วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" เยือนบึงกาฬ ประชาชน-นักเรียนรอต้อนรับคึกคัก


30 พฤษภาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไป จ.สกลนคร เพื่อเดินทางต่อไปยังจ.บึงกาฬ ตามโครงการ "5 เหตุที่นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องมาจังหวัดฉัน" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ร่วมเล่นกับแฟนเพจเฟซบุ๊ก โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปที่ “ภูทอก” วัดเจติยาคีรีวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่แฟนเพจแนะนำให้หมา พร้อมแวะกราบสักการะรูปปั้นและเจดีย์ ”หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ” และนมัสการเจ้าอาวาสวัด

ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่า การเดินทางมาลงพื้นที่ของตนในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมพบปะแฟนเพจในกรุงเทพมหานคร โดยแฟนเพจต่างจังหวัดขอมา นอกจากนี้ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ จะครบรอบ 5 ปี การพบปะแฟนเพจ โดยครั้งแรกตนได้พบกับแฟนคลับในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่ออยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ห่างหายจากการพบปะแฟนเพจไป ดังนั้นเมื่อโดนเว้นวรรคทางการเมืองจึงถือโอกาสนี้มาพบปะแฟนเพจ ทั้งนี้การลงพื้นที่พบปะแฟนเพจของตนไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือการลงประชามติแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับบรรยากาศ ประชาชนต่างดีใจที่นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางมา จ.บึงกาฬอีกครั้ง พร้อมตะโกน "ยิ่งลักษณ์สู้สู้" และให้กำลังใจแก่ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ก้าวข้ามอุปสรรคไปให้ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ของ นางสาวยิ่งลักษณ์นั้น มีทหารนอกเครื่องแบบแบบติดตามคณะไปทุกที่ที่เดินทางไปแต่ไม่ได้แสดงตัวหรือขัดขวางการดำเนินกิจกรรม เพียงแต่ขอความร่วมมือว่าขอให้ชาวบ้านอย่าชูป้ายสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่สนใจติดตามการลงพื้นที่ของนางสาวยิ่งลักษณ์ อาทิ BBC AP และอัลจาซีร่า ตามไปทำข่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จากนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ได้เดินทางไปที่ร้าน "อิ่มนม" บริเวณหน้า โรงเรียนบึงกาฬ ซึ่งเป็นจุดนัดพบกันของแฟนเพจ จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ ระหว่างนี้มีคณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนบึงกาฬประมาณ 10 คนเดินออกมาเชิญนางสาวยิ่งลักษณ์ไปเยี่ยมโรงเรียนเนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์เคยมาที่โรงเรียนแห่งนี้และได้อนุมัติงบประมาณในการสร้างหอประชุม ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ได้ถามคณะกรรมการนักเรียนว่าเลิกเรียนหรือยัง ทางคณะกรรมการนักเรียนบอกว่าถึงเวลาเลิกเรียนแล้วแต่นักเรียนไม่ยอมกลับบ้านเพราะทราบข่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์จะมาจึงรอพบ นางสาวยิ่งลักษณ์จึงได้เดินจากร้านอิ่มนมไปที่หอประชุมโรงเรียนบึงกาฬ เมื่อเข้าไปถึงนักเรียนกว่า 2,000 คนรอต้อนรับ และต่างส่งเสียงกรี๊ดด้วยความตื่นเต้น พร้อมขอจับมือ กอด และขอถ่ายรูปกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้เนื่องจากมีนักเรียนเป็นจำนวนมาก นางสาวยิ่งลักษณ์จึงขอให้ถ่ายรูปเป็นหมู่คณะแทน อย่างไรก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้ปราศรัยใดใดในโรงเรียนบึงกาฬมีเพียงเดินพูดคุยเล็กน้อยกับนักเรียนเท่านั้น

"อนุสรณ์" แนะรัฐหยุดทำลายเพื่อไทย ชี้สลายการชุมนุม'53 ละเมิดสิทธิ์ชัดเจน


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลระบุว่าการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีต เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่า "น่าแปลกใจที่คนในรัฐบาลและคสช. หยิบยกเรื่องนี้มาใช้ทำลายพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นกระบวนการ ในวาระแถลงผลงานครบรอบ 2 ปีของคสช. ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าหานโยบายที่เป็นผลงานตัวเองไม่ค่อยได้ เลยหันมาใช้วิธีทำลายคะแนนนิยมของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่ ทั้งที่มีคณะกรรมการหลายชุดก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 2,500 ศพ ที่อ้างกันในช่วงนั้น เป็นการนับรวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อื่นๆมารวมอยู่ด้วย และไม่พบหลักฐานหรือชุดข้อมูลใดชี้ว่ารัฐบาลในขณะนั้น สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปวิสามัญฆาตกรรมผู้ค้ายาเสพติดตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง จะได้ไม่มีใครนำข้อมูลที่บิดเบือนไปกล่าวเท็จโจมตีกันอีก"

"รัฐบาลและคสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่แล้ว ก็น่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาค้นหาความจริงในเรื่องนี้ไปเลยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร การนำความเท็จมาใส่ร้ายคนอื่น ไม่ได้เป็นการแสดงออกอย่างกล้าหาญ แต่เป็นการแสดงให้เห็นธาตุแท้ที่อ่อนแอให้สังคมได้ประจักษ์ คนที่ออกมาพูด ลองถามประชาชนดูก็ได้ ระหว่างผู้ค้ายาเสพติดที่ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่จนถูกวิสามัญฆาตกรรม กับการสังหารหมู่ประชาชน 99 ศพ ที่มาเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยอาวุธสงครามกลางกรุงในปี 2553 อันไหนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจนและรุนแรงกว่ากัน" นายอนุสรณ์ กล่าว

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"สุรพงษ์" แนะประยุทธ์ ปรับครม. รับผิดชอบปัญหาเกษตรกร


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า กรณีชาวนา จ.กำแพงเพชร ผูกคอตายเพราะประสพปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำปลูกข้าว และไม่มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาและชาวสวนโดยด่วน อยากให้รัฐบาลใช้เวลาที่เหลืออยู่อีกปีเศษ รีบปฎิรูปการเกษตรของไทยให้ดี ที่คนเข้ามานั่งในสภาปฏิรูปประเทศ(สปท.) แสดงวิสัยทัศน์แบบเลอเลิศ แต่ประชาชนที่รัฐบาลบอกว่าไม่ใช่รากหญ้าอีกแล้วกำลังอดโซ หิวโหย ไม่มีเงิน รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขให้ได้ จะนิ่งดูดายอยู่อีกต่อไปไม่ได้อีกแล้ว หากถ้ารัฐมนตรีกระทรวงใดทำงานไม่ได้ตามเป้า ก็ต้องรีบปรับ ครม.


