อาจารย์มังโสด มะเต๊ะ ในฐานะประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากองคกรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดแดนภาคใต้ มีการประชุมเครือข่ายสมาชิกให้มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการสังเกตการณ์ลงประชามติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมไดอิชิ (Daiichi Hotel) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วานนี้นั้น ปรากฏว่า ภายในวันนี้ มีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง สังกัดหน่วยงานความมั่นคงแห่งหนึ่ง ภายในพื้นที่ จ.สงขลา ได้ติดต่อไปยัง โรงแรมไดอิชิ เพื่อขอต้นฉบับกล้องที่บันทึกเทปกิจกรรมภายในห้องประชุมของโรงแรมที่จัดกิจกรรมดังกล่าว ขณะที่ทางโรงแรมแจ้งกลับไปว่า ไม่ได้มีการบันทึกภาพดังกล่าวไว้ โดย โรงแรมไดอิชิ ได้ให้หมายเลขติดต่อกับ อาจารย์มังโสด มะเต๊ะ ประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้
อาจารย์มังโสด มะเต๊ะ ระบุว่า ต่อมา วันนี้ ตนเอง ได้รับการติดต่อกลับมาโดยมีการอ้างชื่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง เพื่อขอต้นฉบับกล้องที่บันทึกเทปกิจกรรมขององค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในห้องประชุมของโรงแรมไดอิชิ โดยตนเองจะยังไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ และขอสงวนท่าทีในกรณีดังกล่าว เพื่อประเมินสถานการณ์ประมาณ 2-3 วัน ก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดแดนภาคใต้ มีชื่อภาษามลายูว่า Suara Rakyat Selatan 1437H ได้แถลงข่าวเปิดตัวองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายพันธ์มิตร 35 องค์กร เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมไดอิชิ (Daiichi Hotel) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.โคทม อารียา และทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดการอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการลงประชามติ โดยภายในงานแถลงข่าวเปิดตัว องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายพันธมิตร 35 องค์กร มีการเผยแพร่เนื้อหา แถลงการณ์องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดให้มีการลงประชามติของประชาชนในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั้น ซึ่งตามมาตรา 7 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฏหมาย” ดังนั้น จึงจัดตั้ง “องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายออกเสียงประชามติดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่
- เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
- เพื่อเชิญชวนประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ
- เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปตามกฏหมาย และเกิดความยุติธรรม
- เพื่อป้องกันและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนไม่ให้กระทำผิดกฏหมายประชามติ
- เพื่อสังเกตการณ์ และเฝ้าระวังไม่ให้มีการทุจริตในการนับคะแนนลงประชามติ
- เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีเผยแพร่ฯ อาทิ ก่อนเผยแพร่ ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลงานวิจัย รวมถึงที่มาก่อนนำมาประกอบความเห็นหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น