วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560
"พิชัย" ห่วงรัฐทุจริตเพิ่ม คอรัปชั่นพุ่ง-ทำนักลงทุนหาย เศรษฐกิจดิ่ง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "ตามที่รัฐบาลจะออกงบกลางปี 1.9 แสนล้านบาทนี้คงหวังว่าจะพยายามจีดีพีให้สูงขึ้น พยายามจะให้โตได้ตามศักยภาพที่ประมาณ 4-5% แต่จะเป็นไปได้ยาก เพราะปัญหาหลักมาจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศขาดความมั่นใจในการลงทุน โดยแต่ละปีการลงทุนภาคเอกชนจะมีการลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาทแต่ปัจจุบันกลับหายไปเกือบหมด รัฐจะหวังใช้งบประมาณของรัฐมาทดแทนการลงทุนภาคเอกชนคงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เพียงพอ และทีผ่านมารัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินจำนวนมากจะใช้งบประมาณขาดดุลถึง 2.3 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจกลับไม่ฟื้น ประชาชนยังลำบากกันมาก ทั้งนี้อาจจะเกิดจากการใช้จ่ายงบประมาณไม่ถูกทาง และอาจจะมีความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณตามที่ องค์กรความโปร่งใสจัดอันดับคอรัปชั่นให้ประเทศหล่นวูบลงมาอยู่อันดับ 101 จากอันดับที่ 76 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ดังนั้นทางแก้ที่ถูกต้องคือรัฐบาลจะต้องฟื้นฟูความมั่นใจนักลงทุน เร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้าและเขตการค้าเสรี โดยเร็ว เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ ซึ่งหากจำเป็นต้องเร่งเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยก็ต้องทำ อีกทั้งการบังคับใช้กฏหมายควรต้องเป็นไปในหลักสากล และควรระวังการใช้จ่ายงบประมาณให้ถูกทาง และไม่ให้มีการทุจริตคอรัปชั่นเหมือนที่ดัชนีคอรัปชั่นไทยพุ่งสูงในปัจจุบัน"
วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560
"เพื่อไทย" แนะ สปท.เดินหน้าปรองดอง-แก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง
พรรคเพื่อไทยส่งประเด็นที่ทางคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความเห็น ดังนี้
1. ข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง
2. แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความปรองดอง
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความเห็น ดังนี้
1. ข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง
- 1.1. ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่มาผ่านเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย สาเหตุหลักเริ่มต้นเมื่อมีพรรคการเมืองสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้รับการยอมรับจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่สามารถต่อสู้ทางการเมืองผ่านระบบรัฐสภาได้ จึงนำไปสู่การหาทางต่อสู้ทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา กล่าวคือ มีการใช้มวลชนในการต่อสู้ขับไล่รัฐบาล จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ส่งผลให้ขยายความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น จนนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน หากฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งใช้กระบวนการในระบบรัฐสภา และเคารพในกติกาประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันทหารวางตนเป็นกลาง ไม่ก่อการรัฐประหาร ความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น
- 1.2. มีการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เป็น 2 มาตรฐาน ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติรัฐ/นิติธรรม การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน มีการใช้กระบวนการยุติธรรมและสร้างกลไกทางกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจ และทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
- 1.3. การขัดขวางการเลือกตั้ง กล่าวคือ มีกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้งจากฝ่ายที่เป็นรองในการเลือกตั้งทั่วไป และไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง รวมทั้งการบอยคอตการเลือกตั้ง นอกจากนั้นในการเลือกตั้งบางครั้งเมื่อประกาศผลแล้ว ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่พอใจกับผลการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือล้มการเลือกตั้งอย่างไร้เหตุผล
