ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่เอกสาร ที่ พท.0010/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 ต่อสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาดังนี้
เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การสร้างความสามัคคีปรองดองที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
เรียน ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
(พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล)
อ้างถึง หลักการและแนวทางการปรองดองของพรรคเพื่อไทยที่ได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560
ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ส่งตัวแทนของพรรคเข้าให้ข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งมีท่านเป็นประธานอนุกรรมการ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 โดยมีข้อเสนอแนะอันเป็นสาระสำคัญว่าการสร้างความปรองดองนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ การดำเนินการจึงควรจะต้องได้รับความเชื่อถือไว้วางใจและยอมรับของประชาชนผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ควรเป็น “คณะกรรมการอิสระ” ที่มาจากทุกภาคส่วนไม่อยู่ภายใต้การสั่งการหรือครอบงำของ คสช. รัฐบาล หรือองค์กรใด โดยคณะกรรมการอิสระจะต้องมีความเป็นกลาง ปราศจากอคติและใช้หลักนิติธรรมในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด พร้อมกับต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งได้มีโอกาสในการเสนอความคิดเห็นอย่างเสรี ผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่ควรให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น รวมถึงจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วย อีกทั้ง ผลสรุปของแนวทางสร้างความปรองดองนั้น ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐานของการคำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ใช่เกิดจากการบังคับด้วยอำนาจ รายละเอียดปรากฎตามเอกสารที่อ้างถึงนั้น
พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงความสำคัญของข้อเสนอข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้น มิใช่การมองเหตุการณ์ในอดีตแล้วปล่อยพ้นไปโดยมุ่งเพียงเพื่อจะป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตเท่านั้น แต่การยุติความขัดแย้งในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น จะต้องเข้าถึงแก่นแท้ของต้นเหตุปัญหาและต้องทราบถึงคู่ขัดแย้งและผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในแต่ละเหตุการณ์ให้ครบถ้วนถูกต้อง อันจะนำไปสู่วิธีการเยียวยาผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความพอใจและให้อภัยระหว่างกัน ลืมความบาดหมางในอดีตและตกลงร่วมกันที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรมและได้รับการยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะสำเร็จลงได้ก็ต้องอาศัยการดำเนินการที่มีความเป็นอิสระ ความเป็นกลางและปราศจากอคติอย่างแท้จริง การที่พรรคได้เสนอให้มี “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเป็นข้อเสนอที่มีเหตุผลเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง แต่เมื่อได้พิจารณาคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความ
สามัคคีปรองดอง คณะอนุกรรมการบูรณาการข้อคิดเห็นและเสนอแนะและคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการปรองดองจะเห็นได้ว่ากรรมการและอนุกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทั้งหมด ทั้งข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ โดยการดำเนินการทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำหรือการตัดสินใจของหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี จึงทำให้การดำเนินการขาดความเป็นอิสระและความเป็นกลาง การจะไปสู่จุดหมายของการสร้างความสามัคคีปรองดองจึงเป็นไปได้ยากยิ่ง
ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่าเพื่อให้กระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองบรรลุผลสำเร็จตามเจตนาและเป้าหมายอย่างแท้จริง ควรต้องดำเนินการ ดังนี้
1. รัฐบาลควรจัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ซึ่งมีองค์ประกอบของกรรมการมาจากทุกภาคส่วนและเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลางและเที่ยงธรรม ได้รับการยอมรับจากสังคมมาเป็นผู้ดำเนินการในการแสวงหาข้อเท็จจริง ต้นเหตุของปัญหาและวิธีการเยียวยาแก้ไข รวมถึงจัดทำข้อเสนอกระบวนการปรองดองโดยให้นำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมดส่งให้กับคณะกรรมการอิสระดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบในการดำเนินการต่อไป และยกเลิกคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง คณะอนุกรรมการบูรณาการข้อคิดเห็นและเสนอแนะและคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการปรองดอง ซึ่งมีองค์ประกอบที่ขาดความเป็นอิสระและความเป็นกลาง
2. เมื่อคณะกรรมการอิสระได้ดำเนินการแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้เผยแพร่รายงานและข้อเสนอดังกล่าวต่อสาธารณชนพร้อมกับการเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ย.ป.และรัฐบาลโดยจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อเสนออันเป็นสาระสำคัญของคณะกรรมการอิสระ
3. ความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระจะต้องมีการนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมและผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ รวมถึงประชาชนทุกภาคส่วน
4. ในระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการอิสระ คสช.และรัฐบาลต้องสร้างบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยโดยเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็นได้อย่างเสรี ปราศจากการคุกคามในทุกรูปแบบ และยกเลิกคำสั่งและประกาศของ คสช.หรือหัวหน้า คสช.ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งหมด
พรรคเพื่อไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านในฐานะประธานอนุกรรมการรังฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองจะได้นำหลักการและข้อเสนอของพรรคเสนอต่อผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องและรัฐบาล เพื่อพิจารณาดำเนินการด้วย ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากประชาชนและคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์
รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น