วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

"เพื่อไทย" ค้าน ส.ว.สรรหา สืบทอดอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี


นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอให้ส.ว.ทั้งหมดมาจากการสรรหา เพื่อคุมสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจนิติบัญญัติต้องยึดโยงประชาชน ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และถ่วงดุลการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะ ส.ว.ที่มีหน้าที่แต่งตั้งบุคคลเข้าไปเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากด้วยแล้ว หากเป็นเช่นนี้จริง เท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างในร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ห้ามไม่ให้ส.ส.หรือคณะรัฐมนตรี(ครม.) แปรญัตติงบประมาณเพื่อประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง ถ้าส.ว.พบเห็น สามารถเข้าชื่อ 1ใน 10 ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยได้ภายใน 7 วัน ศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาของส.ว. คงมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในที่สุด ส.ว.ที่มาจากการสรรหาจะเป็นอุปสรรค์ต่อการบริหารงานประเทศในช่วง 5 ปีแรก การเมืองจะวุ่นวาย และรัฐบาลไม่สามารถทำงานได้

ทางด้าน นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอให้มีแต่ส.ว.สรรหาเพื่อคุมสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านว่าความคิดดังกล่าวเกิดจากความไม่ไว้ใจการใช้อำนาจเลือกตั้งของประชาชน จึงกังวลว่าจะไม่ได้บุคคลที่ตรงใจมาทำหน้าที่ส.ว. แต่ถ้าเชื่อมั่นในดุลยพินิจของประชาชน ทุกอย่างจะจบ ยกตัวอย่างการเลือกตั้งส.ว.ครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้คนมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ตนมองว่าหากข้อเสนอดังกล่าวเป็นจริง คนที่จะมาเป็น ส.ว.สรรหาคงเป็นบุคคลเดิมๆที่อยู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเครือข่ายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นหลัก คงมีการควบคุมการบริหารงานหลังการเลือกตั้งโดยส.ว. การดำเนินการใดๆของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงเป็นไปได้ยาก หากไม่เป็นเนื้อเดียวกับคสช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น