เปิดตัว องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายพันธมิตร 35 องค์กร


แถลงข่าวเปิดตัวองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายพันธมิตร 35 องค์กร ที่ โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์มังโสด มะเต๊ะ ในฐานะประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดแดนภาคใต้ มีชื่อภาษามลายูว่า Suara Rakyat Selatan 1437H ได้แถลงข่าวเปิดตัวองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายพันธ์มิตร 35 องค์กรที่โรงแรมไดอิชิ (Daiichi Hotel) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ ซึ่งก่อนหน้าได้มี รศ.ดร.โคทม อารียา และทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดการอบรมเพื่อให้ความรู้เป็นเวลา 2 วัน โดยภายในงานแถลงข่าวเปิดตัว องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายพันธมิตร 35 องค์กร มีการเผยแพร่เนื้อหา แถลงการณ์องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดให้มีการลงประชามติของประชาชนในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั้น ซึ่งตามมาตรา 7  พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฏหมาย” ดังนั้น จึงจัดตั้ง “องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายออกเสียงประชามติดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 
  1. เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
  2. เพื่อเชิญชวนประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ
  3. เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปตามกฏหมาย และเกิดความยุติธรรม
  4. เพื่อป้องกันและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนไม่ให้กระทำผิดกฏหมายประชามติ
  5. เพื่อสังเกตการณ์ และเฝ้าระวังไม่ให้มีการทุจริตในการนับคะแนนลงประชามติ
  6. เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีเผยแพร่ฯ อาทิ ก่อนเผยแพร่ ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลงานวิจัย รวมถึงที่มาก่อนนำมาประกอบความเห็นหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เป็นต้น 
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้
29 พฤษภาคม 2559

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ภาคีเครือข่ายองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 มีรายชื่อดังต่อไปนี้ 

  1. สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดระนอง
  2. สมาคมสตรีมุสลิมมะฮ์อาสาพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช
  3. สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดพัทลุง
  4. สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดสงชลา
  5. สมาพันธ์กรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนใต้
  6. ศูนย์ประสานงานการศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) 5 จังหวัดชายแดนใต้
  7. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดสงขลา
  8. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดนราธิวาส
  9. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดพัทลุง
  10. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดสตูล
  11. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดยะลา
  12. สมาคมการศึกษาเอกชนสอนศาสนาจังหวัดยะลา
  13. ชมรมโรงเรียนเอกชนศึกษาสงเคราะห์จังหวัดชายแดนภาคใต้
  14. สภาพัฒนาการศึกษาจังหวัดยะลา
  15. สมาพันธส่งเสริมและพัฒนาสังคมสันติสุข จังหวัดชายแดนใต้
  16. เครือข่ายองค์กรสตรี 14 จังหวัดภาคใต้
  17. ชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดยะลา
  18. ชมรมโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดจังหวัดสงขลา
  19. ศูนย์บริหารอิสลามศึกษา ฟัรดูอีนสะเดา
  20. ชมรมเยาวชนทุ่งยางแดง
  21. เครือข่ายที่ดินทำกินจังหวัดพัทลุง
  22. เครือข่ายบริหารจัดการป่าต้นน้ำเมือกเขาบรรทัด
  23. ชมรอิหม่ามประจำมัสยิด อำเภอสะเดา
  24. สมาคมฟัรดูอีนจังหวัดสงขลา
  25. สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
  26. ชมรมตาดีกาอำเภอยะหา จังหวัดยะลา
  27. ชมรมอิหม่าม คอเต็บบิลาล อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
  28. ชมรมชุมชนสัมพันธ์ จังหวัดปัตตานี
  29. ชมรมตาดีกา จังหวัดปัตตานี
  30. ชมรมตาดีกา จังหวัดยะลา
  31. ชมรมตาดีกา จังหวัดนราธิวาส
  32. ชมรมตาดีกา จังหวัดสงขลา
  33. ชมรมตาดีกา จังหวัดสตูล
  34. องค์กรฮัจญ์และอุมเราะห์ (ศอบต.) จังหวัดปัตตานี













"จาตุรนต์" ห่วงรัฐจำกัดสิทธิ์คนเห็นต่าง เผยเหตุยอมให้ผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวออกนอกประเทศเพราะต่างชาติกดดัน


เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2559 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นักการเมืองไปต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต คสช.แล้ว ยกเว้นบุคคลที่มีคดีความต้องขออนุญาตศาลว่า ไม่ได้ช่วยผ่อนคลายสิทธิเสรีภาพของผู้ที่แสดงความเห็นต่างที่ถูกจำกัด ซึ่งคำสั่งนี้ใช้ส่วนใหญ่กับผู้ที่ให้ไปรายงานตัว ถูกควบคุมตัว ผู้ที่ถูกเรียกมาปรับทัศนคติแล้ว ยังไม่หยุดวิจารณ์ ที่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งในการปล่อยตัว และเหตุผลจริงๆ ของเงื่อนไขนี้ เพื่อไม่ให้มีการวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ และคสช.ทำให้หลายร้อยคนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่กล้าวิจารณ์ เลี่ยงการไม่ได้รับอนุญาตไปต่างประเทศ ซึ่งถือว่ามาตรการนี้ได้ผลในแง่ที่ทำให้มีการวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.น้อยลงมาก

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การไม่อนุญาตแต่ละครั้ง จะใช้วิธีแจ้งอย่างกะทันหัน คือเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเดินทาง หรือเมื่อถึงเวลาเดินทางแล้วก็ยังไม่แจ้ง ทำให้เกิดความเสียหายในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก ทั้งผู้ที่ขออนุญาต และผู้ที่ต้องเดินทางไปด้วย เรื่องนี้ถือเป็นผลเสีย พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ไม่ฟังเสียงที่แตกต่างเท่าที่ควร บริหารประเทศด้วยความเข้าใจผิด ได้ข้อมูลแบบผิดๆ ได้ยินแต่คำเยินยอ ไม่ค่อยได้ยินความเห็นที่แตกต่างมาตลอด 2 ปี ดังนั้น การบอกว่าการยกเลิกมาตรการนี้ไม่ค่อยได้เป็นประโยชน์เท่าไร นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่คสช.ใช้จัดการอยู่อีก เช่น ระงับธุรกรรมการเงิน ดำเนินคดีต่อคนที่เรียกมาปรับทัศนคติแล้วยังไม่หยุดแสดงความคิดเห็น การดำเนินคดีสามารถใช้ข้อหาได้ง่าย ทั้ง พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดทางอาญามาตรา 116 เกี่ยวกับความมั่นคง

