องจริงในตอนนี้ คือคุณโอ๊คได้รับจดหมายจากดีเอสไอ “ขอเชิญไปให้ถ้อยคำในฐานะพยาน” พูดง่ายๆ ก็คือได้รับเชิญเพื่อไปช่วยให้ข้อมูลกับหลักฐานที่พอจะเป็นประโยชน์กับดีเอสไอในคดีฟอกเงินนี้ได้บ้าง เดียร์ก็แอบงงๆ ว่าทำไมดีเอสไอถึงปล่อยให้สื่อบางสำนักพาดหัวหรือนำเสนอข่าวของคุณโอ๊คด้วยอคติ เพื่อให้ผู้เสพข่าวได้รับข้อมูลที่ผิดๆ ไปด้วยมาตั้งนาน ทั้งๆ ที่ทางดีเอสไอควรจะออกมาแถลงถึงสถานะของคุณโอ๊คในคดีฟอกเงินนี้ให้ชัดเจนตั้งแต่ปีที่แล้ว

จากสิ่งที่เกิดขึ้น เดียร์ว่ามันไม่เป็นธรรมกับคุณโอ๊คเท่าไหร่ ซึ่งคุณโอ๊คเองก็มั่นใจว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับดีเอสไอเพื่อเข้าให้ถ้อยคำและหลักฐานให้เป็นประโยชน์ต่อคดีเช่นกัน

ในเมื่อวันนี้ทางดีเอสไอก็ออกมาแถลงไขต่อสาธารณะให้สื่อมวลชนทุกสำนักได้ทราบแล้วว่า ณ ปัจจุบัน คุณโอ๊คมีสถานะเป็น “พยาน” ที่จะเข้าให้ข้อมูลและหลักฐานกับคดีฟอกเงินนี้ เดียร์ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจของคุณโอ๊ค เห็นว่าสื่อมวลชนทุกสำนักที่ต้องการจะนำเสนอข่าวของคุณโอ๊ค ควรนำเสนอสถานะของคุณโอ๊คและข้อเท็จจริงในคดีที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง ไม่ใช่พาดหัวหรือเขียนเนื้อข่าวบิดเบือนข้อมูลจนทำให้คนเข้าใจว่าคุณโอ๊คมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำความผิด

ซึ่งหลังจากนี้ ถ้าสื่อมวลชนสำนักเดิมๆหรือสำนักใด ยังคงจะเสนอข่าวบิดเบือนให้คุณโอ๊คตกเป็นจำเลยสังคมแบบนี้อยู่อีก เดียร์กับคณะที่ปรึกษากฎหมายคงจะต้องหารือกันเพื่อดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานหมิ่นประมาท ต่อไปค่ะ และขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกสำนักที่พร้อมจะให้ความร่วมมือในประเด็นนี้ไว้ล่วงหน้านะคะ

ทนายแจงคดีกรุงไทย! ยืนยัน “พานทองแท้” เป็นพยาน เตือนสื่อแพร่ข่าวผิดจากข้อเท็จจริง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ทนายความผู้รับมอบอำนาจ จากนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ เอกสารไปยังสื่อมวลชนทุกสำนัก โดยมีเนื้อหาดังนี้

เรียน สื่อมวลชนที่เคารพทุกท่าน

จากประเด็นซึ่งเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนในขณะนี้ คือกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (หรือดีเอสไอ) ได้ดำเนินการสอบสวนคดีอาญาในความผิดฐานฟอกเงิน อันสืบเนื่องจากคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษจะต้องทำการสอบสวนพยานเพื่อสรุปสำนวนคดีและส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป

โดยนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่องขอเชิญมาให้ถ้อยคำ เพื่อเข้าให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารหลักฐาน "ในฐานะพยาน"​ และเพื่อเป็น "ประโยชน์แก่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีนี้" ที่จะส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการสอบสวนความผิดอาญาฐานฟอกเงิน จากคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (อันเป็นความผิดมูลฐาน) อยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งจะปรากฏชื่อของนายพานทองแท้ ชินวัตร ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยสื่อแต่ละสำนักจะมีการพาดหัวข่าว นำเสนอข่าวหรือบทความ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งต้องขอชื่นชมและขอบคุณสื่อมวลชนหลายๆ สำนักที่นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงของคดีนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ดี กลับมีสื่อมวลชนบางท่านที่ซ่อนตัวอยู่ในสื่อบางสำนัก ได้นำเสนอข่าวต่อสาธารณะและชี้นำสังคมไปในลักษณะที่ว่านายพานทองแท้ ชินวัตร ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญาฐานฟอกเงิน หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานฟอกเงินแล้ว โดยมิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงในคดี และใช้การนำเสนอข่าวในลักษณะเช่นว่านั้นเพื่อผลทางการเมือง ซึ่งเหตุดังกล่าวทำให้นายพานทองแท้ ชินวัตร นั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จากบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รับทราบถึงความเป็นมาหรือทราบในข้อเท็จจริงของคดีนี้อย่างละเอียด โดยมีการพาดหัวข่าว นำเสนอข่าว และบทความ อาทิเช่น

