วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"พิชัย" ห่วงปัญหาเศรษฐกิจ แนะรัฐฟังเสียงประชาชน


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ระบุว่า รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากที่ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ดูแลเศรษฐกิจ กล้าบอกว่าทำงาน 10 เดือนมีผลงานมากว่ารัฐบาลที่ผ่านมา 5 ปี ไม่ทราบว่าท่านเอามาตรฐานใดเป็นเครื่องชี้วัดเพราะหากท่านจะได้เปิดหูเปิดตารับฟังความเดือดร้อนของประชาชนที่ลำบากกันอย่างแสนสาหัสในขณะนี้ ท่านคงไม่กล้าพูดแบบนี้อย่างแน่นอน อีกทั้งหากท่านวัดตามจีดีพี ก็ปรากฏว่าจีดีพี ในสิบเดือนที่ผ่านมาน่าจะอยู่ประมาณ 2% กว่าเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก ขนาดธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟยังแสดงความเป็นห่วงที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก และหากวัดจากการส่งออก การส่งออกที่แท้จริงทั้ง 10 เดือนที่ผ่านมาก็ติดลบมาโดยตลอด การลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลงกว่าภาวะปกติมาก ปี 58 ลดลง 90% ปีนี้ก็ยังไม่ดีนัก และการลงทุนของนักลงทุนในประเทศก็ลดลงมากถึงขนาดที่ท่านเองยังต้องออกมาประชดเอกชนที่ไม่ยอมลงทุน รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ก็ลดลงมาก แถมการว่างงานก็เริ่มมากขึ้น แล้วอะไรที่บอกว่าผลงานเศรษฐกิจดี ถ้าท่านเข้าใจผิดท่านก็อาจจะรายงานพลเอกประยุทธแบบผิดๆ เพราะพลเอกประยุทธ เป็นทหารมาทั้งชีวิต ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจเศรษฐกิจมากนัก ถึงแม้จะอ่านเอกสารทุกหน้า แต่ถ้าผู้ที่รับผิดชอบเศรษฐกิจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ท่านก็อาจจะเข้าใจผิด และอารมณ์เสียได้ ซึ่งในสมัย ม.ร.ว ปรีดียาธร เทวกุล ยังกล้ายอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไม่ดี และสมัยนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกันเลย หาก ดร. สมคิด มั่นใจว่าผลงานเศรษฐกิจของท่านดีจริง ก็อยากขอให้นำข้อมูลออกมาชี้แจงให้ประชาชนทราบพร้อมกันกับข้อมูลของตน ประชาชนจะได้ตัดสินใจถูกว่าข้อมูลใครถูกต้องมากกว่ากัน และอยากถามว่าที่สภาพัฒน์บอกจะโตปีละ 5% ไปอีก 5 ปีข้างหน้าจะโตจากภาคส่วนไหน เพราะยังไม่เห็น ซึ่งหากไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริหารงานของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลและส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นต่อ รธน. ฉบับนี้อย่างแน่นอน

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"ทักษิณ" แนะกลยุทธ์ธุรกิจ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีช่วยการแข่งขัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ พร้อม คลิปวีดิโอ ความยาว 3.56นาที โดยระบุว่า ผมถ่ายคลิปเรื่องราวต่างๆ ไว้หลายเรื่อง คลิปคราวก่อนเป็นเรื่องเศรษฐกิจของประเทศจีน คราวนี้จะเป็นเรื่องเทคโนโลยีกับการดำเนินธุรกิจครับ เพราะเห็นว่าธุรกิจ Startup เริ่มมีบทบาทมากขึ้นและเติบโตเร็ว เลยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ครับ

"พานทองแท้" จับตาท่าที "อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์" ประกาศจุดยืนต่อร่างฯรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยมีเนื้อหาดังนี้


วันนี้ผมจะรอฟัง การแถลงจุดยืนเรื่อง "กาโน-กาเยส" ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. จากหัวหน้าพรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ที่ชื่อ "พรรคประชาธิปัตย์" ครับ

ชื่อ "พรรคประชาธิปัตย์" วิกิพีเดีย ได้ระบุความหมายของคำนี้ โดยแปลว่า "ผู้บำเพ็ญประชาธิปไตย" หรือ "ประชาชนผู้ถืออำนาจอธิปไตย"

ปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มถูกตั้งคำถามเยอะขึ้นเรื่อยๆ จากการไม่กล้าตัดสินใจทางการเมืองเสียทีว่า ตกลงพรรคนี้จะสนับสนุนให้ "ประชาชนถืออำนาจอธิปไตย" ดังเช่นชื่อพรรคฯ

หรือว่า จะสนับสนุนให้ "เผด็จการครองเมือง" โดยที่ตัวเองตั้งตารอ ที่จะได้เป็นรัฐบาลด้วยวิธีพิเศษ ดังเช่นภายหลังการรัฐประหารปี 49 กันแน่..??

ท่าทีแทงกั๊ก ประนีประนอมกับเผด็จการ สวนทางกับอุดมการณ์พรรคฯ เช่นนี้ ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีจิตใจรักและยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยหลายท่าน ต่างส่ายหัวและหันหลัง เดินถอยห่างออกไปจากพรรคฯ กันหลายคนแล้ว

พรรคการเมืองอื่น ใครจะสนับสนุนประชาธิปไตย ใครจะสนับสนุนเผด็จการ เขาประกาศจุดยืนกันมาหลายเดือนแล้วครับ ชัดเจนกันไปตามแต่อุดมการณ์ที่ยึดมั่นของแต่ละพรรค ไม่ต้องมาแทงกั๊กกันจนเหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะโหวตเช่นนี้

แทงกั๊กกันจนถึงขั้น ก่อนจะออกมาแถลงฯ ยังออกตัวอีกว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของหัวหน้าฯ ไม่ใช่มติของพรรคฯ ถถถถถถ.โถ...พ่อคุณ แสดงลักษณะผู้นำ "กล้าคิด กล้าทำ กล้านำพรรคฯ" ให้คนเห็นหน่อยเถิด จะเอาแบบไหน นำพาพรรคฯ ไปให้มีจุดยืนชัดเจนไปซะข้างนึง

วันนี้อยากเห็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงภาวะผู้นำ "ยืนตรง ตบเท้า ก้าวมายืนข้างหน้า" พูดออกมาให้ชัดเจน....

พรรคประชาธิปัตย์ จะรับหรือไม่รับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ครับ!!