"นอกจากนั้น การลงประชามติ ก็มีการใช้กฎหมายลงประชามติ ตีความเกินเนื้อหาของกฎหมาย และยังมีการขู่ใช้คำสั่ง คสช.กับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาต คสช.จึงกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เพราะมีมาตรการอื่นอยู่อีกหลายอย่าง ที่จะจำกัดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้ที่มีความเห็นต่าง การยกเลิกตรงนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จะต้องขอบคุณอะไร คสช. เพราะที่ผ่านมา คสช.ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ป่าเถื่อนมาโดยตลอด" นายจาตุรนต์กล่าว

เมื่อถาม ถ้ายังมีข้อจำกัดในเรื่องอื่นๆ อยู่อีก มองเจตนาการยกเลิกตรงนี้คืออะไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วการที่ คสช.ยกเลิกคำสั่งตรงนี้ มาจากแรงกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศและเวทีต่างประเทศ อย่างเวทียูพีอาร์ สหประชาชาติ ซึ่งวิจารณ์หนักมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ฐานะประเทศไทยตกต่ำไปมาก คสช.พยายามทำให้ดูดีขึ้น และถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ในขณะที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่คนทั้งโลกนี้ เขาห่วงใยอยู่ ยังไม่ได้รับการปรับปรุงใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า หากข้อจำกัดอื่นๆ ยังมีอยู่ มองสถานการณ์ในวันข้างหน้าอย่างไร โดยเฉพาะกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จะเป็นการลงประชามติที่ไม่เป็นธรรมอย่างย่ิง ขาดความชอบธรรมอย่างร้ายแรง วันข้างหน้าทำให้เกิดการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ หรือการปกครองหลังประชามติ และกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมที่หาทางออกได้ยาก ที่สำคัญยังคาดหวังได้ยากว่ามาตรการอื่นๆ จะได้การผ่อนปรนจากหัวหน้า คสช.เพราะไม่มีแนวโน้มยอมรับฟังคำวิจารณ์จากในและต่างประเทศ และเข้าใจว่า คสช.มุ่งร่างรัฐธรรมนูญผ่านให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมอีกต่อไปแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"นพดล" ห่วงรัฐโชว์ผลงาน งดเว้นวาทกรรมสร้างความแตกแยก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าในโอกาสครบ 2 ปีการรัฐประหารนั้น ตนเห็นว่ารัฐบาลน่าจะบอกประชาชนว่าทำอะไรไปบ้างที่เป็นผลงานที่ชัดเจน มากกว่าจะเอาเวลาไปโทษนักการเมืองหรือรัฐบาลเก่า เพราะเป็นการย้อนเวลาหาอดีตและที่มีคนบางกลุ่มกล่าวหาว่ารัฐบาลเก่าพยายามออกกฏหมายนิรโทษกรรมและมีม็อบปิดถนนและสถานที่ราชการจึงเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว ดังนั้นจึงมีการเข้าควบคุมอำนาจ ตนเคารพในชุดความคิดนี้แต่ตนและคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยเพราะตนเชื่อในชุดความคิดที่ว่าในขณะนั้นมีกลไกของการได้รัฐบาลใหม่ตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ถ้ามีข้อหาว่านักการเมืองคนใดทำผิดก็มีกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม เราต้องรักษาระบบ รัฐบาลที่ล้มเหลวไม่รุนแรงเท่ากับระบบที่ล้มเหลว ดังนั้นการพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจะมีคนบางส่วนที่พร้อมจะเห็นด้วย แต่ก็จะมีคนจำนวนไม่น้อยเห็นต่าง นี่คือสัจธรรมที่เราต้องยอมรับและเคารพ ส่วนการแถลงผลงานนั้นก็ควรแถลงที่เนื้องานให้ชัด แล้วประชาชนจะตัดสินเองว่าเป็นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องพาดพิงรัฐบาลเก่า เพราะทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาโดยวิธีใดมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เพียงแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถ้าประชาชนไม่ชอบจะไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล ดังนั้นตนเห็นว่าการลดความขัดแย้งและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการปรองดองหรืออยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขคือพูดความจริงในสิ่งที่ตนทำ งดเว้นวาทกรรมสร้างความแตกแยกจะเป็นการดีที่สุด

'เพื่อไทย' ห่วงปัญหาเศรษฐกิจ ส่งออกทรุด-นักท่องเที่ยวลด


นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การส่งออกเดือนเมษายนติดลบถึง 8% ซึ่งถือว่าหนักมาก เพราะไม่มีการส่งออกทองคำ และการส่งคืนยุทโธปกรณ์มาช่วยแล้ว ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมากเมื่อเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น อีกทั้งปัญหาความแห้งแล้งที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชผลการเกษตรได้ จะทำให้เศรษฐกิจทรุดหนัก และประชาชนจะยิ่งลำบาก ทั้งนี้เชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองจะไม่ดีเหมือนไตรมาสแรกอย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่าการที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเตือนรัฐบาลและประชาชน ไม่ได้เป็นการบิดเบือนแต่อย่างไร ซึ่งหากมองย้อนกลับตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อยากให้รัฐบาลและประชาชนได้พิจารณาว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่นายพิชัยและคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเสนอแนะและตักเตือนมาโดยตลอดนั้น เป็นจริงมาทั้งหมดหรือไม่ เป็นประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังและเร่งหาทางแก้ไข ก่อนที่เศรษฐกิจจะทรุดหนักลงกว่านี้และประชาชนจะลำบากมากกว่านี้ โดยรัฐบาลควรหาบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงมาอธิบายเศรษฐกิจ เพราะหากปราศจากความรู้ความเข้าใจ แต่พูดเพียงเพื่อตอบโต้ทางการเมือง ประชาชนจะสับสนและความเชื่อมั่นของประเทศจะยิ่งลดลง และหากยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจจากต่างประเทศให้กลับมาได้เศรษฐกิจก็คงจะฟื้นได้ยาก

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“วรวัจน์” ห่วงปัญหารัฐ-ทุจริต ไม่ยุติธรรม-ประชาชนรับไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ สังกัดพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้



เออแน่ะ.!!! ปีนี้ก็ปี2559 จวนจะล่วงเข้าปี 2560 อยู่แล้ว..ยังมีคนเอาคำพูด " เผาบ้าน เผาเมือง " มาหลอกเด็กอีกแล้ว

ผมก็เชื่อว่า เมื่อตอนที่ผมอภิปรายเรื่อง " ใครเผาเซนทรัล " ในสภาปีนั้น ทุกคนพอเห็นหลักฐาน ก็รู้แล้วล่ะ ว่าอันที่จริง พวกเสื้อแดงเผาเซนทรัลไม่ได้หรอก ก็โถ..ก็มีทหารทั้งกองทัพ ล้อมเซนทรัลไว้ตั้งแต่ตอนบ่าย2 แต่มีคนวางระเบิดเซนทรัล เอาเมื่อตอน 5 โมงเย็น แถมก่อนเผา ยังมีคนไปไล่พนักงานของเซนทรัล417คนออกไปจนหมดตอน4โมงเย็นอีกด้วย