- 1.4. การไม่ยอมรับในหลักการประชาธิปไตย มีวาทกรรมในการชี้ให้สังคมเห็นว่า 1 เสียงของประชาชนที่มีความรู้ต่างกัน ควรจะมีไม่เท่ากัน คนที่มีความรู้มากกว่าควรมีเสียงมากกว่าในการกำหนดชะตาชีวิตของประเทศ ซึ่งวาทกรรมนี้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นสังคมเป็นอย่างมาก
- 1.5. การสร้างวาทกรรมให้เกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม กล่าวคือ มีการสร้าง Hate Speech เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ส่งผลให้สังคมเกิดความเกลียดชัง เคียดแค้น
2. แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความปรองดอง
- 2.1. ต้องอาศัยความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัญหา ทั้งฝ่ายพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ ฝ่ายองค์กรวิชาชีพ และองค์กรเอกชน ฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบัน (ซึ่งกองทัพก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา) รวมถึงฝ่ายและองค์กรอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
- 2.2. ต้องหาสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่ามาจากสาเหตุใดบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ คอป. และสถาบันพระปกเกล้าได้เคยศึกษาไว้อย่างละเอียดและครอบคลุมพอสมควรแล้ว สมควรที่จะหยิบยกมาพิจารณาประกอบควบคู่กันไป
- 2.3. การจะสร้างความปรองดองได้ ต้องปรับแก้หรือปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของความไม่ปรองดอง หรือเกิดความขัดแย้งในสังคม พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมมีความเป็นธรรม มีหลักนิติธรรม ไม่มีระบบสองมาตรฐานอีกต่อไป เป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมได้
- 2.4. คณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องการปรองดองควรมีความจริงใจและตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปรองดอง ควรมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ มีคุณธรรม และสังคมให้การยอมรับ
วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560
"เพื่อไทย" เตือนรัฐทุจริตทำลายภาพลักษณ์ประเทศ แนะทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบคอรัปชั่น
นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณปี 2561 โดยขาดดุลถึง 450,000 ล้านบาท แล้วยังจะมีงบประมาณกลางปี 2560 ออกมาอีก 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลงบประมาณขาดดุลตั้งแต่เข้ามา 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจแต่ประชาชนกลับไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแต่อย่างไร และยังเดือดร้อนกันอย่างมาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมามีการใช้จ่ายงบประมาณถูกทางหรือไม่ อีกทั้ง องค์กรเพื่อความโปร่งใส (ทีไอ) จัดอันดับการทุจริตในไทยอยู่ที่ 101 จาก 176 ประเทศ ซึ่งไม่ได้มีการปฏิรูปแต่อย่างใด ทำให้ตอกย้ำว่าการใช้จ่ายที่ผ่านมาจะมีความโปร่งใสเพียงใด เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวทั้งๆที่รัฐใช้เงินไปมหาศาลใช่หรือไม่? นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายซื้อยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือเสริมสร้างความสามารถแข่งขันให้กับประเทศเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร ดังนั้นในภาวะการเมืองที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ในสภา จึงอยากให้สังคมช่วยกันตรวจสอบการทุจริต เพราะหากดัชนีความโปร่งใสที่ทำโดยองค์กรระหว่างประเทศลดลงขนาดนี้ ย่อมแสดงถึงการทุจริตคอรัปชั่นที่เพิ่มมากขึ้น ขนาดข้าราชการระดับสูงยังมีข่าวว่าไปขโมยรูปในต่างประเทศ ซึ่งอาจกระทบภาพลักษณ์ประเทศได้
วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2560
"ยิ่งลักษณ์" อวยพร สุขสันต์วันตรุษจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เนื่องในวันปีใหม่จีน 2560 โดยมีเนื้อหาระบุว่า "สุขสันต์วันตรุษจีน ขอให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ร่ำรวยเงินทอง กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรือง ทุกเรื่องสมปรารถนา เฮงๆ รวยๆตลอดปี 2560 ค่ะ"
วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560