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

HBD “ทักษิณ” สุดประทับใจ! "ครอบครัวชินวัตร" เตรียม FacebookLive บ่าย2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครอบครัวชินวัตร อาทิ นายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์  บุตรชายและบุตรสาว ดร.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความฉลองครบรอบวันเกิดครบรอบปีที่ 67 ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ นายพานทองแท้ ชินวัตร ระบุว่า

สุขสันต์วันเกิดครับพ่อ

ตอนนี้เป็นเวลา 10 โมงครึ่ง ตรงกับเวลาตี 4 ครึ่ง ที่ลอนดอน ซึ่งพ่อยังคงนอนหลับอยู่

ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่ง ที่พ่อต้องฉลองวันเกิดไกลบ้าน ไกลครอบครัว โดยมีเพียงน้องอิ๊งค์คนเดียว ที่สามารถบินไปอยู่กับพ่อได้ตรงกับวันเกิดพอดี (โอ๊ค เอม พงศ์ และหลานตา สัญญาว่าจะรีบบินไปหา และอยู่เป็นเพื่อนพ่อ ให้เร็วที่สุด ในทันทีที่ว่างครับ)

พวกเราทุกคนในครอบครัว รักและคิดถึงพ่อมากที่สุด และโอ๊คก็เชื่อว่า พี่น้องประชาชนไทยอีกหลายล้านคน ที่เขาเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวพ่อ ที่ได้ทุ่มเททำทุกนโยบายที่ได้สัญญาเอาไว้ จนสำเร็จเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค และการปราบปรามยาเสพติด จนทำให้หลายล้านครอบครัว ได้ชีวิตคนที่เขารักกลับคืนมาสู่อ้อมอก ทุกคนรักและคิดถึงพ่อเสมอ
วันนี้นอกจากพ่อจะตื่นขึ้นมาด้วยความเบิกบาน เนื่องจากมีน้องอิ๊งค์คอยดูแลพ่อแล้ว ตอน 8 โมงเช้าที่ลอนดอน (ตรงกับบ่าย 2 โมงที่เมืองไทย) เฟสบุ๊คของ อาปู จะมีการ Surprise พ่อด้วย เป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งจากใจของ "อาปู" ซึ่งตั้งใจทำมาให้ "พี่ชาย" โดยเฉพาะ ตามนี้ครับ
ตามมาติดๆด้วย เวลาบ่าย2โมง15นาที น้องอิ๊งค์จะเปิดเพจอาปูให้พ่อรับการอวยพรแบบ Surprise จากอาปู แบบReal time ผ่าน Facebook Live ให้แฟนเพจที่สนใจติดตามชมกันสดๆได้ ที่เพจน้องอิ๊งค์ ตามลิงค์นี้
ช่วงเวลานี้ ระหว่างรอชม เชิญทุกท่านที่ประสงค์จะอวยพรวันเกิดนายกฯ ทักษิณ สามารถอวยพรในเพจนี้กันได้เลยครับ

ทุกข้อความที่ท่านอวยพร ผมจะ Print ไปให้คุณพ่อได้อ่านให้ชื่นใจครับ








"พานทองแท้" ห่วง ไม่เปิดโอกาสวิจารณ์ ขัดเจตนารมณ์ ร่างฯรธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ไปกันใหญ่แล้วครับ..!!

นอกจากการไม่เปิดกว้าง ให้พี่น้องประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อดีข้อเสียของร่าง รธน.

กาแฟยี่ห้อ "กาโน" ยังถูกห้ามโฆษณาในช่วงก่อนวันโหวต รธน. เพราะชื่อยี่ห้อดันไป "แสลงหู" ผู้มีอำนาจเข้า!! เลยหาว่ากาแฟ "กาโน" คือการรณรงค์ "กาช่องไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ"

การจะทำประชามติแต่ละครั้งนั้น ต้องเสียเงินหลายพันล้าน ซึ่งโดยหลักการ การทำประชามติ คือการถามความเห็นของประชาชน ว่าต้องการในสิ่งที่ผู้มีอำนาจ กำลังจะดำเนินการหรือไม่ โดยจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทุกความเห็น มีโอกาสแสดงออกโดยสันติวิธี ที่จะชี้แจงให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนได้ทราบ ในข้อดีข้อเสียทุกๆ ด้าน ของเรื่องที่จะลงประชามตินั้นๆ

การลงประชามติในคราวนี้ ถือเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารมากที่สุดครั้งหนึ่ง ในการลงประชามติของทุกประเทศทั่วโลก โดยนอกจากการห้ามโฆษณากาแฟแล้ว ล่าสุดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้ออกมาประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมเสวนาในเวทีกลางที่ กกต. จะจัดขึ้น เพราะตัวเองมีหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีหน้าที่มาร่วมเวทีกับบุคคลอื่น ในการเสวนา..!!!!

เมื่อผู้ร่างไม่เข้าร่วมเสวนา เมื่อไม่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่ให้มีการรณรงค์สนับสนุนหรือคัดค้าน และไม่ให้ความรู้กับประชาชนถึงเจตนารมณ์ในการร่างกฎหมายแต่ละข้อ แล้วเราจะต้องเสียเงินหลายพันล้าน ไปทำประชามติเพื่ออะไรกันครับ??

คนร่างยังไม่กล้าขึ้นเวที ยืนยันในเจตนารมณ์ของการร่าง แล้วคนที่พอมีสมองคิดที่ไหน จะเชื่อได้ว่ารัฐธรรมนูญนี้ ถูกร่างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้ร่างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของคนเพียงกลุ่มเดียว

หรือประชามติในครั้งนี้ มองประชาชนเป็นเพียง "ตรายาง" เพื่อแสตมป์ให้ต่างชาติเข้าใจว่า มันคือประชาธิปไตย (แบบไทยๆ) เท่านั้นครับ..??

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" หนุนสิทธิ์ประชาชน "ประชามติ" 7สิงหาคม-เลือกอนาคต


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ประชามติ

การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่ออนาคตประเทศของเรา ถือเป็นครั้งสำคัญของการลงประชามติครั้งนี้ใช้คะแนนรับหรือไม่รับร่างมีคะแนนมากกว่ากัน โดยไม่ได้คิดจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงมีจำนวนเท่าไร ดังนั้นการออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งทั้งนี้เพื่อ

1. เป็นการดำรงรักษาประชาธิปไตย
2. เป็นการเลือกอนาคต ว่าเราเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ที่จะใช้ในการบริหารบ้านเมืองของเราต่อไป
3. ประชาชนได้รับประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก ที่ประชาชนทุกคนควรจะได้ร่วมกันใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อกำหนด และร่วมกันตัดสินอนาคตประเทศของเรานะคะ

ดิฉันจึงอยากจะขอเชิญชวนให้ไปใช้สิทธิกันมากๆเพื่อแสดงออกทางความคิดและร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศด้วยวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยค่ะ

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"เจ้าคุณประสาร" เผยมติลับ 6 ข้อ องค์กรพุทธ-ภาคีเครือข่าย หนุนสมเด็จช่วงฯ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระเมธีธรรมาจารย์ เจ้าคุณประสาร จนฺทสาโร ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ https://www.facebook.com/ck.prasarn/ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผลการประชุมขององค์กรพุทธและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ (ในช่วงภาวะวิกฤตของคณะสงฆ์ไทยเวลานี้)

การประชุมในวาระสำคัญในวันนี้ (23 กรกฎาคม 2559) ที่ประชุมได้กำหนดกรอบ แนวคิดและหลักปฏิบัติ ดังนี้

กรอบในการปรึกษาหารือภายหลัง กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ ได้แถลงผลการสอบรถยนต์โบราณในพิพิธภัณฑ์ของวัดปากน้ำภาษีเจริญ ดังนี้

1.ท่าทีของแต่และฝ่าย ซึ่งกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะทำงานได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อประเมิน สรุปและยืนยันถึงท่าทีของแต่ละฝ่าย เช่น ภาครัฐ ผู้มีอำนาจ ฝ่ายคัดค้านรวมทั้งมวลชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบถึงจุดยืนที่ชัดเจนของแต่ละฝ่าย

