วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ถอดรหัสคำต่อคำ "ทักษิณ" เผยผ่าน อัลจาซีรา เตือน คสช. ห่วงประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ได้ออกอากาศบทสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใน Al Jazeera: Thaksin Shinawatra: Let Thailand return to democracy โดย กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน เรียบเรียงเนื้อหาเป็นภาษาไทย ดังนี้


Al Jazeera:  ขอบคุณมากครับที่มาร่วมรายการกับเราในวันนี้ ทั้งคุณ (ดร.ทักษิณ ชินวัตร) และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้อยู่ในสายตาของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในสมุดภาพที่สวยงามและบนปฏิทินที่แจกจ่ายไปทั่วประเทศ  ทำไมต้องเกิดขึ้นตอนนี้?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: ผมเลือกที่จะอยู่อย่างเงียบๆ เพื่อปล่อยให้รัฐบาลได้แก้ปัญหากันไป แต่ขณะที่เวลาผ่านมาปีครึ่งแล้ว แต่การปรองดองกลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง ขณะที่มีการกระทำต่างๆที่ส่งผลกระทบจนรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือเหตุผลที่แค่อยากออกมาบอกว่ารู้สึกเดือดร้อนจากคณะรัฐบาล

Al Jazeera:  ตลอดเวลาตั้งแต่หลังรัฐประหาร มีทั้งนักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรมออกมาต่อต้านเป็นจำนวนมากแต่ทั้งคุณและยิ่งลักษณ์ต่างเงียบ เพราะอะไร?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  เราอยากจะให้เวลาแก่คณะรัฐประหาร เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แต่ดูเหมือนว่าแนวทางแก้ปัญหาจะออกนอกลู่นอกทาง รัฐบาลไม่ได้ความคิดที่จะปรองดอง

Al Jazeera:   ดูเหมือนคุณก็ไม่ได้หวังว่ามันจะปรองดองได้?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  การปรองดองไม่เคยเกิดขึ้นจริง ครั้งแรกหากคุณจำได้  ตอนที่ทหารนั่งเรียงกันเป็นแถวเพื่อแถลงการทำรัฐประหาร สาเหตุที่ต้องยึดอำนาจการปกครองคือเพื่อสร้างความปรองดอง  ถ้าคุณลองย้อนกลับไปฟังว่าคสช.พูดอะไรในวันแรกเปรียบเทียบกับวันนี้ ผ่านมาปีครึ่งแล้ว ไม่มีการปรองดองใดๆเลย


Al Jazeera:  นี่คือการเริ่มต้นการตอบโต้ โดยชินวัตร?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: การพูดวันนี้ไม่ใช่การตอบโต้ ผมแค่ปรารถนาให้ประเทศกลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย ไม่ได้เลยออกไปสู่ความเป็นเผด็จการ

Al Jazeera:  ดูจากที่คุณสื่อสารกับมวลชนผู้สนับสนุนผ่านโซเชียลมีเดีย พูดในทำนองว่า “ปีนี้เตรียมตัวให้พร้อม” คุณหมายความว่าอย่างไร?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: การเลือกตั้ง

Al Jazeera: ปีนี้?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  หากสิ่งที่รัฐบาลทำ ทำให้ประชาชนพอใจได้ บริหารเศรษฐกิจประเทศให้เจริญเติบโตได้ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามาก สถานการณ์แย่ลง ประชาชนยากจนลง จนแทบไม่มีความหวังแล้ว

