ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต ทีมสำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ สปท. ไม่ควรอ้างว่า สื่อมวลชนต้องถูกควบคุมด้วยใบอนุญาต เพราะนักบิน หรือคนขับรถรับจ้าง ก็ต้องมีใบอนุญาต ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจต้องเข้าใจเสียใหม่ว่าลักษณะการทำงานของสื่อมวลชนแตกต่างจากอาชีพหรือวิชาชีพอื่นๆ ที่ต้องมีสภาวิชาชีพคอยควบคุม เช่น แพทย์ ทนายความ นักบัญชี วิศวกร และสถาปนิก เป็นต้น เพราะวิชาชีพเหล่านั้น ล้วนมีเนื้องานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สิน หรือความเป็นความตายของประชาชน จึงต้องมีมาตรการป้องกันหรือระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เพราะการทำหน้าที่ที่ผิดพลาดของบุคคลในวิชาชีพดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต หรือทำให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการทำงานของสื่อมวลชน ที่หัวใจสำคัญ คือ ความเป็นอิสระในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้
ที่สำคัญ ในกรณีของสื่อมวลชน อำนาจในการออกใบอนุญาต จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการบีบให้สื่อมวลชนอยู่ในโอวาทของรัฐบาล เพื่อให้เสนอข่าวในทิศทางที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจต้องการ ไม่ได้เป็นการปฏิรูปสื่อฯเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือเพื่อแก้ปัญหาจรรยาบรรณสื่อฯ หรือเพื่อแก้ปัญหาการเสนอข่าวไม่เป็นกลาง อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ อ้าง แต่น่าจะทำให้การเสนอข่าวเอียงเข้าข้างรัฐบาลมากกว่าเดิม ซึ่งจะยิ่งทำให้สังคมไทยมีความขัดแย้งต่อไปไม่จบสิ้น
ที่แย่กว่านั้น คือ หากปล่อยให้รัฐบาลควบคุมสื่อมวลชนได้เบ็ดเสร็จ เมื่อนั้นสังคมจะได้ยินข่าวการโกงกินของรัฐบาลน้อยลง หรืออาจไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงเลย ซึ่งที่ผ่านมา สื่อมวลชนถือเป็นกลไกสำคัญ ที่กดดันทำให้รัฐบาลต้องพูดในสิ่งที่ไม่อยากพูด แต่หากร่างกฎหมายปฏิรูปสื่อฯฉบับนี้ผ่านการพิจารณา สื่อมวลชนอาจไม่กล้าตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลอีกต่อไป เนื่องจากกลัวถูกกลั่นแกล้ง ถอนใบอนุญาต หมดงานหมดอาชีพ เป็นการทำลายขวัญกำลังใจ ทำให้สื่อมวลชนขาดความกล้าหาญที่จะปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม เพราะการที่ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลเข้าไปนั่งเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และมีอำนาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชนได้ รัฐบาลจะอยู่ในฐานะคล้ายผู้บังคับบัญชาในทางอ้อม แล้วสื่อมวลชนจะกล้าตรวจสอบผู้บริหารที่สามารถให้คุณให้โทษตัวเองได้อย่างไร?
ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า จะมีสัดส่วนตัวแทนจากภาครัฐกี่คน จากองค์กรสื่อฯกี่คน แต่ประเด็นคือ รัฐบาลไม่สมควรเข้ามาควบคุมสื่อฯต่างหาก เพราะมันสวนทางกับหัวใจการทำงานของสื่อมวลชน ขัดกับบทบาทในการทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะทำให้สื่อมวลชนขาดอิสระในการทำงาน แม้ว่าการควบคุมจรรยาบรรณสื่อมวลชน จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ควรใช้มาตรการอื่น ไม่ใช่ด้วยการให้อำนาจรัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตสื่อฯ เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด แต่น่าจะเป็นข้ออ้างของรัฐบาลในการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน เพื่อปิดหูปิดตาประชาชนและบังคับให้ฟังในสิ่งที่ตนอยากพูดมากกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น