• "ลูกโอ๊ค-พานทองแท้ มีหนาว ดีเอสไอเร่งสาว ยันชื่อเอี่ยวคดีฟอกเงินกรุงไทย 9.9 พันล้าน"
• "พบอีก "โอ๊ค" มีเอี่ยวฟอกเงินกรุงไทยก้อน 500 ล้าน ปล่อยกู้อาร์เคฯ"
• "ผู้ถูกกล่าวหาขบวนการยักยอกเงินกฤษดามหานครกู้กรุงไทยร่วมกับ "พานทองแท้ ชินวัตร" เข้าพบ DSI 25 ก.พ. นี้"

ทั้งจากการเข้าให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนของบุคคลอื่นๆ ในฐานะพยานในคดีเดียวกันนี้เป็นจำนวนวันละประมาณ 5-10 ปาก ตามที่พนักงานสอบสวนได้แถลงต่อสื่อมวลชนนั้น ก็ไม่ปรากฏภาพข่าวหรือการแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษถึงการเข้าให้ถ้อยคำของพยานเหล่านั้นแต่อย่างใด อันแตกต่างจากกรณีของนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่รับทราบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการประสานสื่อมวลชนเพื่อนัดหมายว่านายพานทองแท้ ชินวัตร จะเข้าไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนในวันและเวลาใด อันเป็นการปฏิบัติตนที่แตกต่างจากการปฏิบัติต่อพยานรายอื่นๆ  

ทั้งได้ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษาว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 โดยคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2550 "ให้การดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ได้ตรวจสอบพบการกระทำทุจริตในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทในเครือกฤษดามหานครนั้น เป็นคดีพิเศษ" กรณีดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5 ราย (ในขณะนั้น) มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมูลฐานอันนำไปสู่การกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งโดยหลักจะต้องมีการสอบสวนผู้ที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวก่อน แต่ในความเป็นจริงนั้น คือกรมสอบสวนคดีพิเศษกลับยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนกลุ่มผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว การมีหนังสือเชิญให้บุคคลและ/หรือนิติบุคคลต่างๆ ซึ่งรวมถึงนายพานทองแท้ ชินวัตร เพื่อให้ถ้อยคำ คือการเชิญไปในฐานะ "พยาน" ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมูลฐาน แต่อย่างใด

นอกจากนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า คดีนี้เป็นผลิตผลที่เกิดจากการรัฐประหารยึดอำนาจในการบริหารประเทศไปจากรัฐบาลภายใต้การนำของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ขึ้น เพื่อดำเนินคดีกับ ดร. ทักษิณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเริ่มดำเนินคดีในช่วงปี พ.ศ. 2548 นั้น ยังไม่ปรากฏชื่อของ ดร. ทักษิณฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แต่ได้มีการเพิ่มชื่อของ ดร. ทักษิณฯ เข้ามาเป็นผู้ถูกล่าวหาภายหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และเมื่อ คตส. ได้มีมติรับเรื่องการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มกฤษดามหานครมาตรวจสอบ จึงได้ปรากฏว่ามีการเพิ่มชื่อของ ดร. ทักษิณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้ถูกกล่าวหาเพิ่ม ด้วยการให้นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์และนายอุตตม สาวนายน กรรมการบริหาร 2 ราย ที่ร่วมลงนามอนุมัติด้วย ได้ให้การต่อ คตส. ในภายหลังว่า ร.ท. สุชาย เชาว์วิศิษฐ ประธานกรรมการบริหาร พูดทางโทรศัพท์แจ้งว่าอย่าถามข้อมูลให้มากนัก ขอให้พิจารณาโดยเร็ว จากนายบุญคลี ปลั่งศิริ ว่า Big Boss ดูดีแล้ว ซึ่งทั้ง ร.ท. สุชายฯ และนายบุญคลีฯ ต่างได้ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง จึงทำให้กลายเป็นคดีนักการเมืองที่มีศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเพียงศาลเดียว และต้องยึดหลักฐานการไต่สวนของ คตส. และ ปปช. เป็นหลักในการพิจารณาของศาล คดีจึงมีความน่าสงสัยในหลายประเด็น เช่น ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร และต่อมาได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ลดวงเงินกู้ (รีไฟแนนซ์) จากเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 14,000 ล้านบาท โดยลดให้เหลือเพียง 4,500 ล้านบาท จนธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวนั้นได้รับความเสียหายเอง ซึ่งโดยหลักแล้ว ผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวจะต้องถูกร้องทุกข์กล่าวโทษและมีความผิดเช่นเดียวกับผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แต่กลับไม่มีการดำเนินคดีในเรื่องนี้ รวมถึงผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ที่ได้ร่วมลงนามอนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีจำนวน 5 ราย แต่ถูกดำเนินคดีเพียง 3 ราย จนกระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาจำคุกผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว จำนวน 18 ปี ส่วนผู้บริหารอีก 2 ราย ที่ร่วมลงนามอนุมัติสินเชื่อ กลับไม่ถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยแต่อย่างใด และบางรายได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันอีกด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพื่อเรียนให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงข้อเท็จจริงและฐานะของนายพานทองแท้ ชินวัตร ในคดีนี้ ว่าอยู่ในฐานะ "พยาน" เท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือรับเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำผิดแต่อย่างใด และยินดีให้ความร่วมมือเพื่อให้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ขอความเป็นธรรม ความเสมอภาค ในการปฎิบัติต่อนายพานทองแท้ ชินวัตร ดังเช่นพยานอื่นๆในคดีนี้ที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเป็น "พยาน" โดยที่ไม่ได้แจ้งให้สื่อมวลชนทราบเพื่อให้เป็นข่าว

การนำเสนอข่าวที่เป็นอคติและใส่ร้ายบิดเบือนโดยการชี้นำสังคมให้มีความเข้าใจที่ผิดว่านายพานทองแท้ ชินวัตร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ทั้งที่ความจริงได้รับหนังสือเพื่อเชิญไปให้ถ้อยคำในฐานะ "พยาน" เท่านั้น ทำให้นายพานทองแท้ ชินวัตร เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเข้าลักษณะการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ หากยังคงมีการนำเสนอข่าวในลักษณะที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่านายพานทองแท้ ชินวัตร กระทำผิดคดีอาญาฐานฟอกเงินนี้แล้ว คณะที่ปรึกษากฎหมายและทนายความจะพิจารณาเสนอให้นายพานทองแท้ ชินวัตร มอบอำนาจให้ดำเนินคดีต่อบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานหมิ่นประมาท เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและปกป้องชื่อเสียงต่อไป

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล
ทนายความผู้รับมอบอำนาจ 


ดีเอสไอแจงสื่อคดีกรุงไทย “พานทองแท้” เป็นพยาน-ไม่ใช่ผู้ต้องหา


เมื่อเวลา 11.00น. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว รายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ว่า ในวันนี้ นางเกศินี จิปิภพ มารดาของ นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวของ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนาภา จะเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำชี้แจงกรณีมีแคชเชียร์เช็คมูลค่า 26 ล้านบาท สั่งจ่ายเข้าบัญชีของ นางเกศินี เพื่อซื้อหุ้นผู้มีอุปการะคุณบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยหุ้นดังกล่าวมีการกระจายให้กับพนักงานบริษัท ฮาวคัม จำกัด และบริษัท มาสเตอร์โฟน จำกัด ซึ่งมีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น

ดีเอสไอ ยืนยัน เชิญ "พานทองแท้" ในฐานะพยาน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ปรากฏข้อมูลพบว่านายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร ได้นำเงินกู้บางส่วนไปจ่ายเป็นค่าที่ดินให้กับผู้ที่ซื้อบ้านในโครงการกฤษมหานครนั้น จากการสอบปากคำพยานพบว่าเป็นการจ่ายที่มีมูลหนี้และผู้รับเช็คไม่มีความผิดฐานฟอกเงิน

