วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

"จาตุรนต์" แนะรัฐปรองดอง ยึดหลักนิติธรรม-ลดความขัดแย้ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่าน เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

จะเกิดการปรองดองได้อย่างไร ?

มีการพูดถึงการปรองดองอีกแล้ว หลังจากที่มีการพูดกันมาหลายรอบ แต่ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นจริงสักที คราวนี้เรื่องการปรองดองมาพร้อมกับข้อเสนอเกี่ยวกับการนิรโทษ ซึ่งก็คล้ายกับหลายครั้งที่ผ่านมา
การปรองดองกับนิรโทษนั้น ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว อาจจะเกี่ยวกันอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่พูดเป็นสมการง่ายๆว่าจะปรองดองต้องนิรโทษก่อนหรือนิรโทษแล้วก็เป็นอันว่าเกิดความปรองดอง

จากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา สังคมไทยยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษ ถ้าผมพอจะแนะนำอะไรได้บ้างก็อยากจะบอกว่า ถ้าจะคุยเรื่องนิรโทษ ก็ควรจะคุยกันในหมู่ผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการนิรโทษ และอย่าเพิ่งคิดว่านี่จะทำให้เกิดการปรองดองแล้ว
การปรองดองนั้นเป็นเรื่องที่กว้างกว่านิรโทษ

ที่จำเป็นต้องพูดเรื่องการปรองดอง ก็เพราะในหลายปีมานี้สังคมไทยได้มีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน มีการทำผิดกฎหมายได้อย่างเสรี การแก้ความขัดแย้งไม่ได้เป็นไปโดยการอาศัยกฎกติกาที่เป็นธรรมและอย่างยุติธรรม การรักษากฎหมายไม่อาจทำได้ ยิ่งนานวันเข้ายิ่งขัดแย้งกันมากขึ้น ความสับสนวุ่นวายไม่ได้ถูกระงับไปด้วยมาตรการทางกฎหมายหรือการหาทางออก
ความขัดแย้งที่มีพื้นฐานมาจากความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกันนี้ มีไปทั่วทุกระดับในสังคมไทยไม่เว้นแม้แต่ในครอบครัวจำนวนมาก

เมือพูดถึงการมีความเห็นที่ต่างกันนั้น สังคมที่เจริญแล้วและอยู่กันได้อย่างสงบสุขทั้งหลาย ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเห็นตรงกันไปหมด แต่ความจริงแล้วเขากลับมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ความแตกต่างเหล่านั้นไม่นำไปสู่การขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์กัน เพราะเขามีวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย อาศัยกฎกติกาที่เป็นธรรมเพื่อหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ

ใน 2-3 ปีมานี้ บ้านเมืองอาจดูสงบลง แต่ความขัดแย้งที่เคยมีมาก็ยังอยู่ ซ้ำร้ายยังมีความขัดแย้งใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีกมากมาย รอวันที่จะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่เท่านั้น ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าสภาพที่เคยเกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมาจะไม่เกิดขึ้นอีก และถ้าเกิดขึ้นอีก ก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าสังคมไทยจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้โดยกระบวนการที่ใช้กันในประเทศที่เจริญแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าที่ผ่านมาสังคมไทยมีการทำความเข้าใจถึงปัญหาความขัดแย้งและการปรองดองน้อยมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีอำนาจแล้ว ยิ่งไม่มีความสนใจที่จะทำความเข้าใจอะไรเลย

หัวหน้าคสช.และพวกไม่เคยเข้าใจและสนใจจะทำให้เกิดการปรองดอง ไม่เคยแสดงทัศนคติที่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจการปรองดอง เวลามีใครพูดถึงการปรองดองขึ้นมา หัวหน้าคสช.และพวกก็จะทึกทักเอาว่าเป็นการพูดเรื่องการนิรโทษแล้วก็จะพูดแบบหลงประเด็นทันทีว่าการนิรโทษที่เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ ใครทำผิดต้องมารับโทษเสียก่อน กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย จบแค่นั้น แล้วก็ไม่พูดถึงการปรองดองแต่อย่างใดเลย

หัวหน้าคสช.กับพวกไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยหารือถึงต้นเหตุที่เกิดเป็นความขัดแย้งในสังคมไทย ไม่เคยเปิดให้มีการหารืออย่างเท่าเทียมในฐานะเป็นคนไทยด้วยกันหรือเป็นของสมาชิกของสังคมเหมือนกัน และก็ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับการปรองดองที่หลายๆฝ่ายพยายามเสนอ ที่เคยจัดประชุมหารือมาก็ไม่ได้ตั้งใจสร้างความปรองดอง แต่ต้องการเพียงปิดปากผู้เห็นต่างภายใต้ข้ออ้างว่าเชิญมาคุยเรื่องปรองดอง

ส่วนที่มักอ้างว่ามีกิจกรรมเพื่อการปรองดองหลายพันครั้งก็เป็นเชิญคนไปร่วมกันร้องเพลงหรือเล่นกีฬาซึ่งไม่อาจถือว่าเป็นความพยายามให้เกิดการปรองดองเลย

จะปรองดองต้องยึดหลักนิติธรรม แต่การที่คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยทุกฝ่าย ย่อมขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง การใช้อำนาจนี้ก็เป็นไปในลักษณะเลือกปฏิบัติ แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมาตลอด คสช.นอกจากล้มเหลวในการสร้างความปรองดองแล้ว ยังกลายเป็นฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งเสียเองอีกด้วย

เห็นข่าวว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาเรื่องการปรองดอง บางกระแสก็ว่ามีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเองเลยก็นับว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ แต่ใน 2-3 ปีมานี้ ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ว่าใครจะพยายามให้เกิดการปรองดองอย่างไร หากนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าคสช.อยู่ด้วยไม่สนใจ ไม่เข้าใจคำว่า 'ปรองดอง' เสียคนหนึ่ง การปรองดองก็ไม่มีทางเกิดขึ้น

การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการรับฟังความเห็นทุกฝ่าย มีการปรึกษาหารือระหว่างฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องหรือสนใจจะแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องเริ่มจากการคุยกันเสียก่อนว่าสังคมไทยมีความขัดแย้งกันในเรื่องอะไร ต้นเหตุมาจากไหน และจะแก้ปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้อย่างไร?

แต่กระบวนการปรองดองจะเริ่มต้นได้ไม่ต้องอาศัยคนจำนวนมากครับ สำคัญที่พลเอกประยุทธ์คนเดียว ขึ้นกับว่าท่านต้องการจะทำให้เกิดการปรองดองหรือไม่? หรือจะเล่นบทไม่สนใจไม่เข้าใจต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น