วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

"ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีภาระภาษี" นพดล ปัทมะ กับ คำถาม-ตอบประเด็น หุ้นชินฯ


กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 เรียบเรียงเนื้อหาการแถลงข่าว ของ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะ ฝ่ายกฏหมาย ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในประเด็นที่รัฐใช้ "อภินิหารทางกฏหมาย" ปิดใบประเมินเรียกเก็บภาษี 1.7 หมื่นล้านบาท ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ยืนยัน ไม่มีภาระภาษี
นพดล ปัทมะ : ตามที่มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ได้ปิดเอกสารการประเมินเรียกเก็บภาษีจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวเลขกลมๆประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ผมในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและทีมกฎหมายในเรื่องนี้ ผมอยากจะกราบเรียนอย่างนี้ครับว่า ทีมกฎหมายเห็นว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีภาระภาษีตามกฎหมายตั้งแต่ต้นนะครับ ไม่ใช่มีเจตนาเลี่ยงภาษี แต่ท่านไม่มีภาระภาษีตั้งแต่ต้น

จะอุทธรณ์หรือไม่?
นพดล ปัทมะ : ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกประเมินมีสิทธิ์ที่จะเรื่องนี้ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในเวลา 30 วัน คำตอบก็คือ เราเชื่อว่า เราจะสามารถจัดทำเอกสารและก็ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน ได้นะครับ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการฟอร์มทีมนักกฎหมายขึ้นมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะแล้วนะครับ โดยเห็นว่าจะสามารถอุทธรณ์และชี้แจงได้ทุกประเด็น ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเรียกประเมินภาษีนี้ เอกสารที่ยื่นวันนี้มีหลายแผ่นนะครับ ทางทีมกฎหมายของผมจะไปค่อยๆดู เพื่อที่จะตอบ ข้อโต้แย้งในทุกประเด็นนะครับ

ธุรกรรมการซื้อขายเสมอว่าไม่ได้เกิดขึ้น
นพดล ปัทมะ : ประเด็นที่สำคัญ อยากจะกราบเรียนเพื่อนสื่อมวลชนอย่างนี้ครับ เราเห็นว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีภาระและความรับผิดที่จะต้องชำระภาษี เนื่องจากหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงหลายข้อ แต่ขอเน้น 2 ข้อ ในเบื้องต้นก่อน มีหลายข้อนะครับ แต่ 1 ใน 2 ข้อนั้น คือ
  • ผมขอย้ำครับ เคยมีคำพิพากษาสรุปความตอนหนึ่งได้ว่า หุ้นที่นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาน ซื้อมาจากแอมเพิลริช เป็นหุ้นของ ดร.ทักษิณและภริยา นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทานถือหุ้นไว้แทนและไม่ใช่เจ้าของแท้จริงของหุ้นครับ ในความเห็นของทีมกฎหมายและตัวผมก็คือ เจ้าหน้าที่จะสรุปว่ามีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวระหว่างแอมเพิลริช และนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาเพื่อประเมินภาษีได้อย่างไร? ในเมื่อหุ้นนั้นมันเป็นของท่าน ดร.ทักษิณ นะครับ ในเมื่อหุ้นเป็นของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นะครับ ในเมื่อหุ้นเป็นกรรมสิทธิ์เป็นของ ดร.ทักษิณและภริยามาแต่ต้น ธุรกรรมการซื้อขายจึงเสมอเหมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น อันนี้เป็นนัยสำคัญทางกฎหมายในเมื่อหุ้นเป็นของ ดร.ทักษิณและภริยา ธุรกรรมระหว่าง แอมเพิลริช กับ คุณโอ๊ค คุณเอม ถือเสมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีเงินได้และภาระภาษีนะครับ ประเด็นอยู่ตรงนี้ นอกจากหุ้นจะเป็นของ ดร.ทักษิณ แล้ว ท่านยังเอาหุ้นของตัวเองไปขายในตลาดหลักทรัพย์อันนี้เป็นประเด็นที่สองที่ทำให้ไม่มีภาระภาษีครับ นั่นคือประเด็นของเนื้อหาสาระข้อต่อสู้บางส่วน
  • แต่ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นก็คือเรื่องนี้มันจบไปแล้วขาดอายุความไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่กรมสรรพากรการที่บอกว่าไปพบ มิราเคิลออฟลอว์ หรือเรียกว่า อภินิหารทางกฎหมาย ที่บอกว่าที่ออกหมายเรียกไปให้คุณโอ๊ค คุณเอม ถือเสมือนเป็นตัวแทนของ ดร.ทักษิณ ที่เป็นตัวการ ข้อต่อสู้นี้รับฟังไม่ได้ครับ เพราะว่าคุณโอ๊ค คุณเอม ไม่ใช่ตัวแทนของ ดร.ทักษิณ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทนเท่านั้น ดังนั้นการส่งหมายเรียกไปยังคุณโอ๊ค คุณเอม ไม่ถือเสมือนว่าส่งไปให้ ดร.ทักษิณ นะครับไม่ได้ผูกพันตัว ดร.ทักษิณ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง 