Al Jazeera:  คุณกำลังจะบอกว่ารัฐบาลทหารจะถูกกดดันให้จัดการเลือกตั้งในปีนี้ ในขณะที่รัฐบาลก็บอกว่าจะเกิดขึ้นในสิ้นปีหน้า?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  สถานการณ์นี้อาจไม่เอื้อให้รัฐบาลทหารอยู่ได้นานนัก เพราะวิธีการปกครองประเทศของรัฐบาล ระบบใดที่ไม่ฟังเสียงประชาชนของตนเอง จะอยู่ไม่ได้นาน  รัฐบาลจะต้องใส่ใจประชาชนให้มากขึ้น  ผมไม่แคร์หากรัฐบาลอยากมีอำนาจต่อ อยู่ต่อไปเลย! แต่ต้องทำให้ประเทศก้าวหน้าและต้องห่วงใยประชาชนให้มากกว่านี้ แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องอย่าลืมว่าประเทศชาติไม่ได้หมายถึงแผ่นดินเพียงอย่างเดียว หากแต่ประเทศหมายรวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินด้วยเช่นกัน


Al Jazeera:  คุณบอกว่ามันจะถูกกดดันให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้  แรงกดดันเหล่านี้มาจากไหนที่จะกดดันจนต้องเกิดการเลือกตั้ง และหากไม่ได้เกิดการเลือกตั้งมันจะเกิดอะไรขึ้น?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร : ผมมองว่าวิธีการปกครองประชาชน วิธีการบริหารขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาล สิ่งที่ต่างประเทศมองไทย  ถ้ารัฐบาลรักและห่วงใยประชาชนจริงๆเหมือนที่กล่าวอ้าง รัฐบาลต้องปล่อยให้ประเทศกลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตย

Al Jazeera:  คุณมีความเห็นอย่างไรกับการรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2014

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: ภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงบนท้องถนน ผมได้ตั้งข้อสังเกตไปว่ามีทหารไปแฝงตัวในการชุมนุม ผมคิดว่ามีการวางแผนกันมาเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร  และตั้งแต่ประมาณ เมษายน ทหารเริ่มตั้งบังเกอร์ตามท้องถนนในกรุงเทพฯ คุณจำได้ไหม ที่มีการตั้งบังเกอร์ที่เชียงใหม่ด้วย ผมรู้ทันทีว่า มีการวางแผนทำรัฐประหาร

Al Jazeera:  ทหารบอกว่าการตั้งบังเกอร์เพื่อรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: ไม่เลย คุณรู้ไหม ตั้งแต่ทหารเริ่มแฝงตัวในม็อบสุเทพ ผมเริ่มเห็นจากวิธีในการสื่อสารกับรัฐบาลน้องสาวผมในตอนนั้น ผมก็รู้แล้ว ผมรู้ทันทีว่าจะเกิดรัฐประหารแน่นอน

Al Jazeera:  นั้นคือการเตรียมการรัฐประหารมาอย่างดีเยี่ยม?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  ใช่

Al Jazeera:  คุณเชื่อมั่นเช่นนั้น คุณรู้ตั้งแต่นาทีที่ม็อบเกิดขึ้นบนท้องถนน?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ใช่

Al Jazeera:  แล้วคุณคิดว่าตอนนี้รัฐบาลจะเดินหน้ากันไปยังไง คุณเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับถัดไปจะไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าไร การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวนายกรัฐมนตรี?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีในอนาคตจะถูกควบคุมโดยองค์กรเหนือรัฐแบบโปลิตบูโรควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติยาวนานต่อเนื่อง 20 ปี เพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลอีกที ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับไม่ได้สนใจเคารพในเสียงของประชาชนเลย ประชาชนแทบจะไม่มีอำนาจอะไรเลย คนทั้งประเทศเลือกตั้งรัฐบาล แต่นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกมา กลับไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายใดๆนอกเหนือไปจากในกรอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติที่มาจากกองทัพ มันเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด แย่มากกว่ารัฐธรรมนูญของประเทศเมียนมาร์สมัยก่อนการปฏิรูปประเทศด้วยซ้ำ

 Al Jazeera:  รัฐบาลปัจจุบันมักพูดว่า ตั้งแต่รัฐประหารมาประเทศชาติสงบมากขึ้น ไม่มีประท้วงวุ่นวาย มันก็น่าจะดีกว่า?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ตอนนี้ประชาชนยากจนลง การส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศไม่มีการวางแผนสำหรับอนาคต