แค่นี้..!!! ไม่ต้องบอกอะไรมากหรอกครับ เด็กอมมือก็รู้ว่า ใครเผา ยิ่งมาปีนี้ มีคำพิพากษา ของศาลตัดสินออกมาว่า พวกเสื้อแดงไม่ได้เป็นคนเผา ก็ยิ่งตอกย้ำความจริง ว่า " ใครเผา "

เพียงแค่ ตอนนั้น มันมีกีฬาสีอยู่ คนเค้าเลยแกล้งๆเชื่อไปบ้างเท่านั้นเอง

แต่นี่..!!!มาปี59 เข้านี้แล้ว ยังเอาความเดิม มาพูดแบบเดิมอีก เพราะคิดว่าจะหลอกคนไทยได้ .. มโนไปรึเปล่าครับ.. แล้วขอโทษนะครับ ยิ่งมาบอกว่ารัฐบาลเก่า ทำให้ประเทศไทย เป็นภูมิแพ้ตัวเอง เพราะปลุกระดมเผาบ้าน เผาเมือง ทำเศรษฐกิจตกต่ำ บริหารงานผิดพลาด มีการทุจริตคอรัปชั่น ทำให้ประเทศบอบช้ำ ???

ฮ่า..ฮ่า..ฮ่า..ขอหัวเราะหน่อยนะครับ..ที่นี่!! เมืองไทยนะครับ คนไทยนะครับ..เค้านับตังในกระเป๋าตัวเอง ในยุคนั้น เปรียบเทียบกับยุคนี้ และโดยไม่ต้องฟังการวิเคราะห์เศรษฐกิจจากสำนักไหนมาเปรียบเทียบ เค้าก็ตอบได้แล้วครับว่า ใครบริหารงานยังไง ใครทุจริตคอรัปชั่นจริงหรือไม่

ถ้าตอนนั้น..เค้าบริหารงานผิดพลาด แต่คนไทยยังมีเงินสะพัดเต็มกระเป๋า แล้วถ้ารัฐบาลนี้ บริหารงานแบบนี้ แต่ เมื่อนับตังในกระเป๋าแล้ว มันแห้งไปหมด มันก็คือคำตอบครับ ว่า "ใครบริหารงาน ยังไงกันแน่ "

ยิ่งพูดแบบนี้มากๆ ก็จะยิ่งทำให้คนรู้และเข้าใจนะครับว่า คดีความที่เกิดขึ้นในตอนนั้น และตอนนี้นั้น "มันมีความยุติธรรมรึเปล่า"

ลึกๆนะครับ..คนไทย เป็นคนที่มีความยุติธรรมในหัวใจครับ เห็นใคร โดนแกล้ง จนผิดวิถีกระบวนการยุติธรรมแบบนั้น เค้ารับไม่ได้ครับ!! แล้วเค้าก็จะหาความจริง แล้วเค้าก็จะรู้ว่า คดีที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร..ปี พ.ศ.นี้นะครับ คนไทยตื่นแล้วนะครับ

ขอยืมคำพูดของน้องๆลูกเสือมาใช้หน่อยนะครับ ว่า "เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ " แล้วผมจะเชื่อว่า จะมีคนพูดความจริงในสังคมไทยขึ้นเยอะครับ เพราะ " ไม่อยากอายเด็กมัน "ครับ!!

"เดียร์-ขัตติยา" ชี้ ผ่านมา 2 ปี ไม่มีนักการเมือง เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น อาชญกรรม-ยาเสพติดก็มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาว ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เมื่อเช้าได้มีโอกาสอ่านข้อความซึ่งเขียนโดยสุภาพสตรีอดีตแกนนำ กปปส. ที่เคยทำให้ผู้เป็นมารดาต้องขายหน้า เพราะความบ้าระห่ำของตัวเองสมัยเอานกหวีดมาห้อยคอแทนพระค่ะ

อ่านกี่โพสต์ของเธอ ก็มีแต่ย้ำเรื่องเผาบ้านเผาเมือง นิรโทษกรรม จำนำข้าว และประชานิยม เขียนจิกเขียนกัด วนอยู่แค่ 4 เรื่อง แต่กลับไม่เคยพูดถึงสาระสำคัญของประเทศ เรื่องหลักประชาธิปไตย ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ มีสิทธิมีเสียง มีเสรีภาพ ไม่เคยพูดถึงเรื่องหลักการเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกผู้นำประเทศด้วยตนเอง ผู้ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าต้องยอมรับการเป็นผู้แพ้ และต้องพิสูจน์ตนเองใหม่ผ่านการสร้างสรรค์นโยบายดีๆ ที่จะนำมาช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วต่อไปในอนาคต หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็จะได้เข้ามาเป็นรัฐบาลโดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง
แต่เธอกลับหาว่านโยบายประชานิยมทำประเทศล่มจม แล้วสนับสนุนนโยบายที่เกิดขึ้นโดย “ไม่เห็นหัว” ประชาชนเสียเอง

น่าเสียใจและน่าเสียดายแทนผู้เป็นพ่อของเธอค่ะ เพราะเดียร์ทราบมาว่า ตัวคุณพ่อของเธอเองนั้น ก็เป็นถึงอดีตนักการเมืองที่สนับสนุนการเลือกตั้งมาโดยตลอด เป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีเพียงแต่คุณแม่ของเธอเท่านั้น ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงสมัครรับเลือกตั้งสักเท่าไหร่ พ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์อยู่หลายคราว เลยอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้เป็นลูกสาวหันเหความคิดมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนลืมเคารพกติกา ลืมหลักการและความถูกต้องหรือเปล่า
ในแง่มุมเธอ...เธออาจจะคิดว่าสิ่งที่เธอพูดและทำไปนั้น เป็น “ความดี” ของ “คนดี” แต่เธอก็ไม่ควรไปชี้ว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามหรือคนที่คิดต่างนั้นเป็น “ความเลว” หรือ “คนเลว” และยิ่งถ้าเธอคิดว่าคนอย่างแกนนำ กปปส. เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั้นเป็นตัวอย่างของคนดีแล้วหล่ะก็....เดียร์อยากขอให้เธอลองก้าวเข้ามาดูบรรยากาศและคนของพรรคเพื่อไทยจังค่ะ จะได้รู้ว่า “คนดีในสายตาประชาชน” เขาต้องมีคุณสมบัติกันอย่างไร

พูดกันแบบมีสามัญสำนึก คนที่ดีจริงเขาไม่ชมตัวเองว่าเป็นคนดีหรอกค่ะ ต้องให้คนอื่นพูด ต้องให้ประชาชนตัดสิน

อีกเรื่องที่เธอชอบพูดเพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม คือใช้วาทกรรมเชยๆ ของเธอ กล่าวหาว่าเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง เลิกพูดสักทีเถอะค่ะ ในเมื่อศาลก็พิพากษามาแล้วว่าผู้ก่อเหตุไม่ใช่กลุ่มคนเสื้อแดง แต่หากคนเสื้อแดงมีความคิดที่จะเผาบ้านเผาเมืองอย่างที่เธอขยันปรักปรำและใส่ร้ายจริง ก็น่าให้เลือกเผาตึกที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเซ็นทรัลเวิลด์มากกว่าอีกไหมคะ?