ภาษีหุ้นชินฯ จบไปนานแล้ว
นพดล ปัทมะ : ผมก็เลยอยากจะสรุปเพื่อสื่อมวลชนในวันนี้ว่าจริงๆเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปจบไปนานแล้ว มันเกิดขึ้นหลายรัฐบาลผ่านมาหลายคน ผ่านอธิบดีก็หลายท่าน แต่ทำไมมีความพยายามที่จะประเมินภาษีอีกครั้งหนึ่ง ผมก็ขอต้องใช้คำพูดนี้แหละครับให้พี่น้องประชาชนว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีเองท่านก็บอกให้สัมภาษณ์เองว่า เรื่องนี้กรมสรรพากรระบุว่า อาจดำเนินการไม่ได้นะครับ ผมเชื่อมั่นในกรมสรรพากรโดยเฉพาะความเห็นในขณะนั้น คำถามก็คือทำไมวันนี้จึงมาปิดประกาศประเมินภาษีอีกทั้งๆที่แต่ก่อนก็เคยบอกว่าประเมินภาษีไม่ได้นะครับ จึงมีคำถามที่หลายคน นักกฎหมาย-พี่น้องประชาชนสอบถามมาก็คือว่า เรื่องนี้มันมีการดำเนินการที่เท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน และสอดคล้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่? มันมีคำถามนี้อยู่ในใจของคนหลายคนโดยเฉพาะตัวท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ

จะดำเนินการอย่างไรต่อ?
นพดล ปัทมะ : ผมอยากจะกราบเรียนเพิ่มเติมครับ ในกรณีที่มีการดำเนินการใดๆที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักนิติธรรม ในกรณีที่มีการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อ ดร.ทักษิณ ขอเรียนครับ ท่านขอสงวนสิทธิ์ในการที่จะดำเนินการฟ้องร้องตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆ และดำเนินการอื่นๆที่จำเป็นตามขบวนการยุติธรรมในเวลาต่อไปครับ จะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวท่านเอง แต่สิทธิ์ของตัวท่านเองก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่ท่านอดีตนายกฯทักษิณท่านเห็นว่าจำเป็นจะต้องรักษาระบบกฎหมายและหลักนิติธรรมของประเทศเอาไว้ เพราะหลักนิติธรรมมีความจำเป็นครับ ในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของประเทศ ท่านเห็นอย่างนี้ครับว่าแม้ตัวท่านจะอยู่ในต่างประเทศ ท่านเห็นว่าท่านอยากเห็นประเทศมีหลักนิติธรรม เพราะมันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความปรองดองนะครับ อันนี้เป็นเอกสารที่ผมอยากจะพยายามที่จะอ่านตามตัวอักษรเพื่อให้ตรงกันนะครับ

ฟ้องกรมสรรพกรอย่างเดียวหรือว่าจะฟ้องในส่วนอื่นด้วย?
นพดล ปัทมะ : ตอนนี้ทีมกฎหมายกำลังไปพิจารณา ผมตอบอย่างนี้ได้ไหมครับว่าคงจะมีการดำเนินการฟ้องร้องตามมาตรา 157 ในเวลาที่เหมาะสม ส่วนจะฟ้องใคร แค่ไหน เพียงไร ในชั้นนี้ทีมกฎหมายจะไปดูรายละเอียดเอกสารที่เป็นหมายประเมินในวันนี้นะครับ แล้วจะไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการกับท่านใดได้บ้าง ผมได้รับอนุญาตให้แถลงในชั้นการฟ้องร้องในมาตรา 157 เพียงแค่นี้ เพราะว่าทีมกฎหมายต้องไปหารือกันถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง แต่คงจะมีการดำเนินการปกป้องสิทธิ์ของท่านตามที่จะพึงมีอย่างแน่นอนครับ


หลังจากที่ทำการขออุทธรณ์ใน 30 วัน แต่หากคณะกรรมการอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ ขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไร?
นพดล ปัทมะ : อันนี้เป็นคำถามสมมุติว่าเขาจะไม่รับอุทธรณ์นะครับ ผมอยากจะเรียนว่าทางทีมทนายเชื่อว่าเรามีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญในการต่อสู้ทั้งทางข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แล้วก็หวังว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะรับอุทธรณ์และพิจารณาด้วยดีนะครับ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรในชั้นต้นนี้ คงยังไม่สามารถไปสรุปได้ในชั้นนี้ แต่มันมีกระบวนการต่อเนื่องต่อไปนะครับ ก็คือในชั้นศาลภาษีอากร ศาลภาษีอากรกลางต่อไป เป็นกระบวนการทางการศาลต่อไปครับ