"ยิ่งลักษณ์" นำเพื่อไทย ร่วมสวดอภิธรรม "เมธา เอื้ออภิญญกุล"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม ดร.เมธา เอื้ออภิญญกุล บิดา นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย สมาชิกพรรคเพื่อไทย และประชาชนเดินทางร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมที่บ้านพักในจังหวัดแพร่ เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ดร.เมธา เอื้ออภิญญกุล เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ หลายสมัย และเสียชีวิตด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2560 ด้วยโรคชรา สิริอายุรวม 89 ปี
"ยิ่งลักษณ์" ร้องค้านยึดทรัพย์-ยืนยันไม่ทุจริต
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 เวลา 15.00 น. ที่ ศาลปกครอง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังการไต่สวนของศาลปกครองว่า วันนี้มารับฟังการไต่สวนจากที่ตนขอศาลทุเลาการยึดทรัพย์ตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการไต่สวนเบื้องต้น โดยศาลให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำคำชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งประเด็นหลักได้ชี้แจงถึงความเดือดร้อนและคดีอาญาที่ยังไม่สิ้นสุด เพราะหากถูกยึดทรัพย์ในระหว่างนี้จะเป็นความเดือดร้อนอย่างมาก เป็นเรื่องที่ทุกข์ใจและเศร้าใจ อีกทั้งไม่ใช่เพียงลำพังตนที่จะเดือดร้อน แต่ยังส่งผลให้เดือดร้อนไปถึงครอบครัวด้วย
เมื่อถามว่ามีอะไรจะชี้แจงต่อศาลเพิ่มหรือไม่? นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอว่า "ความจริงก็มีเยอะ ยากที่จะพรรณนา วันนี้เป็นความลำบากใจ เป็นความทุกข์ที่ได้รับจนบรรยายไม่ออก เจอหนี้ก้อนโตมหาศาล ที่เรียกว่าชั่วชีวิตไม่มีทางใช้หมด และยังเจอเรื่องทรัพย์สิน ถ้าไม่ชำระก็จะถูกยึดอายัดทรัพย์ต้องขายทอดตลาด เหมือนคนที่สิ้นเนื้อประดาตัวเป็นเรื่องที่หนัก ขอพูดสั้นๆแค่นี้ไม่รู้จะบรรยายอย่างไรแล้ว"
ด้าน นายนพดล หลาวทอง ทนายความของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า ศาลปกครองยังไม่กำหนดกรอบเวลาพิจารณาคดี โดยยังอยู่ในกระบวนการขอความคุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ตามศาลได้ให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องทำคำชี้แจงเพิ่มเติมมาภายใน 30 วัน ส่วนฝ่ายผู้ร้องจะทำเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมถึงความเดือดร้อนจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการถูกบังคับในการพิจารณาคดีเพิ่มเติม
เมื่อถามว่าขณะนี้ขั้นตอนการยึดทรัพย์ของกระทรวงการคลังไปถึงไหน? นายนพดล หลาวทอง กล่าวว่า อยู่ระหว่างการเตรียมการที่จะส่งเรื่องให้กับกรมบังคับคดีดำเนินการ แต่ระหว่างนี้รอการพิจารณาของศาลในส่วนการทุเลาบังคับคดีก่อน
ส่วนเหตุที่ฟ้องกระทรวงการคลัง นายนพดล หลาวทอง กล่าวว่า เพราะเป็นผู้ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ให้ชดใช้เงินจากการทำหน้าที่ในการกำกับดูแล การบริหารงานในทางนโยบาย ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถให้ชดใช้เงินได้ และยังไม่เคยปรากฏในการบริหารราชการแผ่นดินไทยมาก่อน ที่ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารนโยบายต้องรับผิดชอบ ซึ่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารงานด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ หรือทุจริต รวมทั้งการออกคำสั่งเป็นการตั้งคณะขึ้นมาพิจารณาเอง ตัดสินเอง และยังไม่ผ่านกระบวนการของศาลหรือหน่วยงานใด และการกำหนดค่าเสียหายก็ไม่ชอบด้วยกฎเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของกฎหมายต่อไป
"อนุสรณ์" ห่วงดัชนีคอร์รัปชั่นไทยยุคคสช.ตกต่ำ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นทั่วโลก ประจำปี 2559 ซึ่งทำการสำรวจจาก 176 ประเทศ ว่า ประเทศไทย ตกจากอันดับที่ 76 มาอยู่ที่อันดับที่ 101 โดยมีคะแนนเพียง 35 จาก 100 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าตกต่ำลงอย่างมาก ต่ำกว่าสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศ ทั้งที่ข้ออ้างปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นข้ออ้างแรกๆที่ใช้ในการเข้ามายึดอำนาจ แต่ทำไมรัฐบาลทหารบริหารประเทศเอง กลับมีอันดับภาพลักษณ์ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นย่ำแย่ลง โฆษกรัฐบาลไม่ต้องออกมาแถว่า เป็นเพราะรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะดัชนีสะท้อนปี 2559 ชัดเจน รัฐบาลนี้จึงโทษใครไม่ได้ นอกจากตัวเอง สะท้อนว่าในช่วงรัฐบาลทหาร กลไกการตรวจสอบทั้งจากภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จนส่งผลลดทอนประสิทธิภาพการตรวจสอบลงไปอย่างมาก ขอฝากรัฐบาลและองคาพยพในการตรวจสอบทั้งหลาย ช่วยตรวจสอบ GT200 เรือเหาะ อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดข้อครหาตรวจสอบแบบเลือกปฏิบัติ ตราบใดที่ประเทศยังปกครองด้วยรัฐบาลทหาร สถานการณ์แบบนี้จะยังคงดำรงอยู่ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชน ปัญหาเหล่านี้จึงจะได้รับการแก้ไขในทางที่ดีขึ้น