สุดท้ายนี้ เดียร์ว่าเป็นเรื่องน่าคิดค่ะ ว่าไม่มีนักการเมืองบริหารมาสองปีแล้ว ทุจริตคอรัปชั่นไม่ลดลง เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น อาชญกรรมมีมากขึ้น ยาเสพติดก็มากขึ้น ปัญหาเดิมรุนแรงขึ้น และปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นมากมาย แต่ กปปส. กลับหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ อาจจะจริงอย่างที่ว่า เรื่องนี้ ก็แค่ “เผาบ้านไล่หนู” ยอมทำลายทุกอย่างเพียงเพราะไม่ชอบคนที่ประชาชนเลือกมาเท่านั้นแหละค่ะ

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

'ยิ่งลักษณ์' แต่งผ้าไหมแพรวา เยือนกาฬสินธุ์ เข้ากราบ 'หลวงพ่อสงบ'

เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นางบุญรื่น ศรีธเรศ, นายประเสริฐ บุญเรือง, นายพีระเพชร ศิริกุล, นายเงิน ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ต้อนรับ โดยที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมแพรวา ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของชาวบ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โดยได้เดินทางไปจุดแรกที่พระบรมธาตุเจดีย์ฐิตสีลมหาเถรานุสรณ์ เพื่อกราบนมัสการ มีพระครูสันติธรรมประภาส หรือ "หลวงพ่อสงบ" เจ้าอาวาส ต้อนรับ จากนั้นอดีตนายกฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวาฯ ซึ่งห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร ท้องที่บ้านเดียวกัน และได้เยี่ยมชมกลุ่มแม่บ้านจักสาน และกลุ่มแม่บ้านสตรีผู้ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน และได้เดินทางกลับเวลาประมาณ 12.30 น. มีชาวไทยบ้านโพน แต่งกายในชุดพื้นเมือง จำนวนมากให้การต้อนรับ และมีการรำพื้นบ้านชาวผู้ไทยต้อนรับ



วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"แซนด์-ชยิกา" โพสต์ครบ 2 ปี รัฐประหาร เสรีภาพถูกลิดรอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


จาก 19 กันยายน 2549​ ถึง 22 พฤษภาคม 2559 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2559 วันนี้ หลายคนอาจมองว่าเป็นวันครบรอบ 2 ปี รัฐประหารที่รัฐบาล คสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไป แต่แท้จริงแล้วประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพได้ถูกลิดรอนไปจากประชาชน ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 โดยผลพวงของการรัฐประหารในวันนั้นคือรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถือเป็น “ผลไม้พิษ” ที่ยังคงกัดกร่อน ลิดรอนสิทธิ และเป็นที่มาของการรัฐประหารอีกครั้งที่มาบรรจบครบรอบ 2 ปีในวันนี้

สิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยกล่าวไว้ ณ เมืองอูลันบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ว่า "รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่ได้ได้มาฟรีๆ สิทธิ เสรีภาพ และความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง มีความเท่าเทียมกันนั้น ได้มาด้วยการต่อสู้และที่น่าเศร้าใจคือ ทำให้ต้องมีผู้เสียชีวิต" 

หลายเหตุการณ์การต่อสู้ของวีรชนะผู้เสียสละเหล่านั้นถือเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนความคิดความเข้าใจต่อการเมืองไทยของดิฉันและประชาชนอีกมากมาย แต่ทว่าวงจรรัฐประหารวันนี้ก็ยังไม่จบสิ้น โดยมีการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นเครื่อง “ตอกย้ำ” ที่ชัดเจน และยังไม่แน่นอนว่าจะมีการคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างไรและเมื่อใด สถานการณ์ต่างๆในประเทศไทย ถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ถูกบั่นทอน และโอกาสที่จะกลับคืนสู่บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่มีอาวุธคือ "ความอดทน" จะยังคงยืนหยัดในการต่อสู้ด้วยการ “อดทน อดทน และ อดทน” เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย และจะร่วมกันปฏิเสธกระบวนการใดๆที่มิใช่แนวทางประชาธิปไตย รวมไปถึงการไปใช้สิทธิลงประชามติรัฐธรรมนูญ

ด้วยความหวังว่าในอนาคต ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีสิทธิ เสรีภาพ ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ้านเมืองมีเสถียรภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประเทศไทยเป็นของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

ชยิกา วงศ์นภาจันทร์
22 พฤษภาคม 2559

ยิ่งลักษณ์ เร่ง คสช. ทำตามสัญญา 2 ปีรัฐประหาร ประชาชนลำบากปัญหาปากท้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

วันนี้เป็นวันครบรอบ 2 ปีรัฐประหาร ที่รัฐบาลดิฉันถูกยึดอำนาจไป

แต่แท้จริงแล้ว อำนาจ สิทธิและเสรีภาพคือของประชาชนต่างหากที่ถูกลิดรอน โดยใช้เหตุผลว่า รัฐบาลของดิฉันทำงานไม่ได้ จึงเข้ามายึดอำนาจ เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง สร้างความชอบธรรมให้กับทุกฝ่ายและเพื่อต้องการปฏิรูปประเทศ

ดิฉันก็คงได้แต่หวังว่า คสช. คงจะไม่ลืมสัญญา และขอฝากคำถามว่า ความสามัคคีปรองดอง สร้างความชอบธรรมให้กับทุกฝ่าย ได้เกิดขึ้นในทิศทางที่ถูกต้องหรือเปล่า รวมทั้ง เร่งรัดในการปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตามโรดแมปที่ได้สัญญาไว้

เพราะวันนี้ประชาชนกำลังจะเผชิญกับความยากลำบาก จากปัญหาปากท้อง ความยากจน รวมถึงปัญหา สังคม ยาเสพติดที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

จึงอยากให้เร่งคืนความสุข ที่เป็นการคืนอำนาจ สิทธิ อิสรภาพ และ เสรีภาพ รวมทั้งการแก้ไขความขัดแย้งแทนการคืนความสุขบนความอึดอัดด้วยการกดไว้เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่มากกว่า  เพื่อให้ประชาชนนั้นได้มีโอกาสเลือกหนทางชีวิต  ด้วยตัวของเขาเอง นั่นคือหนทางออกที่ดีที่สุด

ก็จะทำให้สองปีที่ผ่านมานั้น... เป็นสองปีที่ไม่สูญเปล่า

ซึ่งดิฉันอยากจะคิด และหวังให้เป็นอย่างนั้นค่ะ

Today is the 2nd anniversary of the Coup d'état that removed my government from office. More importantly it was the day that the people's rights and freedom were taken away. They justified this action by claiming that my government can no longer govern the country and it must be them in charge in order to proceed with reconciliation process.

