วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559
"เพื่อไทย" ติงกรธ.-พ.ร.ป.พรรคการเมืองจำกัดสิทธิ์ประชาชน
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 40 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังยืนยันที่จะคงโทษประหารชีวิต ในความผิดฐาน ซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งราชการ ว่า ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะคงไม่มี กรธ. คนไหน คิดจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลงสมัคร รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เพราะเหตุว่ามีแต่ในมาตรา 44 และมาตรา 105 ของ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามร่างของ กรธ. เท่านั้น ที่กำหนดความผิดฐาน ซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งข้าราชการประจำ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต เพราะฉะนั้นจึงนำกฎหมายนี้ไปใช้บังคับกับบุคคลอื่นที่ทำการซื้อขายตำแหน่งเช่นเดียวกันแต่ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี รัฐมนตรี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. (นายกฯคนนอก) จึงเป็นการตรากฎหมายขึ้นเพื่อใช้บังคับแก่คดีใด คดีหนึ่ง กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะ ถือว่าเป็นการตรากฎหมายที่ขัด หลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง นั่นเป็นประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง โทษฐานซื้อขายตำแหน่งเป็นข้อหาที่ครอบจักรวาลและค่อนข้างเป็นนามธรรมซึ่งจับต้องได้ยาก ดังนั้น จึงง่ายแก่การกล่าวหาและสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้ง ทำลาย หรือใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือดิสเครดิตคู่แข่งขันในตำแหน่งต่างๆ ทั้งในทางการเมืองหรือตำแหน่งราชการ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ตัดสินคดีความ ซึ่งถึงแม้จะใช้บังคับกฎหมายหรือวินิจฉัยกฎหมายอย่างเที่ยงธรรมและปราศจากอคติใดๆ ก็ตาม ก็ยากที่จะอำนวย ความยุติธรรมได้เต็มร้อย เพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจอย่างเดียวเพราะไม่มีใครในโลกที่จะรู้ได้ว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่? และถ้าในภายหลังมีหลักฐานและความเป็นจริงเป็นที่ประจักษ์ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ถามว่า ผู้ที่ทำให้เขาถูกประหารชีวิต รวมทั้งผู้เขียนกฎหมายฉบับนี้ จะรับผิดชอบอะไรไหม? ที่ร้ายกว่านั้นจะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ที่จะบอกว่าผู้ใช้บังคับกฎหมายและผู้ตัดสินในคดีซื้อขายตำแหน่งจะไม่ใช้ “ดุลพินิจตามอำเภอใจ”
ประการที่สาม ในเมื่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง และยังระบุด้วยว่าเมื่อใดก็ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเมื่อนั้น ก็ต้องพ้นจากสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้น การเขียนกฎหมายเพื่อเอาผิดกับสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต จึงเท่ากับไม่ให้เกียรติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ไม่ให้เกียรติประชาชนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งและที่สำคัญไม่ให้เกียรติบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ประการที่สี่ กรธ. ต้องไม่ลืมว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองและการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองถือเป็นเสรีภาพของบุคคล ไม่ว่าจะตามรัฐธรรมนูญหรือตามหลักประชาธิปไตยสากล เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับจึงต้องเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพดังกล่าว ไม่ใช่ออกมาจำกัดหรือสกัดกั้นการใช้เสรีภาพของประชาชน เพราะการออกกฎหมายเช่นนี้ เท่ากับ เป็นการลิดรอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุเพียงแค่ว่าเขาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้น
และประการสุดท้าย การตรากฎหมายเช่นนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 คือ นอกจากจะขัดต่อหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ เพราะเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับและประชาชนรับรู้ถึงสาระสำคัญและบทกำหนดโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุแล้ว คงไม่มีใครอยากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแน่ ดังนั้น การที่ กรธ. ระบุไว้ในมาตรา 32 ว่าภายในหนึ่งปี พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน สาขาพรรคแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกในพื้นที่ไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน และต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนภายในสี่ปี จึงอยากจะถาม กรธ. ว่า ฝันไป หรือเปล่า?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น