"สุรพงษ์" แนะคสช.ตั้งพรรค-ลงเลือกตั้ง หากอยากเป็นรัฐบาล
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลังการเดินหน้าปฎิรูปประเทศโดย คสช. และตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้ขึ้นมาวางและกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเร่งสร้างความปรองดองขึ้นในชาติ ซึ่งดูเหมือนรัฐบาล คสช. ได้คิดเอง ทำเอง และเข้าใจเอง ทั้งหมด จนท่านนายกฯประยุทธ์ ก็มั่นใจตนเองมากๆว่าประเทศไทย 4.0 ของท่านจะสัมฤทธิ์ผล นำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ตามที่พวกท่านวาดหวังเอาไว้นั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียของและจะได้พิสูจน์ว่าพวกท่านคิดได้ถูกต้องและเป็นวิถีทางที่พวกท่านคิดว่าเยี่ยมยอด นำพาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปข้างหน้าได้นั้น ก็อยากขอให้ท่านได้จัดตั้งพรรคการเมือง และเชิญชวนรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. เข้าร่วมพรรค และส่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญใหม่ และตามโรดแมป ก็จะทำให้ ประชาชนที่อยากให้พวกท่านบริหารบ้านเมืองต่อก็จะได้มีโอกาสเลือกพวกท่านกลับเข้ามาบริหารประเทศ และอย่างน้อยก็จะได้เป็นการพิสูจน์ด้วยว่าแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ท่านคิดเอาไว้นั้นถูกต้องหรือไม่? พรรคการเมืองอื่นๆหรือรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งและเข้ามาบริหารรัฐ ก็จะได้สบายใจ และไม่ต้องตะขิดตะขวงใจที่จะเดินตามหลักการยุทธศาสตร์ที่พวกท่านได้กำหนดและวางแนวทางเอาไว้อยู่ในขณะนี้ จะดีไหม? ก็ขอให้ท่านมาช่วยพิสูจน์กันเพราะเชื่อว่าเสียงประชาชนคงจะให้การสนับสนุนท่านนายกฯประยุทธ์เยอะมาก เพราะเห็นมีคนชื่นชมและชื่นชอบท่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านนายกฯและผมก็ถือว่าพวกเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน และเรียนวิชาเรขาคณิตมาเช่นกันก็ย่อมมีความจำเป็นซึ่งต้องพิสูจน์ (ซ.ต.พ.) กัน เพราะอย่างน้อยอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าหากพรรคของท่านนายกฯประยุทธ์ชนะการเลือกตั้งก็จะได้ไม่เสียของ และท่านก็จะได้รู้และเข้าใจถึงวิธีการบริหารงานภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องเป็นไปตามกฎกติกาที่พวกท่านได้ร่วมกันยกร่างขึ้นอยู่ในขณะนี้ และท่านก็จะไม่มี ม.44 มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการทำงานหรือบริหารงานของท่าน ก็จะได้รู้ว่ามันยากหรือง่ายกว่ากันสักเพียงใดบ้าง
วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560
"พิชัย" เตือนตัวเลขส่งออกทรุด-แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การส่งออกในปี 2559 ที่ขยายตัว 0.45% นั้น ไม่น่าจะเป็นการฟื้นตัวของการส่งออกที่แท้จริง เพราะถ้าหักการส่งคืนยุทโธปกรณ์และการส่งออกทองคำแล้ว การส่งออกน่าจะติดลบด้วยซำ้ อีกทั้งปี 2558 การส่งออกลดลงถึง 5.78% ดังนั้นการไม่เพิ่มหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อยจึงไม่ถือว่าฟื้น ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลตั้งเป้าส่งออกปี 2559 จะขยายถึง 5% แต่ก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย แต่ที่น่าห่วงคือจะทำให้การส่งออกขยายตัวอย่างยั่งยืนได้อย่างไรในอนาคตถ้าไม่มีการลงทุนภาคเอกชนจากต่างประเทศและในประเทศที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งนโยบาย "อเมริกามาก่อน" ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนของไทยเพิ่มเติมไม่มากก็น้อย จึงอยากให้รัฐบาลได้เตรียมพร้อม และเร่งหาวิธีเจรจาเขตการค้าเสรีและข้อตกลงทางการค้าให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้จากปัญหากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตรวจสอบพบการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์รอยซ์ ให้กับบริษัท การบินไทย บริษัท ปตท. และบริษัท ปตท.