2.สถานะที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย ให้มีการวิเคราะห์ถึงสภาพภายในที่แท้จริงของทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวว่าแท้จริงพวกเขามีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน อย่างไร วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่อิงอาศัยและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการดำเนินการของกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งยุทธศาสตร์ว่ามีอะไรบ้าง และเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร

3.ศักยภาพในการดำเนินการ ให้วิเคราะห์ให้ละเอียดว่าภายในของแต่ละกลุ่มนั้นมีศักยภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีคนมากน้อยแค่ไหน เดินเกมอะไร อะไรคือฐานกำลังที่สนับสนุนให้ทำแบบนั้นและเหตุจูงใจในการเดินแต่ละครั้ง และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของพวกเขาให้ได้

4.ปัจจัยทางการเมือง กลุ่มต่างๆ มีเหตุปัจจัยอะไรที่เป็นเรื่องทางการเมืองหนุนหลัง ใครเป็นคนของใคร ใครเป็นม้ารับใช้ใคร เพื่อทำลายใคร มีผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างไร ทำลายใครแล้วใครได้ใครเสีย และพระสงฆ์ คณะสงฆ์ พระพุทธศาสนาถูกนำไปเชื่อมโยงในเรื่องนี้ได้อย่างไร

5.ผลกระทบ วิเคราะห์ถึงผลกระทบของทุกภาคส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่าการกระทำทั้งหลายทั้งปวงนี้จะส่งผลกระทบต่อ คณะสงฆ์ พระพุทธศาสนาและประเทศชาติบ้านเมืองอย่างไร

6.ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว องค์กรพุทธและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศยืนยันว่าจะมีการเคลื่อนไหวทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดแน่นอนโดยให้มีการข่าวด้านลึกละเอียดรอบคอบ การรวบรวมข้อมูลให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลให้มีความแม่นยำ ถูกต้อง การกำหนดยุทธศาสตร์ให้ไวและทันต่อเหตุการณ์ การดำเนินการและเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ

ในการนี้ องค์กรพุทธและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศได้มีมติในการเคลื่อนไหว 6 ข้อ สำหรับมติสำคัญทั้ง 6 ข้อนั้นให้ถือเป็นความลับ ห้ามเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาในทางปฏิบัติและเพื่อความปลอดภัยของมวลสมาชิกผู้นำไปปฏิบัติในทุกภาคส่วนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

พระเมธีธรรมาจารย์
23 กรกฎาคม 2559

“พานทองแท้” แฉเล่ห์เผด็จการส่งต่อวาทกรรมโซเชียลฯ โจมตีประชาธิปไตย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยมีเนื้อหาดังนี้

สิ่งที่จะตามมา จากการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างกว้างขวางคือ เมื่อคนเราไม่มีข้อมูลในการวิเคราะห์ มักจะตัดสินใจด้วยการใช้ "ตรรกะตื้นๆ" อยู่เสมอ

"ตรรกะตื้นๆ" ที่ว่า วันนี้จะขอยกตัวอย่างมาสักข้อ ได้แก่การสร้างวาทกรรมในโซเชียลมีเดีย แล้วส่งต่อกันเป็นทอดๆ ว่า

"รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ยังไงฉันไม่รู้ ฉันรู้แต่เพียงว่า ถ้านักการเมืองออกมาคัดค้านกันเยอะ ก็แปลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใช้ปราบโกงได้ผลชะงัดนัก"

คนที่ไม่เคยชินกับการใช้หัวคิดของตนเอง วันๆ ชินกับการยืมสมองคนอื่นช่วยคิดให้ เมื่ออ่านแล้วก็ เอ่อจริง..สะใจ ขอแชร์..ขอส่งต่อ...

ส่งต่อกันไป โดยไม่คิดที่จะถามต่อว่า การเขียนบทลงโทษอย่างรุนแรงนั้น ทำไมจึงลงโทษ เฉพาะนักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เพราะเหตุใด...นักการเมืองปัจจุบัน ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศด้วยการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ กลับมีบทนิรโทษกรรม สำหรับตัวเองไว้เสร็จสรรพ ทุกสิ่งที่ตนทำถือว่าชอบด้วยกฎหมายทุกประการ..!!

ผู้รู้ ผู้ร่าง หรือผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบันที่เตรียมตัวจะรับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญข้อนี้ ช่วยตอบให้กระจ่างสักหน่อยเถิด ถ้าไม่ได้ทำผิดแล้วเหตุใด จึงต้องกลัวกฎหมายที่ตัวเองเขียนขึ้น..??

การตอบว่า เผด็จการที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ ก็อภัยโทษให้ตัวเองเช่นนี้ตลอด หรือ การกระทำรัฐประหาร เป็นการเสียสละตนเองเพื่อประเทศชาติ เลยต้องมีกฎหมายคุ้มครอง คำตอบพวกนี้ผมว่ามันไดโนเสาร์ เกินกว่าที่จะรับฟังกันในยุคนี้แล้ว

การเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่มีผลบังคับใช้ต่อคนไทยทั้ง 60 กว่าล้านคน แต่กลับมีคนได้รับผลประโยชน์ คือผู้มีอำนาจในปัจจุบันเพียงกลุ่มเดียว น่าจะต้องมีคำอธิบายที่ดีกว่านี้ครับ!!

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

“เสถียร” ปลุกพลังชาวพุทธ เผยรอฟังแนวทาง “เจ้าคุณประสาร”


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ให้สัมภาษณ์กับ ผู้สื่อข่าวว่า ทางเครือข่ายองค์กรพุทธฯ โดยสมาคมนักวิชาการพระพุทธศาสนา 18 องค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงที่เข้าพรรษา เป็นพระวินัยของพระสงฆ์ แล้วก็เป็นกิจของชาวพุทธ แต่ว่าภายหลังที่เราทราบข่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยหรือว่าตีความว่า กรณีที่มีการเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ซึ่งเป็นผู้อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ซึ่งเป็นมติมหาเถรสมาคมมาที่ทางสำนักนายกฯ แล้วท่านนายกฯก็ได้รับทราบแล้ว ถือว่าข้อวินิจฉัยดังกล่าวเป็นประเด็นที่สำคัญ ที่บอกว่าเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะ ชาวพุทธทั้งโลกสงสัยว่าทำไมไม่สามารถเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯได้ ก็มีข้อคิดเห็นเรื่องของคดีความ มีข้อคิดเห็นเรื่องของข้อกล่าวหา แล้วก็มีผู้ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินไปยื่นที่กฤษฎีกา ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ใช้เวลาในระยะหนึ่ง ก็มีการวินิจฉัยหรือว่าตีความออกมา เราชาวพุทธเองติดตามอย่างใกล้ชิดก็โล่งอกไประยะหนึ่งเท่านั้น เพราะว่าเมื่อกฤษฎีกาตีความแล้วก็คิดว่าน่าจะเป็นทางปฏิบัติว่าทุกฝ่าย โดยเฉพาะในส่วนของชาวพุทธทั้งปวงก็คิดว่าคงจะเดินต่อไปได้ แต่ว่าภายหลังนั้น ท่านนายกฯ ก็ได้มาพูดว่าต้องชะลอ เพราะเหตุว่ามีคดีความ เราก็อยากจะเรียนผ่านทางสื่อมวลชน ว่าชาวพุทธก็มีหน้าที่ที่จะติดตามแล้วก็เฝ้าดูสิ่งที่เราได้คาดหวังไว้ยาวไกล ว่าเมื่อเรื่องต่างๆจบแล้ว ในการร้องก็ดี-โจทก์ก็ดี ถามว่าวันนี้ก็ยังมีกลุ่มต่างๆออกมาเคลื่อนไหวที่จะคัดค้านไม่เห็นด้วย และก็มีข้อกล่าวหาต่างๆนานา เพราะว่าถ้าท่านนายกรัฐมนตรีได้มีข้ออ้างตรงนี้ บอกว่าไม่ทราบว่าเมื่อไหร่? เวลาใด? เท่าใด? ที่จะมีการดำเนินการยื่นตรงนี้

