วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
"หมวดเจี๊ยบ" แนะรัฐหยุดครอบงำสื่อ-ขาดอิสระตรวจสอบทุจริต
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นหลักประกันได้ว่า ผู้มีอำนาจได้ล้มเลิกแนวคิดที่จะควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะถึงแม้ว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะตัดประเด็นการออกใบอนุญาตสื่อมวลชน และยกเลิกบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อที่ไม่มีใบอนุญาตฯ แล้วตามร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ มาตรฐานจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ สปท. เมื่อวันที่ 1 พ.ค ที่ผ่านมา แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะการออกกฎมายดังกล่าวยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะโดยคณะรัฐมนตรี หรือหากรัฐบาลมีมติเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้เกี่ยวข้องก็ยังสามารถสอดไส้เนื้อหาที่ขัดต่อหลักเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้อีกในชั้นการแปรญัตติ หากสังคมเผลอหรือเลิกจับตามอง
ทั้งนี้ หากผู้มีอำนาจมีความจริงใจและไม่ได้คิดจะครอบงำสื่อจริงๆ ก็ต้องยกเลิกแนวคิดที่จะกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการจากภาครัฐ ไว้ในโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะมีอำนาจกำกับดูแลหรือให้คุณให้โทษสื่อมวลชนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของคณะกรรมการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสภาวิชาชีพ หรือจะใช้ชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น เพราะไม่ว่าผู้มีอำนาจจะอ้างว่ามีผู้แทนภาครัฐน้อยกว่าผู้แทนจากสื่อมวลชนจำนวนกี่คนก็ตาม ก็ล้วนแต่เป็นการวางกลไกที่สามารถครอบงำสื่อได้ทั้งสิ้น ซึ่งขัดต่อหลักการทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องมีอิสระในการทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ซึ่งตามหลักการแล้ว ไม่สมควรที่จะมีผู้แทนภาครัฐแม้แต่คนเดียวเข้ามานั่งเป็นกรรมการในองค์กรดังกล่าวเลย เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบรัฐบาล เช่น อาจเกิดการล็อบบี้ หรือการสร้างอิทธิพลกดดันเพื่อไม่ให้สื่อนำเสนอข้อมูลการทุจริต หรือการประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งยังอาจนำไปสู่การเกิดระบบเกรงใจ ทำให้สื่อขาดอิสระในการตรวจสอบผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา เพราะรัฐมีอำนาจอยู่ในมือ และสามารถให้คุณให้โทษสื่อมวลชนได้
ดังนั้น ผู้มีอำนาจจึงไม่ควรรีบร้อนผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวให้เป็นกฎหมายในช่วงเวลานี้ เพราะยังมีกระแสต่อต้าน และยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงและยังหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้มีอำนาจจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันสองวันนี้หรือภายในเดือนนี้หรือเดือนหน้า แต่ควรจะรอจนกว่าทุกฝ่ายจะได้พูดคุยกันจนเกิดความเข้าใจและยอมรับกติกาที่จะมีขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่รอได้ ไม่เห็นต้องเร่งรีบ ที่สำคัญ ขณะนี้ประเทศยังมีปัญหาอีกมากมายที่สำคัญต่อปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งกำลังรอให้รัฐบาลแก้ไข แต่รัฐก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึง เหตุใดจึงเอาเวลามาทุ่มเทกับการแทรกแซงสื่ออย่างเอาเป็นเอาตาย อยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ที่คิดจะส่งปลัดกระทรวงมานั่งควบคุมสื่อนั้น ปัจจุบันพวกท่านทำงานในหน้าที่ของตัวเองได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือ? ไม่ทราบว่าพวกท่านกำกับดูแลการทำงานของภาครัฐในด้านการใ้ห้บริการแก่ประชาชนได้ทั่วถึงดีพอแล้วหรืออย่างไร? พวกท่านจึงได้มีเวลาว่างมากพอที่จะไปทำงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองโดยตรง ในส่วนของบรรดาสมาชิก สปท. และ สนช. ทั้งหลายนั้น ก่อนที่จะเอาเป็นเอาตายกับการผลักดันกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบงำสื่อและปิดหูปิดตาประชาชน พวกท่านควรถามตัวเองว่าเคยสนใจที่จะทำเรื่องที่ดีๆ และมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่บ้างหรือไม่ เช่น ผลักดันการปฏิรูปวิธีคิดของพวกฝักใฝ่เผด็จการที่คอยจ้องยึดอำนาจและขัดขวางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย รวมทั้ง ตรวจสอบการใช้งบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศคัดค้าน เพราะไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในเวลานี้ เป็นต้น
อันที่จริง การปฏิรูปสื่อนั้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย แต่ต้องเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่ามีเจตนาแอบแฝงเพื่อให้ผู้มีอำนาจสามารถผูกขาดการใช้สื่อเป็นกระบอกเสียงในการให้ข้อมูลเพียงข้างเดียวเพื่อผูกขาดความคิดของประชาชน ด้วยการออกกฎหมายที่ตั้งชื่ออย่างสวยหรูว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพหรือส่งเสริมจริยธรรมสื่อ แต่ที่จริงแล้ว มีเนื้อหาครอบงำการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนเพื่อปิดหูปิดตาหรือล้างสมองประชาชน โดยที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความเที่ยงตรงหรือควบคุมคุณภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างตรงจุด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น