สผ. รวมถึงการจ่ายสินบนของบริษัท เจเนอรัล เคเบิ้ล ให้กับ กฟภ. กฟน. ทีโอที ก็อยากให้มีการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดเพื่อมาดำเนินคดี อย่าให้เป็นเหมือนกันคดี GT200 ที่ยังหาผู้กระทำผิดไม่ได้ และอยากให้ตรวจสอบทุกโครงการของรัฐบาลที่เชื่อว่ามีการจ่ายค่าคอมมิชชั่นสินบนให้เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะที่มีการจัดซื้อจากประเทศจีนและรัสเซีย เพราะประเทศดังกล่าวอาจจะมีระบบการตรวจสอบการจ่ายสินบนภายในประเทศไม่เหมือนในสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งเป็นห่วงว่าในอนาคตจะมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการจัดซื้ออุปกรณ์จากประเทศสหรัฐฯและยุโรป เพราะมีการตรวจเข้มในการจ่ายสินบนทุจริต เพื่อไปจัดซื้อจากประเทศที่ไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้มีการทุจริตมากยิ่งขึ้น และมีโอกาสสูงที่จะได้อุปกรณ์ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความสามารถแข่งขันประเทศไทยในระยะยาว
"ชวลิต" แนะรัฐ ปรองดองจะสำเร็จต้องรับฟังความเห็นต่าง
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการปรองดองจนเป็นกระแสหลักในสังคม เพราะปัญหาสุกงอมเต็มที่ ซึ่งตนได้ติดตามและให้กำลังใจกับผู้เกี่ยวข้อง เพราะความเห็นจะมีหลากหลาย ผู้รับผิดชอบต้องอดทนที่จะรับฟังความเห็นต่าง และควรได้น้อมนำพระธรรมเทศนา "ขันติบารมีกถา" ในวันบำเพ็ญสตมวาร มาปฏิบัติ ก็จะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ประการสำคัญใคร่ขอร้องทุกภาคส่วนแม้กระทั่งรัฐบาลอย่าเพิ่งกำหนดเงื่อนไข หรือลงรายละเอียดก่อนการพูดคุย ขอให้เห็นพ้องในหลักการปรองดองร่วมกันก่อน จากนั้นค่อยฟังความเห็นแต่ละฝ่ายในรายละเอียด
นายชวลิต กล่าวอีกว่า หากดูการแก้ไขปัญหาในอดีตที่ประสบความสำเร็จ ล้วนเกิดจาก
รัฐบาลในขณะนั้นมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จในเวลาที่กำหนด ตนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้ก็ทำได้ เพราะการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็มีการศึกษามามากมายหลายคณะ สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ ความจริงขณะนี้ได้เห็นตัวอย่างการพิจารณากฎหมายสำคัญ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาใน สนช. หลายฉบับ สามารถพิจารณาเสร็จ 3 วาระรวดได้ในวันเดียว เช่น การแก้ไข รธน.ฉบับชั่วคราว และการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ เป็นต้น จะเห็นว่า ถ้าตั้งใจจริงก็สามารถทำได้ ตนยังคิดไปไกลว่า การพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่วางโรดแมปไว้ อาจกำหนดเวลาให้แคบเข้า โดยตั้งเป้าหมายเพื่อให้ทันงานสำคัญก็สามารถทำได้ ตนเชื่อว่า ไม่มีอะไรทำไม่ได้ ถ้าตั้งใจจริง ดังกล่าวข้างต้น จึงขอให้กำลังใจกับผู้เกี่ยวข้องให้ทำงานสำคัญสำเร็จลุล่วงด้วยดี
วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2560
"สุรพงษ์" แนะรัฐจริงใจปรองดอง-ติงคสช.ร่วมเป็นคู่ขัดแย้ง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สดับตรับฟังจากทุกฝ่ายก็เห็นว่าต่างก็ให้การสนับสนุนให้เกิดการปรองดอง และทุกคนก็ดูเหมือนจะมีข้อแม้อยู่ในใจด้วยกันแทบทั้งสิ้น ก็คิดว่าน่าจะสำเร็จได้ยาก ก็ต้องขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน โดยเริ่มต้นจากฝ่ายรัฐบาล คสช. ก่อน โดยท่านนายกฯประยุทธ์ และรองนายกฯ ประวิตร ต้องขอถามฝ่ายท่านก่อนว่า ท่านมีความจริงใจ และพร้อมที่จะเดินหน้าประเทศไปด้วยกันให้ได้ และให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองหรือไม่? ถ้าใช่ ก็ต้องขอให้ฝ่ายท่านยอมเสียสละและยอมรับความจริงกันก่อนบ้างได้หรือไม่? ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในอดีต จะมามัวแต่คิดว่าฝ่ายตนเองเป็นพระเอกที่ต้องออกกันมาเพื่อห้ามศึกที่ฝ่ายการเมืองขัดแย้งกันหรือทะเลาะกันมาก่อนนั้น คิดว่าน่าจะหยุดพูดกันได้แล้ว ส่วนฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มก้อนมวลชนต่างๆ ก็ต้องช่วยกันสนับสนุนและหาทางออกร่วมกันในแนวทางที่ทุกๆฝ่ายยอมรับกันให้ได้ จะให้ถูกใจกลุ่มหรือพวกตนเองทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในการทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันมา ไม่ใช่ไม่ทันที่จะเริ่มต้นพูดคุยหารือก็มีแต่ติติงและใช้คำว่า "แต่" แล้วมันจะคุยกันได้รู้เรื่องอย่างไร?