เราก็มีความห่วงใยแล้วก็มีความสิ่งที่เราเรียกว่าจะเกิดข้อครหา แล้วก็ชาวพุทธเองไม่สบายใจ คือตอนนี้เองทางเครือข่ายพุทธทางองค์กรพุทธ โดยเฉพาะศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย แล้วก็มีทางสมาคมนักวิชาการ สนพ. รวมทั้งเครือข่ายทั้ง 18 องค์กร เราก็มีการหารือกันแล้วก็กำหนดท่าทีแนวทางว่าหลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้ว เราก็คงจะต้องทำ 2 เรื่องครับ เรื่องแรกก็คือความห่วงใย ความเห็นของชาวพุทธ มีความเข้าใจสับสน แล้วทำไม นายกฯถึงไม่ดำเนินการ แล้วบอกว่าคดีความ? คดีความอะไรครับ? เมื่อเรื่องยังไม่วินิจฉัยถึงที่สุด ข้ออ้างต่างๆจะทำให้เราชาวพุทธทั้งปวงก็เหมือนกับว่าเห็นไม่ตรงกัน คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม กี่เดือนมาแล้วครับ? ตั้งแต่วันที่ 5 (มกราคม)ที่ทางมติมหาเถรสมาคมออก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เสนอไปต่อท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คือ ท่านสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ แล้วก็เรื่องมาอยู่ที่ท่านนายกฯ ทางเครือข่ายองค์กรพุทธฯมีการหารือกำหนดแนวทางว่าจะมีการยื่นหนังสือ ดำเนินการกิจกรรมในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ที่ไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย ไม่ขัดต่อหลักพระวินัยแต่อย่างไร? เพื่อที่จะแสดงพลังของชาวพุทธทั้งปวง ชาวพุทธก็อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณา เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ เรากำหนดท่าที เมื่อได้กรอบเรียบร้อยแล้วว่าจะทำอย่างไร ก็เป็นมติออกมา อย่างไรแล้วก็จะยึดถือเป็นแนวทางต่อไป ซึ่งท่าน เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในการนำทางว่า จะดำเนินการเมื่อไหร่ เวลาใด นะครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่เราหารือร่วมกันทุกส่วน โดยแนวทางนั้น ต้องยึดถือตามข้อปฏิบัติและถ้อยแถลง ของเลขาธิการศูนย์พิทักษ์ พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย คือ ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร)













วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"นพดล" สอน กกต. ดีเบตร่างฯรัฐธรรมนูญ ต้องให้คนเห็นเยอะ


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ กกต. จะจัด ดีเบตร่างฯรัฐธรรมนูญ ว่า

"เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากสิทธิที่จะรู้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อนออกเสียงประชามติของประชาชนควรได้รับการคุ้มครอง แต่ควรปรับปรุงวิธีการ เพราะทราบว่าจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในเวลา 13.00-14.00 น. ซึ่งตนเห็นว่าการเผยแพร่เพียงสถานีเดียวยังไม่เพียงพอ วิธีที่ดีที่สุดคือเผยแพร่ทางทีวีพูลทุกช่องพร้อมกันหรืออย่างน้อยควรออกอากาศในสื่อของรัฐและเอกชนซึ่งมีหลายช่อง และเชื่อว่าสถานีเอกชนจะยินดีถ้าขอความร่วมมือเผยแพร่การดีเบตร่างฯรัฐธรรมนูญ"

นายนพดลกล่าวว่า การจะออกอากาศในช่วงเวลา 13.00-14.00 น. ของแต่ละวันนั้นจะไม่มีคนดูมากพอ เพราะเวลาดังกล่าวคนในชนบทส่วนใหญ่อยู่ในไร่ในนา และคนในเมืองส่วนใหญ่ออกไปทำงานนอกบ้าน จึงเสนอให้ออกอากาศในช่วงที่มีคนชมมากที่สุดคือไพรม์ไทม์ระหว่างเวลา 18.00-21.00 น. นอกจากนั้นแขกรับเชิญควรมีหลากหลาย เช่น ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ข้าราชการและกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อรับฟังความเห็นให้หลากหลายมากที่สุด เมื่อจะจัดดีเบตทั้งทีก็ทำให้ดีไปเลย ถ้ากกต.ปรับปรุงตามที่เสนอ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ขอกำลังใจประชาชน 5สิงหาคม-ขึ้นศาลฯคดีจำนำข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณแพทองธาร ชินวัตร โพสต์คลิป Video ความยาว 1.57 นาที พาไปชมบรรยากาศ การทำงานของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในช่วงวันหยุด วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ขอกำลังใจประชาชน พร้อมระบุว่า กำลังจัดเตรียมเอกสาร เพื่อใช้ในการขึ้นศาลฯคดีจำนำข้าว ในวันที่ 5 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ คลิปดังกล่าวมีผู้แชร์และโพสต์ข้อความให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำนวนมาก


วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"อนุสรณ์" แนะ คสช. ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์-ป้องกันโกงประชามติ


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกรณี รัฐบาลและคสช.คุมเข้มช่วงการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ว่า ขอรัฐบาลและคสช.อย่าโยนบาปให้ประชาชนอีกเลย เหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วัน ขอให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ก้าวล่วง ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน จนถึงขั้นอียูและคณะทูต 22 ประเทศ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและคสช.เปิดพื้นที่ ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ถึงเวลาที่รัฐบาลและคสช. เลิกดูหมิ่นประชาชน ว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ถูกชักจูงได้ง่าย และเลิกพฤติกรรมที่อาจจะทำให้สังคมหวาดระแวงว่าจัดฉากป่วนประชามติเสียเอง

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า งานหลักที่รัฐบาลและคสช.ต้องเร่งทำในเวลานี้คือ 1.ทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติมากๆ 2.ป้องกันการโกง การทุจริตประชามติทุกรูปแบบ 3.สร้างกระบวนการยอมรับผลประชามติที่อาจมีผู้นำไปบิดเบือน 4.เดินหน้าตามโร้ดแม็พ ที่ไม่ว่าผลประชามติจะเป็นอย่างไร ก็จะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ส่วนการจัดการงานนอกสั่ง ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ รัฐบาลและคสช.ต้องลดลงอย่างน้อยก็เพื่อบรรยากาศอันดีในการออกเสียงประชามติ

“จาตุรนต์” แนะรัฐ เปิดโอกาสทุกฝ่าย มีส่วนร่วมร่างฯรัฐธรรมนูญ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่สามารถกำหนดเวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ว่า

