นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งคำถามเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พึ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ว่าบางฝ่ายเห็นว่าต้องมีกฎหมายเนื้อหาแบบนี้เพื่อปราบปรามการทุจริต แต่อีกฝ่ายก็เห็นว่าทุกคนเห็นด้วยกับการปราบปรามการทุจริต แต่ต้องยึดหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมด้วย ตนมีคำถามว่า
1. การที่กฎหมายนี้เปลี่ยนแปลงหลักการพิจารณาคดีอาญาที่ต้องทำต่อหน้าจำเลย เป็นให้มีการพิจารณาโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ถามว่าจะขัดหลักสากลหรือไม่? เพราะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)ได้กำหนดไว้ในข้อ 14 (3)(ง)ว่าในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น (right to be tried in his presence) และสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเอง ซึ่งหลักการนี้มีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลยที่จะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และถือว่าเป็นหลักการที่สากลยอมรับจนเขียนขึ้นเป็นกติการะหว่างประเทศ นอกจากนั้นมีนักกฎหมายพิจารณาและไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ใช่หรือไม่?
2. ส่วนการแก้ไขกฎหมายว่าถ้าจำเลยหนีไประหว่างการดำเนินคดี มิให้นับระยะเวลาในระหว่างที่หนีไปรวมเป็นอายุความนั้น (การนับอายุความในคดีอาญาที่คนทั่วไปกระทำผิดกรณีอื่นๆ ยังเป็นไปตามกฎหมายอาญาทั่วไป) ถือว่ามีความลักลั่นและขัดกับหลักการที่ว่าทุกคนมีความเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกันหรือไม่? ซึ่งหลักการนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 7
3. การแก้ไขมาตรา 67 ที่เป็นส่วนบทเฉพาะการของร่างกฎหมายดังกล่าว ให้มีผลแตกต่างจากเนื้อหาของร่างแรกที่เสนอเข้า สนช. ซึ่งต่อมามีคำอธิบายว่าร่างมาตรา 67 ที่แก้ไขแล้วจะทำให้กฎหมายมีผลใช้บังคับกับคดีที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้ ขอถามว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นการเขียนกฎหมายให้มีผลย้อนหลังใช่หรือไม่? การทำเช่นนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่? นอกจากนั้น ที่มีคำอธิบายว่าไม่ได้แก้กฎหมายเพื่อใช้บังคับกับบุคคลหรือกรณีใดเป็นการเฉพาะนั้น ลองถามปุถุชนทั่วไปว่าเขาเชื่อคำอธิบายของท่านหรือไม่?
“ทุกคนต้องการความยุติธรรม นิติธรรม และเมตตาธรรม ตนเชื่อว่าการดำเนินการของฝ่ายต่างๆนั้น ถ้ายึดมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรมจะนำไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ได้ เพราะความปรองดองคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น