พวกเราทุกๆฝ่ายน่าที่จะเริ่มต้นกันได้หากละวางสิ่งเหล่านี้ไปก่อนเสีย กล่าวคือ 1) ต้องเลิกวิธีการฟื้นฝอยหาตะเข็บ ระหว่างกัน 2) ต้องยอมรับว่าที่ผ่านๆมานั้น ล้วนทำผิดพลาดด้วยกันทั้งสิ้น 3) เลิกคิดเอาแต่ได้ เอาชนะคะคานกันอยู่ฝ่ายเดียว และ 4) ทุกฝ่ายล้วนแต่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซ้อนเร้นกันทั้งนั้น ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้ ถ้าพวกเราลืมกันให้ได้ เปิดใจกันให้กว้าง ให้อภัยซึ่งกันและกัน เลิกจองเวรจองกรรมกันเสียที ก็เชื่อว่าการพูดจาปรองดองกันก็น่าจะทำได้สำเร็จแน่ ทั้งนี้การจะไปบีบบังคับใครๆก็คงไม่ได้ พวกเราควรต้องรู้จักคิดเพื่อช่วยหาทางออกให้แก่ประเทศชาติของพวกเรา จะได้หันหน้ามาช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองกันได้เสียที ก็อยากฝากถึงทุกๆฝ่ายให้ยอมถอยกันคนละก้าวจะดีไหม?
วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560
"ภูมิธรรม" ยืนยันเพื่อไทยไม่ขวางปรองดอง-แนะทุกฝ่ายร่วมมือลดขัดแย้ง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "พรรคเพื่อไทยได้หารือกันเบื้องต้นแล้วยืนยันไม่ปฏิเสธการสร้างความปรองดอง แต่ต้องการให้คำนึงว่าพรรคการเมืองไม่ใช่ความขัดแย้งเดียวที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะการสร้างความปรองดองจะสำเร็จได้ต้องมีหลายภาคส่วนด้วยกัน ทั้งพรรคการเมือง ส่วนราชการ และการอำนวยความยุติธรรม ขณะเดียวเชื่อว่าการให้พรรคการเมืองร่วมลงสัตยาบันเพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ พร้อมเสนอแนะให้นำข้อมูลของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติหรือ คอป.มาพิจารณาด้วย ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้มอบหมายให้แกนนำพรรค คือ นายโภคิน พลกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดอง"
"ยิ่งลักษณ์" แนะรัฐ ปรองดองต้องเป็นธรรม-เป็นกลาง
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับฟังการไต่สวนพยานจำเลย นัดที่ 9 คดีโครงการรับจำนำข้าวฯว่า ได้ใช้สิทธิ์ยื่นเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของกระทรวงการคลังแล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของศาล
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวด้วยว่า "ยินดีให้การสนับสนุนคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกลาง ตามหลักนิติธรรมทางสากล และต้องเป็นธรรมสำหรับทุกคน ทั้งนี้มองว่าโครงสร้างของ ป.ย.ป. ต้องประกอบด้วยผู้ที่มีความเป็นกลาง โดยเฉพาะนักวิชาการและผู้ที่สังคมให้การยอมรับเพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนให้ความรู้ และร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อให้ ป.ย.ป.เป็นที่ยอมรับ พร้อมยันว่าไม่ได้ปฏิเสธการสร้างความปรองดอง และเชื่อว่าทุกฝ่ายก็คงไม่ปฏิเสธเช่นกัน และเร็วเกินไปที่จะกังวลว่าการสร้างความปรองดองจะกระทบกับโรดแมปการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ต้องการให้รัฐบาลเปิดเผยจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการสร้างความปรองดองด้วย"
วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560
"พิทยา" วิจารณ์ "กษิต" กลับลำ-ห้ามรัฐประหารฉีกรธน.