"การต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ.2557 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พอเข้าใจได้ แต่การที่นายวิษณุบอกว่า แต่เรื่องของเวลาร่างฯ ใหม่ ระบุชัดเจนไม่ได้ และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนั้น ทำให้คนรู้สึกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน อาจเกิดความไม่แน่นอน หรืออาจต้องยืดโรดแม็ปออกไปมาก ทำให้คนคล้อยตาม ถ้าอย่างนั้นควรให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องยืดเวลาหรือเลื่อนเลือกตั้งออกไป และทำให้การเลือกตั้งเร็วขึ้นยังทำได้ด้วยซ้ำไป ด้วยการให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งก่อน แล้วค่อยหากระบวนการร่างฯ ใหม่ โดยมีประชาชนมีส่วนร่วม จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น"

เมื่อถามว่าจำเป็นที่ คสช.หรือรัฐบาล ควรกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการร่างฯ ใหม่หรือไม่? นายจาตุรนต์ กล่าวว่า "เท่าที่ดู คสช.และรัฐบาล คงไม่บอกอะไรล่วงหน้า คงใช้วิธีพูดให้คนรู้สึกถึงความไม่แน่นอน เพื่อที่ทำให้คนกลัวว่าจะกินเวลานานหากไม่ผ่าน จึงลงประชามติให้ผ่านๆ ไป"

"ทางที่ดีควรเปิดโอกาสให้หลายฝ่ายที่สนใจการร่างรัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และ คสช.ควรมีท่าทีก่อนลงประชามติ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ร่างฯ เองตามใจชอบ จะได้ไม่นำไปสู่การเผชิญหน้า หรือความวุ่นวายใดๆ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป ที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งตามกำหนดปี 60 เท่านั้น แต่หมายถึง คสช.จะมีคนของตัวเอง คือ ส.ว. 250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 สมัย เท่ากับกำหนดโรดแม็ปล่วงหน้าไว้อีก 8 ปี และเมื่อรวมกับแผนปฏิรูปด้วย กลายเป็น 20 ปี ซึ่งมีคนพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ คล้ายกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.พูดอยากให้คสช.อยู่ยาว ต้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ค่อยได้พบเจอ แต่ที่เจอบ่อยกว่า คือถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน คสช.จะได้ไปเร็ว ทั้งที่ความเป็นจริงกลับหมายความว่า คสช.จะมีอำนาจไปถึง 20 ปี" นายจาตุรนต์ กล่าว

"เพื่อไทย" แพร่แถลงการณ์ ยกย่องประชาชนตุรกีต้านรัฐประหาร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่เนื้อหาแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ขอยกย่องชัยชนะของประชาชนตุรกีในการต่อต้านความพยายามทำรัฐประหาร ผ่านเว็บไซต์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากวันที่ 15–16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ได้เกิดความพยายามกระทำรัฐประหารในประเทศตุรกี เพื่อล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจป ตอยยิป เออร์โดกัน โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้นำกองกำลัง รถถัง และเฮลิคอปเตอร์เข้ายึดสถานที่สำคัญ และใช้กำลังอาวุธโจมตีในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี รวมทั้งนครอิสตันบูล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสองร้อยคน และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับพันคน

แต่การรัฐประหารดังกล่าวได้ล้มเหลวลงจากการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนที่ออกมาต่อสู้บนท้องถนนเพื่อคัดค้านการกระทำที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย อันแสดงถึงความกล้าหาญ ความสามัคคี และกำลังใจที่เข้มแข็งในการต่อต้านความพยายามทำรัฐประหาร โดยไม่ยอมให้ประเทศตกอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชน

จากเหตุการณ์ข้างต้น พรรคเพื่อไทยขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และขอยกย่องการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ และชัยชนะของประชาชนตุรกี  ที่ได้แสดงให้โลกได้เห็นถึงพลังประชาชนที่พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย และไม่ยินยอมให้มีการใช้กำลังอาวุธและอำนาจนอกระบบ มาบังคับและกำหนดชะตาชีวิตของประเทศของตน.

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ถอดรหัสคำต่อคำ: ดร.ทักษิณ ชินวัตร แสดงวิสัยทัศน์ วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก-จีน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า "เพิ่งกลับจากที่เมืองจีน ก็เลยอยากจะมาเล่าเรื่องเศรษฐกิจจีนให้พี่น้องฟังสักเล็กน้อย" พร้อม Video ความยาว 5.38 นาที ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ก่อนที่จะพูดเรื่องจีนปัจจุบัน ผมอยากจะย้อนไปนิดนึงเราจะได้เห็นว่าจีนเติบโตอย่างไร?

ในปี 2544 ตอนนั้นผมเป็นนายกฯครั้งแรกก็ได้พบกับท่านนายกฯจีน ท่านจูหลงจี ท่านไปเยือนเมืองไทยก่อน ก่อนที่ผมจะมาเยือนท่าน

วันนั้นเรามีการพูดคุยกันถึงเรื่องของ Currency Swap คือการแลกเปลี่ยนเงินตราของซึ่งกันและกัน คือช่วงนั้นจีนมีเงิน Foreign exchange reserves หรือมีเงินสำรองอยู่ประมาณ 283 พันล้านเหรียญสหรัฐ ของเรามี 32 พันล้านเหรียญสหรัฐ

วันนั้น 283 พันล้านเหรียญ แต่วันนี้มีไปร่วมประมาณสัก 3 พันล้านเหรียญไปแล้ว คือประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าจีนเติบโตอย่างมโหฬารใน 15 ปีนี้ และวันนั้นสิ่งที่ผมจำได้แม่นก็คือว่ารายได้ต่อหัวต่อคนของจีนต่ำกว่าของไทยต่ำเยอะเลย แล้วเสร็จแล้ววันนี้ปรากฎจีนว่ารายได้ต่อหัวแซงไทย 15 ปีนี้แซงเราเลย ซึ่งมันแซงไม่ง่าย รายได้ต่อหัวแต่ก็แซงเราไป

หลังจากที่จีนร่ำรวยขึ้นมานักธุรกิจจีนก็เอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศหลายที่ รวมทั้งรัฐบาลจีนก็สนับสนุนในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทางด้านแอฟริกาและก็ใน South East Asia หรือในอาเซียนเรามีทั้งรัฐบาลไปสนับสนุน และวันนี้จีนตั้งธนาคารเรียกว่า AIIB นี้คือเป็น Asian Infrastructure Investment Bank ขึ้นมาแล้วก็เป็นที่ฮือฮา วันนี้ AIIB จีนก็ชวนคนอื่นเข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นด้วย แล้วก็จีนเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ หลักการก็คือจีนต้องการจะสร้าง Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานของทางเอเชียให้เจริญขึ้น เช่น เรื่องของการใช้รถไฟเชื่อมทั้งเอเชียแล้วเชื่อมไปต่อถึงยุโรป หรือว่าการช่วยทำถนนหนทางไฟฟ้าประปาต่างๆให้กับประเทศที่ยังไม่เจริญ โดยให้กู้เงินจากจีน จาก AIIB ซึ่งมีจีนถือหุ้นใหญ่ ตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่ฮือฮากันในยุโรปก็ให้ความสนใจ แต่วันนี้จีนเริ่มชะลอตัว

