วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล : วิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ กับความเข้าใจในการบริหารบริษัทเอกชน
การบริหารประเทศเป็นศาสตร์แบบหนึ่ง ที่มิใช่ว่า ใครที่มี โอกาสเข้าไปบริหารแล้วจะทำได้ดีทุกคน บางคนเข้าใจว่าการบริหารประเทศเป็นเรื่องง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้ แต่อันที่จริง ก็อาจจะไม่ใช่ และอาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศ ถดถอย หรือพังไปก็ได้ อย่างเช่นการทำโครงการสาธารณะ เช่น โครงการรับจำนำข้าวนั้น คนที่บริหารประเทศไม่เป็น ไม่เข้าใจหลักการบัญชีของภาครัฐแต่ไปใช้หลักการทางบัญชีของเอกชน มาทำความเข้าใจ ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้
ถ้าใครที่พอมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ก็จะเข้าใจว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น ก็เปรียบเสมือนลูกโป่งลูกหนึ่ง การจำหน่ายสินค้าไปต่างประเทศหรือการส่งออกทุกชนิดนั้น จะทำให้เราได้เม็ดเงินเข้ามาภายในลูกโป่งเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ลูกโป่งนั้นพองตัวขึ้น และทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จากคนหนึ่งไปคนหนึ่งและจากอีกคนหนึ่งไปถึงอีกคนหนึ่ง ทำให้ทุกคนภายในประเทศมีรายได้ที่ดีขึ้นถึงแม้ว่าเค้าจะไม่ได้เป็นผู้ส่งออกโดยตรงก็ตาม แต่เขาก็จะได้ประโยชน์จากการที่มีการส่งออกสินค้าไปสู่ต่างประเทศด้วย และสุดท้ายรัฐบาลก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้จากการค้าขายต่างๆทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีบุคคลธรรมดาภาษีนิติบุคคลค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้วนำมาจัดทำเป็นงบประมาณแผ่นดิน จะจัดสรรใช้จ่ายเป็นเงินเดือนค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำโครงการต่างๆด้วย
การใช้จ่ายจากเม็ดเงินงบประมาณแผ่นดินนั้น รัฐบาลจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรจากโครงการต่างๆ แต่ถ้าหากเป็นโครงการพิเศษที่ต้องการแสวงหากำไรแล้วจะต้องมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่รัฐเข้าหุ้นด้วยเป็นเป็นผู้ดำเนินการแทน
ดังนั้น ในโครงการของรัฐที่ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเพื่อให้ก่อให้เกิดรายได้ให้กับประชาชนนั้น จะใช้ หลักการบัญชี ว่ากำไรหรือขาดทุนไม่ได้
นั่นคือหลักการของการบริหาร การเงินภาครัฐ รายจ่ายของภาครัฐที่ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่มีการใช้คำว่าเสียหายหรือขาดทุน เป็นอันขาด เพราะรายจ่ายที่เกิดขึ้นก็มาจากเม็ดเงินภาษี ที่ได้มาจาก การค้าขาย การส่งสินค้าออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและก่อให้เกิดการค้า การจับจ่ายใช้สอย ภายในประเทศและหมุนเวียนกลับมาเป็นภาษี เพื่อทำงบประมาณแผ่นดินต่อไปอีก
ถ้าหากโครงการที่มีการส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ถูกคนใช้วาทกรรมกลายเป็นความเสียหายหรือการขาดทุนไปได้ ทั้งๆที่การก่อให้เกิดการส่งออก เป็นการ ดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในลูกโป่งเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ถ้าเช่นนั้น เมื่อไปเปรียบเทียบกับการจับจ่ายใช้สอยรายการอื่น ที่เป็นรายจ่ายเช่นการซื้ออาวุธ ที่ต้องจ่ายเงินออกไปต่างประเทศ หรือการซื้อสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากต่างประเทศและทำให้ลูกโป่งเศรษฐกิจแฟบลง ทำให้เศรษฐกิจหดตัว มันก็จะยิ่งกลายเป็นความเสียหายของประเทศมากขึ้นเช่นนั้นหรือ? แล้วในอนาคตมันก็จะยิ่งกลายเป็นช่องทางหรือวาทกรรม เพื่อฟ้องร้องกันเพิ่มขึ้นอีกเช่นนั้นหรือ?
ดังนั้น วาทกรรมคำว่าขาดทุน ในโครงการจำนำข้าวนั้น จึงเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองที่ถูกคิดขึ้นมาใช้เพื่อทำลายล้างกันมากกว่า
ซึ่งที่จริงแล้วประชาชนทุกคนในประเทศก็เห็นกันได้อย่างชัดเจนว่า ในขณะที่มีโครงการจำนำข้าวนั้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างมากอย่างไรและทำให้ทุกคนในประเทศทำมาค้าขาย สร้างรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทุกคน อย่างไร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบันเมื่อไม่มีโครงการจำนำข้าวนั้น จะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจหดตัว การค้าขายหรือการหารายได้ฝืดเคืองเป็นอย่างมาก
น่าเสียดายว่า ถ้ามีการวางมาตรฐานว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบของการช่วยเหลือผ่านเกษตรกร เป็นโครงการที่ทำให้รัฐ เสียหาย แล้วลามไปถึงให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายจากคนทำโครงการแล้ว ในอนาคตคงจะไม่มีใคร กล้าตัดสินใจช่วยเหลือเกษตรกร ต่อไปอีกแน่
อนาคตของประเทศไทย ท่าทางจะไปไม่รอด อนาคตของเกษตรกรก็คงจะไม่มีใครช่วยเหลือ ความหวังของคนทำอาชีพเกษตรที่เป็นประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทย คงจะสิ้นหวัง กันจริงๆแล้วครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น