ดร.พิทยา พุกกะมาน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศชิลีและภูฏาน กล่าวถึงกรณีที่ นายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แสดงความเห็นเรื่องแนวทางการปรองดองที่ฝ่ายผู้บริหารประเทศเสนอในขณะนี้ โดยเฉพาะการลงนามใน MOU นั้นว่า MOU ที่คนไทยต้องการนั้นต้องรวมถึงการที่ทหารจะไม่ออกมาทำการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญอีกด้วยในอนาคต
ดร.พิทยา กล่าวว่า "ฟังดูแล้วก็น่าชื่นใจที่ยังมีบุคคลจากค่ายอำนาจนิยมออกมาต่อต้านการรัฐประหารในอนาคต แต่สำหรับผู้ที่เคยติดตามพฤติกรรมของคุณกษิตตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน อาจจะตั้งคำถามในใจว่าคุณกษิตได้ปฏิรูปตัวเองหรือได้กลับเนื้อกับตัวแล้วหรือ? เพราะหากการรัฐประหารเป็นการละเมิดกฏหมายและหลักการประชาธิปไตย แล้วการที่คุณกษิตได้ร่วมกับกลุ่มเสื้อเหลืองหรือกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินเพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง จะแตกต่างจากการรัฐประหารอย่างไร? คุณกษิต เคยถามตัวเองบ้างหรือเปล่าว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการละเมิดกฏหมายหรือไม่? หรือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยหรือไม่?"
"ปัจจุบันคุณกษิตก็ได้ดีจากการรัฐประหารและได้ดีจาก คสช. ซึ่งแต่งตั้งให้เขาเป็นสมาชิก สปท. จึงเป็นที่น่าสงสัยว่ามีอะไรที่ดลใจให้เขา ออกมาต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ จึงมีคำถามว่าอะไรเกิดขึ้นระหว่างคุณกษิตกับ คสช. หรือคุณกษิตไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการจาก คสช. หรือเปล่า? ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือเปล่า? หรือคุณกษิตคนล่าสุดเป็นคนที่กลับเนื้อกับตัวได้แล้วโดยการปฏิรูปตนเอง" ดร.พิทยา กล่าว
"วัฒนา" สอนรัฐหยุดสร้างความขัดแย้ง-จะปรองดองได้เมื่อทุกฝ่ายเข้าใจกัน
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ขอเล่าเรื่อง "ทักษิณ" (จบ)
หลายคนสอบถามผมว่าท่านนายกทักษิณคิดอย่างไรกับเรื่องปรองดอง แต่บังเอิญในช่วงปีใหม่ที่ผมไปกราบสวัสดีท่านนั้น รัฐบาลยังไม่ได้หยิบยกเรื่องปรองดองขึ้นมาดำเนินการผมเลยไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้กับท่าน แต่ผมเชื่อว่าท่านและคนไทยเกือบทุกคนน่าจะเห็นด้วยที่บ้านเมืองจะเกิดความปรองดอง เพราะวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความเสียหายอย่างประมาณค่ามิได้สู่สังคมไทย ทั้งยังส่งผลในทางลบต่อทุกภาคส่วนของสังคม จึงมีเพียงบุคคลบางกลุ่มเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นพวกได้ประโยชน์จากความขัดแย้งของสังคม แต่บังเอิญท่านนายกทักษิณและผมไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น ส่วนจะเป็นใครบ้างสังคมคงพอมองออก
หลายฝ่ายในอดีตได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อค้นหาสาเหตุและแนวทางยุติความขัดแย้ง เช่น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้แต่งตั้ง คอป. และสภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้แต่งตั้งสถาบันพระปกเกล้า ทั้งสองคณะทำงานมีความเห็นตรงกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการเมือง เมื่อผสมกับปัญหาเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของสังคม ความอ่อนแอของกลไกในระบอบประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ รวมทั้งกลไกต่างๆ ของรัฐที่มิได้อยู่บนหลักนิติธรรม ทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ความขัดแย้งมิได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เกิดจากหลายฝ่ายร่วมกันไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ประชาชน เจ้าหน้าที่และองค์กรของรัฐ จึงนับเป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะได้เข้าสู่กระบวนการปรองดอง