แต่ว่าปีนี้เท่าที่ผมดูแล้วจีนน่าจะโตไม่ถึง 6% ปี 2016 นี้ แล้วที่สำคัญคือ เศรษฐกิจของโลก โลกคือผู้ซื้อของจีนเป็นหลัก ทีนี้เศรษฐกิจของโลกมันแย่หมดทุกที่ อเมริกาเพิ่งเริ่มฟื้นแต่ประชาชนก็ยังไม่มีความมั่นใจเท่าไหร่ แต่เศรษฐกิจในภาพรวมของอเมริกาจะฟื้นมากกว่ายุโรป แต่พอประเทศเหล่านี้ไม่ฟื้นเท่าที่ควรก็ไม่ได้บริโภคของจีน แต่จีนเป็นผู้บริโภคน้ำมัน, เหล็ก ฯลฯ ของที่เรียกว่าเป็น Commercity ทั้งหลาย จีนเป็นผู้บริโภคมากที่สุด

เพราะฉะนั้น วันนี้จีนชะลอตัวเพราะจีนขายของได้น้อยลง การบริโภคของเหล่านี้ก็น้อยลงความต้องการมันก็น้อยลง ประเทศเหล่านี้ก็เลยมีปัญหา อย่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันราคาน้ำมันร่วงอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียเป็นอิหร่านเป็นเวเนซุเอล่าอะไรพวกนี้ ตะวันออกกลาง เพราะฉะนั้นกำลังซื้อก็ตกไปตามเรื่อยๆ ก็เป็นอันว่าอะไรจะเกิดก่อน จีนจะฟื้นก่อนหรือประเทศเหล่านี้จะฟื้นก่อนแล้วค่อยมาบริโภคของจีน แล้วจีนจะฟื้นตามราคานำ้มันก็จะดีขึ้นอะไรประมาณนี้ ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมีผลต่อจีน และการชะลอตัวของจีนก็มีผลต่อโลก

แต่วันนี้ความสามารถในการผลิตของจีนยังสูงอยู่ และคนจีนชอบทำอะไรเยอะ เพราะฉะนั้นของจีนที่ออกมายังมีเยอะ ก็น่าจะเป็นช่องทางที่เราไปดูว่ามีอะไรมันถูกๆและต่อรองได้ แล้วเอาไปขายต่อ ขายให้ประเทศนั้นประเทศนี้ หรือว่าขายให้ประเทศเรา มันก็ยังมีช่องทางอยู่มีช่องทางอยู่เยอะ เท่าที่ดูทั่วไปแล้วจีนเขาก็มีระบบบริหารที่วางโครงข่ายไว้ดี เพราะฉะนั้นเขามีอะไรมันแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ผมยังเชื่อว่าจีนยังแข็งแรงอยู่ แต่จะไม่แข็งแรงวิ่งเร็วเหมือนในอดีต เพราะในอดีตมันฐานเล็กกว่านี้ อันนี้เป็นเรื่องทั่วไปของเศรษฐกิจจีน"

"พิชัย" ห่วงพร้อมเพย์สะดุด เผยประชาชนหวั่นรัฐตรวจธุรกรรม


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ระบุว่า โดยหลักการแล้ว "พร้อมเพย์" เป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นไปตามกระแสของโลกที่จะชำระเงินผ่านบัตร และทิศทางของโลกที่จะใช้ธนบัตรน้อยลงและยังเป็นการส่งเสริม Digital economy ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ปัญหาที่ประชาชนยังไม่มั่นใจที่จะเข้าระบบ น่าจากเกิดจากความไม่เชื่อใจ และความไม่มั่นใจในรัฐบาล เนื่องมาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลทำจนเป็นปกติ ไม่ว่าจะกับ นักการเมือง นักวิชาการ นักศึกษา หรือ ประชาชน อีกทั้งเมื่อเริ่มต้นรัฐบาลยังขู่ว่าจะออกมาตรการแกมบังคับว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่าเดิมสำหรับผู้เข้าระบบ แต่จะเก็บ 10% สำหรับผู้ที่ไม่เข้าระบบ ซึ่งไม่น่าจะทำได้เพราะระบบภาษีสรรพากรจะไม่สามารถรองรับภาษีมูลค่าเพิ่มสองอัตราได้ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการที่รัฐจะตรวจภาษีและเก็บภาษีเพิ่มขึ้นซึ่งยิ่งทำให้คนระแวงสงสัย อีกทั้งหลายคนเป็นห่วงว่าจะเป็นวิธีในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของประชาชน และมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่โยงเรื่องนี้เข้ากับ Single Gateway ที่รัฐบาลพยายามคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน

นอกจากนี้ปัญหาความปลอดภัยจากการถูกแฮ๊กที่รัฐบาลและหน่วยงานยังไม่ยอมค้ำประกันความเสียหายในเรื่องนี้อย่างเต็มที่หากมีปัญหาดังกล่าว และปัญหานี้ไม่ว่าบริษัทใหญ่ระดับโลกเก่งแค่ไหนก็มีโอกาสที่จะโดนแฮ๊กได้ทั้งนั้น และประเทศไทยยังล้าหลังมากในการป้องกันเรื่องนี้ อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่จะมาเข้าระบบ ซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าจะเรียนรู้ และที่สำคัญคือ ประชาชนจำนวนมากอาจจะเห็นว่าขนาดเรื่องใหญ่อย่างประชามติ ที่ล่าสุด ผู้แทนสหภาพอียูและคณะฑูต 22.ชาติ ยังต้องออกเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเสรีในการวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากที่ประชาคมโลกต่างก็มีข้อสงสัยในเรื่องการสืบทอดอำนาจและในความไม่เป็นประชาธิปไตยแต่รัฐบาลกลับยืนยันว่าเป็นสากล ยิ่งตอกย้ำให้คนไม่เชื่อใจและไม่มั่นใจมากขึ้น แถมยังมาออก ม. 44 ให้ กสทช-กสท. ปิดสื่อได้

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องความไม่เชื่อใจและไม่มั่นใจนี้ ซึ่งเชื่อว่าหากประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่รัฐบาลมาจากประชาชนแล้วประชาชนจะมีความมั่นใจในเรื่องนี้มากขึ้น

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"สุรพงษ์" แนะรัฐฟัง EU เคารพสิทธิ-เสรีภาพประชาชน


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรับมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้เห็นสถานทูตของอียู 20 กว่าประเทศ รวมทั้งสถานทูตสหรัฐและแคนาดาในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันแสดงความห่วงใยและเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. เปิดกว้างให้มีการแสดงความคิดความเห็นของทุกๆ ฝ่ายที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรีในช่วงก่อนการทำประชามตินั้น ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่รัฐบาล คสช. จะแกล้งทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่สนใจ และสั่งการให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกมาชี้แจงแล้วคิดว่าเรื่องมันคงจะจบลงไปง่ายๆ นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐสภาเยอรมันก็ได้ออกมาเรียกร้องเช่นกัน ให้รัฐบาลไทยต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ตนขอฝากเตือนคสช.ว่า หากคสช.ไม่ให้ความสำคัญต่อการเรียกร้องของเขา เชื่อว่าในอนาคตย่อมจะมีมาตรการอื่นๆ ตามมา และอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน แม้กระทั่งการท่องเที่ยว ประเทศกลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นลูกค้าชั้นดี และจัดเป็นกลุ่มผู้บริโภครายใหญ่ของไทยแทบทั้งนั้น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหารในครั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าขาย นักลงทุน นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ขายชาวไทยทั้งหลายพึงตระหนักเอาไว้ด้วย ก่อนที่มันจะสายเกินแก้ และเตรียมตัวเตรียมใจรองรับเอาไว้ด้วย จะมากล่าวหาว่าทำไมไม่เตือนกัน ไม่บอกกล่าวกันไว้ล่วงหน้าไม่ได้

