วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

"เพื่อไทย" ห่วงประเทศบอบช้ำ แนะประชาธิปไตยไทยต้องมีเสถียรภาพ


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอให้กำลังใจ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่พยายามเชิญชวนนักลงทุนทั้งไทยและเทศ มาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย แต่ขณะเดียวกัน ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ท่านนำมาเปิดเผย เป็นความจริงที่เป็นปัญหาพื้นฐานและยังไม่ได้รับการแก้ไข อันจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน จึงรู้สึกเห็นใจคนทำงาน กับเห็นใจคนไทยทุกคนที่ประสบชะตากรรมทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับข้อมูลที่ท่านกล่าวส่วนหนึ่งในการสัมมนา "เปลี่ยน....ให้ทันโลก" ก็คือ

1. ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ รุมเร้ามานาน ตั้งแต่ปี 2549 - 2557 ส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนไทยต่ำมาก GDP เฉลี่ยโตเพียง 3% การลงทุนขยายตัวรวมเพียง 2% การลงทุนเอกชน 2.9% ทั้งที่ความจริง GDP ไทย ควรขยายตัวได้ถึงปีละ 10%

2. หากในอนาคต GDP ยังขยายตัวเพียง 3% ในทุก ๆ ปี จะส่งผลให้เวียตนามและอินโดนีเซีย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแซงหน้าไทยไปได้อย่างแน่นอน

นายชวลิต ให้ความเห็นว่ารู้สึกเห็นใจผู้ทำงาน ที่ตั้งใจเชิญ ชวนนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย แต่นักลงทุนจะลงทุนก็ต่อเมื่อมี "ความเชื่อมั่น" ว่าทุนที่ลงไปนั้นจะเจริญงอกงาม ไม่สูญหาย ตนเคยให้ความเห็นไว้หลายครั้งแล้วว่า ความเชื่อมั่นที่สำคัญที่สุดก็คือ "การเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและต่อเนื่อง" และสำหรับการปกครองของไทยก็คือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำอย่างไรการปกครองดังกล่าวที่มีเสถียรภาพและต่อเนื่อง จึงจะเกิดขึ้นในประเทศของเราอย่างถาวรเสียที

นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่าจากความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในช่วง 10 ปีเศษที่ผ่านมาประชาชนได้เรียนรู้ ด้วยตนเองอย่างลึกซึ้งพอสมควร พอจะแยกแยะออกว่า การเมืองการปกครองในระบบนั้น ประชาชนตรวจสอบได้ เชื่อมโยงกับโลกได้ ส่วนการเมือง การปกครองนอกระบบนั้น ตรวจสอบไม่ได้ ที่สำคัญโลกไม่ยอมรับ ไม่คบค้าสมาคมด้วย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เราตกต่ำ ฝืดเคืองทางเศรษฐกิจอยู่ ทุกวันนี้ ตนมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่มีทางเลือกอยู่ในใจแล้ว เพียงแต่ผู้มีอำนาจในหน้าที่จะตามโลก ตามประชาชน แล้วบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างไร หรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น