Al Jazeera:  ช่วงหลังรัฐประหาร นักธุรกิจนักลงทุนต่างชาติ ดูไม่ได้ใส่ใจ เหมือนชอบเพราะรู้สึกการเมืองนิ่งมากขึ้น อุตสาหกรรมใหญ่ก็ไม่มีการย้ายฐานการผลิต?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  เพราะเขารู้แน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งแน่ๆ ในปีหน้าตามสัญญา และมันแค่ปีเดียว ก็จะกลับสู่ประชาธิปไตยแล้ว

Al Jazeera:  คุณพูดถึงเศรษฐกิจของประเทศ คณะรัฐประหารบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดผิดทางหรือเปล่า และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลคุณ ก็ไปเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังให้กับคณะรัฐประหาร และได้นำเอานโยบายที่ได้รับความนิยมสมัยรัฐบาลคุณมากระตุ้นเศรษฐกิจ?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  ผมรู้สึกดีใจที่รัฐบาลนำเอานโยบายของผมไปปรับใช้ ถ้าพูดง่ายๆ เศรษฐกิจคล้ายสิ่งมีชีวิต ปัญหาเศรษฐกิจเปรียบเหมือนไวรัส เมื่อเจอยาตัวเดิมไปบ่อยๆนานๆ จะดื้อยา เพราะเศรษฐกิจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ปัญหาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา ยาเก่าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้

Al Jazeera:  เศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอนต่อเนื่อง แล้วส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจส่งออก?

 ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ไทยเคยเป็นประเทศที่มีอัตราความเจริญเติบโตสูงที่สุดในอาเซียน แต่วันนี้ประเทศกลับเจริญเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน นี่พอจะพิสูจน์อะไรได้บ้าง

Al Jazeera:  นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และน้องสาวของคุณ ถูกดำเนินคดีในโครงการรับจำนำข้าว ในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มีการรับข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาด นโยบายมีการบริหารงานผิดพลาดหรือไม่?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายเดียวในโลกที่นโยบายไม่ผิด แต่คนทำนโยบายผิด เป็นนโยบายที่ได้รับการเลือกจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอย่างถล่มทลาย หลักคิดเบื้องหลังโครงการรับจำนำข้าวคือ หากเราภูมิใจที่เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก เราควรที่จะช่วยเขารักษาอาชีพชาวนาให้ดำรงอยู่ได้ ถ้าคนไทยมีอาชีพเป็นชาวนา เขาต้องภาคภูมิใจ ไม่ใช่ อ๋อ คุณเป็นชาวนา ก็เป็นไปจะขาดทุนเจ๊งยากจนก็ไม่ต้องสนใจ ซึ่งไม่ยุติธรรมเลยสำหรับชาวนา และอีกทั้งชาวนาคือคนส่วนมากของประเทศที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา เมื่อชาวนานำข้าวไปจำนำในโครงการ ชาวนาก็รับเงินตรงจากธนาคาร ข้าวมีความชื้นก็หักเปอร์เซ็นต์ความชื้นซึ่งเป็นปกติ เมื่อชาวนาได้เงิน ชาวนาก็นำไปใช้จ่าย เงินที่ชาวนาใช้จ่าย ก็กลับไปเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ขับเคลื่อนหมุนเวียนอยู่วงจรเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล แล้วรัฐบาลก็ได้เงินเหล่านี้กลับมาในรูปแบบของภาษี