“ขอให้ท่านหัวหน้าคสช.ได้โปรดคิดให้หนัก ซึ่งท่านน่าจะรู้ดีว่าเขาคิดกับเราอย่างไรกันบ้างในเวทีการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปที่มองโกเลียที่ท่านไปร่วมประชุมมาสดๆ ร้อนๆ ผู้นำยุโรปเขามีความรู้สึกกับไทยเราอย่างไรบ้าง ท่านน่าจะสัมผัสได้ดีด้วยตัวของท่านเอง ถ้าท่านไม่คิดที่จะหลอกตัวเอง” นายสุรพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ Facebook: European Union in Thailand หรือ คณะผู้แทนยุโรปประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติของไทย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง

รัฐประหารตุรกีพ่าย! ประชาชนชนะทหาร-จับผู้สนับสนุน


สื่อมวลชนหลายสำนัก เผยแพร่ภาพข่าว เจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพตุรกี ยกมือยอมแพ้หลังประชาชนปลุดอาวุธและยึดรถถังได้เป็นจำนวนมาก จากที่ทหารในกองทัพตุรกีส่วนหนึ่ง พยายามก่อรัฐประหาร ในกรุงอังการา ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดวันนี้ (เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ตามเวลาในประเทศไทย) โดยได้เคลื่อนกำลังทหาร รถถัง และยุทโธปกรณ์ส่วนหนึ่งเข้าปิดล้อมรัฐสภา และตามสถานที่สำคัญในกรุงอังการา ทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างหนัก ขณะที่กระแสข่าวตลอดทั้งวันเป็นไปอย่างสับสน ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ แต่ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย รัฐบาลตุรกีก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด ทหารฝ่ายกบฎยอมจำนน มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อย่างน้อย 60 ราย แนวร่วมถูกจับกุม 754 ราย

ล่าสุด สถานการณ์ก่อรัฐประหารในกรุงอังการา ประเทศตุรกึ เริ่มคลี่คลาย ผู้นำตุรกีออกแถลงการณ์ ความพยายามก่อรัฐประหารครั้งนี้สิ้นสุดแล้ว รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด ทหารที่ก่อการรัฐประหาร นำรถถังปิดกั้นสะพาน บอสฟอรัส ในนครอิสตันบูล ยอมจำนน หลังถูกกดดันหนัก ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เพิ่มเป็นอย่างน้อย 60 ราย รายงานจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ระบุ ฝ่ายรัฐบาลได้จับกุมแนวร่วมก่อการรัฐประหาร ได้ 754 คน

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน ขอรวบรวมภาพข่าวเหตุการณ์จากสื่อต่างประเทศบางส่วน มาให้ชมดังนี้









“จาตุรนต์” ชู “ตุรกีโมเดล” แสดงความยิ่งใหญ่-พลังประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ติดตามข่าวการพยายามทำรัฐประหารในตุรกีอยู่ครับ ตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลประกาศว่าคุมสถานการณ์ได้แล้ว แต่สำนักข่าวต่างประเทศก็ยังหาข่าวและวิเคราะห์กันอยู่ว่าจบแน่หรือยัง

น่าสนใจที่หลายฝ่ายในตุรกีรวมทั้งองค์กรต่างๆและภาคประชาสังคมและแม้แต่พรรคฝ่ายค้านที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของตนอย่างหนักมาตลอด พร้อมใจกันประณามการพยายามทำรัฐประหารในครั้งนี้เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารจะมายึดอำนาจปกครองประเทศ

เสียใจ สลดใจที่มีประชาชนต้องเสียชีวิตจำนวนมาก ตามรายงานข่าวขณะนี้ 42 คนแล้ว

ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของพลังประชาชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการต่อต้านการพยายามรัฐประหารในครั้งนี้

ขอเอาใจช่วยประชาชนตุรกี ขอให้ประสบความสำเร็จในการรักษาประชาธิปไตยไว้และแก้ปัญหาต่างๆที่อาจตามมาได้ด้วยดีโดยเร็ว

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"ชัยธนพล" ยื่นหนังสือ นายกฯ ทำตามมติมหาเถร กรณีแต่งตั้งพระสังฆราช


15 กรกฎาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ว่า นายชัยธนพล ศรีจิวังษา ผู้ประสานงานองค์กรเครือข่ายพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์(อพช.) และตัวแทนพุทธศาสนิกชน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติตามกฎหมาย ในการนำชื่อสมเด็จพระราชมังคลาจารย์(สมเด็จช่วง) ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติให้มหาเถรสมาคม เสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราช ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 7

นายชัยธนพล กล่าวว่า เมื่อมีมติที่ชัดเจนออกมาแล้ว  นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ควรปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่ควรนำเรื่องคดีความมาอ้าง เพราะยังไม่มีการตัดสิน อย่างไรก็ตามวันนี้ไม่ได้มาด้วยจุดประสงค์ส่วนตัว แต่เป็นจุดประสงค์ของชาวพุทธส่วนมากที่ต้องการ เพราะหากประมุขสงฆ์ขาดตอน ก็อาจเกิดปัญหาได้ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีควรใช้โอกาสนี้เพื่อเป็นเกียรติกับนายกรัฐมนตรีเอง ทั้งนี้หากยังไม่มีการพิจารณา องค์กรเครือข่ายชาวพุทธ อาจมีการเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะหารือกับชาวพุทธเพื่อขอมติจากส่วนใหญ่








วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"นพดล" ห่วงแบบสอบถามชี้นำร่างฯรัฐธรรมนูญ แนะรัฐรณรงค์-เปิดรับความเห็นประชาชน


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า "ตนเชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.จะไม่เลื่อนโรดแมปและการเลือกตั้งออกไปจากปี 2560 ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะทั้งผู้นำและรองนายกฯให้สัมภาษณ์เป็นสัญญาประชาคมหลายครั้งว่าจะเดินตามโรดแมป ดังนั้นคนไทยน่าจะได้เลือกตั้งในปี 2560 และตนยังไม่เห็นเหตุผลที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป"

ถึงจุดนี้ทุกฝ่ายคงรู้แล้วว่าการขับเคลื่อนประเทศในสภาพการณ์และรัฐบาลในรูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากปัญหาของโลกถาโถมเข้ามาทุกวัน ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นและการคืนประชาธิปไตยที่ยั่งยืนให้ประเทศเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก และไม่ว่าประชาชนจะออกเสียงประชามติอย่างไร เราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ยิ่งประชาชนออกมาใช้สิทธิมากเพียงไรยิ่งทำให้ทุกฝ่ายได้รู้ความต้องการของประชาชนมากขึ้นเท่านั้น

"ที่น่าเป็นห่วงคือคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และข้อเสนอในการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้รณรงค์และแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมและกว้างขวางยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร และที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือการทำโพล ซึ่งควรระมัดระวังไม่ให้เป็นการชี้นำประชาชนในช่วงเวลานี้ บางโพลน่าเชื่อถือและไม่มีวาระแฝงเพื่อชี้นำประชาชน แต่บางโพลไม่รู้ที่มาที่ไป และมีวิธีการทำอย่างไร" นายนพดล กล่าว