ถ้าเขาไม่รับอุทธรณ์ใน 30 วัน เราก็จะไปฟ้องศาลภาษีอากรกลางใช่ไหม?
นพดล ปัทมะ : คือผมพูดในเชิงกฎหมายว่ามันมีขั้นตอนหลังจากการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป ก็คือในชั้นศาลภาษีอากรกลาง

ขั้นตอนต่อไป…?
นพดล ปัทมะ : คือ ผมพูดในเชิงขั้นตอนตามกฎหมายว่า ถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์วินิจฉัยออกมาว่า สมมุตินะครับ ดร.ทักษิณ ไม่มีภาระภาษี ขั้นตอนในส่วนฝ่ายของ ดร.ทักษิณ ก็สิ้นสุดแค่เพียงเท่านี้จริงไหมครับ? ก็ไม่ดำเนินการต่อ ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่มีภาระภาษี แต่ถ้าพิจารณาอีกแบบหนึ่ง มันก็มีขั้นตอนตามกฎหมายที่จะพิจารณาดำเนินการในชั้นศาลภาษีอากรกลางครับ

กระบวนการทางคุณทักษิณเอง ยืนยันว่า การใช้อภินิหารทางกฎหมายไม่ถูกต้องมาตลอด เมื่อเราเข้าสู่กระบวนการเช่นนี้ มันจะเป็นการยอมรับเสียเองหรือไม่ว่ากระบวนการมันไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น แต่เราไปยอมรับกระบวนการ?
นพดล ปัทมะ : เราจำเป็นจะต้องใช้สิทธิ์อุทธรณ์ครับ แล้วเราสามารถพูดได้ว่า ขั้นตอนหรืออภินิหารทางกฎหมาย มันไม่มีหลักนี้  มันมีแต่หลักนิติธรรม มันมีแต่หลักกฎหมายที่ชัดเจน เราก็ต้องไปพูดไปเขียนในอุทธรณ์ของเราว่าเรื่องนี้มันจบสิ้นไปแล้ว ไม่สามารถใช้อภินิหารทางกฎหมายเพื่อบอกว่ามันยังไม่ขาดอายุความ และขณะเดียวกันมันก็มีเนื้อหาสาระทางกฎหมาย ที่ไม่มีความรับผิดที่จะต้องรับชำระภาษีตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการขายหุ้นของตนเองในตลาดหลักทรัพย์


อย่างที่ย้ำว่าธุรกรรมเป็นเสมอเหมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น แต่ว่าในทางอดีตที่ผ่านมา การทำธุรกรรมที่เป็นการขายหุ้นของคุณโอ๊ค คุณเอม ก็มีการเกิดขึ้น ตรงนี้มันจะสมเหตุสมผลเหรอครับว่า ธุรกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้น?
นพดล ปัทมะ : ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับ อย่างที่ผมอ้างในคำพิพากษาของศาลนะครับ ศาลท่านตัดสินว่า หุ้น 1,400 กว่าล้านที่เสนอขายให้แก่กองทุนเทมาเส็ก ในปี 2549 และหุ้น 329 ล้านหุ้นเศษ รวมอยู่ในนั้น ศาลท่านตัดสินว่าเป็น ดร.ทักษิณและภริยาคงไว้ซึ่งหุ้นนั้นนะครับ คำพิพากษาของศาลตัดสินว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นเป็นของท่าน ดร.ทักษิณ เพราะฉะนั้นอธิบายต่อไปก็คือว่า ความเห็นของทีมกฎหมายและความเห็นของนักกฎหมายทั่วไปก็คือว่ากรรมสิทธิ์จะต้องติดอยู่กับคนหนึ่งคนใด เจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะนั้นยังเป็นของ ดร.ทักษิณและภริยา เพราะฉะนั้นกรรมสิทธิ์มันยังไม่โอนไปยังแอมเพิลริช และมันจะไม่สามารถโอนมายังคุณโอ๊คกับคุณเอมได้ และคุณโอ๊คคุณเอมเอาไปขายซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อ กรรมสิทธิ์ยังติดกับ ดร.ทักษิณ ตั้งแต่ต้น ไม่ขาดสายต่อเนื่องนะครับ ตั้งแต่ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั้งถึงเวลาขายในเวลาปี 2549 ท่านเอาหุ้นของท่าน ซึ่งกรรมสิทธิ์ติดกับตัวท่าน เพราะฉะนั้นจึงถือเสมอเหมือนว่าท่านเอาของตัวเองไปขายและขายในตลาดหลักทรัพย์ ที่สำคัญคือขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีครับ

ตอนที่ขายให้กับกองทุนเทมาเส็ก ยังเป็นชื่อของคุณโอ๊ค คุณเอมในการขาย?
นพดล ปัทมะ : อย่างที่ผมเรียน ผู้พิพากษาศาลฎีกาตัดสินในปี 2553 การขายเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 ใช่ไหมครับ ศาลตัดสินเมื่อปี 2553 แล้วก็ศาลภาษีอากรกลางก็ตัดสินต่อมา เพราะฉะนั้นคำพิพากษาของศาลปี 2553 ท่านตัดสินไว้ว่า หุ้นยังคงเป็นของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร คงไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ คือใช้คำนี้ ศาลภาษีอากรกลางบอกว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้น ผมอ้างจากศาลภาษีอากรกลางว่า กรรมสิทธิ์ในหุ้นเป็นของ ดร.ทักษิณ ชินวัตรและภริยา

แต่ก็มีคำตัดสินของศาลเมื่อไม่นานมานี้ กรณี เบญจา แล้วก็ศาลได้ระบุว่าเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษี?
นพดล ปัทมะ : คนละประเด็นกันครับ และนอกจากนั้นคำพิพากษาในคดีคุณเบญจา ยังไม่ถึงที่สุดครับ ยังต้องมีการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป แต่คำพิพากษาที่บอกว่า ดร.ทักษิณและภริยา ยังคงไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ปนั้นเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้วครับ เมื่อปี 2553 ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ถามคำถามนี้ เพราะเป็นประเด็นที่เป็นเทคนิคทางกฎหมาย และก็เป็นผลของคำพิพากษา และกรรมสิทธิ์ติดกับตัวท่านตลอด

แนวทางการต่อสู้จะหยิบยกคำพิพากษาของภาษีอากรกลางเมื่อปี 2553 มาสู้ได้หรือไม่? ว่ามีการถอนหมายเรียกประเมินจากคุณโอ๊ค คุณเอมไปแล้ว?
นพดล ปัทมะ : ขอบคุณสำหรับคำถาม แสดงว่าติดตามเรื่องนี้ค่อนข้างใกล้ชิด ทีมกฎหมายจะสู้ในทุกประเด็น ทั้งเรื่องของเนื้อหาสาระและทั้งในเรื่องของเทคนิค คำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องเราก็จะใช้คำพิพากษาของศาลด้วย เพราะว่าคำพิพากษาได้ตัดสินไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะพิจารณาคำพิพากษาของศาลด้วย


การอุทธรณ์ครั้งต่อไปน่าจะอาทิตย์หน้าใช่หรือไม่? อะไรจะก่อนจะหลังระหว่างอุทธรณ์กับขบวนการฟ้องร้องตามมาตรา 157?
นพดล ปัทมะ : อุทธรณ์เป็นขั้นตอนแรกที่จะทำต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เข้าใจว่านับตั้งแต่วันปิดใบประเมินครับ เข้าใจว่าเช่นนั้น ส่วนจะยื่นวันไหน ก็ต้องให้เวลาทีมกฎหมายได้ไปทำงานกันนิดนึง แล้วก็ถ้าวันไหนที่ยื่นก็จะมีการชี้แจงต่อเพื่อนสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่งครับ

ทีมกฎหมายมีใครบ้างครับ?
นพดล ปัทมะ :ผมเป็นหนึ่งในนั้น ผมพูดได้เพราะว่าเป็นตัวผมเอง แต่ชื่อชัดเจนหรือคนที่เกี่ยวข้องขออนุญาตได้ปรึกษาหารือกันก่อนดีกว่า เพราะว่ามันเป็นสิทธิส่วนบุคคลของบางท่าน แล้วก็ถึงเวลาที่เหมาะสมก็คงสามารถชี้แจงได้ ไม่ได้เป็นความลับอะไรนะครับ แต่หมายถึงว่าขอให้มีความชัดเจนเพิ่ม เพราะตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เราหารือกันก่อนที่จะได้รับหนังสือประเมินนะครับ ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องของการที่จะดูในรายละเอียดและเป็นข้อกฎหมายทุกประเด็น เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องมีทีมที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นครับ


นพดล ปัทมะ : ขอบคุณเพื่อนสื่อมวลชนครับ ขอบคุณทุกท่านครับ สวัสดีครับ

หมายเหตุ -  
TV24 - "นพดล" แถลงค้านรัฐรีดภาษีหุ้นชินฯ เตรียมอุทธรณ์-ฟ้องกลับม.157
https://youtu.be/oqK88pvzNOU

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น