วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
“จาตุรนต์” เตือน กรธ. หยุดขู่ผู้เห็นต่างร่างฯรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
อย่าใช้คำว่า"บิดเบือน"ปิดหูปิดตาประชาชน
รับลูกกันเป็นทอดๆ ประธานกรธ.บอกว่าจะขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกรณีคนบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญทางโซเชียลมีเดีย รัฐบาลก็ขานรับทันทีว่าจะหาทางดำเนินการให้ แล้วบุคคลสำคัญของคสช.กับรัฐบาลก็ออกมาทั้งปรามทั้งขู่คนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นระยะ ถึงขั้นอาจเรียกไปปรับทัศนคติรายวัน
ล่าสุดบอกว่าอาจเอาผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคสช.ยังให้คนออกมาบอกว่าคนที่บิดเบือนรายละเอียดร่างฯอาจถูกเรียกไปปรับทัศนคติ เรียกว่าขู่กันเต็มที่
มีคำถามว่าคำว่า "บิดเบือน" แปลว่าอะไร บิดเบือนของพวกนี้แปลว่า "เห็นต่าง" หรือเปล่า
ถ้าใครบอกว่าร่างนี้มีแค่ 50 มาตราจึงมีเนื้อหาน้อยไป หรือบอกว่าไม่ชอบเพราะกำหนดให้นายกฯมาจากการเลือกตั้ง อย่างนี้น่าจะเรียกได้ว่า “บิดเบือน”
แต่ถามหน่อยว่าความเห็นต่อไปนี้เรียกว่าบิดเบือนหรือไม่?
(1). ร่างนี้ไม่ดีเพราะทำให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชนชาวไทย
(2).เปิดช่องให้นายกฯมาจากคนนอก
(3). สว.มาจากกลุ่มอาชีพไม่อาจถือว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงไม่เป็นประชาธิปไตย
(4). องค์กรอิสระและโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากเกินไป
(5). ระบบเลือกตั้งจะทำให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากและเป็นประโยชน์ต่อพรรคขนาดกลางให้โทษต่อพรรคเล็กๆ
(6). จะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีนโยบายตอบสนองประชาชน
(7). จะเกิดการหักล้างการตัดสินของประชาชนโดยองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้คนนอกเป็นนายกฯ
(8). ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
(9). ร่างนี้จะนำสังคมไทยสู่วิกฤตที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น
(10). ปิดทางแก้เหมือนร่างไว้ให้ฉีกเท่านั้น
10 ข้อที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ถือว่าบิดเบือนหรือไม่ ถ้าถือว่าบิดเบือน คนที่จะถูกเอาผิดหรือเรียกไปปรับทัศนคติคงมีมากจนนับไม่ถ้วน
ที่ยกมานั้นความจริงเป็นความเห็น ไม่ใช่เรื่องบิดเบือนหรือไม่บิดเบือน แต่คสช.กับรัฐบาลกำลังบิดเบือนความหมายของคำว่า "บิดเบือน" เสียมากกว่า
อ้างคำว่า "บิดเบือน" เพื่อปิดปากคนที่เห็นต่าง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับข้อมูลความเห็นจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ปิดหูปิดตาประชาชน
จนต้องกลับมาตั้งคำถามที่หลายคนเคยถามไปแล้วว่า แล้วจะมีประชามติไปให้สิ้นเปลืองทำไม ไม่ต้องทำประชามติ ทำเสร็จก็ประกาศใช้เลยไม่ดีกว่าหรือ?
ฝ่ายที่คอยพูดสนับสนุนร่างฯดูจะน้อยลงเรื่อยๆและไม่มีมุมจะอธิบาย จะชี้แจงอะไรก็ฟังไม่ค่อยขึ้น คนค้านก็ยิ่งมากขึ้นๆ ใกล้จะเข้าตาจนเต็มทีแล้ว
ก่อนนี้บอกว่าพวกที่ค้านไม่มีข้อมูลเพราะร่างยังไม่เสร็จ ต่อมาก็บอกว่ายังไม่ได้อ่าน หรือบอกว่าอยากฟังพวกมีเหตุผล แปลว่าที่ค้านนี่ไม่มีเหตุผล
นักวิชาการวิจารณ์ก็ถามว่าเป็นศาสตราจารย์มาได้ยังไง จนคนออกมาค้านกันเต็มบ้านเต็มเมือง จึงงัดเอาคำว่า "บิดเบือน" ขึ้นมา เรียกว่าอับจนปัญญาเต็มที
การทำให้ผ่านประชามติของคสช. รัฐบาลและกรธ.จึงมีเพียงการชี้แจงฝ่ายเดียวแบบไม่มีเหตุมีผล ลดความน่าเชื่อถือของผู้เห็นต่างและข่มขู่เพื่อปิดปาก
อย่างนี้แหละที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ไงครับ
https://twitter.com/chaturon
9 กุมภาพันธ์ 2559
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น