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"พิชัย" ห่วงปัญหาเศรษฐกิจ ส่งออกลด-ลงทุนหด-ตกงานเพิ่ม


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตได้ถึง 4-5 % คงเป็นไปได้ยาก เพราะไม่รู้จะเติบโตได้ในภาคส่วนไหน ซึ่งการที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำตั้งแต่มีการรัฐประหาร และ การส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งการลงทุนที่หดหาย ทำให้ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปอีก ตามที่ได้เคยเตือนแล้ว ผลคือจะทำให้นักศึกษาที่จบใหม่จะหางานทำยาก

อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกนี้ที่จะใช้แรงงานน้อยลง โดย WEF คาดการณ์ว่า 72% ของงานในไทยจะถูกทดแทนโดยสมองกลภายในไม่ถึง 20 ปี ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่ปรับตัว และยังไม่สามารถเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศได้ โอกาสที่ไทยจะล้าหลังและประชาชนจะตกงานเพิ่มขึ้นจะเป็นไปได้สูงมาก
 
ทั้งนี้การปรับประเทศไทยให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งจะต้องปรับประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะการเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกน่าจะเป็นความจำเป็นอย่างแรกที่ต้องรีบทำ

ทั้งนี้รัฐบาลดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจในเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องปรับประเทศในทุกด้าน แต่ที่รัฐบาลอธิบายกลับกลายเป็นการแบ่งเกรดประชาชนเป็น คนไทย 1.0 คนไทย 2.0 ที่อาจกลายเป็นการแบ่งแยกชนชั้นของประชาชนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่สามารถอธิบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างง่ายๆให้ประชาชนเข้าใจได้ และอาจจะดูเหมือนว่ารัฐบาลเองก็ยังสับสนและไม่เข้าใจ โอกาสที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นไปไม่ได้เลย จึงอยากให้ศึกษาให้ดีก่อนพูด อย่าทำให้ไทยแลนด์ 4.0 สับสน

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

“พิชัย” ห่วงเศรษฐกิจทรุด ถามรัฐ7ข้อ-ทำไมประชาชนลำบาก?


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เป็นเวลาครบ 1 ปีแล้วที่รัฐบาลได้ปรับ ครม เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกชุด นำโดย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังลำบากมากและไม่รู้สึกเลยว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างไร มีแต่จะเสื่อมถอยมาโดยตลอด ดังนั้นจึงอยากให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลตอบ 7 คำถามดังนี้

1. ตามที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้เคยวิจารณ์ว่า เสาหลักเศรษฐกิจเสื่อม ทั้ง การส่งออก การลงทุน ในรัฐบาลที่แล้ว ทีมเศรษฐกิจได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วบ้าง ซึ่งถ้าไม่นับการส่งออกทองคำและยุทโธปกรณ์ การส่งออกที่ประกาศผ่านมา 17 เดือนนี้ติดลบมาโดยตลอด การลงทุนก็หดหาย 90% ในปีที่แล้ว ปีนี้ก็ยังไม่ดีนัก ทิศทางกลับเสื่อมถอยกว่ารัฐบาลที่แล้วมาก การเติบโตเพียงปีละ 2-3 % ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจเพราะจะไม่สามารถทำให้ไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงได้?

2. ตามที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเคยบอกว่า รัฐบาลนี้ไม่มีหน้าที่ปั๊มจีดีพี และเศรษฐกิจไทยไม่ต้องพึ่งส่งออก แล้วทีมเศรษฐกิจสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ ทำไมคนส่วนใหญ่จึงเชื่อคำพูดที่ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร อดีต รองนายกฯ ที่บอกว่า เศรษฐกิจไทยทรุดเป็นรูปตัว L หางลากยาว และเป็นเพราะสาเหตุนี้หรือไม่ที่ ดร. วีรพงษ์ แสดงความเป็นห่วงความไม่เข้าใจเศรษฐกิจของรัฐบาล?

3. การที่ โตโยต้า ต้องประกาศลดคนงานในไทยลง 800-900 คน ตอกย้ำว่ายิ่งเสื่อมถอยใช่หรือไม่ ทราบหรือไม่ว่า โตโยต้า กลับไปลงทุนในประเทศอื่นเช่น มาเลเซีย และ อินโดนิเซีย เพิ่มขึ้นมาก หมายความว่าเขาย้ายฐานการผลิตใช่หรือไม่ อีกทั้งตัวเลขว่างงานของไทยได้เริ่มพุ่งสูงขึ้นตามที่ได้เคยเตือนไว้
4. การทำรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 3.5 กิโลเมตร หรือเท่ากับ 2 ป้ายรถเมล์จะช่วยพัฒนาระบบขนส่งของไทยได้อย่างไร ความเร็วรถไฟสูงสุดเท่าไหร่ในช่วงแค่ 3.5 กิโลเมตร นี้?

5. เหตุการณ์ Brexit ที่อังกฤษมีประชามติออกจากอียู จะไม่กระทบเศรษฐกิจไทยตามที่ทีมเศรษฐกิจบอกจริงหรือไม่ และไทยกลับจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ทำไมหลายสำนักวิเคราะห์บอกว่า Brexit กลับจะทำให้ GDP ของไทยลดลง 0.3-0.5%?

6. ประชาชนส่วนใหญ่ลำบากกันมากและเห็นความแตกต่างชัดเจนในผลงานการบริหารเศรษฐกิจของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ย่ำแย่กว่าในสมัยที่อยู่กับพรรคไทยรักไทยมาก เป็นเพราะเหตุใด?

7. รัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาคมโลกไม่เชื่อมั่น ขนาดสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ หรือ UN-OHCHR มีข้อท้วงติงถึง 11 ข้อ แต่กลับไม่มีการแก้ไข แล้วจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้หรือไม่?

ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะต้องวิเคราะห์ว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา ที่บริหารเศรษฐกิจล้มเหลวและเสื่อมถอยขนาดนี้ เกิดมาจากสาเหตุใด เป็นเพราะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจหมดฝีมือการบริหารแล้ว หรือ เป็นเพราะสภาวะทางการเมืองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือเป็นเพราะปัญหาของผู้นำตามที่ ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล บอกไว้ หรือเป็นทั้งสามสาเหตุ จะได้เร่งแก้ไขให้ตรงจุดเพื่อจะได้ไม่ทำให้ประชาชนลำบากไปกว่านี้ ซึ่งเชื่อว่าหากประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้เมื่อไหร่ รัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตยจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สหประชาชาติ ห่วงการจำกัดสิทธิเสรีภาพการลงประชามติในไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหประชาชาติ เผยแพร่ เนื้อหาผ่านเว็บไซต์ ระบุว่า รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการรายงานล่าสุด เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ต่อกระบวนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นวันที่ 7 สิงหาคม

สหประชาชาติเน้นย้ำขอให้รัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย รวมถึงความจำเป็นในการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นและการเจรจาแลกเปลี่ยน เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและสนับสนุนการปรองดองแห่งชาติ

ทั้งนี้ รองเลขาธิการย้ำความตั้งใจของสหประชาชาติเพื่อสนับสนุนความพยายามของไทยในเรื่องนี้และเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องระหว่างไทยกับสหประชาชาติ