แต่กระบวนการสร้างความปรองดองจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงเหตุแห่งความขัดแย้ง รวมถึงมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่ทุกฝ่ายสามารถถกเถียง มีความเห็นหรือแสดงออกเพื่อร่วมกันไปยังเป้าหมายภายใต้กติกาของสังคมที่เห็นพ้องร่วมกันได้ ผมจึงเห็นด้วยและยินดีสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดอง แต่ผมยังสงสัยในองค์ความรู้และการมีส่วนได้เสียของรัฐบาล รัฐบาลยังมองปัญหาความขัดแย้งแบบตื้นเขิน กล่าวหาแต่ผู้อื่นโดยโทษนักการเมืองว่าเป็นต้นตอปัญหาและเป็นคู่กรณีแห่งความขัดแย้ง ไม่ได้มองว่าตัวเองก็เป็นคู่กรณีและเป็นสาเหตุสำคัญที่ซ้ำเติมทำให้ความขัดแย้งขยายวงมากขึ้น เพราะการยึดอำนาจก็ดี การใช้อำนาจตามอำเภอใจก็ดี หรือการที่องค์กรของรัฐใช้อำนาจที่ขัดต่อหลักนิติธรรมล้วนเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งความขัดแย้ง ที่สำคัญคือรัฐบาลนี้และสมัครพรรคพวกล้วนได้ดิบได้ดีหรือได้ประโยชน์จากความขัดแย้งทั้งสิ้น เพราะหากบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติเป็นประชาธิปไตย คนพวกนี้ไม่มีทางได้อำนาจจากประชาชนครับ
"อนุสรณ์" สวนกลับ กปปส. ขวางปรองดอง-ชัตดาวน์ประเทศต้นเหตุขัดแย้ง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. ออกมาประกาศ จะไม่เซ็น MOU ที่เกี่ยวข้องกับการยุติความขัดแย้งว่า ไม่เหนือความคาดหมาย ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอันเป็นต้นเหตุทำให้ประชาชนทุกข์ยากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ มาจากปัญหาชัตดาวน์ประเทศ ชัตดาวน์ระบบราชการ ก่อจลาจลขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้บ้านเมืองเหมือนไม่มีขื่อไม่มีแป ซึ่งถ้าจะปรองดองจริง การชัตดาวน์หรือการก่อจลาจลลักษณะนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก การปรองดองมีมากกว่าการเซ็น MOU การปรองดองมีมากกว่าการนิรโทษกรรม และต้องไปดูในภาพใหญ่ที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งว่า มาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม สองมาตรฐาน การไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน การไม่เคารพหลักนิติธรรม ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย การรัฐประหารยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือสมคบคิดกันสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจหรือไม่? การปรองดองต้องค้นหาข้อเท็จจริงให้ได้เสียก่อน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีเฉพาะนักการเมืองจริงหรือ? ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันมองภาพใหญ่ การปฏิบัติการ IO เรื่องปรองดอง ต้องการสื่อว่าคนขัดแย้งคือนักการเมืองหรือไม่? แล้วที่จริงคู่ขัดแย้งมีมากกว่านั้นหรือไม่? สมาชิกส่วนใหญ่ กปปส. ก็อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ แต่พรรคเพื่อไทย มองว่าการปรองดองจะต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ของนักการเมือง และต้องมองภาพใหญ่เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงให้ได้เสียก่อน ซึ่งถ้าหากว่าสามารถปรองดองได้ประเทศชาติสงบ เดินหน้าพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นได้ คงไม่มีใครไปขัดขวาง
"พิชัย" แนะ "ประยุทธ์" เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ยกสิงคโปร์ต้นแบบประเทศพัฒนา
"สุรพงษ์" เผยต่างชาติจับตาคสช.ใกล้ชิด-แนะรัฐให้ความเป็นธรรมเพื่อประเทศเดินหน้า
“เยาวเรศ” คืนถิ่นเมืองเหนือ นำสมาคมชาวเหนือ บริจาคผ้าห่ม-อุปกรณ์การเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเยาวเรศ ชินวัตร นายกสมาคมชาวเหนือ พร้อมคณะเดินทางไปมอบเครื่องนุ่งห่มกันหนาว, อุปกรณ์การเรียน, อุปกรณ์การกีฬา และขนม ให้กับเด็กนักเรียนและครอบครัวประชาชนระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน แบ่งเป็นผ้าห่มจำนวน 4,000 ผืน, เสื้อแจ็คเก็ตกันหนาว 3,000 ชุด, อุปกรณ์การเรียน 2,000 ชุด, ชุดกีฬา 300 ชุด และขนม 3,000 ชิ้น โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยธรรมชาติ และสนับสนุนให้เยาวชน ได้รับสื่อการเรียนการสอนในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์และทันสมัยยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมความมีน้ำใจของพี่น้องชาวไทยภาคเหนือรู้รักและร่วมแบ่งปัน ปลุกจิตสำนึกให้รักและคิดถึงบ้านเกิด
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)