I can only hope that the NCPO remembers what they promised to the people. I would like to ask them whether the reconciliation process has been inclusive and if it's going in the right direction or not. I also hope that the NCPO will accelerate the implementation of reforms that will move the country back towards path to democracy as specified by their own roadmap.

I have growing concerns because today, the people are suffering from economic hardship, poverty and critical social issues including increasing drug use. I wish that they will swiftly return happiness to the people, by happiness I mean the basic rights and freedom that will allow the people to once again choose their own destiny. They must also urgently address the problems facing the people.  I believe that this is the best and only way out for our country.

This will ensure that the past two years would not have been wasted. I remain hopeful that this will be the case.

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
Yingluck Shinawatra

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"อนุสรณ์" แนะรัฐ เปิดเวทีถกประชามติ พิสูจน์ความจริงใจ-รับฟังเสียงประชาชน


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมชี้แจงพรรคการเมือง ในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติและประชาชน เพื่อทำความเข้าใจและเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า แม้จะมีความสงสัยว่า เวทีนี้เกิดขึ้นจากอะไร มาจากความตั้งใจของฝ่ายถืออำนาจรัฐอยู่แล้ว หรือมาจากกระแสกดดันทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่เวลานี้การได้คำตอบยังไม่ใช่สาระสำคัญ เท่ากับจะทำอย่างไร ถึงจะสามารถยกระดับขยายวงให้มีเวทีแบบนี้ กระจายตัวออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมทั่วทั้งประเทศให้ได้มากที่สุด ทำอย่างไรที่จะมีการเปิดเวที มีเสรีภาพในการนำเสนออย่างอิสระ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของประเทศผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนทุกหมู่เหล่าควรได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ประเทศนี้ไม่ใช่เป็นเฉพาะของผู้ถืออำนาจ ข้าราชการ หรือพรรคการเมือง แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศ ถ้าเวทีพูดคุยแสดงความเห็นเป็นการเปิดรูระบายให้หายใจอย่างที่ว่า การมีเวทีน้อย รูระบายให้หายใจก็จะเล็กมากไม่เกิดประโยชน์ การเปิดเวทีให้กว้างขวางและครอบคลุมจึงจะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล และ คสช.

"เพื่อไทย" แพร่บทความ "รำลึกพฤษภาคม" คารวะดวงวิญญาณผู้รักประชาธิปไตย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ บทความ "รำลึกพฤษภาคม เดือนแห่งการเร่งแสวงหาความยุติธรรม...ที่ยังรอคอย" ผ่านเว็บไซต์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เดือนพฤษภาคม เป็นอีกหนึ่งเดือนประวัติศาสตร์ที่คนไทยที่รักประชาธิปไตยต้องจดจำ
17 พฤษภาคม 2535...พฤษภาทมิฬเป็นวันที่ถูกกล่าวขานว่า คนไทยหัวใจแกร่ง ต่อสู้กับผู้มีอำนาจ โดยไม่ยินยอมให้มีการดำเนินการและบรรจุหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อาทิประเด็นเรื่องนายกฯ คนนอก หรือนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จนตกผลึกเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ไม่น่าเชื่อว่า เพียงเวลาผ่านไปแค่ 2 ทศวรรษกว่า  ประเด็นนี้กำลังหมุนเวียนกลับมาวิพากษ์วิจารณ์กันอีกตามร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้ 22 พฤษภาคม 2559 นี้ จะครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหาร ซึ่งมีคำถามว่า ประเทศและประชาชน ได้อะไรจากการถดถอยของระบอบประชาธิปไตยครั้งนี้  ชีวิตและความเป็นอยู่ ของประชาชน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเพียงใด  ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดกับทุกคน

เดือนพฤษภาคมยังมีเหตุการณ์สำคัญมากที่เป็นแผลฝังใจคนไทยผู้รักประชาธิปไตย นั่นคือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มประชาชนที่เกิดขึ้นที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งมาสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ด้วยการสังเวยชีวิตของประชาชนต่อเนื่องมาตั้งแต่วันเริ่มต้นยุทธการล้อมปราบ 13 พฤษภาคม 2553 จำนวนถึง 56 ศพและบาดเจ็บถึง 480 คน...สื่อมวลชนต่างให้คำนิยามและความหมายไว้ว่าเป็นการยิงนกในกรง

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีคดีเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระตลอดช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้สูญเสียชีวิตตลอดช่วงเหตุการณ์มากถึง "99ศพ" ศาลสถิตย์ยุติธรรมได้มีการไต่สวนว่า การตายในหลายกรณีที่สรุปเสร็จสิ้นแล้ว เป็นการตายที่เกิดจากกระสุนปืนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถืออาวุธร้ายแรง การสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด และผู้สมควรรับผิดชอบในความสูญเสียที่เกิดขึ้นของประชาชน กลับเชื่องช้าและพบว่าฝ่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและสูญเสียหลายคน กลับตกเป็นจำเลยในคดีอาญาร้ายแรง ในขณะที่กลุ่มคนผู้สั่งการสลายการชุมนุมซึ่งถูกมองว่าควรมีส่วนสำคัญที่ต้องรับผิดชอบในความสูญเสียและความเสียหายต่างๆ กลับหลุดรอดพ้นจากคดีความอย่างน่ากังขา

เดือนพฤษภาคม...จึงสมควรเป็นเดือนแห่งการรำลึกและแสวงหาความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียชีวิตและบาดเจ็บซึ่งรอคอยความหวังจากกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยของเรา

เสียงเปล่งร้อง ..."ความยุติธรรมไม่มี ยากที่จะทำให้ความสามัคคีเกิดขึ้นได้"  จึงยังคงเป็นวลีที่ดังก้องอยู่ในสังคมไทยอยู่ต่อไป....ตราบที่ความยุติธรรมแบบ สองมาตรฐานยังไม่หมดสิ้นไปจากสังคมไทย

ขอคารวะดวงวิญญาณของผู้รักประชาธิปไตยที่เสียสละทุกท่าน

พรรคเพื่อไทย
20 พฤษภาคม 2559


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีต และรักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ระบุว่า "ขออฐิษฐานจิต ถึงดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ ทางการเมือง เมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 ด้วยจิตคารวะ และขอส่งความระลึกถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ได้รับผลกระทบทางเสรีภาพ รวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ในเหตุการณ์ทางการเมืองในครั้งนั้นด้วยความเคารพครับ... ความรักในประชาธิปไตยของทุกท่าน ย่อมไม่สูญเปล่า และจะเป็นคุณูปการในระยะยาว แก่ประเทศไทย และประชาชนคนไทยทุกคน ทั้งที่เป็นผู้ตระหนักรู้ และยังมิได้รับรู้ ถึงคุณค่าของเสรีภาพ และประชาธิปไตย..."


วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"พานทองแท้" แนะรัฐ ปรองดองจะเกิดได้ ความยุติธรรม-เสมอภาคต้องมาก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


วันนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 2 เหตุการณ์ เป็นความเหมือนที่แตกต่างครับ

1. เหตุการณ์สลายการชุมนุมราชประสงค์ ซึ่งป่าวประกาศว่าเป็นการกระทำจากเบาไปหาหนัก แต่กลับมีคนถูกฆ่าตายร่วม 100 ศพ กลางเมืองหลวงของประเทศไทย
2. เหตุการณ์เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการสลายการชุมนุมเสร็จสิ้นไปแล้วหลายชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ 100% แล้ว แต่ก็ยังปล่อยให้มีการเผาห้างฯได้
สิ่งที่เหมือนกันก็คือ

ทั้ง 2 เหตุการณ์ ยังจับเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษไม่ได้
ส่วนสิ่งที่แตกต่างกันก็คือ

เรื่องที่หนึ่ง รู้ตัวผู้สั่งการสลายการชุมนุมชัดเจน แต่เนิ่นนานมาถึง 6 ปี กลับไม่สามารถสรุปเรื่องส่งฟ้องเพื่อเอาผิดได้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติไม่ส่งฟ้อง กลุ่มผู้สั่งการสลายการชุมนุม

ส่วนเรื่องที่สอง เหตุการณ์เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ทั้งๆ ที่การชุมนุมสลายไปแล้วนับชั่วโมง และทหารเข้าควบคุมเต็มพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ 100% แต่กลับมีกลุ่มบุคคลลึกลับ สามารถลักลอบเข้าไปเผาห้างฯ และสามารถหลบหนีไปได้อย่างลอยนวล โดยที่ยังหาเบาะแสเพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษไม่ได้ และมีการเสนอข่าวเพื่อยัดเยียดความผิดว่า เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา

เรื่องที่รู้ตัวบุคคลชัดเจน องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง กลับมีมติไม่ส่งเข้ากระบวนการยุติธรรม เพื่อไต่สวนความผิด ส่วนเรื่องที่ไม่มีหลักฐานเหมือนกับการสร้างสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อพยายามจะเอาความผิด ก็หาหลักฐานเชื่อมโยงไม่ได้ สะท้อนให้เห็นภาพ 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน
การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ความยุติธรรมเสมอภาคจะต้องมาก่อน เป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้น ในความขัดแย้งของทุกภูมิภาคทั่วโลก

ถ้าเรายังแก้ไขปัญหา 2 มาตรฐานนี้ไม่ได้ จะบังคับขู่เข็ญกันอย่างไร การปรองดองก็เกิดขึ้นได้ยากครับ

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนคดีจำนำข้าว แนะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน


เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ารับฟังการไต่สวนพยานโจทก์นัดที่ 9 ในคดีจำนำข้าว และได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะผู้แทนรัฐสภายุโรปเข้าพบเมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม) ที่ผ่านมาว่า สืบเนื่องจากที่ทางรัฐสภายุโรปทำหนังสือเชิญมาแต่ตนไม่สามารถไปได้จึงเดินทางมาพบ เบื้องต้นได้หารือกันเรื่องสถานการณ์การเมือง ซึ่งทางรัฐสภายุโรปได้แสดงความห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และอยากเห็นการลงประชามติเป็นไปอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีการถกเถียงเนื้อหาอย่างเต็มที่ และอยากเห็นไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วส่วนเรื่องคดีโครงการรับจำนำข้าวคณะผู้แทนทราบข่าวเป็นระยะอยู่แล้ว ตนเองก็ไม่ได้พูดอะไรมากมาย เพราะคดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณา



เมื่อถามว่าทางรัฐสภายุโรปได้แสดงความต้องการขอเข้ามาสังเกตการณ์ช่วงการทำประชามติหรือไม่? นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องไปหารือกับทางรัฐบาล ซึ่งทางเขาก็มีความห่วงใย และยินดีให้ความร่วมมือทุกอย่าง และในฐานะมิตรประเทศที่มีการค้าขายกับอียู เขาก็อยากเห็นประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนการลงประชามติรวมถึงการเลือกตั้งก็อยากให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ สำคัญคือทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับต่อประเทศที่เป็นประชาธิปไตย นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ระบุว่าไทยไม่ใช่เมืองขึ้นของใคร จึงไม่ต้องสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติว่า ไม่ได้มองว่าเราเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ถ้าเราจะอยู่ในหลักสากลที่จะให้นานาประเทศยอมรับ เราก็ต้องทำอะไรที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทุกคนยอมรับ เราจะทำอย่างเดียวโดยที่ไม่มองคนอื่นไม่ได้ แน่นอนว่าประเทศไทยพึ่งการส่งออกถึง 60% ดังนั้นเราจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และหลายๆ ประเทศที่เขามองเราเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาก็กังวลในเรื่องนี้ ถ้าเราสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ ตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดแนวทางที่ต่างชาติยอมรับ การค้าขายต่างๆ การไปมาหาสู่ ความสัมพันธ์กับนานาก็จะดีขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนมอง ส่วนสถานการณ์ 2 ปีหลังการทำรัฐประหาร นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดอะไรมากกว่านี้ เพราะผ่านมา 2 ปีแล้ว เป็น 2 ปีที่ทุกคนเฝ้าตั้งตารอให้อำนาจกลับคืนสู่ประชาชน ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว มีสิทธิ เสรีภาพ เราไม่อยากให้ 2 ปีนี้ เป็น 2 ปีที่สูญเปล่า

ส่วนกรณีที่ กกต.เตรียมเชิญทุกพรรคการเมืองร่วมรับฟังร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ นั้น เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมือง และผู้ที่เห็นต่างได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งเรื่องกติกาต่างๆ ก็ควรจะมีความชัดเจน เพื่อให้ความคิดต่างๆได้ถูกถ่ายทอดออกไป และทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ ส่วนปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน จะทำให้กระบวนการปรองดองล่าช้าหรือไม่นั้น มองว่าการปรองดองเป็นส่วนหนึ่ง บรรยากาศการให้ความเสมอภาค ความยุติธรรมกับทุกคน สิทธิ เสรีภาพ ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"พานทองแท้" ร่วมรำลึก เสธ.แดง ครบรอบ 6 ปี ทหารประชาธิปไตยถูกลอบสังหาร

#TV24 วันนี้ (13 พฤษภาคม 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ Facebook : Oak Panthongtae Shinawatra โดยมีเนื้อหา ดังนี้


วันนี้..คือวันครบรอบการจากไปของ เสธ.แดง หรือ "อาแดง" ครับ

"อาแดง" คือทหารผู้มีหัวใจเป็นประชาธิปไตย ตราบจนลมหายใจสุดท้าย..ของชีวิต..!!

