วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

"กิตติรัตน์" ห่วงวิกฤติเศรษฐกิจย้อนรอยต้มยำกุ้ง แนะรัฐหนุนผู้ประกอบการ


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์ เรื่องย้อนรอยวิกฤติต้มยำกุ้งทำประเทศพัง เพราะการเงินกู้ธุรกิจลุกลามทั่วอาเซียน แต่วิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่จะไม่เหมือนเดิม กำลังซื้อในประเทศหดตัวรุนแรง อาจส่งผลกระทบถึงรากหญ้า

ได้ย้อนระลึกถึงสาเหตุในวิกฤติในปี 2540 สรุปอย่างย่อว่ามาจากไทยขาดดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัด ประกอบกับเอกชนไทยกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล โดยเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนไม่พอกับการต่อสู้ในสงครามค่าเงินทำให้สุดท้ายต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า "ปี 2540 ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นคน ก็เป็นคนผอมบักโกรก แต่ทะเยอทะยานอยากจะวิ่งแข่งไปอยู่แถวหน้าแบบไม่ประมาณตน จนประสบอุบัติเหตุจนถึงขั้นวิกฤติต้องนอนรักษาตัวในห้องไอซียู"

ถัดมานายกิตติรัตน์ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ไว้อย่างน่าสนใจสรุปใจความว่า ขณะนี้เรามีปริมาณเงินล้นในระบบธนาคารเพราะไม่สามารถปล่อยกู้ได้เต็มที่ ขณะที่ชาวบ้านกลับไม่มีกำลังซื้อจนกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็ก แต่ด้านเอกชนรายใหญ่อาศัยขนาดธุรกิจใหญ่ของตนเองเอาชนะธุรกิจรายเล็กๆในประเทศโดยที่รายเล็กสู้ไม่ได้เลย แล้วนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศแทน ผลักดันให้ปัญหาการกระจายรายได้รุนแรงขึ้น เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ขณะที่ไม่มีการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคม เมื่อรวมกับปัญหาทัศนคติของภาครัฐที่เน้นแต่มาตรการควบคุมและลงโทษยิ่งตอกย้ำปัญหารุนแรงขึ้น ดังที่กล่าวตอนหนึ่งว่า "ร่างกายของเราในปี 2560 อาจทำได้เพียงยืนนิ่งอยู่กับที่ เพื่อไม่ให้ล้มลงด้วยความอ่อนล้า กิจการต่างๆในภาคเอกชนจะเผชิญปัญหาไม่สามารถเพิ่มรายได้ ในขณะที่ต้นทุนจะค่อยๆเพิ่มขึ้น ขณะที่เพื่อนร่วมภูมิภาคอาเซียนและเพื่อนร่วมประชาคมโลกต่างก้าวเดินต่อไป ตอบสนองโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วกำลังดำเนินไป"

โดยนายกิตติรัตน์ได้เขียนถึงทางออกไว้ว่า "เราควรพิจารณาสถานะปัจจุบันให้กระจ่างว่า ทรัพยากรทางเศรษฐกิจใดมีอยู่มากเกินไปจะนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าได้อย่างไร สมดุลด้านใดที่อยู่ให้รักษาไว้ สมดุลด้านใดที่เป็นส่วนเกินก็ลดลงมา สมดุลด้านใดที่ติดลบมากก็ให้ปรับลดการขาดดุลลงเสียบ้าง สิ่งใดที่เป็นพันธนาการทางรัฐศาสตร์ก็คลายออกเสีย ภาครัฐควรมุ่ง ให้การส่งเสริมการแข่งขันกันในหมู่ภาคเอกชน มิใช่ปิดกั้น หรือเอื้อต่อรายใหญ่เท่านั้น และสนับสนุนให้เอกชนใช้ความคิดใหม่ แง่มุมใหม่ และรูปแบบการทำงานใหม่ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในยุคของโลกดิจิทัลนี้"

พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า "เวลาเรายังพอมี แต่ที่ผมไม่แน่ใจ คือเรายังมีสติที่จะปรึกษาหารือ ฟังกัน คิดด้วยกัน และตัดสินใจไปด้วยกัน ด้วยเหตุด้วยผล หรือไม่?"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น