วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

"เพื่อไทย" ขอบคุณแรงงานไทยขับเคลื่อนประเทศ แนะรัฐฟังปัญหา-ดูแลสวัสดิการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมออนไลน์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ขณะที่เว็บพรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ เนื้อหาการสัมภาษณ์ของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้ง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนี้


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความระบุว่า "เนื่องในวันแรงงานนี้ ผมขอถือโอกาสขอบคุณพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่าน ที่ช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าจนมาถึงวันนี้ ในอดีตประเทศไทยได้อาศัยแรงงานที่ดีและมีราคาที่ค่อนข้างต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ เพื่อให้เข้ามาการพัฒนาประเทศไทย แต่หลังจากที่ประเทศไทยพัฒนาขึ้นมามากแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้ที่เหมาะสมและเพียงพอเป็นสิ่งที่ประเทศนี้ต้องรีบดำเนินการ แนวคิดที่ว่าค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้ไม่มีการลงทุนในประเทศเป็นแนวคิดที่ผิด ซึ่งในช่วงที่มีการขึ้นค่าแรงงานแบบก้าวกระโดด การลงทุนก็ไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นปัจจัยค่าแรงจึงเป็นผลกระทบที่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่มีเทคโนโลยีสูง ดังนั้นประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้อุตสาหกรรมและหน่วยธุรกิจสามารถจ้างแรงงานที่มีราคาสูงได้ ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำหนึ่งชั่วโมงแพงกว่าค่าจ้างแรงงงานขั้นต่ำของไทยทั้งวัน เป็นต้น ดังนั้น ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ จะสามารถวัดได้จากความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ที่มีฐานะระดับล่างสุดของประเทศ โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน ว่าจะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร ดังนั้นผมจึงขออวยพรและหวังว่าประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้าเพื่อให้ประเทศสามารถจ่ายค่าแรงได้สูงๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานดียิ่งขึ้น"


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาครัฐจะเตรียมความพร้อมแรงงานให้แก่เอกชนในยุคเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างไร ว่าการเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ใช่เรื่องของการจะเอาแรงงานไร้ฝีมือไปสู่แรงงานฝีมือสูง เราต้องดูเรื่องของการเปลี่ยนกลไกจากสังคมอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมากเป็นหลัก ไปเป็นทรัพยากรบุคคลหรือแรงงานซึ่งสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เพราะในระยะต่อไปเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่แรงงานมากขึ้น เราจำเป็นต้องเตรียมคนให้พร้อมที่จะขยับขึ้นไปในเรื่องของการเป็นผู้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือ


นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล อดีตส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ที่เปิดเผยว่า มีชาวบ้านในพื้นที่หลายคนมาสะท้อนปัญหาให้ฟังว่า ค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้น แม้ค่าแรงปรับขึ้นแต่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้นมากกว่าค่าแรงที่ได้ อยากให้รัฐบาลมาดูแลสวัสดิการทุกอย่างของผู้ใช้แรงงาน เพราะผู้ใช้แรงงานช่วยสร้างเศรษฐกิจขึ้นมา ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายบริษัทไม่มีการรับพนักงานใหม่เพื่อมาแบ่งเบาภาระ มีแต่จะเอาพนักงานออกเพื่อประคองบริษัทให้อยู่ได้ ไม่มีการขึ้นเงินเดือนต่างๆ ใช้คนเก่าให้มีศักยภาพให้มากขึ้น ผู้ใช้แรงงานจึงเหนื่อยมากขึ้น แต่เงินเดือนกลับขึ้นน้อยมาก ดังนั้น อยากฝากถึงรัฐบาลเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันว่า อยากให้ลดลงมาเยอะๆ เพราะตอนนี้ค่าครองชีพมันสูง แต่รายได้กลับน้อยเสียจนจะอยู่ไม่ได้ ต้องบีบตัวเอง บีบครอบครัวทุกอย่างเพื่อให้อยู่ได้

นายสุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ล่าสุดได้ข่าวว่าค่าไฟกำลังจะขึ้นในเดือนพฤษภาคมนั้น ค่อนข้างที่จะเป็นอุปสรรคกับคนใช้แรงงาน เขาอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในส่วนนี้ ดูแลค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชนในแต่ละเดือน ถ้าอะไรลดได้ก็อยากให้ช่วยประชาชน ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเรื่องของการรักษาพยาบาลก็เหมือนแบ่งลำดับชั้น ถ้าเป็นผู้ใช้แรงงานทั่วไปนั้นมีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านเขาไม่มีสิทธิประกันสังคม มีแค่บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าวันหนึ่งไม่มีขึ้นมาก็แย่ ดังนั้น เรื่องที่จะยกเลิกบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นไม่อยากให้ทำร้ายคนจน เพราะคนจนไม่มีสิทธิ์เลือกอยู่แล้ว


นางสาวฐิติมา ฉายแสง อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "แรงงานจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทโครงสร้างเหล็ก ได้สะท้อนประเด็นเรื่องแรงงานในทุกวันนี้ให้ฟังว่า ทุกวันนี้ต้องพยายามทำงานมากกว่าเดิมเพื่อให้มีชีวิตปกติ ทั้งๆ ที่ทำงานมากกว่าเดิมก็ควรที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลด้านสวัสดิการ ด้านชีวิตความเป็นอยู่ว่ามีหลักประกันที่เพียงพอแล้วหรือยัง คำว่ามีแล้วใช้ได้กับมีไว้เฉยๆ มันแตกต่างกัน ทำไมต่างประเทศเวลาเกษียณเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย ทำไมคนไทยทำไม่ได้"

นางสาวฐิติมา กล่าวด้วยว่า "สำหรับแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบแรงงานพื้นฐานนั้น รัฐบาลน่าจะเข้าไปช่วยเหลือมากขึ้น ทำอย่างไรให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบ เขาอาจจะไม่ใช่แรงงานไทยแต่น่าจะยกระดับให้ดีขึ้นกว่านี้ มันจะมองเป็นสากลขึ้น และเป็นภาพลักษณ์ของประเทศเรา นอกจากนี้ เรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังจากพนักงานปลดเกษียณนั้น บางบริษัทอาจจะมีให้ แต่บางบริษัทอาจจะไม่มี ถ้ามีตรงนี้จะดีกับพี่น้องแรงงานว่ามีหลักประกันแน่นอนว่า คนอายุ 60 ปีจะมีเงินสำรองเลี้ยงชีพอยู่ อาจจะเป็นทุนเล็กๆ น้อยๆ ให้ปลูกบ้านหรือทำกิจการส่วนตัวเพื่อความมั่นคงในชีวิต"


นางนฤมล ธารดำรงค์ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า "มีผู้ใช้แรงงานในพื้นที่หลายคนมาสะท้อนปัญหาให้ฟังว่า ค่าครองชีพทุกวันนี้สูงมาก ไม่เท่ากับการปรับขึ้นค่าแรงแต่ละปี จึงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทุกวันนี้งานก็เยอะ คนเดียวต้องรับผิดชอบงานจนล้นมือ แต่เวลาปรับฐานเงินเดือนกลับไม่ขึ้นแบบงาน ดังนั้น อยากให้รัฐบาลช่วยในเรื่องของสวัสดิการ เรื่องเงินประกันสังคมตอนเกษียณ อยากให้เมื่อเกษียณไปแล้วมีบำนาญหรือบำเหน็จไว้กิน ผู้ใช้แรงงานยังบอกด้วยว่า ที่บอกว่ามีคนของกระทรวงแรงงานเข้ามาคอยดูแลเรื่องของสวัสดิการต่างๆ นั้น ถ้ามีมาก็นั่งว่างๆ ถ่ายรูปอยู่ 5 นาที พอจะหันไปดูก็กลับไปกันแล้ว จะพูดคุยกับพนักงานหน่อยก็ไม่มี จึงอยากให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปตรวจสอบดูในโรงงานต่างๆ ด้วย ดูพนักงานว่าเขาอยากได้ความปลอดภัยในโรงงานอย่างไรบ้าง เพราะที่มีอยู่ถ้าพูดแบบคนบ้านนอกก็คือตามมีตามเกิด ใส่รองเท้าอะไรไปทำงานก็ได้ขอให้มาทำงาน เจ้านายเอาแต่ออเดอร์อย่างเดียว พอเจ็บป่วยก็ตำหนิ เครื่องจักรยังพังเป็น แล้วถ้าคนพังมันไม่มีอะไหล่ซ่อม มันไม่คุ้ม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น