"อาแดง" ถึงแก่ชีวิต จากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยศของอาแดง จึงหยุดอยู่เพียงแค่พลตรี ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือน นายพลเอกทั้งหลายในปัจจุบัน ที่มองว่า

"การเรียกร้องประชาธิปไตย คือทัศนคติผิดๆ ที่ควรต้องปรับเปลี่ยน"

"อาแดง" หากยังมีชีวิตอยู่ และไม่ได้มีจิตใจรักประชาธิปไตย ตอนนี้อาจเป็น พลเอก ขัตติยะ สวัสดิผล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอะไร สักกระทรวงฯ ไปแล้วก็ได้

ผมเชื่อว่าถ้าเลือกได้ อาแดงก็คงจะเมินลาภยศสรรเสริญ และเลือกที่จะทำอย่างเดิม โดยยอมพลีกาย เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ให้กับพี่น้องประชาชน ดังที่ได้ทำไปแล้ว

"ตายในสนามรบ เป็นเกียรติของทหาร" เป็นสิ่งที่อาแดง พูดกับเดียร์ ลูกสาวคนเดียว ผู้สืบทอดสันดาน รักประชาธิปไตย จากผู้เป็นพ่อ มาโดยตลอด

ตายเพื่อปกป้อง เรียกร้องประชาธิปไตย ตายไปมีคนสรรเสริญ และระลึกถึงทุกปี
ตายแบบนี้มีเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่แพ้กัน

ประชาธิปไตย จะกลับมาในไม่ช้า
หลับให้เป็นสุขครับอาแดง....

"เดียร์-ขัตติยา" จุดเทียนรำลึก “เสธ.แดง” ครบรอบ 6 ปี เหตุลอบสังหาร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวขัตติยา สวัสดิผล หรือ เดียร์ บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้เดินทางมาจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ที่ เสธ.แดง ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืน บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ตรึงกำลังอยู่โดยรอบ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชนว่า "มารำลึกในจุดที่คุณพ่อถูกลอบยิง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2553 การจัดงานรำลึกแบบนี้เราทำกันมาเป็นทุกปีอยู่แล้ว ช่วง 3-4 ปีแรก มากกว่านี้ และมีการทำบุญให้คุณพ่อ ในจุดที่คุณพ่อโดนยิง แต่ด้วยสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทางครอบครัวเราก็เลยทำกันเล็กๆ ไม่ได้บอกใครมาก เพราะไม่อยากให้มีปัญหาด้วย แต่มันก็เป็นการปฏิบัติของครอบครัวเรา อย่างเดียร์ กับ พี่สาว (พี่เก๋) ทุกปีอยู่แล้ว ที่พอถึงวันที่ 13 พฤษภาคม และเวลาใกล้เคียงกับที่คุณพ่อถูกลอบยิง ประมาณ 19.30น. จะมาจุดเทียนให้คุณพ่อ เพื่อรำลึกถึงคุณพ่อ เพราะ ใันวันนี้ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ทั้งเดียร์และก็พี่เก๋ ไม่ได้อยู่ในจุดนี้กับคุณพ่อด้วย"

"ส่วนเรื่องความคืบหน้าในคดี ตอนนี้ตัวเดียร์เอง อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน และก็หวังว่าให้พนักงานสอบสวนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็คงจะรวบรวมพยานหลักฐาน เหมือนที่เดียร์ทำเช่นกัน ไม่ใช่คดีไม่คืบหน้า หรือ คดีเดียร์ไม่ตามว่าคดีคุณพ่อคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว คดีของคุณพ่อมีอายุความ 20 ปี ตอนนี้ ผ่านมา 6 ปีแล้ว เหลืออีก 14 ปี ที่เดียร์จะพยายามค้นหาหลักฐาน พยานบุคคล พยานเอกสาร ภาพถ่าย หรือ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าใครมีหลักฐานที่คุณพ่อถูกลอบยิง ก็นำมาบอกเดียร์ ใจเขาใจเรา เราเป็นลูกสาว เราก็อยากจะรู้ว่า ใครทำคุณพ่อ? ใครเป็นคนลอบสังหารคุณพ่อ? และใครเป็นคนวางแผนลอบสังหารคุณพ่อ?"

"ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนคดีจำนำข้าว แนะรัฐรับฟังปัญหาสิทธิมนุษยชน


บรรยากาศสดจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาในช่วงเช้า ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดไต่สวนในวันนี้ (13 พฤษภาคม 2559) ซึ่งเป็นนัดครั้งที่ 8 สำหรับวันนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมรับฟังกระบวนการไต่สวนพยานด้วยตัวเอง โดยมีประชาชนร่วมเดินทางมาให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำนวนมาก

"ขอขอบคุณประชาชนที่มาให้กำลังใจทุกครั้งที่เดินทางมาศาล และจากการติดตามข่าวพบว่าหลายประเทศแสดงความกังวลห่วงใยประเทศไทยเรื่องสิทธิมนุษยชนและการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก จึงอยากให้รัฐบาล และ คสช. รับข้อเสนอ แต่ในฐานะประชาชนอยากให้การลงประชามติมีบรรยากาศของการแสดงออกอย่างเต็มที่ ไม่มีความกังวลใดๆ มีประชาชนร่วมใช้สิทธิจำนวนมาก เนื่องจากเป็นอนาคตของประเทศไทย" นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว



















วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"เพื่อไทย" วางพานพุ่ม งานวันปรีดี พนมยงค์


พรรคเพื่อไทย ได้ส่งผู้แทนเข้าวางพุ่มดอกไม้ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวันนี้ (11 พฤษภาคม 2559) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานวันปรีดี ประจำปี 2559 โดยในปีนี้ถือเป็นปีครบรอบ 116 ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งนี้ ช่วงเช้าเวลา 07.30 น. เป็นการทำพิธีสงฆ์ โดยมีพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และถวายสังฆทาน มีคณาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ และศิษย์เก่า เข้าร่วมงานวันปรีดี ประจำปี 2559 อย่างต่อเนื่อง ภายหลังพิธีสงฆ์จะมีการขับร้องเพลงประสานเสียงโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นเป็นพิธีสักการะอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานเสวนา เรื่อง "การร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย : บทเรียนจากป๋วยและปรีดี" ด้วย โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนเป็นจำนวนมาก