ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
หยุด!!! ใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ ทำลายประชาธิปไตยและนิติรัฐ
ผมเห็นใจท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่กำลังเผชิญกับความกดดันครั้งสำคัญของชีวิต จากนโยบายและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวนาในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ได้มอบความไว้วางใจเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ แต่กลับต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งโดยการรัฐประหารและใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีตำแหน่งและรัฐธรรมนูญก็ถูกยกเลิกแล้ว เพื่อทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เร่งรัดรีบเร่งไต่สวนคดีทั้งหลาย เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี
ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังลงนามให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นการส่วนตัว ที่อ้างว่าเกิดจากโครงการรับจำนำข้าวถึง35,000 ล้านบาท อย่างขาดเหตุผลอันชอบธรรมที่จะอธิบายต่อสาธารณะโดยมีคำถามในประเด็นสำคัญทางกฎหมายว่า การที่นายกรัฐมนตรีนำนโยบายที่ได้แถลง และผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อรัฐกระนั้นหรือ?
ที่ผ่านมา มีโครงการสาธารณะเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้งบประมาณแก้ปัญหา ไม่ปรากฏว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีท่านใดต้องรับผิดชอบ แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีความเสียหายต่องบประมาณของรัฐ ที่สำคัญคือรัฐบาลที่เกิดจากการรัฐประหารมีความชอบธรรมแล้วหรือที่จะชี้ผิดถูกเอากับรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ และต้องพ้นไปจากตำแหน่งโดยน้ำมือของตน นี่มิใช่วิถีทางประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ
การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายจากการกล่าวหาว่า "เป็นนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยปละละเลย ทำโครงการจำนำข้าวช่วยชาวนา และเกิดความเสียหาย ต้องชดใช้เป็นจำนวนเงิน 35,000 ล้านบาท..." ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลมีความจำเป็นใดที่ทำให้ต้องรีบเร่ง และรวบรัดดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเรียกให้ชดใช้ความเสียหายด้วยเงินจำนวนมากขนาดนี้
ทั้งๆ ที่มีปัญหาที่เห็นได้ชัดว่าการกระทำเช่นนี้ จะอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 หรือไม่ แม้ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่อ่านดูเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้หลายรอบแล้ว เขาก็บอกไว้ชัดว่ากฎหมายนี้ตราขึ้นเพื่อช่วยมิให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดทางละเมิด ให้รัฐต้องรับผิดแทน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่นั้นกระทำละเมิดด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ผู้รู้ทางกฎหมายหลายท่านตั้งประเด็นว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้คุมนโยบาย มิใช่เจ้าหน้าที่รัฐตามบทนิยามของกฎหมายนี้ ยังไม่นับรวมประเด็นว่า การกระทำทางนโยบาย ไม่เป็นการละเมิดตามความหมายของกฎหมายนี้แต่อย่างใด
ประเด็นข่าวอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกเรียกให้ชดใช้ความเสียหายจากนโยบายการรับจำนำข้าว การออกคำสั่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีเข้าไปยึด และอายัดทรัพย์ได้ ซึ่งในที่นี้คงจะหมายรวมถึงการยึดบ้านที่พักอาศัยและทรัพย์สินอื่นๆ กำลังสร้างความขัดแย้งในสังคม การมีปรากฏการณ์ที่ประชาชนบางส่วนแสดงเจตจำนงจะร่วมแบ่งปันความทุกข์กับอดีตนายกฯ เพราะตระหนักดีว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม ท่าทีและการดำเนินการในห้วงเวลาอันเร่งรัดโดยไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในหลักนิติธรรม กำลังเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนไทยและชาวโลกจำนวนหนึ่งกำลังเฝ้าดู และติดตามระบบและกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย
การเร่งรัดตัดสินใจเพื่อหวังว่าจะจัดการให้ฝ่ายผู้เห็นต่างในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน ให้ตกเป็นจำเลย และเพื่อให้ยุติบทบาททางการเมือง โดยไม่ใส่ใจถึงความละเอียดอ่อนของผลที่ตามมา ไม่ใส่ใจต่อการจุดเชื้อไฟประเด็นความขัดแย้งใหม่ๆ เป็นการตัดสินใจที่ทำให้สังคมไทยหลุดไม่พ้นจากวงจรแห่งปัญหา
ผมไม่มีอะไรที่จะขอร้องรัฐบาล เพราะดูเหมือนท่านจะปักธงของท่านไว้แน่น แต่ในฐานะผู้เกี่ยวข้องเช่นในฐานะผู้คิดและมีส่วนกำหนดนโยบาย ในฐานะเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยอาศัยกลไกรัฐประหารยึดอำนาจมาโดยตลอด ผมเห็นว่าถึงเวลาที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจ ผนึกกำลังความคิดและสติปัญญาโดยวิถีทางแห่งอารยชนช่วยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้รอดพ้นจากอันตรายใดๆ
ผมเชื่อว่าท่านมิได้ทำอะไรผิด แต่ตกเป็นเหยื่อของการทำลายล้างบนความแตกแยก ร้าวฉานของสังคมไทยที่มีมาโดยช้านานนั่นเอง
ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
24 ตุลาคม 2559
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น