วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

"กิตติรัตน์" สอนรัฐใช้ OTOP ดันเศรษฐกิจชนบทเติบโต


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของแรงงานในยุคเศรษฐกิจปัจจุบันว่า "ภาครัฐต้องดูการเปลี่ยนกลไกจากสังคมอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมากเป็นหลัก ไปเป็นแรงงานที่สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพราะในระยะต่อไปเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่แรงงานมากขึ้น ลูกจ้างต้องมีฝีมือระดับหนึ่ง ถ้าทุกคนพัฒนาความสามารถ พัฒนาทักษะให้ดีขึ้น โอกาสที่จะได้รับเงินเดือนดีขึ้นจะเป็นไปได้มาก และจะมีกำลังซื้อ มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยกลับมาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งจะเกิดผลบวกในทางเศรษฐกิจ"

สำหรับการขาดแคลนแรงงานในส่วนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์นั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ค่าจ้างควรขยับสูงขึ้น และประสานไปยังสถาบันการศึกษาหรือสถาบันที่มีการจัดฝึกอบรมบุคลากรที่อยู่ในสาขานั้นแต่เนิ่นๆ ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะว่า ไม่มีกลไกที่จะไปปรับผลตอบแทนให้กับบุคลากรในสาขานั้นอย่างเหมาะสม เรามีสมาคมผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ การประสานงานผ่านองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการในการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมเกิดขึ้นไม่ยาก ขอให้พยายามประสานงาน

"เราเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วมาสู่ภาคอุตสาหกรรม และขณะนี้เรากำลังจะเคลื่อนจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตไปเป็นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และจะเคลื่อนต่อไปสู่ภาคเศรษฐกิจ มีขนาดของธุรกิจเชิงพาณิชย์และงานด้านบริการที่มากขึ้นตามกำลังซื้อของประเทศเราเองและประเทศคู่ค้า ธุรกิจที่เป็นข้อมูลเรื่องบริการ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นและสามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้ เป็นสาขาที่มีความต้องการมากขึ้น ขยายตัวเร็ว ผลตอบแทนดี การที่จะเข้าสู่วิชาชีพเหล่านั้นน่าจะมีความเหมาะสม"

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า "แรงงานต้องเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณ ด้วยการมีเงินออม คนที่อยู่ในระบบที่มีการดูแลภายหลังเกษียณอายุ เช่นข้าราชการที่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือภาคเอกชนที่มีกองทุนประกันสังคมในบริษัทรองรับยังเป็นส่วนน้อย อีกประเด็นหนึ่งคือ สวัสดิการ การมีกองทุนเพื่อดูแลแรงงานนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่สวัสดิการเรื่องสาธารณสุขก็ถือเป็นข้อฝากไปยังรัฐในการดูแลแรงงานด้วย"
     
นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า "เมื่อมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้วดึงดูดอุตสาหกรรมเข้ามา ตรงนี้แก้ปัญหาการว่างงานได้ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น มีรายได้ประชาชาติสูงขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือ คนออกจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม หมู่บ้านในชนบทเป็นที่อยู่ของเด็กและคนชรา คนหนุ่มสาวไปทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเพราะครอบครัวแยกกันอยู่ ทำอย่างไรให้สังคมชนบทสามารถเติบโตคู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย แนวคิดที่เริ่มมาสักระยะหนึ่งและยังดำเนินการอยู่คือ OTOP หรือ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เพราะทำให้เกิดการผลิตในพื้นที่ตำบลหรือหมู่บ้านมากกว่าที่จะต้องแยกตัวไปอยู่ในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น