ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาการออกคำสั่ง คสช.ที่ 56/2559 ที่ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์คดีโครงการรับจำนำข้าว เป็นการกระทำโดยสุจริตและชอบหรือไม่ โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกคำสั่ง คสช.ที่ 56/2559 ซึ่งคำสั่งนี้อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครองถ้าทำโดยสุจริต แต่จากการติดตามรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในเว็บไซต์กรมการค้าภายใน มีข้อความบ่งบอกถึงส่วนความรับผิดทางละเมิดทางแพ่ง พุ่งเป้าไปที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตให้สำนักนายกฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังเร่งเรียกค่าเสียหายทางละเมิดโดยเอกชนมีอายุความ 1 ปี ขณะที่ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรงจะหมดอายุความในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งในบันทึกการประชุมมีหลายส่วนบ่งบอกว่าการจะเรียกชดใช้ค่าเสียหาย แต่ตนมองว่ายังไม่น่าจะกระทำได้เพราะ 1.การปิดบัญชีตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 175/2559, 176/2559, 177/2559 ต้องทำอย่างสมบูรณ์ แต่การปิดบัญชีวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กับ 30 กันยายน 2557 มีตัวเลขไม่สอดคล้องกับบันทึกการประชุม ครม. และรายงาน นบข. ซึ่งเป็นการปิดบัญชีที่ไม่ถูกต้อง
“การปิดบัญชีต้องมาจากการทำบัญชี หัวหน้า คสช. ต้องตั้งคณะจัดทำบัญชีขึ้นมา แต่ยังทำไม่ได้ ยังไม่มีการจัดทำเพราะหมายเหตุประกอบงบการเงินของอนุปิดบัญชีระบุไว้เองว่าไม่มีการจัดทำบัญชี ตัวเลขที่ใช้มาตลอดเวลา เป็นตัวเลขที่ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ส่งตัวเลขเข้ามา ขณะที่การตรวจนับสินค้าก็เป็นเพียงการสุ่มตรวจ มีรายงานตัวเลขที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งการปิดบัญชี 2 ครั้งเขียนไว้ชัดเจนว่ายังไม่ผ่านการตรวจสอบและสอบทานจึงไม่ถูกต้องเพราะไม่มีการรับรองโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อตัวเลขบัญชียังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ จะนำมูลเหตุอะไรมาตั้งเป็นค่าเสียหาย หรือกล่าวหาว่าทุจริตไม่ได้” นายเรืองไกรกล่าว และว่า หากจะให้เจ้าหน้าของรัฐได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559 จะต้องทำบัญชีตรวจสต๊อกสินค้าทั้งหมด ปิดบัญชีและสอบบัญชีให้เรียบร้อยก่อน ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ลงนามคำสั่งทางปกครองนั้น มองว่าตัวเลขยังไม่ชัดซึ่งเจ้าหน้าที่ทราบอยู่แล้วว่ายังทำบัญชีไม่ได้ การเร่งพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมที่ถือเป็นสาระสำคัญของคดี เหมือนฝ่ายบริหารโยนเผือกร้อนไปให้ข้าราชการ หากจะทำให้เกิดความเหมาะสมนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรเป็นผู้ลงนามคำสั่งเองจะเหมาะสมที่สุด ถ้ามั่นใจว่าตัวเลขบัญชีในคดีมีความถูกต้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น