วันที่ 11 เมษายน 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ยกเลิกหรือแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2560 ในกรณีการห้ามนั่งท้ายกระบะ
นายเรืองไกร กล่าวว่า หลังจากที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 14/2560 ที่มีส่วนที่เป็นปัญหาหลักคือเรื่องการห้ามนั่งท้ายรถกระบะ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากนั้น จนทำให้ พระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่ถูกแก้ไขในมาตรา 123 ไม่สามารถใช้บังคับได้ รัฐบาลจึงมีให้ชะลอออกไป จากการศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2560 แล้วพบว่า น่าจะมีปัญหาอยู่ 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 ปัญหาเรื่องความไม่ชอบในการออกคำสั่ง ทั้งนี้เห็นได้จากการออกมายอมรับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กล่าวว่า ตนและกรรมการเป็นผู้เสนอเรื่องนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การใช้อำนาจตามมาตรา 44 จึงอาจไม่ชอบ เพราะในมาตรานี้ บัญญัติไว้ชัดว่า "ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็น..." ดังนั้น อำนาจดังกล่าวจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของหัวหน้า คสช. เท่านั้น ไม่ใช่อำนาจของรองนายกรัฐมนตรีหรือบุคคลอื่นด้วยแต่อย่างใด
ประการที่ 2 ปัญหาจากการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 123 วรรค 2 ตามคำสั่งดังกล่าว ข้อ 2 ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้โดยสารทุกคนต้องรัดเข็มขัดนิรภัย และรถกระบะจะให้นั่งได้เฉพาะแถวหน้าโดยห้ามนั่งหรือโดยสารในท้ายกระบะหรือแคป ซึ่งคำสั่งที่ถือเป็นกฎหมายมาใช้บังคับนั้น อาจขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาได้
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า จากปัญหาทั้ง 2 ประการ จึงจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาทบทวน เป็น 2 แนวทาง คือ
1. ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทั้งหมด เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมา การออกคำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีมาจากความเห็นของหัวหน้า คสช. เอง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ 2557
2. หากจะปล่อยให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ก็ควรแก้ไขโดยยกเลิกความตามคำสั่ง ข้อ 2 คือให้กลับไปใช้ข้อความเดิมของพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 123 วรรค 2 ก่อนการแก้ไข ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่ไม่แก้ไข แล้วใช้วิธีผ่อนปรนหรือชะลอการบังคับใช้ ซึ่งการไม่บังคับใช้กฎหมายอาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาการละเว้นตามมาได้ แต่หากนำมาใช้ต่อไป ก็จะเป็นเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีรถกระบะประเภทต่างๆ ซึ่งใช้อยู่แล้วเป็นปกติวิสัย จะได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายดังกล่าวเป็นวงกว้างต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น