ทั้งนี้ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า พนักงานสอบสวนสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ได้เรียกสอบพยานทุกวัน วันละ 5-10 ปาก ขณะนี้ มีความคืบหน้าร้อยละ 70 โดยต้องเรียกสอบพยานจำนวนกว่า 200 ปาก โดยยืนยันว่า ยังไม่สรุป และ ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าผิดจริง ส่วนการเชิญตัวนายพานทองแท้ ชินวัตร มาที่ดีเอสไอนั้น เป็นการเชิญมาในฐานะพยานเท่านั้น

"หลังจากนี้จะมีการเชิญคุณพานทองแท้ ชินวัตร มาดีเอสไอในวันที่ 4 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ในฐานะ พยาน ไม่ใช่ผู้ต้องหา" พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าว

"พานทองแท้" เผยแพร่เอกสาร ยืนยัน ดีเอสไอ เชิญในฐานะพยาน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลา 11.00 น. เช่นเดียวกัน นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ภาพถ่ายเอกสารหนังสือเชิญของดีเอสไอ พร้อมข้อความ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 


ข้อเท็จจริงที่ผมได้พบ จากการที่ถูก DSI เรียกสอบ กรณีเงินกู้แบงค์กรุงไทย คือระบบสองมาตรฐานยังคงมีอยู่ ในกระบวนการยุติธรรมไทย โดยไม่เปลี่ยนแปลงครับ 

หนังสือที่ DSI ส่งเรียกผมไปสอบถามทุกฉบับนั้น ส่งเรียกไปให้ข้อมูลในฐานะพยาน เช่นเดียวกับคนอีก 2-300 คน ที่มีกระแสการเงิน เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็ถูก DSI เรียกไปด้วยเหตุผลเดียวกัน ทั้งหมดนี้ในฐานะ "พยาน" ทั้งสิ้น 

2-300 คน ที่ถูกเรียกไปนั้น ได้ยินว่ามีทั้ง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ แทบจะครบทุกเหล่า นายตำรวจ มูลนิธิฯ สถาบันการเงินและบุคคลทั่วไป ซึ่งในการส่งหนังสือ เรียกตัวบุคลเหล่านั้นไปสอบ ทาง DSI มีการกระทำอย่างเงียบเชียบ ด้วยความระมัดระวัง ไม่ต้องการให้พยานต้องเสียหาย หรือตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งๆที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษา หรือวินิจฉัยใดๆทั้งสิ้น

แต่สำหรับตัวผมนั้น ตรงกันข้ามเลยครับ ถ้าแห่กลองยาวมาได้ คงถือหนังสือพร้อมส่งเสียงโห่นำขบวนมาแล้ว ฝ่ายที่อคติกับตัวผมใช้ช่องทางผ่านสื่อ บางคนที่ซ่อนตัวอยู่บางสำนักใช้เป็นเกมทางการเมืองไม่คำนึงถึงความถูกผิดขอให้ใส่ร้ายไว้ก่อน ชี้นำตลอดยิ่งกว่าผู้กระทำความผิด ทั้งที่ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยินดีให้ข้อมูลหลักฐานกับ DSI เพื่อพิสูจน์ความจริงและความบริสุทธิ์ได้ เอกสารยังไม่ทันถึงมือผมเลย สื่อมวลชนลงข่าวเรียบร้อย ก่อนที่ผมจะทราบเรื่องเสียอีก แถมตามด้วยแหล่งข่าวจาก DSI ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ออกมาให้สัมภาษณ์ในทางเป็นลบ ราวกับว่าผมตกเป็นผู้ต้องหาฯ ทุกครั้งที่ DSI ส่งหนังสือมา

ชกกันใต้เข็มขัดแบบนี้ เล่นเอาฝ่ายกฎหมายและทนายของผมเกิดสงสัยขึ้นมา จึงได้ทำหนังสือให้ลงนามไปสอบถามว่า ตกลงที่เรียกไปนี่ให้ไปในฐานะอะไร เพราะคิดว่าถ้าจะให้เป็นพยานแล้ว มาแกล้งออกข่าวให้เสียหายกันแบบนี้มันไม่แฟร์ ก็ได้รับคำตอบอย่างที่เห็นกันนี้คือ เป็นการเรียกไปให้ถ้อยคำ ในฐานะพยาน ครับ

