วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ดีเอสไอแจงสื่อคดีกรุงไทย “พานทองแท้” เป็นพยาน-ไม่ใช่ผู้ต้องหา


เมื่อเวลา 11.00น. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว รายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ว่า ในวันนี้ นางเกศินี จิปิภพ มารดาของ นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวของ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนาภา จะเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำชี้แจงกรณีมีแคชเชียร์เช็คมูลค่า 26 ล้านบาท สั่งจ่ายเข้าบัญชีของ นางเกศินี เพื่อซื้อหุ้นผู้มีอุปการะคุณบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยหุ้นดังกล่าวมีการกระจายให้กับพนักงานบริษัท ฮาวคัม จำกัด และบริษัท มาสเตอร์โฟน จำกัด ซึ่งมีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น

ดีเอสไอ ยืนยัน เชิญ "พานทองแท้" ในฐานะพยาน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ปรากฏข้อมูลพบว่านายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร ได้นำเงินกู้บางส่วนไปจ่ายเป็นค่าที่ดินให้กับผู้ที่ซื้อบ้านในโครงการกฤษมหานครนั้น จากการสอบปากคำพยานพบว่าเป็นการจ่ายที่มีมูลหนี้และผู้รับเช็คไม่มีความผิดฐานฟอกเงิน

ทั้งนี้ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า พนักงานสอบสวนสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ได้เรียกสอบพยานทุกวัน วันละ 5-10 ปาก ขณะนี้ มีความคืบหน้าร้อยละ 70 โดยต้องเรียกสอบพยานจำนวนกว่า 200 ปาก โดยยืนยันว่า ยังไม่สรุป และ ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าผิดจริง ส่วนการเชิญตัวนายพานทองแท้ ชินวัตร มาที่ดีเอสไอนั้น เป็นการเชิญมาในฐานะพยานเท่านั้น

"หลังจากนี้จะมีการเชิญคุณพานทองแท้ ชินวัตร มาดีเอสไอในวันที่ 4 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ในฐานะ พยาน ไม่ใช่ผู้ต้องหา" พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าว

"พานทองแท้" เผยแพร่เอกสาร ยืนยัน ดีเอสไอ เชิญในฐานะพยาน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลา 11.00 น. เช่นเดียวกัน นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ภาพถ่ายเอกสารหนังสือเชิญของดีเอสไอ พร้อมข้อความ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 


ข้อเท็จจริงที่ผมได้พบ จากการที่ถูก DSI เรียกสอบ กรณีเงินกู้แบงค์กรุงไทย คือระบบสองมาตรฐานยังคงมีอยู่ ในกระบวนการยุติธรรมไทย โดยไม่เปลี่ยนแปลงครับ 

หนังสือที่ DSI ส่งเรียกผมไปสอบถามทุกฉบับนั้น ส่งเรียกไปให้ข้อมูลในฐานะพยาน เช่นเดียวกับคนอีก 2-300 คน ที่มีกระแสการเงิน เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็ถูก DSI เรียกไปด้วยเหตุผลเดียวกัน ทั้งหมดนี้ในฐานะ "พยาน" ทั้งสิ้น 

2-300 คน ที่ถูกเรียกไปนั้น ได้ยินว่ามีทั้ง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ แทบจะครบทุกเหล่า นายตำรวจ มูลนิธิฯ สถาบันการเงินและบุคคลทั่วไป ซึ่งในการส่งหนังสือ เรียกตัวบุคลเหล่านั้นไปสอบ ทาง DSI มีการกระทำอย่างเงียบเชียบ ด้วยความระมัดระวัง ไม่ต้องการให้พยานต้องเสียหาย หรือตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งๆที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษา หรือวินิจฉัยใดๆทั้งสิ้น

แต่สำหรับตัวผมนั้น ตรงกันข้ามเลยครับ ถ้าแห่กลองยาวมาได้ คงถือหนังสือพร้อมส่งเสียงโห่นำขบวนมาแล้ว ฝ่ายที่อคติกับตัวผมใช้ช่องทางผ่านสื่อ บางคนที่ซ่อนตัวอยู่บางสำนักใช้เป็นเกมทางการเมืองไม่คำนึงถึงความถูกผิดขอให้ใส่ร้ายไว้ก่อน ชี้นำตลอดยิ่งกว่าผู้กระทำความผิด ทั้งที่ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยินดีให้ข้อมูลหลักฐานกับ DSI เพื่อพิสูจน์ความจริงและความบริสุทธิ์ได้ เอกสารยังไม่ทันถึงมือผมเลย สื่อมวลชนลงข่าวเรียบร้อย ก่อนที่ผมจะทราบเรื่องเสียอีก แถมตามด้วยแหล่งข่าวจาก DSI ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ออกมาให้สัมภาษณ์ในทางเป็นลบ ราวกับว่าผมตกเป็นผู้ต้องหาฯ ทุกครั้งที่ DSI ส่งหนังสือมา

ชกกันใต้เข็มขัดแบบนี้ เล่นเอาฝ่ายกฎหมายและทนายของผมเกิดสงสัยขึ้นมา จึงได้ทำหนังสือให้ลงนามไปสอบถามว่า ตกลงที่เรียกไปนี่ให้ไปในฐานะอะไร เพราะคิดว่าถ้าจะให้เป็นพยานแล้ว มาแกล้งออกข่าวให้เสียหายกันแบบนี้มันไม่แฟร์ ก็ได้รับคำตอบอย่างที่เห็นกันนี้คือ เป็นการเรียกไปให้ถ้อยคำ ในฐานะพยาน ครับ

ผมและน้องสาว เคยมีประสบการณ์แย่ๆมาแล้ว ในสมัย คตส.ครับ เรียกไปสอบเป็นพยาน แต่กลับนัดสื่อมารอทำข่าวเพียบ ลงมารับถึงตีนบันได ต่อหน้าสื่อโอ้หลานป้าอย่างนู้นอย่างนี้ แต่พอลับสายตาเข้าห้อง กลับแปลงร่างเป็นแม่มดทันที เคยเจอแบบนี้มาแล้ว จึงรู้ไส้รู้พุงกันดี 

ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ DSI ที่ดีๆนั้น ยังมีอยู่มาก ซึ่งต้องขอให้กำลังใจครับ DSI คือหน่วยงานต้นน้ำ ของกระบวนการยุติธรรม ถ้าเริ่มต้นกระบวนการให้ดี ทำงานแบบมืออาชีพไม่มีอคติ หรือเพียงแต่จะคิดเอาใจนาย ใครผิดใครถูกว่ากันไปตามกฎหมาย 2 มาตรฐานก็จะเกิดขึ้นได้ยาก บ้านเมืองก็จะกลับสู่ความสงบได้เร็ว 

ผมจะรอดูครับ พยานที่ชื่อพานทองแท้ กับพยานคนอื่นๆอีก 2-300 ปาก ที่เรียกสอบไปแล้ว DSI ในฐานะหน่วยงานของรัฐ จะให้ความเป็นธรรมเสมอภาค และกระทำในมาตรฐานเดียวกันหรือไม่..??

เดี๋ยวคงได้รู้กันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น