Al Jazeera:  แต่มันก็ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะเมื่อคุณนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ คุณคิดว่ามันจะควบคุมได้ไหม หรือไม่ได้ควบคุมดูแลอย่างเพียงพอ?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  รัฐบาลอยู่ในฐานะผู้ให้นโยบาย รับผิดชอบในระดับนโยบาย ในระดับปฏิบัติ จะมีระบบข้าราชการนำนโยบายไปปฏิบัติต่อ แต่บังเอิญตอนนั้นอินเดีย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เทขายข้าว 9 ล้านตันออกมาในตลาดในปีนี้  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของฝ่ายตรงข้าม โจมตีว่าข้าวไทยมีมากเกินไป ล้นตลาดขายไม่ได้ ข้าวไม่มีคุณภาพขายไม่ได้ ความจริงก็แค่ผู้ค้าข้าวในต่างประเทศหยุดระบายข้าว ไม่ซื้อเพิ่มและไทยก็ควรเก็บสต็อคข้าวไว้ก่อนอย่าเพิ่งขาย(แข่งกับอินเดีย) ก็แค่นั้น  ในส่วนของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์นั้น เธอทำงานอย่างหนัก ทั้งควบคุมดูแลและพยายามผลักดันให้ตัวแทนค้าข้าวออกไปขายข้าวในต่างประเทศตลอด

Al Jazeera:  แล้วยิ่งลักษณ์ได้รู้เห็นละเลยในการทุจริต?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ในกระบวนการรับจำนำข้าวนั้น แม้แต่ในภาคเอกชน แม้จะมีวิธีปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบ แต่ก็ย่อมมีจุดอ่อนให้ปรับปรุงพัฒนา ในองค์กรเล็กๆอาจพอแก้ไขจุดอ่อนได้ง่าย ในองค์กรขนาดใหญ่ก็ควรแก้ไขจุดอ่อนในระบบขั้นตอนปฏิบัติการและพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทุกฤดูกาลผลิตเสมอ  เพราะระบบยังไม่ได้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด หากรัฐบาลสามารถทำระบบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มวัดตารางพื้นที่ปลูกข้าวได้ ก็จะไม่มีจุดอ่อนและควบคุมได้ดีกว่านี้

Al Jazeera:  พูดถึงชีวิตของคุณสักหน่อย คุณเองถูกรัฐประหารออกนอกประเทศ หากคุณมองย้อนกลับไปคุณคิดไหมว่าคุณจะต้องมาอยู่นอกประเทศเป็นสิบปีได้ยังไง

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ได้สิ ผมก็ต้องปรับตัวให้อยู่ได้

Al Jazeera:  คุณก็ไม่ต้องอยู่ต่างประเทศสิ คุณจะกลับไปบ้านตอนไหนก็ได้ กลับไปอยู่กับคนที่คุณรักและสนับสนุนคุณ?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ถ้าผมกลับไป ใครจะรับประกันความปลอดภัยในชีวิตผม มีความพยายามลอบสังหารผมถึง 4 ครั้ง สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี

Al Jazeera:  คุณคิดว่า หากคุณกลับไป ชีวิตคุณจะตกอยู่ในอันตราย?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  แน่นอน

Al Jazeera:  ใคร ต้องการฆ่าคุณ?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  (ผายมือและยิ้ม) ผมไม่สามารถพูดได้ ผมไม่ได้สามารถบอกคุณได้ ผมไม่รู้ว่าใคร  ผมถูกลอบสังหาร ผมก็พยายามพยายามค้นหาความจริง แม้กระทั่งพยานในคดีคาร์บอม  ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 เคยบอกว่ามีคนพยายามฆ่าผม หากไม่สำเร็จก็จะใช้วิธีรัฐประหารขับไล่ ถ้ารัฐประหารสำเร็จ นั่นคือสิ่งที่พยานได้ให้ปากคำในการสอบสวนไว้ในเดือนสิงหาคม จากนั้น ในเดือนกันยายน ผมก็ถูกรัฐประหาร และในเดือนตุลาคม ก็มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ถูกพยานกล่าวถึง

Al Jazeera:  ดังนั้น คุณกำลังบอกว่า กองทัพพยายามที่จะฆ่าคุณ

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  ผมไม่รู้หรอก. ผมไม่ต้องตอบอะไร.... มันชัดเจน

Al Jazeera:  จตุพร พรหมพันธุ์ได้กล่าวไว้ว่าหาก ทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่ในประเทศ ประเทศชาติจะไม่ตกต่ำขนาดนี้ ประชาธิปไตยก็จะยังคงรุ่งโรจน์ก้าวหน้า คุณคิดอย่างไร