ผมและน้องสาว เคยมีประสบการณ์แย่ๆมาแล้ว ในสมัย คตส.ครับ เรียกไปสอบเป็นพยาน แต่กลับนัดสื่อมารอทำข่าวเพียบ ลงมารับถึงตีนบันได ต่อหน้าสื่อโอ้หลานป้าอย่างนู้นอย่างนี้ แต่พอลับสายตาเข้าห้อง กลับแปลงร่างเป็นแม่มดทันที เคยเจอแบบนี้มาแล้ว จึงรู้ไส้รู้พุงกันดี 

ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ DSI ที่ดีๆนั้น ยังมีอยู่มาก ซึ่งต้องขอให้กำลังใจครับ DSI คือหน่วยงานต้นน้ำ ของกระบวนการยุติธรรม ถ้าเริ่มต้นกระบวนการให้ดี ทำงานแบบมืออาชีพไม่มีอคติ หรือเพียงแต่จะคิดเอาใจนาย ใครผิดใครถูกว่ากันไปตามกฎหมาย 2 มาตรฐานก็จะเกิดขึ้นได้ยาก บ้านเมืองก็จะกลับสู่ความสงบได้เร็ว 

ผมจะรอดูครับ พยานที่ชื่อพานทองแท้ กับพยานคนอื่นๆอีก 2-300 ปาก ที่เรียกสอบไปแล้ว DSI ในฐานะหน่วยงานของรัฐ จะให้ความเป็นธรรมเสมอภาค และกระทำในมาตรฐานเดียวกันหรือไม่..??

เดี๋ยวคงได้รู้กันครับ

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"ทักษิณ" เผยผ่านอัลจาซีรา รัฐบาลทหารไม่สามารถอยู่ยาวได้


23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใน Al Jazeera: Thaksin: Thai military government will not last long โดย กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน เรียบเรียงเนื้อหาเป็นภาษาไทย ดังนี้

รัฐบาลทหารจะไม่สามารถอยู่ยาวได้

นานกว่า 2 ปีแล้วที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้หายหน้าไปจากสื่อมวลชน ได้ปรากฏตัวขึ้นด้วยบทสัมภาษณ์พุ่งตรงไปยังรัฐบาลทหารของไทยและเกี่ยวเนื่องด้วยร่างรัฐธรรมนูญ

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้อาศัยอยู่ในต่างประเทศนานกว่า 10 ปีภายหลังการถูกรัฐประหาร ได้ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวอัลจาซีรา และสำนักข่าวอื่นๆในวันอังคารที่ผ่านมา ดร.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์เรื่องวิกฤตการณ์ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหารที่ได้เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้วโดยมีการวางกำหนดเลือกตั้งไว้ปลายปี 2017

"I see [the country going] backward more than forward. So this is why we start to worry. And when it comes to the draft constitution, [this] is the worst constitution ever," Thaksin told Al Jazeera, comparing it to something that could have been written in North Korea.

"ผมมองเห็นประเทศเดินถอยหลังมากกว่าก้าวไปข้างหน้า นี่คือสาเหตุที่พวกเราเริ่มจะเป็นห่วง เมื่อพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุด อาจเทียบได้กับประเทศเกาหลีเหนือเลยทีเดียว"

"I think the situation will not allow them to enjoy the power that much because of the way they run the country. Any regime that is careless about their own people will not last long," he said.

"ผมมองว่าสถานการณ์ไม่น่าจะเอื้ออำนวยให้รัฐบาลมีความสุขกับอำนาจได้มากนักเพราะการบริหารประเทศของรัฐบาลเอง"

รัฐบาลทหารนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีน้องสาว ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น กองทัพกล่าวว่าต้องการเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเพราะมีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงสองฝ่ายเผชิญหน้ากันในใจกลางกรุงเทพ อันเป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของทั้งฝ่ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์และทั้งฝ่ายผู้ต่อต้าน

"The military keep urging publicly that they want to do reconciliation ... They want to move the country forward but this is one and a half years [later] and there is no sign of reconciliation," Thaksin told Al Jazeera.

"รัฐบาลทหารพร่ำบอกกับสาธารณชนว่าต้องการจะปรองดอง ต้องการจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า แต่หนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีวี่แววว่าจะปรองดองอย่างไร"  ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าว กับสำนักข่าวอัลจาซีรา 

"Vice versa ...They are really siding with one side and then pressuring the other side."

"ในทางกลับกัน รัฐบาลทหารกลับเลือกข้างและกดดันอีกฝ่าย"