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  หากผมอยู่ในประเทศ ผมอาจจะถูกฆ่า ผมจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้หรือไม่ ผมก็ไม่รู้ ผมไม่คิดว่าผมสำคัญขนาดนั้น ผมคาดการณ์ไม่ได้

Al Jazeera:  หลายคนเป็นห่วงและคาดการณ์เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในไทย มันจะเกิดขึ้นในไม่ช้า?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ผมไม่เห็นด้วย เพราะคนไทยรักสันติ คนไทยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายต่อต้านผม มักคิดว่าผมจะแก้แค้นเอาคืนแล้ว ไม่เลย ผมอยู่อย่างเงียบสงบแบบนี้ผมมีความสุขมาก ถ้าไม่มาเกี่ยวข้องกับผม ผมก็ไม่เคยพูดอะไรเลยสักคำ แม้เค้าจะพยายามโจมตีให้ร้าย ผมกลับเก็บเนื้อเก็บตัว ผมพยายามไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ แต่อย่างที่บอก ผมไม่อยากเห็นประเทศตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่ ผมจึงพูดเสมอว่าอย่ากังวลอะไรเกี่ยวกับตัวผม อย่ากลัวหวาดระแวงผม อย่าคิดว่าผมจะพยายามแก้แค้น ผมพอใจที่จะเป็น “อดีตนายกรัฐมนตรี” ผมรักประเทศผม ผมรักประชาชนของผม

Al Jazeera:  และคุณปรารถนาที่จะกลับประเทศด้วย?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  ตอนนี้ผมโอเคนะ  ใช่ ผมเคยอยากกลับ หากผมได้กลับบ้าน แน่นอนผมจะกลับ แต่หากไม่สามารถกลับได้ ผมโอเค เพราะผมอยู่ได้ทุกประเทศ

ดร.ทักษิณ ชินวัตร :  รัฐบาล คสช.พูดเสมอว่า  รัฐบาลอยากสร้างความปรองดอง อยากเห็นประเทศเดินหน้าได้ แต่นี่มันปีครึ่งแล้ว มันแทบไม่มีสัญญาณของการปรองดองใดๆ ในทางกลับกัน กลับเอาอกเอาใจฝ่ายหนึ่ง และกดดันบีบคั้นอีกฝ่ายหนึ่ง ความปรองดองมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ การขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้า ผมมองเห็นแต่ประเทศถอยหลังมากกว่าเดินหน้า นี่คือสิ่งที่ผมกังวล และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุดถ้าเราเปรียบเทียบกับเกาหลีเหนือ

Al Jazeera:   คณะรัฐประหารหมดเวลาแล้ว?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร: คสช.ต้องย้อนกลับไปถึงวันแรกที่สัญญากับคนทั้งโลกในวันที่ทำรัฐประหารว่าคสช.จะสร้างความปรองดอง ต้องกลับไปดูเทปว่าวันนั้น คสช. ประกาศว่าอะไรและทำตามนั้น  นั่นคือสิ่งที่ผมขอ ผมไม่เคยขออะไรให้ตัวเอง

Al Jazeera:   คุณได้พูดคุยโดยตรงกับคณะรัฐประหารบ้างไหม?

ดร.ทักษิณ ชินวัตร:  ไม่เคย เขาก็พูดเองว่าไม่ต้องการพูดคุย แต่ผมไม่ได้สนใจ ผมแค่ตั้งใจเตือนว่า อย่าห่วงอะไรผม ให้ห่วงประเทศชาติ ให้ห่วงประชาชน ประเทศไม่ใช่แค่แผ่นดิน แต่หมายถึงประชาชนที่อาศัยร่วมกันอยู่บนผืนแผ่นดิน

Al Jazeera:   ขอบคุณมากครับ






1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้านายก ทักษิณอยู่ถึงวันนี้ ประเทศอจริญแซงสิงคโปรไปแล้ว

    ตอบลบ